เผ่าไท (พ.ศ.2543)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พรรคเผ่าไท

พรรคเผ่าไทได้ยื่นจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง โดยอาศัยความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2543 โดยได้รับการจดแจ้งลงในทะเบียนพรรคการเมืองเลขที่ 14/2543 มี พลตรี พรฤทธิ์ นิปวนิชย์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และมีรายนามคณะกรรมการบริหารพรรคในตำแหน่งสำคัญดังต่อไปนี้

ตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค ประกอบด้วย พลโท วิศัลย์ วิสุทธิธรรม, พันเอก(พิเศษ) สุรินทร์ คงพันธุ์, นายสมคิด ถาวรประดิษฐ์, พันตรี ประทุม ทองสุข และร้อยเอก อัมพร มังกรแก้ว

ตำแหน่งเลขาธิการพรรค มี นางบุญครอง นิปวนิชย์ เป็นผู้ดำรงตำแหน่ง

ตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค ประกอบด้วย นายพูนศักดิ์ ปุระเทพ และนายสุทิน เกตุแก้ว

ตำแหน่งโฆษกพรรค มี นายประทีป บุญพัฒน์ เป็นผู้ดำรงตำแหน่ง

ในด้านอุดมการณ์ของพรรคนั้น พรรคเผ่าไทมีความเชื่อมั่นว่า ชนชาติไทยของเรามีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรมไม่แพ้ชาติใดในโลก ปัญหาต่างๆ ในชาติไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง เป็นต้น ถ้าเราทำให้ทุกคนในชาติรักใคร่สามัคคีซึ่งกันและกันเหมือนญาติพี่น้องร่วมสายโลหิต รวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการทำงาน การแก้ปัญหาของชาติคนไทยย่อมทำได้สำเร็จดีเยี่ยมแน่นอน ดังนั้นนโยบายของพรรคเผ่าไทจึงมุ่งเน้นไปที่จิตวิญญาณทำให้คนไทยทุกคนเกิดความรักความสามัคคี ความเสียสละอุทิศตนเพื่อชาติควบคู่ไปกับการทำงานที่อาศัยวิทยาการที่ทันสมัย การทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีการวางแผนล่วงหน้า มีแผนเผชิญเหตุ พรรคเผ่าไทเชื่อมั่นว่านโยบายการปลุกวิญญาณให้คนไทยมีขวัญกำลังใจดี รักชาติ ทำงาน เพื่อชาติ สู้ปัญหาทั้งปวงเพื่อชาติอย่างสุดใจขาดดิ้นแล้วย่อมจะทำให้ชาติของเราผ่านพ้นวิกฤตการณ์ก้าวไป สู่ความเป็นชาติที่เจริญรุ่งโรจน์ มีเกียรติยศ มีศักดิ์ศรี เป็นชาติมหาอำนาจในโลกชาติหนึ่งอย่างแน่นอน ดังนั้น นโยบายในด้านต่างๆของพรรคเผ่าไทจึงมุ่งที่จะดำเนินตามปณิธานดังกล่าว ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

นโยบายด้านการเมืองการปกครอง พรรคเผ่าไทจะมุ่งส่งเสริมความเข้าใจให้แก่ประชาชนในเรื่องสิทธิหน้าที่ และมีบทบาทในการมีส่วนร่วมทางการเมือง และการปกครองตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เร่งรัดการกระจายอำนาจและปรับปรุงโครงสร้างการปกครองไปสู่ท้องถิ่น ตามหลักการปกครองตนเอง เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้งานด้านการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนมีบทบาทในการปกครองระดับท้องถิ่น และระดับชาติเพิ่มขึ้น โดยให้มีส่วนร่วมกับรัฐบาลในการให้คำวิจารณ์ และเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารงานทั้งปวงและการทำประชามติ

นโยบายด้านการบริหารราชการ พรรคเผ่าไทจะปฏิรูประบบการบริหารราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อสนับสนุนงานพัฒนาเศรษฐกิจสังคม การเมืองให้ประสบผลตามเป้าหมาย แผนการดำเนินงานของชาติได้อย่างตรงจุดทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมุ่งหมายให้หน่วยราชการ ถือผลประโยชน์ของประชาชนสูงสุดโดยมุ่งให้ประชาชนมีรายได้ดี มีความอยู่ดีกินดี ความผาสุก ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ได้รับความยุติธรรม กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ดำเนินการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่นตามบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญ โดยระบุอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบระหว่างรัฐบาลกลางกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันอย่างชัดแจ้ง โดยเพิ่มสัดส่วนการแบ่งสรรภาษีอากรให้ท้องถิ่นเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ มีงบประมาณ ในการพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้า ดำเนินการปรับปรุงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนเพิ่มบทบาทภาคเอกชน โดยลดบทบาทการดำเนินธุรกรรมต่างๆ ของภาครัฐลง พร้อมทั้งสนับสนุนให้ภาคเอกชนรับถ่ายทอดบทบาทบางอย่างเป็นระบบต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชนชนและลดการลงทุนของภาครัฐลงตามที่เห็นสมควร

นโยบายด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคง เนื่องจากพรรคเผ่าไทนั้นถูกจัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มนายทหาร ดังนั้นนโยบายการป้องกันประเทศและความมั่นคงจึงกำหนดให้กองทัพต้องมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความมั่นคงของชาติ การรักษาอำนาจอธิปไตยของชาติ และช่วยชาติในการพัฒนาประชาชนชน พัฒนาการเกษตรกรรม พัฒนาเศรษฐกิจช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ป่าไม้และหน่วยราชการต่างๆ ในการสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนในการปราบปรามการค้ายาเสพติด การช่วยบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ โดยถือหลักว่ากองทัพต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ทั้งนี้โดยมุ่งหวังให้ประชาชนเกิดศรัทธาต่อกองทัพ และจะให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีเมื่อยามเกิดศึกสงคราม

นโยบายด้านการต่างประเทศ พรรคเผ่าไทมีเจตนารมณ์ที่จะดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระและเป็นมิตรกับทุกประเทศ โดยจะยึดมั่นในพันธกรณีตามสนธิสัญญาและความตกลงต่างๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีรวมทั้งกฎบัตรสหประชาชาติและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และจะดำเนินนโยบายเพื่อบรรลุผลประโยชน์แห่งชาติทั้งในด้านความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม มีความกระตือรือร้นและความรับผิดชอบต่อสังคมโลก โดยจะส่งเสริมมิตรภาพสมานฉันท์และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเอเชีย-แปซิฟิค เพิ่มพูนและพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการให้เขตการค้าเสรีอาเซียนประสบผลสำเร็จ ส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญภายใต้ระบบการค้าเสรี โดยให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ตลอดจนร่วมมือมีบทบาทในการลดความขัดแย้งระหว่างประเทศอันเนื่องมาจากปัญหาทางการค้า การลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา เสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วิชาการ วัฒนธรรม และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี และเสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและสมดุลอำนวยความสะดวก คุ้มครอง ตลอดจนเสริมสิทธิและผลประโยชน์ของคนไทย แรงงานไทย และธุรกิจภาคเอกชนไทยในต่างประเทศ

นโยบายเศรษฐกิจ พรรคเผ่าไทจะมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจส่วนบุคคลพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหมู่คณะและพัฒนาเศรษฐกิจเป็นส่วนรวมของชาติ คนในชาติย่อมมีอาชีพต่างกัน ควรหาข้อมูลของอาชีพต่างๆ แล้วนำมาพัฒนาวางแผนร่วมกันเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะสั้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะปานกลางและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจระยะยาว เน้นการส่งเสริมเศรษฐกิจซึ่งกันและกันในชาติ ไม่ขัดขวางทำลายเศรษฐกิจซึ่งกันและกันทำให้ทุกคนในชาติมีงานทำ มีรายได้ มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ โดยมีแนวทางการปฏิบัติ คือ การวางแผนสร้างงานเศรษฐกิจให้มากที่สุดเพื่อให้ทุกคนในชาติได้ทำงานได้มีงานทำ และทำงานที่ทำให้เกิดผลดีแก่เศรษฐกิจส่วนรวมของชาติ วางแผนการใช้ที่ดิน ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจมากที่สุด เช่น ที่ดินควรจะได้ใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชผลหรือเลี้ยงสัตว์ อุตสาหกรรม จัดที่ดินให้ประชาชนในชาติได้ทำประโยชน์ทางเศรษฐกิจทุกตารางเมตร รัฐควรจะต้องจัดที่ดิน ทรัพยากร ทุนทรัพย์ วิชาการ ที่ปรึกษา เป็นต้น ให้กับประชาชนที่ต้องการทำงานเพื่อประโยชน์เกิดผลิตผลแก่ประเทศชาติมากที่สุด รัฐจะต้องประนอมหนี้ ให้โอกาสซึ่งกันในระยะที่เศรษฐกิจตกต่ำ เน้นให้ทุกฝ่าย เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันส่งเสริมซึ่งกันและกัน ส่งเสริมคนในชาติให้มีความรู้ มีเทคโนโลยีใหม่ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำเงินทำเศรษฐกิจให้ดีขึ้น มีความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับวิชาเศรษฐกิจ การเงิน การอุตสาหกรรมให้มากที่สุด และส่งเสริมให้ประชาชน ข้าราชการ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ประหยัดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยลงมากที่สุด

สำหรับนโยบายด้านสังคม พรรคเผ่าไทให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทั้งในด้านการศึกษา การสาธารณสุข ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ศิลปะวัฒนธรรม และด้านแรงงาน โดยมีรายละเอียดในประเด็นสำคัญ คือ

การสนับสนุนให้เยาวชนไทยได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายให้ทั่วถึงและมีคุณภาพ และจะสนับสนุนให้การศึกษาสำหรับกลุ่มเด็กผู้ด้อยโอกาสในชนบท ท้องถิ่นทุรกันดาร ในเมือง คนพิการเด็กเร่ร่อน รวมทั้งเด็กปัญญาเลิศเป็นพิเศษ ส่งเสริมให้ประชานชนชาวไทยทุกคนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีมากที่สุด โดยรัฐจะต้องให้มหาวิทยาลัย วิทยาลัยเปิดโอกาสให้นักศึกษาหรือประชาชน สามารถเรียนนอกสถานที่โดยใช้ทีวี วิทยุหรือไปรษณีย์ได้

ด้านการสาธารณสุข รัฐจะสร้างกลไกค่ารักษาพยาบาลและยารักษาโรคให้อยู่ในระดับราคา ที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค รวมทั้งปรับระบบของโรงพยาบาล ภาครัฐให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็ว ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำกับดูแล และจัดบริการสาธารณสุขเบื้องต้น ตลอดจนปรับปรุงและพัฒนาสถานบริการสาธารณสุขระดับต่างๆ โดยเฉพาะสถานบริการ ระดับล่างให้สามารถจัดบริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ส่วนด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จะเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ชุมชน สถาบันการศึกษาและสถานประกอบการเพื่อให้มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหายาเสพติด และใช้มาตรการป้องกันควบคู่กับมาตรการปราบปรามใน การกำจัด โจรผู้ร้ายและอาชญากรทั้งปวง โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมมือกับประชาชนอาสาสมัครดำเนินการ

ด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม รัฐจะมุ่งส่งเสริมทำนุบำรุงศาสนาและพัฒนาสถาบันทางศาสนา โดยการสนับสนุน การศึกษาและฝึกอบรมบุคลากรทางศาสนาให้มีคุณภาพเป็นผู้นำด้านการปรับปรุงสุขภาพจิต และการพัฒนาจิตใจ จริยธรรมและคุณธรรมของประชาชน สนับสนุนให้ประชาชน องค์กร สถาบันต่างๆ และชุมชนเข้าร่วมในกิจกรรมการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และสนับสนุนนักบวชได้มีโอกาสศึกษาเพิ่มเติมในวิชาการต่างๆ จนถึงระดับปริญญา ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ในการสั่งสอนประชาชนให้มีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไป

ส่วนการพัฒนาด้านแรงงาน จะต้องเร่งรัดและขยายการผลิตกำลังคนสาขาที่ขาดแคลนทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพทักษะและฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ขยายบริการด้านการฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน และจะต้องสกัดกั้นและป้องกันมิให้มีการใช้แรงงานเด็กและสตรีอย่างเอารัดเอาเปรียบ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ให้มีความยืดหยุ่นกับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยผ่านระบบ ทวิภาคีและไตรภาคี เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมายยิ่งขึ้น และเพิ่มสัดส่วนการใช้แรงงานคนแทนเครื่องจักรในโครงการปรับปรุง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น

สำหรับนโยบายด้านสวัสดิการข้าราชการ รัฐวิสาหกิจและประชาชนโดยทั่วไปนั้น รัฐจะต้องจัดตั้งกองทุนสวัสดิการสำหรับข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และประชาชนผู้มีรายได้น้อย และจัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการแห่งชาติเพื่อบริหารกองทุน เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเป็นสุข

ต่อมาพรรคเผ่าไทได้มีการจัดประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี ครั้งที่ 1/2547 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2547 ได้มีมติให้เพิ่มเติมนโยบายพรรคด้านอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัดคุ้มค่า อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ธรรมชาติและดูแลรักษาพื้นที่ป่าเขา แม้น้ำ ลำธาร และต้นไม้ให้มีความสะอาดอุดมสมบูรณ์ คงความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด

ในด้านการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองนั้น พรรคเผ่าไทส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 6 มกราคม 2544 โดยส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งผลการเลือกตั้งปรากฏว่าสมาชิกพรรคเผ่าไทไม่ได้รับการเลือกตั้งเข้าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแม้แต่คนเดียว โดยได้รับคะแนนเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อรวมทั้งสิ้น 19,727 คะแนน คิดเป็น 0.07% ของคะแนนเสียงทั้งหมด โดยมีคะแนนอยู่ในลำดับที่ 36 จากพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด 37 พรรค

ต่อมาพรรคเผ่าไทส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 โดยส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและระบบบัญชีรายชื่อซึ่งผลการเลือกตั้งปรากฏว่าสมาชิกพรรคเผ่าไทไม่ได้รับการเลือกตั้งเข้าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแม้แต่คนเดียวเช่นเดิม ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2549, วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2549 และวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2551 นั้น พรรคเผ่าไทไม่ได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่อย่างใด จนกระทั่งในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2552 ในการประชุมใหญ่สามัญพรรคเผ่าไท ประจำปี 2552 ก็ได้มีมติให้เลิกพรรคเผ่าไท และนายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ครั้งที่ 54/2552 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2552 จึงสั่งเลิกพรรคเผ่าไทตามมาตรา 92 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550


ที่มา

ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 117 ตอนพิเศษ 89 ง ลงวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2543, หน้า 34-80

ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 121 ตอนพิเศษ 134 ง ลงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2547, หน้า 50-54

ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 126 ตอนที่ 68 ง ลงวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552, หน้า 289

สยามจดหมายเหตุ ปีที่ 26 ฉบับที่ 5 พ.ศ.2544 หน้า 115