เอื้ออาทร

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รศ.ดร.กมลชัย รัตนสกาววงศ์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธ์


เอื้ออาทร

คำว่า “เอื้อ” หมายถึง เอาใจใส่ มีน้ำใจ เห็นแก่กัน ส่วนคำว่า “อาทร” หมายถึง ความเอื้อเฟื้อ ความเอาใจใส่ ความพะวง รวมคำว่า “เอื้ออาทร” หมายถึง การเอื้อเฟื้อมีน้ำใจให้แก่กัน เป็นคำที่รัฐบาลซึ่งมี พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีใช้เรียกนโยบายที่ช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยต่าง ๆ โดยมีรากเหง้าของความคิดมาจากโครงการ “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” ที่พรรคไทยรักไทยใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งปลายปี 2543 ต่อเนื่องต้นปี 2544 และเมื่อพรรคไทยรักไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ก็เริ่มคิดโครงการเอื้ออาทรต่าง ๆ เช่น “โครงการบ้านเอื้ออาทร” ของการเคหะแห่งชาติ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยราคาถูกเป็นของตนเอง โดยการผ่อนชำระกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ “โครงการแท็กซี่เอื้ออาทร” “โครงการประกันภัยเอื้ออาทร” “โครงการเงินกู้เอื้ออาทร” ของธนาคารออมสินให้พ่อค้าแม่ค้ากู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อประกอบการค้าแผงลอย โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นต้น

รัฐมนตรีทั้งหลายต่างพยายามสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แก่นายกรัฐมนตรี เพื่อมิให้ถูกปรับเปลี่ยนออกจากตำแหน่ง โดยพยายามคิดโครงการเอื้ออาทรต่าง ๆ ขึ้นในกระทรวงที่ตนเองรับผิดชอบ ตัวอย่างเช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งกำกับดูแลกิจการโรงรับจำนำที่ตั้งขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ที่ใช้ชื่อว่า “สถานธนานุเคราะห์” ก็อยากจะเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า “สถาบันการเงินเอื้ออาทร” แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความว่า การเปลี่ยนชื่อในทำนองดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยโรงรับจำนำ และยังมีนโยบายที่จะ “ช่วยเหลือผู้ยากไร้” ที่จะนำทรัพย์สินชิ้นใหญ่มาจำนำ เช่น ตู้เย็น โทรทัศน์ เครื่องเรือน โดยการให้สถานธนานุเคราะห์ฝากให้ผู้จำนำช่วยดูแลแทน เพื่อให้ผู้จำนำได้รับประโยชน์ในทรัพย์ที่จำนำนั้นได้ ก็จะเข้าลักษณะ “เอื้ออาทร” แต่ในทางกฎหมายมิอาจจะกระทำตามนโยบายเช่นนั้นได้ เพราะสัญญาจำนำนั้นจะต้องส่งมอบสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้รับจำนำเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ และหากผู้รับจำนำยินยอมให้ทรัพย์สินกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำ สัญญาจำนำย่อมระงับสิ้นไป ทั้งนี้ตามมาตรา 747 และ 769 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์