ไทเป็นไท (พ.ศ. 2549)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พรรคไทเป็นไท

พรรคไทเป็นไท เดิมชื่อพรรคคนขอปลดหนี้ แต่ในภายหลังได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ “พรรคไทเป็นไท” เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2549 โดยมี นายชูชาติ ประธารธรรม (ดารัณ หมีเทศ หรือ กุศล หมีเทศ) ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

แต่เดิมที่ใช้ชื่อว่าพรรคเกษตรมหาชน ก็ถือได้ว่าเป็นบบพรรคการเมืองลลที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งมิใช่ในประเด็นความเป็นพรรคใหญ่หรือเป็นตัวเก็งในการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด หากแต่เพราะเป็นพรรคการเมืองที่มีการเปลี่ยนชื่อพรรคหลายครั้งกล่าวคือ มีการเปลี่ยนจาก “พรรคเกษตรมหาชน” ไปเป็น “พรรคคนขอปลดหนี้” และเปลี่ยนเป็น “พรรคไทเป็นไท” ซึ่งเป็นชื่อพรรคที่ใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้นโยบายของพรรคที่ค่อนข้างแหวกแนวก็ทำให้พรรคคนขอปลดหนี้เรียกความสนใจต่อประชาชนได้พอสมควร และอีกประการหนึ่งก็คือ ความน่าสนใจของตัวหัวหน้าพรรคซึ่งเคยเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคกิจสังคม ซึ่งหัวหัวหน้าพรรคนั้นจะมีการเปลี่ยนชื่อและ/หรือนามสกุลทุกครั้งที่ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

เป้าหมายหลักของพรรคนั้นมี 3 ประการ

ประการที่ 1 การขจัดความยากจนของคนในชาติ ลดช่องว่างของคนในสังคม

ประการที่ 2 การขจัดคนโกง ยาเสพติด และผู้มีอิทธิพล

ประการที่ 3 เร่งสร้างคุณภาพ คุณธรรม จริยธรรม การมีวินัย มีศีลธรรม มีความซื่อสัตย์ มีน้ำใจ รู้ให้อภัยของคนในชาติ

ด้วยความหมายของวงรี 3 วง และสีที่ล้อมรอบประเทศไทย หมายถึง ชาติไทยเป็นเอกราชเป็นไท ร่มเย็น อุดมสมบูรณ์และน่าอยู่ วงรีสีฟ้ารอบนอก หมายถึง ความเป็นอิสรเสรี ไพร่ฟ้าหน้าใสมีสิทธิเสรีภาพเสมอภาคกัน ตามกฎหมาย

วงรีสีเขียวอ่อนรอบนอก หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร น้ำมัน และทรัพยากรธรรมชาติทุกชนิด

วงรีสีเหลืองรอบนอก หมายถึง การปกครองโดยธรรมคุ้มครองป้องกันชาวไทยให้อยู่เย็นเป็นสุข

สงบร่มเย็น หมายถึง ประเทศไทย ประกอบด้วยคนไทยร้อยจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกันในสถาบันพระมหากษัตริย์ และ มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำมัน และทรัพยากรธรรมชาติ มีสถาบันพุทธศาสนา พระสงฆ์ คงอยู่คู่ความเป็นไท คนไทย ชาติไทย ตลอดไป บ่งบอกความเป็นไท ความเป็นอิสระ ความอุดมสมบูรณ์ ชุ่มชื่น ร่มเย็นสงบสุข

การมีแนวคิดการปกครองแผ่นดินโดยยึดศีล 5 และธรรม 5 ประการ หลักคุณธรรม จริยธรรม และเมตตาธรรม รู้จักการให้อภัยซึ่งกันและกัน รู้จักลดละความโลภ โกรธ หลง ซึ่งกัน และกัน รู้จักลดละความโลภ โกรธหลง และคนไทยส่วนใหญ่นับถือคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา มีความสามัคคีเกิดความร่มเย็น ชุ่มชื่น อุดมสมบูรณ์ กลุ่มคนจำนวนมากรวมตัวกันอย่างมั่นคง

ซึ่งแสดงในรูปไผ่เหลือง 9 กอ อันเป็นไม้พุทธคุณ มงคลสารพัดประโยชน์ เป็นพืชเศรษฐกิจอเนกประสงค์ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และ การสหกรณ์

นโยบายหลักของ พรรคไทเป็นไท มี 9 ประการดังนี้

-ประการที่ 1 คนไทยส่วนใหญ่หมดหนี้

-ประการที่ 2 คนไทยส่วนใหญ่มีเงินสดใช้จ่าย

-ประการที่ 3 คนไทยส่วนใหญ่ได้รับการศึกษา อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น

-ประการที่ 4 คนไทยส่วนใหญ่มีแหล่งน้ำ มี่ที่ดิน มีอาชีพสุจริตทำกิน และทำงานเป็นหมู่คณะ ได้ดี

-ประการที่ 5 คนไทยส่วนใหญ่มีอาหารกิน ถูกสุขโภชนาการทุกมื้อ

-ประการที่ 6 คนไทยส่วนใหญ่มีสุขภาพแข็งแรงพลานามัยดี มีสิ่งแวดล้อมน่าอยู่

-ประการที่ 7 คนไทยส่วนใหญ่มีจิตใจแข็งแรง ด้วยการภาวนา นั่งสมาธิ เดินจงกรม ถือศีล 5 ได้แก่ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่พูดเท็จ ไม่ผิดลูกเมียผู้อื่น และไม่ดื่มหรือเสพสิ่งเสพติด

-ประการที่ 8 คนไทยส่วนใหญ่อยู่อย่างไม่เบียดเบียนหรือไม่คิดโกงผู้อื่น ด้วยการประพฤติปฏิบัติ มีธรรม 5 ประการใช้ปกครองตนเองและผู้อื่น คือ ความเมตตา การทำคิดพูดดี การไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน และการให้อภัย

-ประการที่ 9 คนไทยส่วนใหญ่ปลอดภัยจากสิ่งเสพติดและอบายมุข

ในด้านที่มาของพรรคนั้น ในเว็บไซต์ที่เป็นทางการของพรรคไทเป็นไทได้ประกาศไว้ว่า “พรรคไทเป็นไท เป็นพรรคที่ถูกตั้งขึ้นจากอุดมการณ์ นักการเมืองสีขาว ที่อยากเห็นคนไทยทั่วประเทศไม่เป็นหนี้ มีชีวิตอยู่แบบเรียบง่าย รู้จักการอยู่แบบพอเพียง รู้จักแบ่งปันกัน เป็นสังคมสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ มากกว่าการเห็นประโยชน์ส่วนตน คนรวยรู้จักแบ่งปัน คนจนก็ขวนขวาย ขยันทำมาหากิน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน คนไทยมีน้ำใจดี...” ซึ่งเป็นการประกาศจุดยืนของพรรค และเป็นสิ่งที่สะท้อนภาพนโยบายของพรรคได้เป็นอย่างดี โดยนโยบายของพรรคไทเป็นไทนั้น มิได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อครั้งที่ใช้ชื่อว่าพรรคคนขอปลดหนี้แต่อย่างใด ซึ่งนโยบายที่สำคัญๆนั้นประกอบด้วย

นโยบายออกกฎหมายยกหนี้สิน หรือปลดหนี้ หรือรัฐบาลเป็นผู้ใช้หนี้แทนคนไทยทั้งประเทศ โดยต้องให้รัฐบาลออกกฎหมายรับโอนหนี้ของคนไทยทุกคนมาเป็นหนี้ของรัฐบาลรายละไม่เกินห้าแสนบาท ภายใน 48 ชั่วโมง หลังจากพรรคได้จัดตั้งรัฐบาลและได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว หลังจากนั้นต้องจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินใช้หนี้แทนคนไทยที่เป็นหนี้ และได้ร่วมลงชื่อขอปลดหนี้ไว้กับทางพรรคคนขอปลดหนี้ก่อนหน้าที่พรรคจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล โดยจัดทำเป็นงบประมาณผูกพันประจำปีจนสิ้นสุดโครงการ

นโยบายออกกฎหมายกระจายงาน กระจายเงิน กระจายอำนาจ โดยพรรคจะมีนโยบายแต่งตั้งตัวแทนพรรคระดับต่างๆ ดังนี้ แต่งตั้งตัวแทนพรรคระดับหมู่บ้านๆ ละ 1 คน เรียกว่า หัวหน้าหมู่บ้าน ยกเว้น หมู่บ้านใดมีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเกิน 500 คน ให้แต่งตั้งได้ 2 คน เมื่อพรรคได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล หัวหน้าหมู่บ้านจะได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งหัวหน้าหมู่บ้าน ได้รับเงินเดือนๆ ละหนึ่งหมื่นบาท และจะได้รับค่าตอบแทนจำนวนหนึ่งล้านบาท หลังจากพรรคได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จภายใน 180 วัน ตัวแทนพรรคระดับหมู่บ้านมีหน้าที่สรรหาสมาชิกและจัดตั้งหัวหน้าคุ้ม รวมทั้งให้ความรู้เรื่องนโยบายพรรค โดยเฉพาะเรื่องการปลดหนี้ตามที่พรรคกำหนด และต้องสรรหาสมาชิกพรรคที่มีคุณสมบัติตามที่พรรคกำหนด

แต่งตั้งตัวแทนพรรคระดับหัวหน้าคุ้ม เรียกว่า ตัวแทนพรรคระดับหัวหน้าคุ้มจำนวนไม่น้อยกว่า 24 คน ภายในหมู่บ้านเดียวกัน และให้หัวหน้าแต่ละคุ้มมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยหัวหน้าหมู่บ้าน รวมทั้งสรรหาสมาชิก เพื่อแต่งตั้งเป็นสมาชิกพรรคที่มีคุณสมบัติตามที่พรรคกำหนดจำนวนคุ้มละ 10 คน หัวหน้าคุ้ม มีฐานะเป็นข้าราชการการเมืองเช่นเดียวกัน และให้มีตำแหน่งเรียกว่า หัวหน้าคุ้ม ได้รับเงินเดือนๆ ละห้าพันบาท สำหรับค่าตอบแทนแต่ละคุ้มจะได้คุ้มละ 1,000,000 บาท หลังจากพรรคได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลภายใน 180 วัน โดยกำหนดให้จัดสรรเงินค่าตอบแทนให้แก่สมาชิกของแต่ละคุ้มรายละ 90,000 บาท ส่วนหัวหน้าคุ้มได้รับค่าตอบแทนจำนวนหนึ่งแสนบาท และทุกคนจะได้รับการปลดหนี้รายละไม่เกิน 500,000 บาท ภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว

แต่งตั้งตัวแทนพรรคระดับตำบลๆ ละ 1 คน เรียกว่า หัวหน้าตำบลเพื่อทำหน้าที่สรรหาและแต่งตั้งหัวหน้าหมู่บ้านตามที่พรรคกำหนด เมื่อพรรคได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลแล้ว หัวหน้าตำบลจะได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมืองตำแหน่งหัวหน้าตำบล มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยหัวหน้าอำเภอ บริหารจัดการตามที่พรรคกำหนดภายในตำบลที่รับผิดชอบ ได้รับเงินเดือนๆ ละ 30,000 บาท พร้อมทั้งได้รับค่าตอบแทนจำนวน 3,000,000 บาท ภายใน 180 วัน

แต่งตั้งตัวแทนพรรคระดับอำเภอๆ ละ 1 คน เรียกว่า หัวหน้าอำเภอเพื่อทำหน้าที่สรรหาและแต่งตั้งหัวหน้าตำบลตามที่พรรคกำหนด เมื่อพรรคได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลแล้ว หัวหน้าตำบลจะได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมืองตำแหน่งหัวหน้าตำบล มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยหัวหน้าอำเภอ บริหารจัดการตามที่พรรคกำหนดภายในตำบลที่รับผิดชอบ ได้รับเงินเดือนๆ ละ 50,000 บาท พร้อมทั้งได้รับค่าตอบแทนจำนวน 3,000,000 บาท ภายใน 180 วัน

แต่งตั้งตัวแทนพรรคระดับจังหวัดๆ ละไม่น้อยกว่า 1 คน ตามที่พรรคกำหนด เรียกว่า หัวหน้าจังหวัด เพื่อทำหน้าที่สรรหาและแต่งตั้งหัวหน้าอำเภอตามที่พรรคกำหนด เมื่อพรรคได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลแล้ว หัวหน้าจังหวัดจะได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งผู้ช่วยนายกรัฐมนตรีจังหวัด มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่สอดส่องดูแลข้าราชการและบริหารจัดการภายในจังหวัดที่รับผิดชอบตามที่พรรคกำหนด ได้รับเงินเดือนๆ ละ 100,000 บาท พร้อมทั้งได้รับค่าตอบแทนจำนวน 5,000,000 บาทภายใน 180 วัน

นอกจากนี้ยังมีนโยบายขจัดการทุจริต โกงกิน โดยนโยบายของพรรคคนขอปลดหนี้นั้นจะให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ปลดข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ หรือนักธุรกิจเอกชนที่สร้างความเสียหายให้แก่ระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ โดยมีพฤติกรรมอันควรเชื่อได้ว่ามีการโกงหรือทุจริต และตั้งกรรมการสอบสวนเอาผิดตามกฎหมายด้วย

ส่วนมาตรการลดการผูกขาดทางธุรกิจนั้น พรรคคนขอปลดหนี้จะยกเลิกรูปแบบเงิน ธนบัตรรัฐบาลไทย ราคา 100 บาท 500 บาท 1,000 บาท โดยกำหนดระยะเวลาให้นำมาแลกเปลี่ยนกับธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง หรือคลังจังหวัด หรือธนาคารชาติ และเพิ่มปริมาณเงินอย่างมหาศาล โดยการออกพันธบัตร (ภายในประเทศ) ตรวจสอบธนาคารและสถาบันการเงินอย่างเข้มงวดให้เป็นที่เชื่อถือของผู้ฝากเงินให้มีประสิทธิภาพ ปรับระบบนโยบายสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ที่เป็นของรัฐบาลให้มีสภาพคล่อง ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ให้เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาและการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารประเทศและส่งเสริมให้คนไทยให้เป็นผู้ถือหุ้นธนาคารพาณิชย์ที่เป็นของรัฐในสัดส่วนผู้ถือหุ้นคนไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมดเพื่อไม่ให้ต่างชาติครอบงำ เน้นให้เป็นธนาคารในท้องถิ่นหรือเป็นธนาคารเพื่อการ สหกรณ์ ต้องให้อำนาจทางเศรษฐกิจ อำนาจเงิน และการธนาคารเป็นของคนไทยทุกวิถีทาง นักธุรกิจที่ได้รับสัมปทานจากรัฐหรือรัฐให้ดำเนินการแทนจะต้องแสดงทรัพย์สินหนี้สินของผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และสามารถชี้แจงต่อสาธารณชนได้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และถ้าหาที่มาไม่ได้ให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ธุรกิจที่มีการผูกขาด เช่น สุรา เบียร์ โทรศัพท์มือถือ ยางมะตอย ฯลฯ ต้องให้มีการค้าแบบเสรี แข่งขันและกระจายสัมปทานไปสู่ท้องถิ่นให้มากที่สุด

สำหรับนโยบายที่สามารถเรียกความสนใจจากสังคมได้อีกข้อหนึ่งก็คือ นโยบายการเปลี่ยนคำนำหน้านามของผู้ที่มีความผิดปกติทางเพศ โดยนโยบายของพรรคที่ได้ประกาศไว้อย่างเป็นทางการระบุว่า “ในสังคมไทยมีบุคคลิกอีกประเภทหนึ่งที่มีสภาพจิตใจแตกต่างกับเพศชายหรือเพศหญิงโดยเป็นมาตั้งแต่แรกเกิดเป็น "ชาย" แต่สภาพจิตใจและรูปร่างลักษณะท่าทางเป็น "หญิง" เห็นสมควรสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนคำนำหน้านามจาก "นาย" เป็น "นางนาย" หรือ "นายนาง" แล้วแต่กรณีเมื่ออายุครบ 20 ปี โดยให้จิตแพทย์ให้การรับรอง และในกรณีที่มีการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงเพศหรือแต่งงานแล้ว ให้ใช้คำนำหน้าว่า "นางสาว" หรือ "นาง" เมื่อนายแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดแปลงเพศหรือสามีให้การรับรอง”

สำหรับความน่าสนใจของตัวหัวหน้าพรรคนั้น นายบุญนาค หมีเทศ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย พรรคกิจสังคม และพรรคความหวังใหม่ ได้มีการเปลี่ยนชื่ออีกหลายครั้งด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันได้ใช้ชื่อสกุลว่า “นายชูชาติ ประธานธรรม” ชื่อเดิม “นายกุศล หมีเทศ” หรือ "นายปราบสะดา หมีเทศ" หรือ "นายกุศล หมีเทศทอง" หรือ "นายดารัณ หมีเทศ" ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามีการเปลี่ยนชื่อสกุลเพื่อความเป็นสิริมงคลทุกครั้งที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ส่วนด้านกิจกรรมการเมืองนั้น พรรคไทเป็นไทได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงแข่งขันในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2550 ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 โดยพรรคไทเป็นไทส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 299 คน แบ่งเป็นผู้สมัครแบบสัดส่วนทั้งหมด 8 กลุ่มจังหวัด เป็นจำนวน 80 คน ซึ่งประกอบด้วย

กลุ่มจังหวัดที่ 1 เป็นจำนวน 10 คน (1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน 2. จังหวัดเชียงใหม่ 3. จังหวัดเชียงราย 4. จังหวัดพะเยา 5. จังหวัดน่าน 6. จังหวัดแพร่ 7. จังหวัดลำปาง 8. จังหวัดลำพูน 9. จังหวัดสุโขทัย 10. จังหวัดตาก 11. จังหวัดกำแพงเพชร)

กลุ่มจังหวัดที่ 2 เป็นจำนวน 10 คน (1. จังหวัดอุตรดิตถ์ 2. จังหวัดพิษณุโลก 3. จังหวัดพิจิตร 4. จังหวัดนครสวรรค์ 5. จังหวัดอุทัยธานี 6. จังหวัดลพบุรี 7. จังหวัดเพชรบูรณ์ 8. จังหวัดชัยภูมิ 9. จังหวัดขอนแก่น)

กลุ่มจังหวัดที่ 3 เป็นจำนวน 10 คน (1. จังหวัดอำนาจเจริญ 2. จังหวัดมุกดาหาร 3. จังหวัดนครพนม 4. จังหวัดสกลนคร 5. จังหวัดกาฬสินธุ์ 6. จังหวัดมหาสารคาม 7. จังหวัดหนองคาย 8. จังหวัดอุดรธานี 9. จังหวัดหนองบัวลำภู 10. จังหวัดเลย)

กลุ่มจังหวัดที่ 4 เป็นจำนวน 10 คน (1. จังหวัดบุรีรัมย์ 2. จังหวัดสุรินทร์ 3. จังหวัดศรีสะเกษ 4. จังหวัดอุบลราชธานี 5. จังหวัดยโสธร 6. จังหวัดร้อยเอ็ด)

กลุ่มจังหวัดที่ 5 เป็นจำนวน 10 คน (1. จังหวัดสระแก้ว 2. จังหวัดนครราชสีมา 3. จังหวัดปทุมธานี 4. จังหวัดนครนายก 5. จังหวัดปราจีนบุรี 6. จังหวัดฉะเชิงเทรา 7. จังหวัดชลบุรี 8. จังหวัดระยอง 9. จังหวัดจันทบุรี 10. จังหวัดตราด)

กลุ่มจังหวัดที่ 6 เป็นจำนวน 10 คน (1. กรุงเทพมหานคร 2. จังหวัดนนทบุรี 3. จังหวัดสมุทรปราการ)

กลุ่มจังหวัดที่ 7 เป็นจำนวน 10 คน (1. จังหวัดระนอง 2. จังหวัดชุมพร 3. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 4. จังหวัดเพชรบุรี 5. จังหวัดราชบุรี 6. จังหวัดสมุทรสงคราม 7. จังหวัดสมุทรสาคร 8. จังหวัดนครปฐม 9. จังหวัดกาญจนบุรี 10. จังหวัดสุพรรณบุรี 11. จังหวัดชัยนาท 12. จังหวัดสิงห์บุรี 13. จังหวัดอ่างทอง 14. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 15. จังหวัดสระบุรี)

และกลุ่มจังหวัดที่ 8 เป็นจำนวน 10 คน (1. จังหวัดสุราษฎร์ธานี 2. จังหวัดพังงา 3. จังหวัดภูเก็ต 4. จังหวัดกระบี่ 5. จังหวัดนครศรีธรรมราช 6. จังหวัดตรัง 7. จังหวัดพัทลุง 8. จังหวัดสตูล 9. จังหวัดสงขลา 10. จังหวัดปัตตานี 11. จังหวัดยะลา 12. จังหวัดนราธิวาส)

และผู้สมัครแบบแบ่งเขต 219 คน ซึ่งผลการเลือกตั้งปรากฏว่าผู้สมัครจากพรรคไทเป็นไทไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว

ที่มา

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 93 ก หน้า 124-132

http://www.thaipenthai.org/user_policy_detail.php เข้าถึงเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552

http://www.thaipenthai.org/user_about_detail.php เข้าถึงเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552