แรงงานไทย (พ.ศ. 2541)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต



พรรคแรงงานไทย

พรรคแรงงานไทย (ตัวย่อ รท.) มีชื่อภาษาอังกฤษว่า THAI LABOUR PARTY (ตัวย่อ TLP.) จดทะเบียนจัดตั้งพรรคอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 กันยายน 2541

พรรคแรงงานไทยมีเครื่องหมายประจำพรรคเป็นรูปกุหลาบสีแดงและก้านดอกมีสีเขียว ซึ่งกุหลาบ หมายถึง สัญลักษณ์แห่งความรัก ความเข้าใจเป็นเสื่อกลางของสัมพันธภาพอันดี ระหว่างสมาชิกพรรคประชาชนและรัฐบาล ส่วน สีแดง หมายถึง ความจริงใจมุ่งมั่นปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะสร้างสรรค์ สังคมไทยให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าสืบไป และ ก้านดอกสีเขียว หมายถึงรากฐานที่มั่นคง ความสมบูรณ์ของประเทศและคุณภาพที่ดีของประชาชน คำขวัญของพรรคแรงงานไทย ก็คือ “พรรคการเมืองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

พรรคแรงงานไทยมีที่มามาจากการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ที่แรกเริ่มเดิมทีได้รวมตัวกันและจัดตั้งเป็น “ชมรมส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาสหภาพ แรงงาน” ซึ่งเป็นศูนย์ช่วยเหลือคนงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบในสถานที่ทำงาน ในเวลาเดียวกันนั้น ก็ได้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานในโรงงานต่างๆ โดยในปี พ.ศ.2531 กลุ่มสหภาพแรงงานดังกล่าวได้พัฒนามาเป็น สภาองค์การลูกจ้าง สภาลูกจ้างแห่งชาติ (National Labour Congress) โดยมี นายชิน ทับพลี เป็นประธานฯตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532

บทบาทสำคัญของสภาองค์การลูกจ้าง สภาลูกจ้างแห่งชาติ ก็คือ การเรียกร้องให้รัฐบาลลงมาดูแลความเป็นอยู่ของลูกจ้างมากขึ้น และผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายประกันสังคม และเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้มีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมจนสำเร็จ จึงนับได้ว่า สภาองค์การลูกจ้าง สภาลูกจ้างแห่งชาติมีการ แต่ในหลายๆข้อเรียกร้องก็ประสบกับความล้มเหลว เช่น ในการเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายประกันการว่างงาน การให้คนชรามีเงินเดือน เป็นต้น สภาองค์การลูกจ้าง และสภาลูกจ้างแห่งชาติ นำโดย นายชิน ทับพลี จึงมีแนวคิดว่า อำนาจรัฐเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการต่อสู้ของขบวนการแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนการแรงงานจำเป็นต้องมี พรรคการเมืองของตนเอง และจะต้องผลักดันให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นฝ่ายของแรงงานอยู่ในสภานิติบัญญัติให้ได้เพื่อที่จะเข้าไปผลักดันให้มีกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้แรงงาน

ในการประชุมใหญ่ของสภาองค์การลูกจ้าง สภาลูกจ้างแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2539 ได้มีมติให้จัดตั้งพรรคการเมืองชื่อ "พรรคแรงงานไทย" โดยมี นายชิน ทับพลี เป็นหัวหน้าพรรคก่อตั้ง และพรรคแรงงานไทยได้ส่งผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก จำนวน 107 คน แต่พรรคต้องประสบความล้มเหลว เมื่อไม่มีผู้ใดได้รับการเลือกตั้ง พรรคจึงถูกศาลสั่งยุบพรรคตามกฎหมาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 ได้มีการจัดตั้งพรรคแรงงานไทยขึ้นอีกครั้งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่ พ.ศ.2541 ได้รับจดทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2541 โดยมี นายชิน ทับพลี เป็นหัวหน้าพรรคแรงงานไทยคนแรก และมีนายขวัญ ภู่นาค เป็นเลขาธิการพรรค โดยคำขวัญของพรรคก็คือ "สร้างสรรค์สังคม" และอุดมการณ์หลักของพรรคแรงงานไทยก็คือ “ยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจ การตลาดเสรีที่มีกลไกกำกับ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม สร้างระบบสังคมที่มีสวัสดิการ และหลักประกันเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพ ที่อยู่ดีกินดี มีความปลอดภัยในชีวิต และ ทรัพสินตาม”

พรรคแรงงานไทยแบ่งนโยบายที่เป็นทางการของพรรคออกเป็น 2 กลุ่มนโยบายหลัก คือ

หนึ่ง นโยบายด้านการเมือง และสอง นโยบายด้านเศรษฐกิจ

1) นโยบายด้านการเมือง

     1. ปฎิรูปกฎหมายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ กฎหมายเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ ในการกำกับสังคม และมีสาระที่ประกันศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ สามารถคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน

     2. ปฎิรูประบบการบังคับใช้กฎหมายให้มีความโปร่งใส บริสุทธิ์ รวดเร็ว และมีการตรวจสอบป้องกันการใช้อำนาจอย่างเลือกปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความยุติธรรม และความสงบเรียบร้อยแก่สังคมอย่างแท้จริง

     3. ส่งเสริมให้มีองค์กรระงับข้อพิพาททางสังคม หลายรูปแบบ เพื่อความเหมาะสม และสอดคล้องกับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม

     4.ส่งเสริมให้มีการกระจายอำนาจการบริหารและการคลังสู่ท้องถิ่นเพื่อให้มีการใช้ ภูมิปัญญาชาวบ้าน ประสานงานกับนโยบายของส่วนกลาง

     5. ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศอย่างแท้จริง

     6. สร้างสรรค์ระบบการป้องกันประเทศให้เหมาะสม กับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ

     7. กำหนดนโยบายต่างประเทศที่เป็นมิตรอันดีกับทุกประเทศทั่วโลก

2)นโยบายด้านเศรษฐกิจ

     1.ส่งเสริมกลไกการตลาด จัดระบบป้องกันการผูกขาด และป้องกันขาดความรับผิดชอบทางเศรษฐกิจ โดยผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาด กฎหมายป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม กฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ และกฎหมายเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่มีสาระและเจตนารมณ์ ในการส่งเสริม และกำกับระบบเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคอย่างแท้จริง

     2.ผลักดันให้มีการปรับปรุงระบบกฎหมายการเงินให้สมบูรณ์ โดยเฉพาะกฎหมายกำกับสถาบันการเงิน กฎหมายควบคุมและกำกับธุรกรรมทางการเงิน กฎหมายเกี่ยวกับตราสารหนี้ และตราสารอนุพันธ์และการเงิน อีกทั้งตรวจสอบและควบคุมให้มีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด และจริงจังเพื่อให้สถาบันการเงินมั่นคง และการประกอบธุรกรรมทางเงินที่เป็นธรรม

     3. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ และแรงงานภาคต่าง ๆ รวมตัวเป็นองค์กรที่ขอบด้วยกฎหมายเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งต่างประเทศ เพื่อเป็นเอกภาพในการประสาน และสนองนโยบายของรัฐ


     4.ส่งเสริมให้มีการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต การจัดการและการบริหารที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพและได้ผลผลิตมีคุณภาพดีแต่ต้นทุนต่ำ อันเป็นการสร้างอำนาจการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศให้แข็งแกร่งขึ้น

     5.ส่งเสริมให้มีการพัฒนายกระดับความรู้ความสามารถ และทักษะของผู้ใช้แรงงานให้สูงขึ้นและสอดคล้องกับสภาพการผลิตที่แปรเปลี่ยนไป เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานดีขึ้นกว่าเดิม

     6.ส่งเสริมให้มีองค์กรกลาง เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค และผู้ใช้แรงงานในภาคต่าง ๆ โดยให้มีตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์เหล่านั้น มีส่วนร่วมในการตัดสินใจขององค์กรนั้นอย่างแท้จริง

     7.ผลักดันให้หน่วยงานของรัฐ จัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศ เปิดเผยและเผยแพร่ให้ประชาชน ได้รับรู้อย่างทันเหตุการณ์ อีกทั้งผลึกดันให้รัฐจัดตั้งองค์กรกำกับชี้แนะทิศทางการลงทุน แก่ผู้ประกอบการทราบเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง และชัดเจน

     8.ส่งเสริมระบบการประกันความเสี่ยงในภาคอุตสาหกรรม เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง

     9. ส่งเสริมระบบการประกันภัยผลิตผลทางการเกษตร

     10. ส่งเสริมระบบการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบยั่งยืน และการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

     11. ส่งเสริมนโยบายการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจสู่ภูมิภาค

     12. ส่งเสริมระบบการรักษาสินทรัพย์ของชาติ

     13. ส่งเสริมให้มีการสะสมทุนในระดับที่เหมาะสม เพื่อความมั่นคง และก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของชาติ

     14. ส่งเสริมความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจภูมิภาค เพื่อให้ประเทศไทยและภูมิภาคเอเซีย มีความมั่นคง โดยให้มีมาตราทางการเงิน การคลัง และการค้าระหว่างประเทศที่มีความสอดคล้องกัน

     15. ส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคในวันที่ 7 ตุลาคม 2547 อันเนื่องมาจากการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2546 ของพรรค เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2546 ไม่เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของพรรคแรงงานไทย เนื่องมาจากมีผู้เข้าร่วมประชุมใหญ่วิสามัญน้อยกว่า 100 คน และที่ประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคไม่ได้ดำเนินการในลักษณะที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 (มาตรา 26 และมาตรา 20) ส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคแรงงานไทยในที่สุด[1]

อ้างอิง