เขตเลือกตั้ง (จินตนา เอี่ยมคง)
ผู้เรียบเรียง จินตนา เอี่ยมคง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
การเลือกตั้งเป็นกระบวนการพื้นฐานที่สำคัญ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่เป็นการให้อำนาจแก่ประชาชนโดยอ้อม กล่าวคือไม่สามารถจัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศได้โดยตรง แต่การเลือกตั้งนั้นต้องมีประสิทธิภาพพอ และเป็นที่ยอมรับได้ว่าสอดคล้องกับเงื่อนไขของระบอบประชาธิปไตย ในปัจจุบัน ประชาชนสามารถเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เข้าไปเป็น “ผู้แทน” ของตน โดยมีกระบวนการเลือกตั้งจากประชาชนให้เข้ามาทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติในรัฐสภา ซึ่งในกระบวนการเลือกตั้งดังกล่าว “เขตเลือกตั้ง” จึงเป็นส่วนสำคัญต่อการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งของประชาชน เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน
ความหมาย
เขตเลือกตั้ง[1] หมายถึง พื้นที่ที่กำหนดเป็นเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือแบบสัดส่วน หรือเขตเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา แล้วแต่กรณี โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้กำหนดการแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อให้นำคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่นั้นมารวมกันเพื่อตัดสินผลการเลือกตั้ง
การแบ่งเขตเลือกตั้งในอดีต
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาแต่ละครั้ง รูปแบบและวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งจะถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ในอดีตที่ผ่านมาแบ่งออกเป็น[2]
1. แบบแบ่งเขต เป็นการกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิได้เขตละหนึ่งคน โดยจังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินกว่าหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งตามจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีในจังหวัดนั้น การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบนี้ใช้ในคราวการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกที่มีขึ้นในประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2480 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2481 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2489 ทั้งหมดนี้เป็นการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เป็นต้น
2. แบบรวมเขต เป็นการกำหนดให้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนเท่าใด ให้ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่เกินจำนวนที่พึงมี การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบนี้ใช้ในคราวการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2491 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2495 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ทั้งสองครั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 เป็นต้น
นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543 และวันที่ 19 เมษายน 2549 เป็นการจัดการเลือกตั้งแบบรวมเขต ด้วยเช่นกัน โดยเป็นการถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ราษฎรผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาได้เพียงจังหวัดละหนึ่งคน
อนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ได้กำหนดเรื่องเขตเลือกตั้งไว้อย่างน่าสนใจว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ถือเขตจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เว้นแต่กรุงเทพมหานครให้แบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็นสามเขตและจัดให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตละเท่า ๆ กัน หรือใกล้เคียงกันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยต้องแบ่งพื้นที่เขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งเป็นคณะตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น ๆ แต่วิธีการดังกล่าวนี้ยังไม่ได้นำมาใช้ในการเลือกตั้ง เพราะมีความเห็นที่แตกต่างกันจนเป็นปัญหาทางการเมือง ในที่สุดรัฐสภาได้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในปี 2528 โดยยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าว
3. การเลือกตั้งแบบผสม เป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งที่รวมวิธีการหลาย ๆ อย่างเข้าด้วยกัน ดังนี้
3.1 แบบรวมเขตและแบ่งเขต เป็นการกำหนดให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนตามหรือใกล้เคียงกัน โดยจังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่เกินสามคนให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และจังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินกว่าสามคนให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้ง ทั้งนี้ แต่ละเขตเลือกตั้งจะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าสองคนและไม่เกินสามคน ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งได้จำนวนไม่เกินที่เขตเลือกตั้งนั้นจะพึงมี เช่น การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2518 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2519 ทั้งสองครั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 หรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2522 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2526 ทั้งสองครั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 (ภายใต้บทเฉพาะกาล) เป็นต้น
3.2 การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ เป็นการกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เขตละหนึ่งคน โดยจังหวัดใดมีสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรเกินกว่าหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งตามจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีในจังหวัดนั้น และกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อใดบัญชีรายชื่อหนึ่งที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้นส่งสมัครรับเลือกตั้งเพียงบัญชีเดียว โดยให้ถือเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง เช่น การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ทั้งสองครั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นต้น
การคำนวณจำนวนราษฎรเพื่อแบ่งเขตเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนสี่ร้อยแปดสิบคน แบ่งออกเป็นมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสี่ร้อยคน และมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน จำนวนแปดสิบคน
การคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีได้ในแต่ละเขตเลือกตั้งและการกำหนดเขตเลือกตั้งให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ให้คำนวณเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน โดยคำนวณจากจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง เฉลี่ยด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสี่ร้อยคน
2. จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน ให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้หนึ่งคน จังหวัดใดมีราษฎรเกินเกณฑ์ จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน ให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน ทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์การคำนวณ
3. เมื่อได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละจังหวัดแล้ว ถ้าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่คำนวณได้ ยังไม่ครบสี่ร้อยคนให้จังหวัดที่มีเศษเหลือจากการคำนวณมากที่สุดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน และให้เพิ่มจำนวนในจังหวัดลำดับรองลงมาตามลำดับจนครบสี่ร้อยคน
4. การแบ่งเขตเลือกตั้งให้ดำเนินการโดยจังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่เกินสามคนให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ถ้าจังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินกว่าสามคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้ง โดยจัดให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามคน ในกรณีที่ไม่อาจแบ่งเขตเลือกตั้งในจังหวัดให้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามคนครบทุกเขตไม่ได้ ให้แบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็นเขตละสามคนเสียก่อนแต่เขตที่เหลือต้องมีไม่น้อยกว่าเขตละสองคน ถ้าจังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สี่คนให้แบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็นสองเขตเขตละสองคน
5. จังหวัดใดมีการแบ่งเขตเลือกตั้งมากกว่าหนึ่งเขตต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกันและต้องมีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน
ส่วนการกำหนดเขตเลือกตั้งสำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนมีวิธีการดำเนินการโดยให้จัดแบ่งพื้นที่ประเทศไทยออกเป็นแปดกลุ่มจังหวัด และให้แต่ละกลุ่มจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยแต่ละเขตเลือกตั้งให้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สิบคน ในการจัดกลุ่มจังหวัดให้จังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกันอยู่ในกลุ่มจังหวัดเดียวกัน และในกลุ่มจังหวัดทั้งแปดกลุ่มต้องมีจำนวนราษฎรรวมกันแล้วใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ จะแบ่งพื้นที่ของจังหวัดแยกออกไปรวมกับเขตเลือกตั้งอื่นอีกไม่ได้
วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งในปัจจุบัน
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[3] ในปัจจุบันตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบผสม กล่าวคือ เป็นการผสมแบบรวมเขตจังหวัด แบบแบ่งเขตและแบบสัดส่วน เป็นการกำหนดให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนตามหรือใกล้เคียงกัน โดยจังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่เกินสามคนให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และจังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินกว่าสามคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้ง ทั้งนี้ แต่ละเขตเลือกตั้งจะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าสองคนและไม่เกินสามคน ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งได้จำนวนไม่เกินสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เขตเลือกตั้งนั้นจะพึงมี ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองที่จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งได้หนึ่งเสียง โดยกำหนดให้แบ่งพื้นที่ของประเทศไทยออกเป็นแปดกลุ่มจังหวัด แต่ละกลุ่มจังหวัดนี้ต้องมีพื้นที่ติดต่อกัน มีจำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งรวมกันแล้วใกล้เคียงกัน และให้ถือกลุ่มจังหวัดนั้นเป็นเขตเลือกตั้ง วิธีการนี้ใช้ในคราวเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 อันเป็นการเลือกตั้งที่มีขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้แบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งสิ้น 157 เขตเลือกตั้งและแบบสัดส่วน อีก 8 เขตเลือกตั้ง
สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา[4] ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้งไว้หลายประการ อาทิ เช่น ที่มาของสมาชิกวุฒิสภามี 2 แบบด้วยกัน คือ มาจากการสรรหา และการเลือกตั้ง
คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ดำเนินการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2551 และเป็นการเลือกตั้งที่ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ละจังหวัดให้มีสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดละหนึ่งคน โดยราษฎรผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งได้หนึ่งคน และมีเขตเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาทั้งสิ้น 76 เขตเลือกตั้ง
การเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นระดับชาติและระดับท้องถิ่นมีปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องคือ ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง พรรคการเมือง เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเลือกตั้ง และกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือแม้จะมีเขตเลือกตั้ง ที่มีการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างดีที่แล้ว หากแต่การเลือกตั้งที่ยังมีการซื้อสิทธิขายเสียง ไม่มีความบริสุทธิ์ ยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประเทศชาติก็ไม่สามารถที่จะมีประชาธิปไตยที่เบ่งบานได้เลย
อ้างอิง
- ↑ เขตเลือกตั้งเป็นอย่างไร. [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://academic.obec.go.th/new2550/th/democracy/page9.doc เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2552.
- ↑ สุเทพ เอี่ยมคง. สภาผู้แทนราษฎร. [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://www.librarianmagazine.com เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2552.
- ↑ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. ข้อมูล สถิติ การสรรหาและการเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2551. กรุงเทพฯ : สำนักงาน, 2551.
- ↑ ______. ข้อมูล สถิติ และผลการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2550. กรุงเทพฯ : สำนักงาน, 2550.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
ปริญญา นาคฉัตรีย์. การจัดการเลือกตั้ง ส.ส. และส.ว. ปัญหาและแนวทางแก้ไข. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2547.
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. 9 ปี กกต มิติใหม่แห่งการเลือกตั้ง. กรุงเทพฯ : สำนักงาน, 2550.
_______. 10 ปี กกต. ก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตยที่ยั่งยืน. กรุงเทพฯ : สำนักงาน, 2551.
บรรณานุกรม
“เขตเลือกตั้งเป็นอย่างไร”. [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://academic.obec.go.th/new2550/th/democracy/page9.doc เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2552.
แม่แบบ : การเลือกตั้ง ส.ส. ในไทย. [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://th.wikipedia.org/wiki/. เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2552.
วัชราพร ยอดมิ่ง. ระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. กรุงเทพฯ : สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550.
สมพร ถาวร. การนำระบบวิธีการเลือกตั้งหนึ่งคนหนึ่งเสียงมาใช้ในกฎหมายเลือกตั้งของไทย. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533.
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. ก่อนจะเป็น ส.ว. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, 2549.
_______. ข้อมูล สถิติ การสรรหาและการเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2551. กรุงเทพฯ : สำนักงาน, 2551.
_______. ข้อมูล สถิติ และผลการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2550. กรุงเทพฯ : สำนักงาน, 2550.
_______. แผนกลยุทธ์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (พ.ศ.2548-2552). กรุงเทพฯ : ม.ป.ป.
สุเทพ เอี่ยมคง. สภาผู้แทนราษฎร. [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://www.librarianmagazine.com/VOL1NO8/index.html เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2552.