อิสระภัทรราษฎร์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

พรรคอิสระภัทรราษฎร์

พรรคอิสระภัทรราษฎร์ หรือ พรรคภัทรธรรมราษฎร์ ชื่อย่อ อิสระ ภ.ท.ร. หลังจากที่นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ให้คำมั่นสัญญากับสังคมไทยหลังความวุ่นวานทางการเมืองที่ปะทุขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 โดยสัญญาว่าจะใช้ระยะเวลา 12 ปีในการร่างรัฐธรรมนุญที่เป็นประชาธิปไตย กระนั้นด้วยภาพพจน์ของนายธานินทร์ที่ถูกมองว่าเป็นคนขวาจัด ร่วมกับการดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงจนทำให้สังคมเริ่มตั้งคำถามต่อความสมัครสมานสามัคคีในชาติ ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินชุดเดิมที่เคยยึดอำนาจหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลนายธานินทร์ และตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ได้ประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2521 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้บัญญัติให้มีการตั้งพรรคการเมืองได้ในมาตรา 38 ในมาตรา 94 ระบุว่าคุณสมบัติหนึ่งของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งจะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และพรรคการเมืองที่มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องส่งผู้สมัครไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่จะพึงมีในการเลือกตั้งครั้งนั้น มาตรา 103 ถ้า ส.ส. ลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกหรือพรรคการเมืองที่ ส.ส.สังกัดไล่เขาออกจากพรรค ส.ส.ผู้นั้นก็จะต้องหมดจากสมาชิกภาพไปด้วย การไล่ ส.ส. ออกจากพรรคนั้นทำได้โดยเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส. ที่สังกัดพรรคนั้น

อย่างไรก็ดีเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปได้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุว่า ให้มีการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกในวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและในช่วงเวลา 4 ปีแรกนับตั้งแต่วันตั้งวุฒิสมาชิก ยังไม่ให้ใช้ข้อบังคับที่ระบุว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะต้องสังกัดพรรคการเมือง ในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2522 รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 301 คน และในวันเดียวกันนั้นก็มีการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกจำนวน 3 ใน 4 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นได้โดยที่ผู้ลงสมัครไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมือง การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ลงรับสมัครที่ไม่สังกัดพรรคจำนวนถึง 615 คน (จากจำนวนนี้ได้รับเลือกตั้ง 63 คน) และยังเกิดพรรคจำนวนมากที่ไม่ได้จัดตั้งอย่างเป็นทางการ พรรคอิสระภัทรราษฎร์เองก็เป็นหนึ่งในนั้นโดยส่งผู้สมัครในเขตพระนคร 2 คน ต่อมาถอนตัว 1 คน เหลือเพียงนายสมพงษ์ พูลทวีสุข ที่ลงสมัครในเขตพระนครเพียงคนเดียว และสอบตก จากนั้นก็ไม่ปรากฏผู้สมัครในชื่อพรรคนี้อีกต่อไป

อนึ่งพรรคอิสระภัทรราษฎร์นี้มีชื่อที่ใช้ในการหาเสียงคือ ภ.ท.ร. และมีอีกชื่อหนึ่งคือพรรคภัทรธรรมราษฎร์ ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกที่พรรคหนึ่งจะมีชื่อไม่เหมือนกันในการเลือกตั้งครั้งเดียวกัน แต่ที่เป็นได้เพราะ ณ เวลานั้นไม่มีการบังคับให้ต้องจดทะเบียนพรรคก่อนการเลือกตั้งแต่อย่างใด


ที่มา

เชาวนะ ไตรมาศ. ข้อมูลพื้นฐาน 66 ปีประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ : สถาบันนโยบายศึกษา, 2542.

พรรคการเมืองไทย. http://www.weopenmind.com/board/index.php?topic=5929.msg47927