แกงเทโพ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ความนำ

          “แกงเทโพ” เป็นคำศัพท์ม็อบคณะราษฎร ที่ออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 โดยเป็นการแปลงและย่อมาจาก 3 คำ ก็คือ “แกง” ซึ่งมาจาก แกล้ง “เท” มาจาก ทิ้ง และโพ ซึ่งมาจาก โปลิซ (police) หรือตำรวจ รวมกันมีความหมายว่า การสับขาหลอกเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อทำให้เกิดความสับสนในการนัดหมายสถานที่และเวลาชุมนุม ทั้งนี้ คำเรียก “แกงเทโพ” ถือเป็นกลยุทธ์ของม็อบคณะราษฎรที่เริ่มปรากฏการใช้ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ภายหลังจากการที่โดนปราบปรามอย่างรุนแรงก่อนหน้านี้ ดังนั้น ผู้ประสานงานการชุมนุมจึงทำการนัดหมายกำหนดเวลาและสถานที่ โดยหวังที่จะแกล้งเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนและเจ้าหน้าฝ่ายความมั่นคงวางแผนในการระดมกำลังไปยังจุดนัดหมาย ทว่าเมื่อใกล้ถึงเวลานัดหมาย ฝ่ายประสานงานม็อบก็ได้เปลี่ยนแปลงสถานที่ชุมนุมอย่างฉับพลันโดยใช้การสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเตรียมการเฝ้าระวังและไปถึงสถานที่นัดชุมนุมใหม่ได้ทันท่วงที ทั้งนี้ ม็อบคณะราษฎรได้ประโยชน์จากกลยุทธ์ "แกงเทโพ" โดยอาศัยความรวดเร็วในสื่อสารกันระหว่างผู้ร่วมชุมนุมและอาศัยการจราจรติดขัดภายในกรุงเทพฯ เป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิหน้าที่ของเจ้าหน้าที่

กำเนิดยุทธศาสตร์ “แกงเทโพ”

          ปฏิบัติการ “แกงเทโพ” เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างผู้ชุมนุมกลุ่มคณะราษฎรกับรัฐบาล ซึ่งฝ่ายแรกกลับมาเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่งในช่วงปลายปี 2563 ภายหลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในการชุมนุมใหญ่ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 บริเวณแยกปทุมวัน เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้เข้าปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยใช้ทั้งรถฉีดน้ำแรงดันสูง แก็สน้ำตา และกระสุนยาง ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและถูกจับกุมจำนวนมาก[1] (BBC) อย่างไรก็ตาม ฝ่ายประสานงานการชุมนุมยังคงยืนยันที่จะจัดการชุมนุมต่อไปในวันรุ่งขึ้น ซึ่งก็คือ วันที่ 17 ตุลาคม 2563 โดยออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ในคืนก่อนหน้า พร้อมทั้งยืนยันว่าแม้แกนนำจะถูกจับกุมคุมขัง ทว่าไม่ได้ส่งผลต่อการชุมนุมแต่อย่างใด “จากนี้จะไม่มีคณะราษฎร จะมีเพียงแต่ราษฎรเท่านั้น ขอย้ำในจุดยืนว่าทุกคนคือแกนนำ และขอเชิญชวนให้ทุกท่านที่พร้อม ออกมารวมตัวกันอีกครั้งในวันนี้ เวลา 16:00 น.”[2] (Thaipost) โดยมีนัดหมายว่าจะจัดการชุมนุมแบบดาวกระจายแฟลชม็อบบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใกล้บ้านของผู้ชุมนุมแต่ละคน

          เมื่อถึงช่วงเที่ยงของวันที่ 17 ตุลาคม 2563 เริ่มปรากฏความเคลื่อนไหวจากกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนที่ไปรวมตัวกันบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใกล้บ้าน หลังจากนั้นไม่นานกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) จึงออกคำสั่งให้ปิดเส้นทางคมนาคมหลายเส้นทางเพื่อขัดขวางการชุมนุมของม็อบคณะราษฎร ส่งผลให้รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงินประกาศงดให้บริการชั่วคราวทุกสถานีและตามมาด้วยรถไฟฟ้า BTS ที่ประกาศงดบริการทุกสถานีเช่นกัน[3] (ThaiPBS) รวมถึงการปิดถนนต่าง ๆ อาทิเช่น ราชวิถี และถนนพญาไทเพื่อควบคุมพื้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ การปิดแยกอโศกและถนนรัชดา เป็นต้น[4] (PPTV) ถึงเวลา 15.00 น. หลายสำนักข่าวรายงานว่าเจ้าหน้าที่ได้ปิดและควบคุมการจราจรบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งไม่สามารถเดินทางไปตามที่นัดหมายไว้ได้[5] (เดลินิวส์) หลังจากนั้นไม่นาน ผู้ชุมนุมได้ปรับแผนโดยเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมและนัดชุมนุมกันในเวลา 17.00 น. การสื่อสารทั้งหมดของฝ่ายประสานงานการชุมนุมอาศัยช่องทางเครื่องมืออิเล็คทรอนิกส์และสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งนี้ เพจธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้เผยแพร่ข้อความในทวิตเตอร์ว่า “ใกล้ที่ไหนให้ไปที่นั่น!!!!! #ม็อบ17ตุลา เจอกันได้ที่ 3 จุด ต่อไปนี้ 1. ห้าแยกลาดพร้าว 2.สถานีอุดมสุข 3. วงเวียนใหญ่” นอกจากสถานที่ที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังมีการชุมนุมคู่ขนานหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ไม่ว่าจะลานพ่อขุน มหาวิทยาลัยรามคำแหง หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศาลหลักเมือง จังหวัดอุบลราชธานี หน้าศาลากลาง จังหวัดร้อยเอ็ด วัดพระงาม จังหวัดนครปฐม และราชภัฏอุดรธานี เป็นต้น[6] (PPTV)

          การชุมนุมวันที่ 17 ตุลาคม 2563 มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากและเป็นไปอย่างคึกคัก โดยปราศจากแกนนำที่ขึ้นมาปราศรัยตามแบบฉบับของการชุมนุมทุกครั้งที่ผ่านมา สิ่งที่น่าสังเกตก็คือผู้ชุมนุมต่างนำอุปกรณ์การชุมนุมมาด้วยตนเอง อาทิ ร่ม หมวกกันน็อค และโทรโข่ง ทั้งยังมีสลับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของตนเองอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรง ทั้งนี้บริเวณห้าแยกลาดพร้าวซึ่งถือเป็นสถานที่ที่มีผู้ชุมนุมหนาแน่นที่สุดมีความกังวลกันว่าจะมีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนและรถฉีดน้ำแรงดันสูงเข้ามาควบคุมการชุมนุม จนมีการบอกต่อ ๆ กันว่า “ถ้าตำรวจมาให้สลายการชุมนุมเลยนะ”[7] (BBC) อย่างไรก็ตาม การชุมนุมในวันนั้นก็ไม่ปรากฏเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนและรถฉีดน้ำแต่อย่างใด จะปรากฏก็แต่เพียงเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบที่คอยสังเกตการณ์อยู่ห่าง ๆ จนกระทั่งเวลาประมาณ 20.00 น. กลุ่มเยาวชนปลดแอกได้ประกาศยุติการชุมนุม โดย “ขอให้ทุกคนแยกย้ายและร่วมสู้กันใหม่ในวันถัด ๆ ไป”[8] (BBC) ความสำเร็จของการใช้ปฏิบัติการสับขาหลอกเจ้าหน้าที่ที่ปรากฏให้เห็นในการชุมนุม วันที่ 17 ตุลาคม 2563 ภายหลังถูกเรียกว่า “แกงเทโพ” หรือก็คือการแกล้งทิ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ในสถานที่หนึ่งแล้วนัดชุมนุม อย่างกระทันหันไปยังอีกสถานที่หนึ่งเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ได้ทันตั้งตัว เนื่องจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการเตรียมตัววางแผนและระดมพล กลุ่มม็อบคณะราษฎรจึงช่วงชิงความได้เปรียบนี้ เพื่อเอาชนะเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ศัพท์ม็อบ "แกงเทโพ" ถูกใช้อย่างต่อเนื่องนับจากนั้นเป็นต้นมาในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ยุทธศาสตร์การชุมนุมที่คล้ายคลึงกันในฮ่องกง

          ปฏิบัติการ “แกงเทโพ” ของม็อบคณะราษฎรถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์การชุมนุม ที่แกนนำและผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากถูกจับกุมมาก่อนหน้านั้น ทั้งนี้ แนวทางการชุมนุมแบบแฟล็ชม็อบดาวกระจายแบบไร้แกนนำนั้น ถูกคาดหวังที่จะเอาชนะเจ้าหน้าที่เพื่อหลบเลี่ยงจากการจับกุม และการปราบปรามอย่างรุนแรง โดยยุทธศาสตร์เหล่านี้ไม่ได้ปรากฏขึ้นในกรณีของประเทศไทยเป็นกรณีแรก ทว่าการชุมนุมของเยาวชนชาวฮ่องกงได้ใช้แนวทางที่คล้ายคลึงกันมาก่อนหน้านี้ระยะหนึ่งแล้ว ตัวอย่างเช่น ในช่วงเดือนตุลาคม 2562 ได้ปรากฏแคมเปญ “ดอกไม้บานทั่วเมือง” (blossom everywhere) อันเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น รวมถึงการตอบสนองต่อการที่เจ้าหน้าที่ปิดเส้นทางรถใต้ดินเพื่อหวังที่จะสกัดกั้นการชุมนุม ด้วยเหตุนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมชาวฮ่องกงจึงนัดหมายให้มีการชุมนุมใกล้บ้านของแต่ละคนเพื่อให้ผู้ชุมนุมสามารถหลบเลี่ยงการจับกุมและหลบหนีกลับเข้าบ้านพักของตนเองได้ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เริ่มดำเนินการปราบปราม จนทำให้สามารถเปรียบได้กับเกม “แมวจับหนู” ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้อย่างยากลำบาก[9] (the guardian) นอกจากศัพท์ม็อบแล้ว ยังเป็นที่สังเกตได้ว่าม็อบคณะราษฎรได้หยิบยืมกลยุทธ์การชุมนุมของเยาวชนชาวฮ่องกงอีกหลายกลยุทธ์ อาทิ การใช้ร่มกาง เพื่อต้านทานแก๊สน้ำตาและน้ำจากรถฉีดน้ำ การใช้ภาษามือเพื่อสื่อสารส่งสัญญาณกันภายในม็อบ หรือแม้แต่การสื่อสารออกไปแบบข้ามพรมแดนเพื่อให้ประชาคมโลกรับรู้สถานการณ์ภายในประเทศไทย ด้วย #StandWithThailand เป็นต้น[10] (BBC)

นัยสำคัญต่อการเมืองไทย

          ม็อบคณะราษฎรผลิตชุดคำศัพท์เฉพาะที่ใช้ในการระบุ และ/หรือ เปรียบเทียบถึงเหตุการณ์ บุคคล และสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วงโดยคำศัพท์เหล่านั้นมักเป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ซึ่งคุ้นเคยกับศัพท์แสงในชีวิตประจำวันผ่านโลกสังคมออนไลน์อยู่ก่อนแล้ว ในด้านหนึ่งการผลิตชุดคำศัพท์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นช่วงวัยที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนขบวนการเคลื่อนไหว ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยเยาวชนคนรุ่นใหม่ ในอีกด้านหนึ่งก็แสดงออกถึงการผลิตสร้างอัตลักษณ์ และวัฒนธรรมร่วมที่ผู้ชุมนุมใช้เพื่อสื่อความกันภายในกลุ่มของตนเอง นอกจาก “แกงเทโพ” แล้วยังมีคำศัพท์ม็อบอื่น ๆ ซึ่งใกล้เคียงกัน อาทิ “มอคค่า” ซึ่งหมายถึงตำรวจที่สวมชุดสีกากี “โอยัวะ” หมายถึงรถฉีดน้ำแรงดันสูงสีฟ้า "สเมิร์ฟ" หมายถึงผู้ชุมนุมที่โดนน้ำผสมสารเคมีสีฟ้าจากรถฉีดน้ำ "จุ๊กเก่ง" หมายถึงการสับขาหลอก รู้ทางหนีทีไล่ “บังเกอร์” ซึ่งหมายถึงรอเก้อ เป็นต้น[11] (ผู้จัดการ) นอกจากนั้นแล้ว ปฏิบัติการ “แกงเทโพ” ยังสะท้อนว่ากลุ่มผู้ชุมนุมในปัจจุบันเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการชุมนุมประท้วงที่อาศัยความได้เปรียบจากความล่าช้าของระบบราชการรวมศูนย์ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐต้องอาศัยระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมรับมือกับผู้ชุมนุม ส่งผลให้ฝ่ายรัฐไม่สามารถยับยั้งการชุมนุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความได้เปรียบนี้มีพื้นฐานมาจากที่ผู้ชุมนุมคณะราษฎรอาศัยช่องทางสังคมออนไลน์ในการนัดแนะและประสานงาน ส่งผลทำให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสเพรี่ยงพร่ำต่อผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตาม ฝ่ายเจ้าหน้ารัฐยังคงความได้เปรียบทั้งในด้านทรัพยากรที่จะสามารถนำมาใช้ปราบปรามผู้ชุมนุม และการระงับปราบปรามการชุมนุมนั้นก็สามารถทำได้โดยอ้างความชอบธรรมทางกฎหมาย

บรรณานุกรม

Hong Kong protesters use new flashmob strategy to avoid arrest." The Guardian (October 13, 2019). Available <https://www.theguardian.com/world/2019/oct/13/hong-kong-protesters-flashmobs-blossom-everywhere>. Accessed August 2, 2021.

Thailand protest: Why young activists are embracing Hong Kong's tactics." BBC (October 22, 2021). Available <https://www.bbc.com/news/world-asia-54626271>. Accessed August 2, 2021.

“เช็กด่วน! ตำรวจประกาศปิดถนนหลายเส้น ปิด 14 สถานีรถไฟฟ้า ใต้ดินสายสีน้ำเงิน แอร์พอร์ตลิงค์พญาไท." PPTV (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/135052>. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564.

“ปิดถนนอนุสาวรีย์ชัยฯ ม็อบปรับแผนนัดเจอ3จุดใหม่." เดลินิวส์ (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.dailynews.co.th/politics/801586/>. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564.

“ถอด 3 ปรากฏการณ์ “ม็อบราษฎร” “แฟนด้อม” - “แกงศัพท์” สับขาหลอก กับ “ขบวน CIA” รถเร่ขายลูกชิ้น." ผู้จัดการออนไลน์ (24 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/daily/detail/9630000108643>. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564.

“ประกาศคณะราษฎร ณ เวลาย่ำรุ่ง สิบเจ็ดตุลา วันนี้ 16.00 น.จะม็อบอีก!." ไทยโพสต์ (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/80815>. เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564.

““ราษฎร" ประกาศแล้ว 3 จุดชุมนุมใหญ่กทม. 17.00น. มหาวิทยาลัยทั่วประเทศนัดรวมตัวไล่นายกฯ." PPTV (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/135054>. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564.

“ชุมนุม 16 ตุลา : ปฏิบัติการสลายพลังเยาวชนคนหนุ่มสาวหลังนายกฯถาม "ผมผิดอะไร"." บีบีซีไทย (16 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-54568639>. เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564.

“ชุมนุม 17 ตุลา: สลายการชุมนุมแยกปทุมวัน นำมาสู่ "แฟลชม็อบ" ทั่วกรุง." บีบีซีไทย (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-54585007>. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564.

“ความเคลื่อนไหวก่อนชุมนุม 17 ตุลา." Thai PBS (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/297469>. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564.

อ้างอิง

[1] "ชุมนุม 16 ตุลา : ปฏิบัติการสลายพลังเยาวชนคนหนุ่มสาวหลังนายกฯถาม "ผมผิดอะไร"." บีบีซีไทย (16 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-54568639>. เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564.

[2] "ประกาศคณะราษฎร ณ เวลาย่ำรุ่ง สิบเจ็ดตุลา วันนี้ 16.00 น.จะม็อบอีก!." ไทยโพสต์ (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/80815>. เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564.

[3] "ความเคลื่อนไหวก่อนชุมนุม 17 ตุลา," Thai PBS (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/297469>. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564.

[4] "เช็กด่วน! ตำรวจประกาศปิดถนนหลายเส้น ปิด 14 สถานีรถไฟฟ้า ใต้ดินสายสีน้ำเงิน แอร์พอร์ตลิงค์พญาไท," PPTV (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/135052>. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564.

[5] "ปิดถนนอนุสาวรีย์ชัยฯ ม็อบปรับแผนนัดเจอ3จุดใหม่," เดลินิวส์ (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.dailynews.co.th/politics/801586/>. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564.

[6] ""ราษฎร" ประกาศแล้ว 3 จุดชุมนุมใหญ่กทม. 17.00น. มหาวิทยาลัยทั่วประเทศนัดรวมตัวไล่นายกฯ," PPTV (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/135054>. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564.

[7] "ชุมนุม 17 ตุลา: สลายการชุมนุมแยกปทุมวัน นำมาสู่ "แฟลชม็อบ" ทั่วกรุง," บีบีซีไทย (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-54585007>. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564.

[8] "ชุมนุม 17 ตุลา: สลายการชุมนุมแยกปทุมวัน นำมาสู่ "แฟลชม็อบ" ทั่วกรุง," บีบีซีไทย (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-54585007>. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564.

[9] "Hong Kong protesters use new flashmob strategy to avoid arrest," The Guardian (October 13, 2019). Available <https://www.theguardian.com/world/2019/oct/13/hong-kong-protesters-flashmobs-blossom-everywhere>. Accessed August 2, 2021.

[10] "Thailand protest: Why young activists are embracing Hong Kong's tactics," BBC (October 22, 2021). Available <https://www.bbc.com/news/world-asia-54626271>. Accessed August 2, 2021.

[11] "ถอด 3 ปรากฏการณ์ “ม็อบราษฎร” “แฟนด้อม” - “แกงศัพท์” สับขาหลอก กับ “ขบวน CIA” รถเร่ขายลูกชิ้น," ผู้จัดการออนไลน์ (24 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/daily/detail/9630000108643>. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564.