ไม่คิดถึงข้าวแดงแกงร้อน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย


ความนำ

            “ไม่คิดถึงข้าวแดงแกงร้อน” เป็นคำกล่าวของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในช่วงปี พ.ศ. 2557 – 2562 ในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจในทางการเมืองโดยคำกล่าวนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2561 เมื่อพลเอก ประวิตร กล่าวถึงกรณีที่ พลเอก ยศนันท์ หร่ายเจริญ อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่สมัครเป็นสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติว่า เกษียณอายุราชการแล้ว มีวุฒิภาวะมาก และยังเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตนมาตลอด แต่มาด่า คสช. เหมือนกับ “ไม่คิดถึงข้าวแดงแกงร้อน” เป็นเพราะเหตุใดตอนที่อยู่ถึงไม่พูด เป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง เพราะการกระทำลักษณะนี้เหมือนจิ้งจกเปลี่ยนสี ซึ่งต่อมานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เขียนข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัว โดยระบุกรณีดังกล่าวว่า “ทหารที่อาสาเข้ามาทำงานการเมืองแบบตรงไปตรงมา น่าชื่นชมกว่าทหารที่เข้ามาโดยการยึดอำนาจไหมครับป้อม” ซึ่งเป็นการโจมตีพลเอก ประวิตร ในกรณีดังกล่าวอย่างชัดเจน

 

ที่มาของ “ไม่คิดถึงข้าวแดงแกงร้อน”

            ในช่วงปี พ.ศ. 2561 เป็นช่วงเวลาของการเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่ใกล้จะเกิดขึ้นนั้น ส่งผลให้แต่ละพรรคการเมืองต่างนำเสนอนโยบาย เปิดตัวแคมเปญการเลือกตั้ง และการเปิดตัวบุคลคลสำคัญของพรรคกันอย่างมากมาย เช่นเดียวกันกับพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ก็มีการดำเนินแนวทางเช่นเดียวกัน แต่ก็มีเหตุการณ์โดดเด่นสำคัญเกิดขึ้นตามมาหลายเหตุการณ์ หนึ่งในนั้นคือการ ที่พลเอก ยศนันท์ หร่ายเจริญ อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด สมัครเป็นสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ

            พรรคไทยรักษาชาติ เป็นพรรคการเมืองที่ประกาศตัวเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งแกนนำและสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ย้ายมาจากพรรคเพื่อไทย ตามยุทธศาสตร์ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เรียกว่า "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย" กล่าวคืออดีตนักการเมืองแยกย้ายไปลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้ครองเสียงข้างมากในสภาภายหลังการเลือกตั้ง[1] และเมื่อดูความสัมพันธ์ของพลเอก ยศนันท์ หร่ายเจริญ พบว่า เป็นนายทหารที่มีความกว้างขวางในทุกวงการ โดยมีความสนิทสนมกับพลเอก พฤณท์ สุวรรณทัต และพลเอก ไตรรงค์ อินทรทัต หรือ “เสธ.ไอซ์” เตรียมทหารรุ่น 10 เพื่อนของนายทักษิณ ชินวัตร และยังมีความใกล้ชิดกับพลเอก ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.)[2]

            ขณะเดียวกันเส้นทางการรับราชการของพลเอก ยศนันท์ หร่ายเจริญ ที่เติบโตมาในช่วงปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่มของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ มีบทบาทในทางการเมือง โดยในปี พ.ศ. 2551 พลเอก ยศนันท์ ขณะนั้นมียศพลตรี ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 ขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 และในปี พ.ศ. 2553 ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 เลื่อนยศเป็นพลโท ในตำแหน่งบัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ในปี พ.ศ. 2557 เลื่อนยศเป็นพลเอก ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ในปี พ.ศ. 2558 ได้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานโครงกรอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง กองทัพบก และในปี พ.ศ. 2558 เป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด[3]

            ในปี พ.ศ. 2561 พลเอก ยศนันท์ ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากเห็นว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย และมีแนวทางในการพัฒนาประเทศที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ นอกจากนี้แนวทางเรื่องประชาธิปไตยเองก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไป และสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตได้ นอกจากนี้ พลเอก ยศนันท์ยังเรียกร้องให้ทหารทุกคนยืนเคียงข้างประชาชน เพราะหมดยุคของการใช้อำนาจเผด็จการมาปกครองประเทศแล้ว เนื่องจากบทเรียนของการยึดอำนาจตลอด 4 ปีกว่าที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่า ประเทศชาติไม่เจริญก้าวหน้า ประชาชนเดือดร้อน เศรษฐกิจไม่เจริญเติบโต[4]

            จากกรณีดังกล่าวทำให้วันต่อมาพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น และหนึ่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงกรณีดังกล่าวว่า เป็นเรื่องแปลกที่ก่อนหน้านี้ พลเอก ยศนันท์ ก็อยู่กับ คสช. มาตลอด แต่ทำไมถึงด่า คสช. พร้อมกล่าววลีสำคัญ นั่นคือ "ไม่คิดถึงข้าวแดงแกงร้อนเลย” ซึ่งมาจากถ้อยคำทั้งหมด ความว่า “เป็นความคิดของเขา แต่ก็แปลกดี ขนาดเกษียณแล้ว มีวุฒิภาวะมาก อยู่ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาของตนมาโดยตลอดแต่มาด่า คสช. ไม่คิดถึงข้าวแดงแกงร้อน ทั้งที่ คสช.ก็ทำทุกอย่าง เป็นเพราะเหตุใดตอนที่อยู่ถึงไม่พูด ไปโดนอะไรมาหรือไม่ ก็มันวิ่งเต้นมาตลอด ถือว่าไม่เหมาะสมที่ทำแบบนี้[5]

            และเมื่อมีการสอบถามต่อไปว่าการกระทำดังกล่าวทำให้พลเอก ประวิตร ผิดหวังหรือไม่ พลเอก ประวิตร ตอบว่า “ผิดหวังมาก เพราะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาตนมา ส่วนจะมีการนำเรื่องของ คสช.ไปแฉอีกนั้น ตนไม่กลัว เพราะไม่มีอะไรให้แฉ คสช. มีแต่ข้อมูลที่ดีทั้งนั้น จะมาแฉเรื่องอะไร เพราะไม่เคยทำอะไรผิด” เมื่อถามความคิดเห็นของพลเอก ประวิตร เกี่ยวกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเปิดกว้างให้ทหารเข้ามาเล่นการเมือง พลเอก ประวิตรตอบว่า “เป็นสิทธิและขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล อยากไปอยู่พรรคไหนก็ไป แต่ไม่ควรนำเรื่องภายในต่าง ๆ ไปพูดในทางที่ไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องไม่ดีและไม่ควรทำ” เมื่อถามว่าทำตัวเหมือนจิ้งจกเปลี่ยนสีหรือไม่ พลเอก ประวิตรตอบว่า “ก็จิ้งจกนั่นแหละ

 

หลากปฏิกิริยาต่อกระแส “ไม่คิดถึงข้าวแดงแกงร้อน”

            หลังจากกระแสข่าวเรื่องพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวถึงความผิดหวังที่พลเอก ยศนันท์ หร่ายเจริญ ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ว่า “ไม่คิดถึงข้าวแดงแกงร้อน” ผ่านไปไม่ได้ ก็เกิดปฏิกิริยาที่หลากหลายต่อกระแสดังกล่าว โดยจัดกลุ่มได้เป็น 2 กลุ่มสำคัญ คือ กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับ พลเอก ประวิตร และกลุ่มที่มีความคิดเห็นกลาง ๆ ต่อกระแสดังกล่าว

            กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับพลเอก ประวิตร ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มการเมืองที่ต่อต้าน คสช. รวมถึงพรรคไทยรักษาชาติ ดังจะเห็นได้จากการที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวตอบโต้พลเอก ประวิตร ความว่า “ทหารที่อาสาเข้ามาทำงานการเมืองแบบตรงไปตรงมา น่าชื่นชมกว่าทหารที่เข้ามาโดยการยึดอำนาจไหมครับป้อม[6] ซึ่งจะเห็นได้ว่าการออกมาตอบโต้ของนายทักษิณสะท้อนให้เห็นความใกล้ชิดที่มีต่อพรรคไทยรักษาชาติด้วย

            ขณะที่กลุ่มที่มีความคิดเห็นกลาง ๆ ต่อกระแสดังกล่าว เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นวิวาทะระหว่าง พลเอก ประวิตร กับพลเอก ยศนันท์ และพรรคไทยรักษาชาติ ทำให้ไม่มีบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก หรือหากมีก็จะเป็นความคิดเห็นกลาง ๆ ที่ไม่ชัดเจนว่าเห็นด้วยกับฝ่ายใด ดังที่ปรากฏในกรณีของพลเอก ฐิติวัจน์ กำลังเอก รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า แม้ตนจะมาทำงานการเมืองในนามพรรคชาติพัฒนา ซึ่งพรรคยึดหลักทำการเมืองยุคใหม่ และทำให้เห็นว่าพรรคชาติพัฒนาไม่มีปัญหา หรือเป็นคู่ขัดแย้งกับใคร เน้นให้คนในชาติหันหน้าเข้าหากัน แต่เมื่อมีการพูดถึงทหาร ตนจำเป็นต้องขอพูดในนามส่วนตัว ในฐานะที่เป็นทหารเก่า ยกตัวอย่างในยามบ้านเมืองคับขัน ทหารต้องปกป้องผืนแผ่นดินไทย ไม่ว่าชั้นยศใด ก็มีความรับผิดชอบเท่าๆ กัน รวมถึงทหารยึดหลักเคารพรุ่นพี่รุ่นน้อง ไม่ว่าจะอยู่ต่างสถานะต่างหน้าที่ ต่างแนวทาง แยกกันไปอยู่ในที่ ๆ ต่างแนวความคิด ก็มีสิทธิเสรีภาพในการพูดภายใต้การเคารพซึ่งกันและกันเพราะมาจากเบ้าหลอมเดียวกัน[7]

            แต่หลังจากที่เกิดกรณีดังกล่าวเป็นเวลากว่า 2 เดือน พลเอก ยศนันท์ ไม่ปรากฏตัวต่อสื่ออีกเลย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 สื่อหลายสำนักรายงานว่า พลเอก ยศนันท์ ได้มาร่วมงานวันสถาปนา 71 ปี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) ได้จัด ซึ่ง พลเอก ยศนันท์ เคยดำรงตำแหน่ง ผบ.นรด. ในอดีตด้วย ซึ่งสื่อหลายนสำนักระบุตรงกันว่า พลเอก ยศนันท์ ได้ลาออกจาก สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) แล้ว โดยยืนยันว่าจะเลิกเล่นการเมือง และจะกลับไปใช้ชีวิตทหารเก่า ทหารเกษียณธรรมดาคนหนึ่ง และไปพักผ่อนอยู่ต่างจังหวัดบ้าง[8]

 

กรณีใกล้เคียง “ไม่คิดถึงข้าวแดงแกงร้อน” ในอดีต

            นอกจากกรณีที่สะท้อนให้เห็นความไม่ลงรอยบางประการระหว่างนายทหารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง ทำให้เกิดเหตุการณ์ “ไม่คิดถึงข้าวแดงแกงร้อน” หรือการเปลี่ยนไปอยู่ฝั่งตรงข้ามกับฝ่ายกองทัพ ซึ่งที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเมืองสีเสื้อ ที่แบ่งแยกคนในสังคมออกเป็น 2 ฝ่ายชัดเจน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 - ปัจจุบัน โดยมีเหตุการณ์ที่สำคัญ 2 กรณี คือ กรณีของพลเอก เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ และกรณีของพลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ

            กรณีพลเอก เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ เกิดขึ้นตั้งแต่คืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นคืนที่มีการรัฐประหาร โดยที่นายทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งฝ่ายรัฐบาลได้ตั้งศูนย์บัญชาการต่อต้านการรัฐประหารขึ้นมาโดยมีพลตำรวจเอก ชิดชัย วรรณสถิตย์ และนายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นแกนนำ ในขณะที่ฝ่ายทหารคือ พลเอก เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นแกนนำ ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่กองบัญชาการทหารสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ แต่ต่อมามีการเจรจาทั้งจากฝ่ายรัฐประหารกับพลเอก เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ให้ล้มเลิกการตั้งกองบัญชาการดังกล่าว เพื่อป้องกันการสูญเสีย ซึ่งพลเอก เรืองโรจน์ เลือกแนวทางดังกล่าว[9] ทำให้การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 ไม่มีเหตุการณ์สูญเสียแต่อย่างใด และต่อมาในปี พ.ศ. 2550 พลเอก เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ต่อเนื่องมาจากพรรคไทยรักไทยของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกรัฐประหารไปเมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยพลเอก เรืองโรจน์ ได้เป็นรองหัวหน้าพรรค และต่อมาพรรคพลังประชาชนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาอีกครั้ง ก่อนที่จะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชนในปี พ.ศ. 2551 และตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค 5 ปี ทำให้ชื่อพลเอก เรืองโรจน์ หายไปจากการเมืองไทยตั้งแต่นั้น

            กรณีพลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ เกิดขึ้นในช่วงการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เช่นเดียวกัน เนื่องจากในขณะนั้น พลตำรวจเอก โกวิท ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีข้อครหาว่าเป็นกลไกการใช้อำนาจของรัฐบาลและมีความใกล้ชิดกับรัฐบาล ทำให้โอกาสที่จะเข้าร่วมกับคณะรัฐประหารนั้นเป็นไปได้ยาก แต่สุดท้ายก็เข้าร่วมกับฝ่ายรัฐประหาร[10] ต่อมาในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 พลตำรวจเอก โกวิท ถูกคำสั่งย้ายไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และให้พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส รักษาการในตำแหน่งดังกล่าวแทน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2551 เมื่อมีการขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของนายสมัคร สุนทรเวช จากพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ต่อเนื่องมาจากพรรคไทยรักไทยของนายทักษิณ ชินวัตร ได้ปรากฏชื่อ พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการปรับคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2550 และในสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พลตำรวจเอก โกวิท ก็ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต่อเนื่องมา จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชนในปี พ.ศ. 2551 แต่ชื่อของพลตำรวจเอก โกวิท ก็กลับมาอีกครั้งในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย ที่แต่งตั้งพลตำรวจเอก
โกวิท เป็นรองนายกรัฐมนตรี

 

“ทหารกับการเมือง” ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

            จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ “ไม่คิดถึงข้าวแดงแกงร้อน” เกิดขึ้นในการเมืองไทยบ่อยครั้ง เนื่องจากบทบาทของกองทัพที่มีต่อการเมืองไทย โดยเฉพาะในการรัฐประหาร แต่ขณะเดียวกัน ยังมีตัวแสดงที่เป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการใช้อำนาจในฐานะ “ตัวแทนของประชาชน” ผ่านกลไกของรัฐสภา ซึ่งกรณีเช่นนี้ทำให้เห็นบทบาทของทหารรวมถึงตำรวจที่เข้ามามีบทบาทในทางการเมือง โดยมักจะปรากฏได้ใน 2 ลักษณะ คือ ปรากฏในฐานะตัวแสดงในระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือเข้าสู่การเลือกตั้งหรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลพลเรือน และการปรากฏตัวอีกลักษณะหนึ่งคือ การปรากฏตัวในเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง เช่น การรัฐประหาร การควบคุมการชุมนุมทางการเมือง เป็นต้น

            “ทหารในฐานะตัวแสดงในระบอบประชาธิปไตย” เป็นบทบาทของทหารที่เข้ามามีบทบาทในทางการเมืองผ่านรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีนายทหารที่มีบทบาทโดดเด่นจากเหตุการณ์สำคัญในทางการเมืองมาก่อน ทำให้เกิดอาณาบารมี (Charisma) เป็นที่ยอมรับของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเชื่อมั่นว่าการดึงนายทหารเหล่านี้เข้ามาร่วมในรัฐบาลพลเรือนจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาล[11] รวมทั้งได้รับการยอมรับจากประชาชน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา พบว่า ลักษณะเช่นนี้เริ่มเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่บทบาทของนักการเมืองจากการเลือกตั้งโดดเด่นมากขึ้น ดังเช่น พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ที่มีบทบาทในทางการเมืองมาตั้งแต่สมัยที่จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็มีความสัมพันธ์กับนักการเมืองหลายคน ดังนั้น เมื่อเกษียณอายุราชการจึงได้รับการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม[12] หรือในกรณีพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก และพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ทั้งคู่มีบทบาทสำคัญในสมัยที่พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายทหารทั้ง 2 คนนี้ ได้เข้าสู่การเลือกตั้งในระบบอย่างเต็มรูปแบบ โดยการเข้าสังกัดพรรคการเมืองและลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก เข้าเป็นหัวหน้าพรรคปวงชนชาวไทย ในปี พ.ศ. 2531 ขณะที่พลเอก ชวลิต ลาออกจากราชการเมื่อปี พ.ศ. 2533 เพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง และต่อมาได้เป็นหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ จนกระทั่งนำพาพรรคความหวังใหม่ชนะการเลือกตั้ง และได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2539[13] 

            “ทหารกับเหตุการณ์สำคัญในทางการเมือง” เป็นบทบาทของทหารที่มักจะเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองในเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เช่น การรัฐประหาร การควบคุมการชุมนุม เป็นต้น ซึ่งในแต่ละเหตุการณ์มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและความล้มเหลว โดยเหตุการณ์การรัฐประหารหากประสบความสำเร็จก็จะสามารถควบคุมการบริหารประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่หากการรัฐประหารทำไม่สำเร็จก็จะกลายเป็น “กบฏ” ซึ่งที่ผ่านมาทั้งการรัฐประหารและกบฏครั้งต่าง ๆ ทำให้เกิดนายทหารที่มีบทบาททางการเมืองทั้งในเฉพาะรายบุคคล ดังเช่น บทบาทจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือจะเป็นในรูปแบบคณะบุคคล ดังเช่นกรณี กลุ่มจปร. 5 และกลุ่ม จปร. 7 นอกจากนี้ ในเหตุการณ์การควบคุมการชุมนุมทางการเมืองต่าง ๆ ก็มักจะเป็นอีกเหตุการณ์ที่ทำให้นายทหารเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง เช่นในการควบคุมการชุมนุมทางการเมืองในปี พ.ศ. 2500 ที่นักศึกษาเดินขบวนคัดค้านการที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จัดการเลือกตั้งไม่เป็นธรรม ซึ่งทำให้บทบาทของร้อยเอก อาทิตย์ กำลังเอก (ยศในขณะนั้น) โดดเด่นขึ้นมา จนได้รับฉายาว่า “วีรบุรุษสะพานมัฆวาน”[14] หรือในเหตุการณ์เดียวกันนี้เองที่ทำให้บทบาทของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดดเด่นขึ้นมาเช่นกัน และเป็นที่มาของคำว่าที่ว่า “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”[15] แต่หากการควบคุมทางการชุมนุมทางการเมืองเกิดความล้มเหลว ก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้นายทหารที่กำลังมีบทบาททางการเมืองอย่างเข้มข้นก็จะดับแสงลงได้เช่นกัน ดังเช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่ทำให้บทบาทของจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประพาส จารุเสถียร ที่โดดเด่นอยู่ต้องสิ้นสุดลง หรือในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 ก็เป็นการปิดฉากบทบาทของทหารกลุ่ม จปร. 5 จากการเมืองไทยอย่างสิ้นเชิง[16]

“ไม่คิดถึงข้าวแดงแกงร้อน” กับระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย

            การเกิดขึ้นของกรณี “ไม่คิดถึงข้าวแดงแกงร้อน” สะท้อนให้เห็นถึงระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย โดยเฉพาะในแวดวงราชการ ซึ่งผู้ต้องการความก้าวหน้าในระบบราชการจะต้องวิ่งเข้าหาฝ่ายการเมืองหรือผู้มีอำนาจที่ส่งผลต่อเลื่อนระดับของแต่ละบุคคล ขณะเดียวกัน วัฒนธรรมของระบบราชการไทย คือ มีสายการบังคับบัญชา (Hierarchy) ที่เคร่งครัด ก่อให้เกิดการใช้อำนาจสั่งการ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของระบอบอำนาจนิยมในทางการเมือง และบางครั้งยังทำให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวก กลายระบบอุปถัมภ์ที่สัมพันธ์อยู่ในหลากหลายภาคส่วน

            กล่าวได้ว่า ระบบอุปถัมภ์ (The Patron-client System) เป็นระบบที่ต่อเนื่องอยู่ในสังคมจารีตนิยม ที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำของมนุษย์ในแง่ทรัพย์สิน สถานะ และอำนาจ (Wealth, Status and Power) โดยความสัมพันธ์จะมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง ผู้อุปถัมภ์ ('Patron) จะเป็นผู้ที่อยู่ในฐานะเอื้ออำนวยประโยชน์ได้ทั้งในอำนาจทางการเมือง ตำแหน่งหน้าที่ราชการ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม และสำหรับบางกรณีผู้อุปถัมภ์คือบุคคลเป็นที่เคารพนับถือในคุณความดี มีลักษณะคล้ายเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และส่วนที่สอง ผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ ('Client) คือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ต้องอาศัยผู้อุปถัมภ์เพื่อผลประโยชน์ดังกล่าว รวมทั้งส่วนที่เป็นบวกในทางจิตใจ เป็นทั้งที่พึ่งในทางวัตถุและในทางจิตใจ ในกรณีของสังคมไทยนั้นผู้อุปถัมภ์จะต้องมีบารมี ซึ่งความหมายได้แก่ การเป็นที่ยอมรับว่ามีลักษณะเป็นผู้นำ สามารถอุปถัมภ์ผู้ตามได้ ขณะเดียวกันผู้ตามก็หวังพึ่งผู้อุปถัมภ์ทั้งผลประโยชน์ต่าง ๆ ดังกล่าวมารวมทั้งกรณีทางจิตใจด้วย ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่อผู้อุปถัมภ์สิ้นบารมีลง ทำให้ไม่สามารถส่งเสริมผู้ใต้อุปถัมภ์ได้ ซึ่งในส่วนนี้อาจเกิดขึ้นได้ 2 กรณี กรณีที่หนึ่ง คือ การที่ผู้อุปถัมภ์สิ้นบารมีด้วยตัวเอง ทำให้ไม่สามารถเอื้อประโยชน์ที่เกิดขึ้นในรูปของทรัพย์สิน สถานะ และอำนาจ ให้แก่ผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ได้ และกรณีที่สอง คือ ผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ตีจาก อาจจะเกิดขึ้นได้จากการที่ผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์มีบารมีที่สามารถทำให้ผู้อุปถัมภ์หมดการสนับสนุนเอื้อประโยชน์ต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาผู้อุปถัมภ์เดิม[17]

            ในขณะเดียวกัน ระบบราชการ (Bureaucratic) ถือว่ามีลักษณะเฉพาะที่เพิ่มเติมเข้ามาจากระบบอุปถัมภ์ นั่นคือ มีลักษณะของความเป็นอำนาจนิยมตามสายการบังคับบัญชาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เมื่อผนวกเข้ากับระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในสังคม ย่อมตกผลึกเป็น “วัฒนธรรมอำนาจนิยมอุปถัมภ์”[18] และการหวังพึ่งการอุปถัมภ์จากผู้นำฝ่ายทหารจะมีมากเป็นพิเศษในยุคสมัยที่มีการปกครองแบบเผด็จการ/คณาธิปไตย ด้วยอิทธิพลของวัฒนธรรมอำนาจนิยมอุปถัมภ์ ผู้นำ ฝ่ายทหารบางคนยินดีที่มีผู้มาขอรับการอุปถัมภ์ ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้ระบบอุปถัมภ์จึงมักจะเกิดขึ้นในอาณาบริเวณที่ไม่เปิดเผยข้อมูลมากนัก โดยเฉพาะกองทัพที่มักจะมีข้อมูลปกปิดจำนวนมาก แม้ว่าจะเป็นประโยชน์ทางด้านความมั่นคง แต่ในทางกลับกันก็สร้างระบบอำนาจนิยมอุปถัมภ์ขึ้นมาเช่นกัน[19]

            ดังนั้น การที่พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมาให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่ว่า “ไม่คิดถึงข้าวแดงแกงร้อน” สะท้อนให้เห็นถึงบุญคุณหรือระบบอำนาจนิยมอุปถัมภ์ที่มีอย่างเข้มข้นในกองทัพ ฉะนั้น เมื่อพลเอก ยศนันท์ หร่ายเจริญ อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่เติบโตมายุคของ คสช. เข้าสู่การเมืองโดยสังกัดในพรรคการเมืองขั้วตรงข้าม จึงยิ่งทำให้เห็นว่าผู้ที่เคยอยู่ใต้อุปถัมภ์กำลังจะตีจาก ส่งผลให้พลเอก ประวิตร จึงต้องแสดงท่าทีดังกล่าวออกมา เพื่อบอกไปยัง พลเอก ยศนันท์ ถึงประโยชน์ที่ได้รับจากระบบอำนาจนิยมอุปถัมภ์ในกองทัพ เมื่อครั้งที่ยังรับราชการอยู่นั่นเอง

 

บทสรุป

            ไม่คิดถึงข้าวแดงแกงร้อนเป็นถ้อยคำที่สะท้อนถึงความไม่พอใจที่มีต่อบุคคลที่เคยอยู่ร่วมในขบวนการเดียวกัน แต่มาแยกกลุ่มหรือแปรพักตร์ไปอยู่ฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งในกรณีนี้ผู้พูด คือ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องการให้หมายถึง พลเอก ยศนันท์ หร่ายเจริญ อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่เติบโตมายุคของ คสช. แต่ไปสังกัดพรรคไทยรักษาชาติ ทำให้เกิดกระแสต่าง ๆ ตามมามากมาย โดยเฉพาะเมื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุข้อความในทวิตเตอร์เกี่ยวกับบทบาทของทหารที่เข้ามาสู่กติกาการเมืองแบบประชาธิปไตย ทำให้เห็นว่าทหารกับการเมืองไทยนั้น มีบทบาทควบคู่กันมายาวนาน เพียงแต่ว่ารูปแบบที่ปรากฏจะออกมาในทิศทางใด ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น กระแสของสังคม ความเข้มแข็งของรัฐบาล ความมีเอกภาพของรัฐบาล เป็นต้น ซึ่งกรณีของพลเอก ยศนันท์ ไม่ใช่กรณีแรกที่ “ไม่คิดถึงข้าวแดงแกงร้อน” แต่ในช่วงที่การเมืองไทยแบ่งออกเป็นสองขั้วชัดเจนนั้น ก็ผลักให้นายทหารแต่ละคนต้องไปอยู่ขั้วในทางการเมืองอย่างชัดเจน หรือนายทหารที่เคยมีบทบาทในการรัฐประหารก็กลับไปสังกัดพรรคการเมืองที่ตนเองรัฐประหาร ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ในการเมืองไทยคงไม่อาจให้ความสำคัญกับการคิดถึงข้าวแดงแกงร้อนได้อย่างเต็มที่นัก

 

บรรณานุกรม

คริส เบเกอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2557). ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: มติชน.

““…ต้องฆ่าให้หมด” คำสั่ง “ทักษิณ” คืน 19 กันยาฯ,” ผู้จัดการออนไลน์ (4 ตุลาคม 2549), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9490000124010>, เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563.

ทักษ์  เฉลิมเตียรณ (2561), การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

ป้อม’ สวน ‘ยอร์ช’ ด่า คสช.ไม่คิดถึงข้าวแดงแกงร้อน,” ไทยรัฐออนไลน์ (22 พฤศจิกายน 2561), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1426556>, เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563.

“เปิดเบื้องลึก! ยึดอำนาจ2549 เบื้องหลัง คปค. เบื้องหลัง”พล.อ.สนธิ” เบื้องหลัง วินาทีเครียด,”
มติชนออนไลน์ (19 กันยายน 2561), เข้าถึงจาก

<https://www.matichonweekly.com/scoop/article_134465>, เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563.

“‘พล.อ.ฐิติวัจน์’เตือนสติ‘ยศนันท์’ ทหารต้องเคารพกัน สำนึกรักแผ่นดินเกิด,” แนวหน้าออนไลน์ (22 พฤศจิกายน 2561), เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/378519>, เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563.

“พลวุฒิ สงสกุล, เส้นทาง พลเอก ยศนันท์ หร่ายเจริญ เจ้าของวาทะสะเทือน คสช.,” The Standard (22 พฤศจิกายน 2561) เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/yossanan-raicharoen/>, เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2563.

“‘ยศนันท์' นายพลผู้อัด คสช. หายไป 2 เดือน กลับมาอีกทีลาออก 'ไทยรักษาชาติ' บอกเลิกเล่นการเมือง,” ประชาไท (6 กุมภาพันธ์ 2562),เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2019/02/80893>, เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563.

“‘ยศนันท์ หร่ายเจริญ : เส้นทางในกองทัพกับสัมพันธ์ทักษิณ ชินวัตร-ประวิตร วงษ์สุวรรณ,” บีบีซีไทย (22 พฤศจิกายน 2561), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/46297459>, เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2563.

รังสรรค์  ธนะพรพันธุ์, “วัฒนธรรมอำนาจนิยมอุปถัมภ์กับระบบราชการ,” ใน ผู้จัดการรายวัน (14 สิงหาคม 2535), เข้าถึงจาก < http://www.rangsun.econ.tu.ac.th/data/06/03-35/08-03-วัฒนธรรมอำนาจนิยมอุปถัมภ์กับระบบราชการ.pdf>, เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563.

ลิขิต ธีรเวคิน, “ระบบอุปถัมภ์กับการเมืองการบริหารในสังคมไทย,” ผู้จัดการออนไลน์ (14 พฤศจิกายน 2550), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/daily/detail/9500000135236>, เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563.

สมศักดิ์  เจียมธีรสกุล. (2544). “ใครเป็นใครในกรณี 6 ตุลา,” ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลา รำลึก, หน้า 161 – 207.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (2551). สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสายธารประชาธิปไตย.

สุรชาติ บำรุงสุข. (2551). ไตรสรณคมน์ทหาร รัฐประหาร และการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี พนมยงค์.

 

อ้างอิง

[1] “ยศนันท์ หร่ายเจริญ : เส้นทางในกองทัพกับสัมพันธ์ทักษิณ ชินวัตร-ประวิตร วงษ์สุวรรณ,” บีบีซีไทย
(22 พฤศจิกายน 2561), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/46297459>, เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2563.

[2] “ยศนันท์ หร่ายเจริญ : เส้นทางในกองทัพกับสัมพันธ์ทักษิณ ชินวัตร-ประวิตร วงษ์สุวรรณ,” บีบีซีไทย
(22 พฤศจิกายน 2561), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/46297459>, เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2563.

[3] พลวุฒิ สงสกุล, เส้นทาง พลเอก ยศนันท์ หร่ายเจริญ เจ้าของวาทะสะเทือน คสช.,” The Standard (22 พฤศจิกายน 2561) เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/yossanan-raicharoen/>, เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2563.

[4] “'ยศนันท์' นายพลผู้อัด คสช. หายไป 2 เดือน กลับมาอีกทีลาออก 'ไทยรักษาชาติ' บอกเลิกเล่นการเมือง,”
ประชาไท (6 กุมภาพันธ์ 2562),เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2019/02/80893>, เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563.

[5] “‘ป้อม’ สวน ‘ยอร์ช’ ด่า คสช.ไม่คิดถึงข้าวแดงแกงร้อน,” ไทยรัฐออนไลน์ (22 พฤศจิกายน 2561), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1426556>, เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563.

[6] “‘ป้อม’ สวน ‘ยอร์ช’ ด่า คสช.ไม่คิดถึงข้าวแดงแกงร้อน,” ไทยรัฐออนไลน์ (22 พฤศจิกายน 2561), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1426556>, เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563.

[7] “‘พล.อ.ฐิติวัจน์’เตือนสติ‘ยศนันท์’ ทหารต้องเคารพกัน สำนึกรักแผ่นดินเกิด,” แนวหน้าออนไลน์ (22 พฤศจิกายน 2561), เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/378519>, เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563.

[8] “'ยศนันท์' นายพลผู้อัด คสช. หายไป 2 เดือน กลับมาอีกทีลาออก 'ไทยรักษาชาติ' บอกเลิกเล่นการเมือง,” ประชาไท (6 กุมภาพันธ์ 2562),เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2019/02/80893>, เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563.

[9] ““...ต้องฆ่าให้หมด” คำสั่ง “ทักษิณ” คืน 19 กันยาฯ,” ผู้จัดการออนไลน์ (4 ตุลาคม 2549), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9490000124010>, เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563.

[10] “เปิดเบื้องลึก! ยึดอำนาจ2549 เบื้องหลัง คปค. เบื้องหลัง”พล.อ.สนธิ” เบื้องหลัง วินาทีเครียด,” มติชนออนไลน์ (19 กันยายน 2561), เข้าถึงจาก <https://www.matichonweekly.com/scoop/article_134465>, เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563.

[11] สุรชาติ บำรุงสุข, ไตรสรณคมน์ทหาร รัฐประหาร และการเมืองไทย (กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2551), หน้า 84 – 91.

[12] สมศักดิ์  เจียมธีรสกุล, “ใครเป็นใครในกรณี 6 ตุลา,” ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ 6 ตุลา รำลึก, 2544), หน้า 161 – 207.

[13] คริส เบเกอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย (กรุงเทพฯ: มติชน, 2557), หน้า 330 – 334.

[14] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย (กรุงเทพฯ: มูลนิธิสายธารประชาธิปไตย, 2551), หน้า 80.

[15] ทักษ์  เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2561), หน้า 125 – 138.

[16] คริส เบเกอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย, หน้า 346 – 351.

[17] ลิขิต ธีรเวคิน, “ระบบอุปถัมภ์กับการเมืองการบริหารในสังคมไทย,” ผู้จัดการออนไลน์ (14 พฤศจิกายน 2550), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/daily/detail/9500000135236>, เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563.

[18] รังสรรค์  ธนะพรพันธุ์, “วัฒนธรรมอำนาจนิยมอุปถัมภ์กับระบบราชการ,” ใน ผู้จัดการรายวัน (14 สิงหาคม 2535), เข้าถึงจาก < http://www.rangsun.econ.tu.ac.th/data/06/03-35/08-03-วัฒนธรรมอำนาจนิยมอุปถัมภ์กับระบบราชการ.pdf>, เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563.

[19] รังสรรค์  ธนะพรพันธุ์, “วัฒนธรรมอำนาจนิยมอุปถัมภ์กับระบบราชการ,” ใน ผู้จัดการรายวัน (14 สิงหาคม 2535), เข้าถึงจาก < http://www.rangsun.econ.tu.ac.th/data/06/03-35/08-03-วัฒนธรรมอำนาจนิยมอุปถัมภ์กับระบบราชการ.pdf>, เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563.