ให้มันจบที่รุ่นเรา

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

เรียบเรียงโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และ ธีทัต จันทราพิชิต

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

          ให้มันจบที่รุ่นเรา เป็นหนึ่งในแฮชแท็กและวลีทางการเมืองที่ประสบความสำเร็จในการสื่อสารมากที่สุดในการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ปี พ.ศ. 2563 โดยให้มันจบที่รุ่นเราเป็นวลีทางการเมืองที่จับใจและสะท้อนวิธีคิดของมวลชนผู้เข้าร่วมมากที่สุดอีกด้วย

 

ที่มาและความแพร่หลาย

          ให้มันจบที่รุ่นเราเป็นคำพูดที่มีมาตลอดยุคสมัยในโลกอินเตอร์เน็ต โดยในกรณีประเทศไทยได้ปรากฏครั้งนี้ตั้งแต่ ปี 2555[1] แต่ไม่ได้มีนัยยะทางการเมืองอะไรและก็ไม่ได้แพร่หลาย และหลายครั้งความหมายยังสื่อไปถึงการไม่อยากจะมีลูกหรือไม่ให้เด็กมาเกิดในสังคมนี้ด้วย[2] 

          ทว่าให้มันจบที่รุ่นเราจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง ปี 2562 มีการใช้คำว่าให้มันจบที่รุ่นเราอยู่หลายครั้งโดยครั้งแรกเป็นทวีตเชิญชวนให้เลือกพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562[3] ก่อนที่ต่อมาจะมีการใช้คำนี้อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ จนในเดือนมิถุนายน 2563 ได้มีบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ @nefj94 ได้ทวีตข้อความ “พูดตรง ๆ ว่าไม่อยากโตไปเป็นคนที่จะต้องฝากความหวังไว้กับคนรุ่นหลังอีกทอดแล้ว ให้มันจบที่รุ่นเราเถอะครับ”[4]

          ทวีตดังกล่าวมีคนกดรีทวีตทั้งสิ้นกว่า 1,784 ครั้ง และมีคนกดไลค์กว่า 260 ครั้ง โดยในวันเดียวกันก็ได้มีผู้ใช้ทวิตเตอร์บัญชี @witoroo ทวีตข้อความชื่นชมวลีดังกล่าวและแสดงความชื่นชอบอย่างเห็นได้ชัด โดยมีเนื้อความว่า “ชอบคำว่า​ 'ให้มันจบที่รุ่นเราเถอะ'​ อ่านประโยคนี้วน ๆ แล้วก็จึกดี​นะ” [5]ทวีตของ @witoroo มีการกดรีทวีตอีก 11 ครั้ง และมีการกดไลค์ทั้งสิ้น 9 ครั้ง

          ต่อมาในเดือนกรกฎาคมหลังการชุมนุม วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ซึ่ง รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ ได้ให้อธิบายการชุมนุมครั้งนั้นว่า “วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 มีการชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมมากสุดหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 หากแต่ยังเป็นการ “ลงถนน” ครั้งแรกของการชุมนุมของนักเรียนนิสิตนักศึกษาที่ก่อตัวขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์”[6]

          ความสำเร็จของการชุมนุมเมื่อ วันที่ 18 กรกฎาคม นั่นทำให้มีทวิตเตอร์ทวีตข้อความในแฮชแท็กให้มันจบที่รุ่นเราจำนวนมหาศาล โดยในช่วงบ่ายของ วันที่ 19 กรกฎาคม มีการทวีตข้อความในแฮชแท็กดังกล่าวกว่า 6 แสนครั้ง[7] ต่อมาวลีให้มันจบที่รุ่นเราก็ได้ปรากฏในการชุมนุมหลายต่อหลายครั้ง โดยปรากฏทั้งในรูปของแฮชแท็กเชิญชวนไปจนถึงวลี ไม่ว่าจะที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อ วันที่ 24 กรกฎาคม 2563[8] หรือ ฟอร์ต ทัตเทพ แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอกใน วันที่ 21 กรกฎาคม 2563[9] ไปจนถึงโพสต์เฟซบุ๊คของอานนท์ นำภาใน วันที่ 8 สิงหาคม 2563[10] โดยแฮชแท็กให้มันจบที่รุ่นเราได้มีผู้ใช้อีกจำนวนมากและเคลื่อนไหวทุกครั้งที่มีการชุมนุมเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 จนถึง ปี 2564

 

นัยยะ

          ให้มันจบที่รุ่นเราเป็นวลีที่สื่อถึงอนาคต โดยในช่วงแรกแม้ความหมายของให้มันจบที่รุ่นเราจะหมายถึงการไม่มีทายาทเพื่อจะได้ไม่ลำบากในชีวิต แต่ในเวลาต่อมาคำว่าให้มันจบที่รุ่นเรามีความหมายสื่อไปถึงการไม่ยอมให้สิ่งแย่ ๆ ตกเป็นไปถึงคนรุ่นหลัง และรวมไปถึงตัวเองในอนาคตด้วย โดยสามารถใช้สื่อถึงระบบหรือการกระทำที่ดูจะมีปัญหา ตั้งแต่การสื่อถึงระบบการตัดสินคดีความที่ไม่ยุติธรรม ระบบเผด็จการ รวมไปถึงค่านิยมโบราณล้าหลังต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคมไทย

          #ให้มันจบที่รุ่นเรา ยังมีนัยยะที่เป็นเป้าหมายของการออกมาเคลื่อนไหวของขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษาในปัจจุบัน ดังที่ จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ อดีตประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ร่วมก่อตั้งคณะประชาชนปลดแอกเคยให้สัมภาษณ์กับ The 101.world ไว้ว่า “ลึกๆ แล้ว เราอยากให้จบเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพราะเราไม่อยากจะทนอยู่ในสภาพสังคมแบบนี้แล้ว เราไม่อยากจะทนในการต้องมีหมายจับหรือการถูกดำเนินคดี เราอยากให้เกิดสังคมที่เป็นประชาธิปไตยเร็วที่สุด อยากให้มันจบที่รุ่นเรา เราไม่สามารถสัญญาได้ว่าจะเป็นตอนไหน แต่เราก็พยายามจะผลักดัน ขับเคี่ยวไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ผู้มีอำนาจคิดได้แล้วว่าเราอยากเห็นสังคมดีขึ้น ไม่ใช่พอพวกเราออกมาก็หาวาทกรรมมาใส่ร้าย ถ้าทำแบบนี้ไม่จบแน่ ๆ..."[11]

 

อ้างอิง

[1] งั่มงั่ม หมาใหญ่งั่มๆ, 2555, หืมหืมม "...ให้มันจบที่รุ่นเราแล้วให้น้องไปต่อกันใหม่ แอบเก็บคำนี้มาคิดนะ แต่ก็คิดว่าคงไม่ปล่อยดีกว่า5555. เข้าถึงจาก https://twitter.com/precise248/status/202002709749051392

[2] มมทก^_^ , 2561, นี่พูดกับใครๆบ่อยมากว่าไม่อยากมีลูก สังคมมันไม่น่าอยู่อ่ะเอาจริงๆ ให้มันจบที่รุ่นเราเถอะ อย่าไปสร้างเวรสร้างกรรมให้เด็กเล้ยยยย;___; . เข้าถึงจาก https://twitter.com/trdoubleeyp/status/1001489519219109888

[3]เดินงง ในดงตีน, 2561, คนรุ่นเก่าเปลี่ยนยาก เลือกแต่พรรคเดิมๆ ยังบอกประยุทธ์ไม่โกง ทักษินไม่โกง แต่คนรุ่นใหม่ยังมีทางเลือก เรามาลอง #อนาคตใหม่ กันเถอะ เสียงเก่าเปลี่ยนไม่ได้ช่างมันไป ขอเสียงสดๆใหม่ๆ ให้มันจบที่รุ่นเรา อย่าส่งต่อให้ถึงรุ่นลูกเราเลย. เข้าถึงจาก https://twitter.com/THEoloY1112/status/1093891384841461760

[4] แสนแสบ (lll), 2563, พูดตรงๆว่าไม่อยากโตไปเป็นคนที่จะต้องฝากความหวังไว้กับคนรุ่นหลังอีกทอดแล้ว ให้มันจบที่รุ่นเราเถอะครับ. เข้าถึง https://twitter.com/nefj94/status/1272409876442910720

[5] @witoroo, 2563, ชอบคำว่า​ 'ให้มันจบที่รุ่นเราเถอะ'​ อ่านประโยคนี้วนๆแล้วก็จึกดี​นะ. https://twitter.com/witoroo/status/1272444577320824833

[6] มติชน, 2564, นักวิชาการย้อน 1 ปี ‘ม็อบปลดแอก’ 18 ก.ค. วิเคราะห์ชุมนุมใหญ่บ่ายนี้ ชี้ไม่จำนนชะตากรรม. เข้าถึงจาก https://www.matichon.co.th/politics/news_2835118

[7] Voice online, 2563, โลกออนไลน์ครึกครื้นข้ามวัน แรงส่งจากการชุมนุม 'เยาวชนปลดแอก' ปลุกอุดมการณ์คนรุ่นใหม่ ผ่านแฮชแท็ก "ให้มันจบที่รุ่นเรา" ไปแล้ว 600,000 ทวิต. เข้าถึงจาก https://voicetv.co.th/read/ROv-a-_ap

[8] Post Today ,2563,"ให้มันจบที่รุ่นเรา"นักศึกษาม.เกษตรจัดชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาล.เข้าถึงจาก https://www.posttoday.com/politic/news/629190

[9] เยาวชนปลดแอก, 2563, ละแมะ ละแมะ ละให้ยื่นจริงๆ อ่ะหรือ อ่ะหรือ อ่ะหรือว่าควรลาออก. เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/FreeYOUTHth/photos/290466869069044

[10] ไทยโพสต์, 2563, 'อานนท์' ยืนยันให้มันจบที่รุ่นเรา พรุ่งนี้ขึ้นเชียงใหม่.เข้าถึงจาก https://www.thaipost.net/main/detail/73825

[11] The 101.world, 18 สิงหาคม 2563. “#ให้มันจบที่รุ่นเรา” – จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์. เข้าถึงจาก https://www.the101.world/jutatip-sirikhan-interview/