เมืองลูกหลวงโท

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

เรียบเรียงโดย : ดร. ชาติชาย มุกสง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


ความหมายของเมืองลูกหลวงโท

          เมืองลูกหลวงโทเป็นเมืองในการปกครองด้วยระบบเมืองลูกหลวงที่ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินในสมัยอยุธยาตอนต้น  โดยเมืองลูกหลวงโทนั้นคือเมืองสำคัญรองจากเมืองลูกหลวงเอกซึ่งสำคัญรองลงมาจากเมืองหลวงในราชอาณาจักรคือกรุงศรีอยุธยา บางครั้งเรียกว่าเมืองหลานหลวงมีความสำคัญในฐานะหัวเมืองที่มีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลเมืองเล็กใกล้เคียงแทนศูนย์กลางเหมือนเมืองลูกหลวงเอกเพื่อกระชับอำนาจให้รวมอยู่กับศูนย์กลางที่กรุงศรีอยุธยา แต่ความสำคัญน้อยกว่าหรือมีขนาดเล็กกว่า

          หัวเมืองลูกหลวงมีฐานะเป็นเมืองเอก และเมืองหลานหลวงเป็นเมืองโท  จึงส่งเจ้านายชั้นสูงในราชวงศ์มาครองเช่นเดียวกันแต่เป็นระดับหลานหลวงหรือเจ้านายในราชวงศ์มาครองเท่านั้น ต่างจากเมืองลูกหลวงเอกที่จะส่งเจ้านายระดับสูงคือพระราชโอรสหรือพระอนุชาธิราชมากินเมืองในฐานะอุปราชที่มีอำนาจค่อนข้างอิสระ ในหลักการระบบเมืองลูกหลวง (เอก) หลานหลวง (โท) ได้ทำให้ราชวงศ์มีความมั่นคง เพราะปิดโอกาสที่ขุนนางจะขึ้นมาแย่งชิงราชสมบัติ[1] นั่นเป็นเหตุผลว่าสมัยต้นอยุธยาการแย่งชิงราชสมบัติเกิดขึ้นจากสมาชิกในราชวงศ์ไม่ใช่ขุนนางเหมือนในสมัยหลัง

ความสำคัญของเมืองลูกหลวงโท

          การเกิดขึ้นของเมืองลูกหลวงโทก็เช่นเดียวกับเมืองลูกหลวงเอกคืออาจจะเกิดจากยุทธศาสตร์คือป้องกันศึกศัตรูหรือเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของราชวงศ์ จึงต้องให้สมาชิกราชวงศ์ของกษัตริย์ที่ปกครองอยุธยาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองเพื่อประกันความจงรักภักดีในหมู่ญาติสนิทมากกว่าจะใช้ขุนนางไปปกครอง โดยระบบเมืองลูกหลวงจะถูกนำมาใช้ในการปกครองหัวเมืองช่วงประมาณ 250 ปีแรกของอาณาจักรอยุธยา โดยมีพัฒนาการและเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด

          การจัดระบบเมืองลูกหลวงยุคแรกที่ชัดเจนก็คือการจัดการปกครองตั้งแต่แรกเริ่มสถาปนาอยุธยาเป็นราชธานีขึ้นในปี พ.ศ. 1893 ในสมัยพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ไปจนสิ้นสุดลงในสมัยเจ้าสามพระยา (1967-1991) ซึ่งเป็นการปกครองแบบเมืองลูกหลวงคือการที่กษัตริย์อยุธยาส่งเชื้อสายในราชวงศ์ไปครองเมืองสำคัญในราชอาณาจักรที่เรียกว่าเมืองลูกหลวงซึ่งมีความเป็นอิสระจากเมืองหลวงพอสมควรคือมีอำนาจควบคุมดูแลเมืองบริวารใกล้เคียงจนทำให้เกิดศูนย์อำนาจใหม่ในเมืองลูกหลวงจนเป็นอันตรายต่อราชบัลลังก์ในกรุงศรีอยุธยาอยู่เสมอ จนกล่าวได้ว่ากลายเป็นสถาบันเมืองลูกหลวงขึ้นในระบบการเมืองการปกครองของอยุธยาในสมัยตอนต้นขึ้นอย่างชัดเจน

          การปกครองหัวเมืองในอาณาจักรอยุธยาตอนต้นมีการแบ่งหัวเมืองลูกหลวงเป็นเมืองลูกหลวงเอกคือหัวเมืองลูกหลวงที่มีฐานะเป็นเมืองเอก และเมืองลูกหลวงโทซึ่งเป็นเมืองหลานหลวงมีฐานะเป็นเมืองโท ส่วนการจัดแบ่งหัวเมืองออกเป็นเมืองตรีและจัตวาคงจะเกิดขึ้นเมื่อราชอาณาจักรขยายตัวไปมากแล้ว เนื่องจากเจ้านายระดับสูงทรงได้รับแต่งตั้งไปกินเมืองลูกหลวงต่างๆ แต่ละพระองค์อาจได้รับเครื่องยศชั้นสูง และมีพระราชอำนาจค่อนข้างอิสระจึงทรงปกครองหัวเมืองในฐานะอุปราช ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ ในหลักการแล้วระบบเมืองลูกหลวงที่มีทั้งเมืองลูกหลวงเอกและลูกหลวงโท (หรือหลานหลวง) นั้น ทำให้ราชวงศ์มีความมั่นคงเพราะปิดโอกาสขุนนางจะมาแย่งชิงราชสมบัติ แต่การที่เจ้านายได้ปกครองเมืองลูกหลวงอย่างค่อนข้างอิสระ เปิดโอกาสให้เจ้านายหลายพระองค์ทรงสามารถสะสมกำลังและสร้างบารมีได้เข้มแข็งพอที่จะอ้างสิทธิในราชบัลลังก์เมื่อสิ้นรัชกาลของพระราชบิดาลง[2]

ฐานะและบทบาทของเมืองลูกหลวงโท

           การเรียกเมืองลูกหลวงมาจากฐานะของลูกกษัตริย์ที่ไปปกครองเมืองจากฐานะสำคัญของราชโอรสในราชวงศ์ ที่เกิดจากฐานันดรศักดิ์ของพระมารดา ดังปรากฏในกฎมณเทียรบาลกำหนดไว้ว่า

 

กำหนดพระราชกฤษฎีกาไอยการ พระราชกุมาร พระราชนัดดา ฝ่ายพระราชกุมารเกิดด้วยอัคมเหสี คือสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า อันเกิดด้วยแม่หยัวเมือง เปนพระมหาอุปราช เกิดด้วยลูกหลวงกินเมืองเอก เกิดด้วยหลานหลวงกินเมืองโท เกิดด้วยพระสนมเปนพระเยาวราช

พระลูกเธอกินเมืองถวายบังคมแก่สมเดจหน่อพระพุทธิเจ้า พระเยาวราชถวายบังคมแก่พระเจ้าลูกเธอกินเมือง

เมืองลูกหลวง คือเมืองพิศณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองกำแพงเพช เมืองลพบุรี เมืองสิงคบุรี

เมืองหลานหลวง คือเมืองอินทบุรี เมืองพรหมบุรี[3]

 

          หมายความว่าพระราชกุมารเกิดด้วยลูกหลวง คือมีพระราชมารดาเป็นพระราชธิดากษัตริย์ได้ครองเมืองลูกหลวงเอก หากเกิดด้วยหลานหลวงคือมีพระราชมารดาเป็นชั้นพระนัดดาก็จะได้ครองเมืองลูกหลวงโท ฐานะของเจ้านายเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นได้ จากกินเมืองเล็กแล้วเลื่อนไปกินเมืองที่สำคัญกว่า[4] หรือที่เรียกเมืองลูกหลวงว่าเมืองเอกและเรียกหัวเมืองหลานหลวงว่าเมืองโท ซึ่งมีพระราชโอรสชั้นที่สองเป็นผู้ปกครอง และอยู่ชายแดนของวงราชธานี[5]

          เท่าที่หลักฐานปรากฏชัดเจนในสมัยต้นอยุธยาที่ยังใช้ระบบเมืองลูกหลวงอยู่นั้น เมืองหลานหลวง ได้แก่ เมืองอินทบุรี  และพรหมบุรี ซึ่งเป็นเมืองในชั้นในใกล้ราชธานีมากและมีขนาดไม่ใหญ่  บางครั้งผู้ที่จะปกครองเมืองเหล่านี้ขึ้นอยู่กับลักษณะเมือง  ถ้าเมืองไหนมีความสำคัญมากราชธานีจะส่งเจ้านายชั้นสูงไปปกครองและมีบทบาทสำคัญในการควบคุมหัวเมืองใกล้เคียงในลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้อยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยาอย่างแน่นหนาและมั่นคง อีกประการที่สำคัญคือเมืองลูกหลวงและหลานหลวงมีอำนาจในการปกครองตนเองเกือบเป็นอิสระ   เพราะเป็นเมืองของเจ้านายในราชวงศ์ที่ใกล้ชิดจึงมีอิสระในการสั่งสมกำลังคนและเศรษฐกิจของตัวเองได้อย่างอิสระ ด้านหนึ่งก็เป็นการควบคุมกำลังคนและอำนาจทางเศรษฐกิจเอาไว้ในราชวงศ์ที่ครองอยุธยาที่ทุกเมืองยอมรับเป็นศูนย์กลางร่วมกัน แต่อีกด้านหนึ่งการสั่งสมอำนาจก็สร้างความตึงเครียดทางการเมืองและบั่นทอนเสถียรภาพของกษัตริย์ที่ครองบัลลังก์ที่ไม่เข้มแข็งก็อาจถูกแย่งชิงอำนาจได้ง่ายจากผู้มีอำนาจที่สั่งสมในเมืองลูกหลวง หลานหลวงเหล่านี้[6] ที่รวบรวมกำลังและเครือข่ายกันสนับสนุนเจ้านายที่เข้มแข็งขึ้นเป็นกษัตริย์

          แม้ว่าเมืองลูกหลวง หลานหลวงในสมัยต้นอยุธยาจะมีอิสระในการบริหารงานภายในของตนตามประเพณีการปกครองในยุคนั้น แต่เนื่องจากอยู่ในวงราชธานีที่ใกล้ชิดกับเมืองหลวงจึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของอยุธยาอย่างใกล้ชิด เมืองหลวงสามารถแต่งตั้งถอดถอน หรือโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งเจ้าเมืองตลอดจนข้าราชการในเมืองได้ ถือว่าเป็นระบบกึ่งรวมอำนาจเอาไว้ที่ศูนย์กลาง[7]อยู่ด้วย

          การปกครองหัวเมืองในระบบเมืองลูกหลวงที่ใช้ในตอนต้นอยุธยา ซึ่งมีเมืองลูกหลวงโทอยู่เป็นส่วนหนึ่งด้วยนั้น มาถึงกาลสิ้นสุดลงเมื่อถูกปรับปรุงด้วยระบบการปกครองหัวเมืองใหม่ที่แบ่งเป็น 4 ระดับคือ เมืองเอก โท ตรี จัตวา อันปรากฏขึ้นชัดเจนในระบบราชการแบบใหม่ของอยุธยาสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เพื่อรองรับการขยายตัวของราชอาณาจักรและเปลี่ยนมาใช้ขุนนางในการปกครองหัวเมืองมากกว่าราชวงศ์ไปกินเมือง แต่ในช่วงเวลาตั้งแต่ราว พ.ศ. 2000 จนถึง 2100 ในเวลาประมาณ 100 ปีนี้ระบบเมืองลูกหลวงน่าจะถูกใช้ควบคู่ไปกับระบบเมืองเอก โท ตรี จัตวา ในการปกครองหัวเมืองขึ้นอยู่กับราโชบายของแต่ละรัชสมัย แต่หลังรัชสมัยพระมหาธรรมราชาจึงสิ้นสุดเมืองลูกหลวงอย่างแท้จริง เพราะไม่ปรากฏการแต่งตั้งเจ้านายไปปกครองหัวเมืองอีกเลย

สรุป

          เมืองลูกหลวงโทคือเมืองในระบบเมืองลูกหลวงสถาบันทางการเมืองที่ใช้บริหารอาณาจักรสมัยต้นอยุธยาที่มีฐานะรองจากเมืองลูกหลวงเอก หรือบางครั้งจะรู้จักกันในนามเมืองหลานหลวงมีความสำคัญในฐานะหัวเมืองชั้นนอกที่ต้องควบคุมดูแลหัวเมืองเล็กหัวเมืองน้อยใกล้เคียงแทนกรุงศรีอยุธยาและดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเมื่อแรกตั้งอาณาจักรให้มีความมั่นคงเหมือนเมืองลูกหลวงเอกแต่ความสำคัญน้อยกว่าจึงส่งเจ้านายระดับหลานหลวงหรือเจ้านายในราชวงศ์ระดับชั้นรองๆ ลงมาครองเมืองลูกหลวงโทเท่านั้น

บรรณานุกรม

ควอริช เวลส์. การปกครองและการบริหารของไทยสมัยโบราณ. แปลโดย กาญจนี ละอองศรีและยุพา ชุมจันทร์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์และไทยวัฒนาพานิช. 2527.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ (บรรณาธิการ). ศรีรามเทพนคร': รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 2527.

มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. ขุนนางอยุธยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2547.

ราชบัณฑิตยสถาน. กฎหมายตราสามดวง ราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 2. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550.

วินัย พงศ์ศรีเพียร. “การปกครองหัวเมืองของไทยสมัยอยุธยาตอนปลาย: ศึกษาจากพระราชกำหนดเก่า จุลศักราช 1089 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ”. วารสารราชบัณฑิต. ปีที่ 30 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม), 2548. หน้า 114-130.         

อ้างอิง

[1] วินัย พงศ์ศรีเพียร. “การปกครองหัวเมืองของไทยสมัยอยุธยาตอนปลาย: ศึกษาจากพระราชกำหนดเก่า จุลศักราช 1089 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ”,วารสารราชบัณฑิต. ปีที่ 30 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม), 2548, หน้า 116.         

[2] วินัย พงศ์ศรีเพียร. “การปกครองหัวเมืองของไทยสมัยอยุธยาตอนปลาย: ศึกษาจากพระราชกำหนดเก่า จุลศักราช 1089 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ”,วารสารราชบัณฑิต. ปีที่ 30 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม), 2548, หน้า 116.  

[3] ราชบัณฑิตยสถาน, กฎหมายตราสามดวง ราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 2, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 178-179.

[4] วินัย พงศ์ศรีเพียร. “การปกครองหัวเมืองของไทยสมัยอยุธยาตอนปลาย: ศึกษาจากพระราชกำหนดเก่า จุลศักราช 1089 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ”,วารสารราชบัณฑิต. ปีที่ 30 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม), 2548, หน้า 116         

[5] ควอริช เวลส์. การปกครองและการบริหารของไทยสมัยโบราณ. แปลโดย กาญจนี ละอองศรีและยุพา ชุมจันทร์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์และไทยวัฒนาพานิช. 2527, หน้า  87-88.

[6] มานพ ถาวรวัฒน์สกุล, ขุนนางอยุธยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2547, หน้า 70-71.

[7] นิธิ เอียวศรีวงศ์ (บรรณาธิการ), ศรีรามเทพนคร': รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 2527, หน้า 31.