เสรีประชาธิปไตย (พ.ศ.2542)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พรรคเสรีประชาธิปไตย

พรรคเสรีประชาธิปไตยจัดตั้งเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2542 มี นายพชร ยวงประสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค และร้อยตำรวจเอกศุภกิจ สังข์ทอง เป็นเลขาธิการพรรค คำขวัญประจำพรรคว่า “สร้างระบอบประชาธิปไตย สังคมไทยพัฒนา” และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ 1008 ซอยร่วมพัฒนา ถนนจรัญสนิทวงศ์ 65 แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2545 มีสมาชิกทั้งหมด 9,217 คน และมีสาขาพรรคทั้งหมด 103 สาขา แบ่งเป็นภาคเหนือ 16 สาขา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 57 สาขา ภาคกลาง 13 สาขา ภาคใต้ 17 สาขา

ปัจจุบัน พรรคเสรีประชาธิปไตย ได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 83/2547) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 61 วรรคหนึ่ง (5) และวรรคสอง เนื่องจากพรรคเสรีประชาธิปไตยใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนค่าไปรษณียากรและค่าสาธารณูปโภค ประจำปี 2546 ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง

เดิมพรรคเสรีประชาธิปไตยก่อตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2498 โดยมีนายเมธ รัตนประสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค มีนายบุญคุ้ม จันทรศรีสุริยวงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค และร้อยโทจารุบุตร เรืองสุวรรณ เป็นรองเลขาธิการพรค รวมทั้งสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เช่น นายประสิทธิ์ จุลละเทศ เป็นต้น ในช่วงเวลานี้พรรคเสรีประชาธิปไตย มีแนวนโยบายโน้มเอียงไปในทางสังคมนิยมเสรี และในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 พรรคส่งผู้สมัคร 38 คน และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 11 คน ซึ่งเป็นอันดับสามรองจากพรรคเสรีมนังคศิลา และพรรคประชาธิปัตย์

ต่อมาเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปฎิวัติโค่นล้ม จอมพลแปลก พิบูลสงคราม และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ธันวาคม 2500 พรรคเสรีประชาธิปไตย ได้ส่งผู้สมัคร 22 คน แต่ได้รับการเลือกตั้งเพียง 5 คน

หลังจากนั้นพรรคเสรีประชาธิปไตยได้ยุติบทบาทในทางการเมืองไปเป็นเวลานาน จนกระทั่งได้มีการร่วมกันก่อตั้งพรรคเสรีประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2537 แต่เมื่อนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 พรรคเสรีประชาธิปไตยได้ส่งผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 126 คน แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว จึงทำให้พรรคต้องถูกยุบไปตามกฎหมายพรรคการเมืองพ.ศ. 2524 ที่กำหนดให้พรรคการเมืองใดที่ไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องถูกยุบพรรค

หลังจากพรรคเสรีประชาธิปไตยถูกยุบพรรคแล้ว กรรมการผู้ก่อตั้งพรรคส่วนหนึ่งได้แยกตัวออกไป ผู้ก่อตั้งพรรคที่เหลืออยู่จึงได้ดำเนินการก่อตั้งพรรคเสรีประชาธิปไตยขึ้นมาอีกครั้ง และได้รับจดแจ้งจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองที่สมบูรณ์จากนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2542โดยมีนายพชร ยวงประสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค โดยในปีพ.ศ. 2544 พรรคได้ส่งผู้สมัครลงแข่งขันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบเขตเลือกตั้ง 2 คน และระบบบัญชีรายชื่อพรรค 2 คน แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง และได้ถูกยุบพรรคโดยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา

พรรคเสรีประชาธิปไตยมีความตั้งใจโดยตั้งปณิธานไว้อย่างแน่วแน่ที่จะสร้างพรรคเสรีประชาธิปไตยให้เป็นพรรคของประชาชน (Mass Party) เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายในโลกเสรีให้ปรากฎเป็นจริงในประเทศไทย ด้วยอุดมการณ์ นโยบาย ตลอดจนขั้นตอนในการดำเนินการอย่างรอบครอบ ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาระบอบประชาธิปไตยที่คนไทยใฝ่ฝันให้สมบูรณ์ อันจะเป็นพลังยิ่งใหญ่ในการแก้ไขปัญหาทั้งหลายของชาติให้ลุล่วงไป เพื่อความสงบร่มเย็น ความไพบูลย์ของสังคมไทย ตลอดจนความมั่นคงของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์


นโยบายของพรรคเสรีประชาธิปไตย

หลักการในการแก้ปัญหาปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันมีอยู่ว่า จะต้องจับปัญหาเอกให้ถูก พรรคเสรีประชาธิปไตยได้ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ปัญหาทั้งหลายตลอดจนพิจารณาบทเรียนในอดีตแล้ว สรุปได้ว่าปัญหาเอกของชาติ คือ “ปัญหาการเมืองการปกครอง” ที่จะต้องแก้ให้ได้ก่อนหรือเน้นหนักกว่าปัญหาอื่น ๆ เมื่อแก้ปัญหาการเมืองการปกครองได้แล้ว ปัญหาอื่น ๆ ก็จะแก้ได้ง่ายขึ้น ฉะนั้นแนวนโยบายที่เป็นหลักนำของพรรคเสรีประชาธิปไตย คือ นโยบายการเมือง หรือต้องแก้ไขปัญหาการเมืองซึ่งเป็นปัญหาเอกของชาติให้ได้ก่อน และแก้ปัญหาอื่น ๆ ควบคู่กันไปตามสภาพความเป็นจริงของสังคมของชาติ


ทั้งนี้ พรรคเสรีประชาธิปไตยได้ศึกษาวิเคราะห์ปัญหาของชาติพบสาเหตุสำคัญที่ทำให้แก้ไขปัญหาไม่ได้ คือ

1)ยังไม่มีการให้ความรู้ทางการเมืองที่ถูกต้องแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง

2)ยังไม่มีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง

3)ยังไม่มีการกระจายทุนหรือปัจจัยการผลิตอย่างแท้จริง

4)ยังไม่มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม

5)ยังไม่มีการกระจายความเจริญอย่างแท้จริง


สาเหตุแห่งปัญหาชองชาติ คือ 5 ระบบผูกขาด หรือ 5 กระจุก เพื่อการแก้ปัญหาของชาติให้สำเร็จอย่างแท้จริง พรรคเสรีประชาธิปไตยจึงกำหนดนโยบาย “ 5 กระจาย” ดังนี้

1) กระจายความคิด คือ ต้องเร่งเผยแพร่ความรู้ทางการเมืองที่ถูกต้องตามหลักการระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษตริย์เป็นประมุของชาติ

2) กระจายอำนาจ ต้องทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน โดยเริ่มต้นที่การสร้างพรรคการเมืองให้เป็นพรรคของชาวบ้าน

3) กระจายทุน ทุนหรือปัจจัยการผลิต คือ หัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจ

4) กระจายรายได้ ต้องทำให้ชาวบ้านทุกคนมีงานทำ มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง

5) กระจายความเจริญ ต้องทำให้ชนบทกับเมืองมีความเจริญใกล้เคียงกัน


นโยบาย 5 กระจาย ของพรรคเสรีประชาธิปไตยจะสำเร็จได้ก็ด้วยการสร้างพรรคให้เป็นของชาวบ้านอย่างแท้จริง คือ ชาวบ้านทั่วไปเข้ามาเป็นเจ้าของพรรคได้ด้วยความศรัทธาและเสียสละอย่างแท้จริง ถือประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นใหญ่

นโยบายพรรคเสรีประชาธิปไตยมี 2 ขั้นตอน คือ

1) นโยบายสร้างพรรคให้เป็นของชาวบ้านต้องค่อยเป็นค่อยไปโดยการขยายสาขาพรรคออกไปทั่วประเทศ ให้ชาวบ้านเข้าใจนโยบายพรรคแล้วสมัครเป็นสมาชิกพรรคเอง เมื่อเลือกตั้งก็ให้เลือกผู้สมัครของเขาเองแล้วค่อยไปแข่งขันต่อสู้กับพรรคอื่น

2) นโยบายสร้างชาติ พรรคเสรีประชาธิปไตยต้องดำเนินนโยบาย 5 กระจายให้สำเร็จอันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการสร้างพรรคให้เป็นของชาวบ้าน เพื่อจะสามารถต่อสู้ตามวิถีทางประชาธิปไตยให้ได้ผู้แทนในสภาและผู้แทนนอกสภาจำนวนมากจึงจะมีพลังอำนาจมากพอที่จะทำให้นโยบาย 5 กระจายปรากฎเป็นจริงได้สำเร็จ


ที่มา

ตุลภาค ประเสริฐศิลป์.การก่อตั้งและพัฒนาการของพรรคพลังธรรม .วิทยานิพนธ์หลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต (การปกครอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2537 หน้า 47.

ภูริวรรธก์ ใจสำราญ. การรวมพรรคการเมือง : ศึกษากรณีการรวม พรรคไทยรักไทยกับพรรคความหวังใหม่.วิทยานิพนธ์หลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2546 หน้า 56-57.

บุญสม วิลาศนิศากร. พรรคการเมืองที่ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับบทบาทการพัฒนาการเมือง : ศึกษากรณี พรรคเกษตรมหาชน พรรคชาติประชาธิปไตย และพรรคเสรีประชาธิปไตย.วิทยานิพนธ์หลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2545 หน้า 100-105.

สรุปผลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 83/2547 วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 . Retrieved from

http://www.concourt.or.th/download/Summary_desic/47/Summary_desic_thai/center-law83-47.pdf