แผ่นดินไหวการเมือง กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ


ความนำ

          แผ่นดินไหวการเมือง กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่อยู่ในความสนใจของบรรดาสื่อมวลชนและประชาชนมากที่สุดในช่วงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา คือการที่พรรคไทยรักษาชาติได้เสนอพระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ทำให้พรรคการเมืองหน้าใหม่ที่พึ่งถูกก่อตั้งขึ้นและลงสู่สนามเลือกตั้งเป็นครั้งแรกได้กลายเป็นที่จับจ้องมองดูจากแทบทุกสายตาขณะนั้น ทว่าเพียงเวลาไม่นานคลื่นแรงสั่นสะเทือนขนาดใหญ่หรือที่ถูกเรียกว่า “แผ่นดินไหวการเมือง” ก็เกิดขึ้น เมื่อได้มีประกาศพระราชโองการ เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ความว่าทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงเป็นสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์ซึ่งดำรงสถานะอยู่เหนือการเมือง การนำพระองค์มายุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองถือเป็นการกระทำที่มิบังควรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง[1] จึงได้นำมาสู่การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติในช่วงเวลาเพียงไม่นานก่อนที่จะมีการจัดการเลือกตั้ง

พรรคไทยรักษาชาติเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

          จากการที่กติกาใหม่ของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2562 ได้กำหนดให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง แจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี หรือที่เรียกกันว่า “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” จำนวนไม่เกิน 3 รายชื่อ เพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศรายชื่อผู้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคให้ประชาชนได้ทราบก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง (มาตรา 88)[2] คณะกรรมการการเลือกตั้งได้กำหนดระยะเวลาให้พรรคการเมืองสามารถยื่นเสนอรายชื่อได้ถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 ซึ่งหลายพรรคการเมืองได้พากันทยอยเสนอชื่อพร้อมเปิดตัวบุคคลที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคตนเองเพื่อให้มีเวลาในการรณรงค์หาเสียง ให้สื่อมวลชนและประชาชนได้ติดตามรับรู้ก่อนการเลือกตั้ง ทว่าบางพรรคการเมืองก็เลือกที่จะเก็บรายชื่อผู้ที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไว้เปิดตัวในช่วงเวลาที่ใกล้ครบกำหนดปิดรับรายชื่อ หนึ่งในนั้นก็รวมไปถึงพรรคไทยรักษาชาติที่สื่อมวลชนและประชาชนต่างเฝ้าติดตามและพากันคาดการณ์ไปต่างๆ นานา ว่าพรรคจะเสนอชื่อบุคคลใดเพื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ทางฝั่งพรรคร่วมเครือข่ายอย่างพรรคเพื่อไทยก็ได้มีการเปิดตัวรายชื่อผู้ที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไปแล้วก่อนหน้านั้น[3]

          ดังที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์กันไว้ ในเวลา 9.00 น. ของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการยื่นเสนอรายชื่อ ร้อยโทปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ พร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรคและแกนนำพรรค ได้เดินทางเข้ายื่นบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคได้เสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี[4] การเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงฯ ซึ่งเป็นสมาชิกชั้นสูงของพระบรมราชวงศ์ ได้นำมาสู่ความสนใจของสังคมและก่อเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

แผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อกการเมือง

          หลังเหตุการณ์การเสนอพระนามแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ ในค่ำคืนวันเดียวกันก็ได้มีเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ กล่าวคือโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่ประกาศพระราชโองการในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เรื่องสถาบันกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีสาระสำคัญความว่าพระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ทรงดำรงสถานะอยู่เหนือการเมือง ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ยังทรงสถานะและดำรงพระองค์ในฐานะสมาชิกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นการกระทำที่มิบังควรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง และยังขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข[5]

          ภายหลังจากที่มีประกาศพระราชโองการ แม้ว่าพรรคไทยรักษาชาติจะได้รีบออกแถลงการณ์น้อมรับ
พระราชโองการในวันรุ่งขึ้น[6] ทว่าทางคณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณากรณีพรรคไทยรักษาชาติมีหนังสือแจ้งรายชื่อบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีโดยเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และได้มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณารับคำร้องดังกล่าว[7] โดยศาลได้กำหนดวันลงมติและอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2563[8] เมื่อถึงกำหนดศาลรัฐรัฐธรรมนูญจึงได้อ่านคำวินิจฉัย โดยที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ[9] และมีมติ 6 ต่อ3 ให้เพิกถอนสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งของกรรมบริหารพรรคไทยรักษาชาติที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 เป็นเวลา 10 ปี พร้อมกับยังมีมติเป็นเอกฉันท์ห้ามไม่ให้ผู้เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ภายใน 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค[10]

          จากกรณีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเพียง 17 วัน ยังส่งผลทำให้ผู้สมัครของพรรคไทยรักษาชาติ 282 คน ขาดคุณสมบัติของการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากสังกัดพรรคการเมืองไม่ถึง 90 วันก่อนวันเลือกตั้ง โดยแบ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต 174 คน และแบบบัญชีรายชื่อของพรรคอีก 108 คน กระทบต่อยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย" ที่พรรคไทยรักษาชาติกับพรรคเพื่อไทยได้ร่วมมือกันเพื่อหลีกหนีจากกับดักของรัฐธรรมนูญ โดยทั้งสองพรรคต่างส่งผู้สมัครแบบสับหลีกกัน เพื่อมุ่งหวังให้พรรคหนึ่งได้ชัยชนะจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต ขณะที่อีกพรรคหนึ่งคอยเก็บ "คะแนนเสียงตกน้ำ" จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเพื่อรวมเป็นคะแนนสำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ทว่าการยุบพรรคทำให้ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นจะไม่มีผู้สมัครของทั้งพรรคไทยรักษาชาติและพรรคเพื่อไทยในหลายเขตเลือกตั้งที่เคยมีชื่อผู้สมัครในนามพรรคไทยรักษาชาติภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวข้างต้น[11]

เสียงสะท้อนต่อกรณีการยุบพรรค

          จากคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติของศาลรัฐธรรมนูญ ได้นำมาสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งสื่อมวลชน ประชาชน ตลอดจนแวดวงวิชาการ ซึ่งเสียงสะท้อนเหล่านี้มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติที่เกิดขึ้น ฝ่ายหนึ่งเห็นพ้องเช่นเดียวกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมองว่าพรรคไทยรักษาชาติ ได้กระทำสิ่งมิบังควรอย่างยิ่งในการเสนอพระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งเป็นสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง และยังวิพากษ์วิจารณ์ถึงการที่นักการเมืองรุ่นเก่า หรือ กระทั่ง “คนแดนไกล” (ซึ่งหมายถึง นายทักษิณ ชินวัตร) เข้ามีอำนาจชี้นำบงการการดำเนินงานของพรรค และยังเป็นผลให้นักการเมืองรุ่นใหม่ของพรรคต้องสูญเสียโอกาสทางการเมือง เนื่องจากต้องตกเป็นผู้รับผลกรรมจากคำสั่งของศาลที่ออกมา[12]

          ขณะที่เสียงของนักวิชาการอีกจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะทางด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งยุบพรรคที่เกิดขึ้นต่างวิพากษ์วิจารณ์ไปในทำนองเดียวกันว่าการยุบพรรคการเมืองเป็นการทำลายสถาบันทางการเมืองที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตย ดังในมุมมองของ ดร.วีระ หวังสัจจะโชค คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เห็นว่าการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเป็นอำนาจของฝ่ายการเมือง มิใช่การล้มล้างการปกครอง หรือหากคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติขาดคุณสมบัติก็ไม่ต้องรับสมัครรายชื่อบุคคลดังกล่าวก็เพียงพอแล้ว ขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้แสดงความเห็นว่าการยุบไทยรักษาชาตินับเป็นการลิดรอนสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของประชาชน แต่ขณะเดียวกันก็มองว่าแม้ว่าพรรคไทยรักษาชาติที่ถูกยุบจะถือเป็นหนึ่งในกลุ่มการเมืองใหญ่กลุ่มหนึ่งในปีกของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร แต่ก็คงมิได้ทำให้พรรคการเมืองในปีกดังกล่าวได้รับคะแนนเลือกตั้งลดน้อยลง เพราะผู้ออกเสียงเลือกตั้งที่ตั้งใจจะโหวตเลือกพรรคไทยรักษาชาติจะหันไปเลือกพรรคอื่นที่อยู่ในปีกของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณแทน[13]

          นักวิชาการจำนวนหนึ่งคาดการณ์ว่าคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ส่งผลกระทบถึงกับเปลี่ยนแปลงทิศทางของคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ดังที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ได้ชี้ให้เห็นว่าเนื่องจากคะแนนเสียงของผู้ที่ต้องการลงคะแนนเลือกพรรคไทยรักษาชาติแต่เดิมนั้นยังคงจะกระจายอยู่กับพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์คล้ายคลึงกัน อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคเสรีรวมไทย เป็นต้น การยุบพรรคจึงไม่น่าจะส่งผลกระทบให้การหาเสียงมีความรุนแรงหรือก่อให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงขึ้นแต่อย่างใด[14] อย่างไรก็ตาม ได้มีนักวิชาการบางท่านอย่าง รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพร อิสรชัย สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้แสดงความกังวลถึงเหตุการณ์การยุบพรรคที่เกิดขึ้นว่าจะเป็นการเพิ่มปมความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งอาจส่งผลให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลายขึ้นได้ภายหลังการเลือกตั้ง[15]

 

บรรณานุกรม

“ไทยรักษาชาติ : สรุปคำวินิจฉัยศาล รธน. สั่งยุบ ทษช. "เซาะกร่อนบ่อนทำลาย" สถาบันพระมหากษัตริย์".”
บีบีซี. (7 มีนาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47465782>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

“นักวิชาการ เชื่อ ยุบ ทษช.เพิ่มปมความขัดแย้ง ห่วงหลังเลือกตั้งอาจบานปลาย." Amarin TV. (8 มีนาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://www.amarintv.com/news/detail/13547>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

“นักวิชาการสอนบทเรียนทษช.เมื่อคนแดนไกลวางแผนเพื่อตัวเองแต่คนรุ่นใหม่รับกรรม".” ไทยโพสต์ออนไลน์. (8 มีนาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/30820>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

“ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การยุบพรรคไทยรักษาชาติ.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 136 ตอนพิเศษ 80 ง หน้า 25. 1 เมษายน 2562.

“พระราชโองการ ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 136 ตอนพิเศษ 37 ง หน้า 1. 8 กุมภาพันธ์ 2562.

“พระราชโองการ ร.10 พระบรมราชวงศ์อยู่เหนือการเมือง.” มติชนออนไลน์. (10 กุมภาพันธ์ 2562) เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1356558>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

“มติเพื่อไทยส่ง3ชื่อแคนดิเดตนายกฯ "หญิงหน่อย-ชัชชาติ-ชัยเกษม".” โพสต์ทูเดย์ออนไลน์. (31 มกราคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/578815>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

“ยุบ ทษช.ไม่กระทบเลือกตั้ง เชื่อเสียงไหลเข้าพรรคอุดมการณ์เดียวกัน.” ไทยรัฐออนไลน์. (7 มีนาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1513538>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.”. ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 134 ตอนพิเศษ 40 ก.
6 เมษายน 2560.

“ศาล รธน. มีมติ ไม่ไต่สวนพยานคดียุบ “ไทยรักษาชาติ” เพิ่ม นัดลงมติชี้ขาด 7 มี.ค. นี้.” Thai Publica. (27 กุมภาพันธ์ 2562) เข้าถึงจาก <https://thaipublica.org/2019/02/thailand-election-2562-47/>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

“ศาลรธน.มีมติเอกฉันท์รับคำร้องยุบพรรคไทยรักษาชาติ ให้ชี้แจงใน7 วัน นัดพิจารณาอีกครั้ง 27 กพ. นี้.”
Thai Publica. (14 กุมภาพันธ์ 2562) เข้าถึงจาก <https://thaipublica.org/2019/02/thailand-election-2562-39/>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

“ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ยุบพรรคไทยรักษาชาติ พร้อมตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี.” Thai Publica. (7 มีนาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://thaipublica.org/2019/03/thailand-election-2562-48/>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

“อภิมหาเซอร์ไพรส์!'ไทยรักษาชาติ'เสนอพระนาม'ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ'บัญชีนายกฯ พรรค.” ไทยโพสต์ออนไลน์. (8 มีนาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/28600>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

 

อ้างอิง

[1] “พระราชโองการ ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 136 ตอนพิเศษ 37 ง หน้า 1. 8 กุมภาพันธ์ 2562.

[2] “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560,”. ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 134 ตอนพิเศษ 40 ก, 6 เมษายน 2560.

[3] “มติเพื่อไทยส่ง3ชื่อแคนดิเดตนายกฯ "หญิงหน่อย-ชัชชาติ-ชัยเกษม",” โพสต์ทูเดย์ออนไลน์, (31 มกราคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/578815>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[4] “อภิมหาเซอร์ไพรส์!'ไทยรักษาชาติ'เสนอพระนาม'ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ'บัญชีนายกฯ พรรค,” ไทยโพสต์ออนไลน์, (8 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/28600>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[5] “พระราชโองการ ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 136 ตอนพิเศษ 37 ง หน้า 1. 8 กุมภาพันธ์ 2562.

[6] “พระราชโองการ ร.10 พระบรมราชวงศ์อยู่เหนือการเมือง,” มติชนออนไลน์, (10 กุมภาพันธ์ 2562) เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1356558>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[7]  “ศาลรธน.มีมติเอกฉันท์รับคำร้องยุบพรรคไทยรักษาชาติ ให้ชี้แจงใน7 วัน นัดพิจารณาอีกครั้ง 27 กพ. นี้,”
Thai Publica, (14 กุมภาพันธ์ 2562) เข้าถึงจาก <https://thaipublica.org/2019/02/thailand-election-2562-39/>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[8]  “ศาล รธน. มีมติ ไม่ไต่สวนพยานคดียุบ “ไทยรักษาชาติ” เพิ่ม นัดลงมติชี้ขาด 7 มี.ค. นี้,” Thai Publica, (27 กุมภาพันธ์ 2562) เข้าถึงจาก <https://thaipublica.org/2019/02/thailand-election-2562-47/>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[9] ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การยุบพรรคไทยรักษาชาติ, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 136 ตอนพิเศษ 80 ง หน้า 25. 1 เมษายน 2562.

[10] “ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ยุบพรรคไทยรักษาชาติ พร้อมตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี,” Thai Publica,
(7 มีนาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://thaipublica.org/2019/03/thailand-election-2562-48/>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[11] “ไทยรักษาชาติ : สรุปคำวินิจฉัยศาล รธน. สั่งยุบ ทษช. "เซาะกร่อนบ่อนทำลาย" สถาบันพระมหากษัตริย์",”
บีบีซี, (7 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47465782>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[12] “นักวิชาการสอนบทเรียนทษช.เมื่อคนแดนไกลวางแผนเพื่อตัวเองแต่คนรุ่นใหม่รับกรรม",” ไทยโพสต์ออนไลน์, (8 มีนาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/30820>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[13] “สึนามิการเมือง?" สถาบันพระมหากษัตริย์",”โลกวันนี้, (8 มีนาคม 2562) เข้าถึงจาก <http://www.lokwannee.com/web2013/
?p=349141>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[14] “ยุบ ทษช.ไม่กระทบเลือกตั้ง เชื่อเสียงไหลเข้าพรรคอุดมการณ์เดียวกัน,” ไทยรัฐออนไลน์, (7 มีนาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1513538>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[15] “นักวิชาการ เชื่อ ยุบ ทษช.เพิ่มปมความขัดแย้ง ห่วงหลังเลือกตั้งอาจบานปลาย," Amarin TV, (8 มีนาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://www.amarintv.com/news/detail/13547>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.