อาเซียนกับการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

บทนำ

อาชญากรรมนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกสังคมโลก ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังและไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย แต่เดิมนั้นการก่ออาชญากรรมจะมีวิธีการกระทำที่ไม่ซับซ้อน แต่ในปัจจุบันเมื่อสังคมได้มีการพัฒนาในด้านต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี ก็ส่งผลให้รูปแบบของการก่ออาชญากรรมนั้นเปลี่ยนแปลงไป[1] โดยแรกเริ่มนั้น การก่ออาชญากรรมนั้นจะมีการกระทำเป็นขบวนการคณะบุคคลหรือในลักษณะขององค์กร แต่ต่อมาก็ได้มีการพัฒนารูปแบบเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งถือได้ว่าเป็นภัยคุกคามต่อสังคมโลก ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติก็ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการปราบปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้ จึงได้ออกอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่มีการจัดตั้งในลักษณะองค์กรขึ้น[2] เพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้ประเทศต่างๆออกกฎหมายในการปราบปรามองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ รวมถึงในเรื่องความร่วมมือในการดำเนินการต่อองค์กรเหล่านี้ด้วย [3]


1.1.คำนิยามขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

คำนิยามขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่เป็นสากลนั้น ได้บัญญัติไว้ในอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่มีการจัดตั้งในลักษณะองค์กร[4] โดยสามารถแยกองค์ประกอบได้ ดังนี้

1.เป็นการร่วมกระทำความผิดของบุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ในระยะเวลาหนึ่ง

2.กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้การประสานงานกัน

3.วัตถุประสงค์ในการก่อความผิดนั้นคือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดทั้งทางตรงและทางอ้อม

4.การก่ออาชญากรรมนั้นจะต้องเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง กล่าวคือได้ก่ออาชญากรรมที่มีโทษขั้นสูงเป็นการจำกัดเสรีภาพตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป ทั้งนี้การกระทำอาชญากรรมตามองค์ประกอบขั้นต้นนั้นจะต้องมีองค์ประกอบการข้ามชาติเป็นสำคัญด้วย กล่าวคือ จะต้องมีการกระทำเข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้ [5]

1.มีการกระทำความผิดในดินแดนของรัฐตั้งแต่ 2 รัฐขึ้นไป

2.มีการกระทำความผิดในขั้นตอนที่สำคัญ ทั้งการเตรียมการ การวางแผน การควบคุม หรือ การสั่งการในอีกรัฐหนึ่ง

3.มีการกระทำความผิดในลักษณะร่วมกระทำความผิด กับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่ได้กระทำอยู่แล้วตั้งแต่ 2 รัฐขึ้นไป

4.มีการกระทำความผิดในรัฐหนึ่ง แต่ผลของการกระทำความผิดได้เกิดขึ้นต่ออีกรัฐหนึ่งไม่ว่าผู้กระทำนั้นต้องการประสงค์ให้เกิดผลหรือไม่ก็ตาม


1.2.รูปแบบขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

รูปแบบขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่เกิดขึ้นในสังคมนั้นมีอยู่หลายชนิด แต่รูปแบบที่เป็นสากล ซึ่งได้ถูกกำหนดโดยองค์การสหประชาชาตินั้นมีอยู่ 10 ชนิด ได้แก่ [6]

1.การค้ายาเสพติด

2.การลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่น

3.การค้าอาวุธ

4.การค้าอาวุธนิวเคลียร์

5.กลุ่มองค์กรอาชญากรรมและกลุ่มผู้ก่อการร้าย

6.การค้าสตรีและเด็ก

7.การค้าอวัยวะมนุษย์

8.การขโมยและการลักลอบค้ายานพาหนะ

9.การฟอกเงิน

10.การกระทำความผิดอื่นใด เช่น อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ เป็นต้น


1.3.การดำเนินการขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

องค์กรอาชญากรรมข้ามชาตินั้นมักประกอบธุรกิจที่ผิดกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์ในด้านการเงินเป็นหลัก โดยจะมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ทั้งมีระดับหัวหน้า ระดับผู้ช่วย ระดับหัวหน้าชุดปฏิบัติการและระดับผู้ปฏิบัติการ [7] และเมื่อได้เงินจากการกระทำความผิดมาแล้ว ก็จะนำเงินดังกล่าวไปทำการฟอกเงินให้เป็นเงินที่ถูกกฎหมาย จากนั้นก็จะนำเงินไปแจกจ่ายให้กับสมาชิกองค์กร หรือใช้เพื่อดำเนินการภายในองค์กรต่อไป นอกจากนี้ยังมีการนำเงินดังกล่าวใช้ในการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือใช้เงินเพื่ออำนวยความสะดวกในการกระทำความผิดกฎหมายหรือขัดขวางขบวนการยุติธรรมอีกด้วย[8] ซึ่งผลจากการกระทำดังกล่าว ก็ส่งผลให้องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และยากต่อการปราบปรามนับเป็นปัญหาที่สำคัญที่สังคมทั่วโลกจะต้องให้ความช่วยเหลือกันในการปราบปราม

ความท้าทายในอาเซียน

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น หากพิจารณาในด้านของภูมิศาสตร์แล้วจะพบว่าเป็นภูมิภาคที่มีความความสำคัญ เนื่องจากมีพรมแดนติดกับประเทศที่มีอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอินเดียและประเทศจีน นอกจากนั้นยังเป็นประตูที่เชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียกับทวีปออสเตรเลียอีกด้วย ทั้งนี้อาเซียนมีเป้าหมายที่จะเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี ค.ศ. 2015 [9] อันจะส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายทุนและแรงงานวิชาชีพอย่างเสรีซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต อย่างไรก็ดีความเจริญเติบโตในทางด้านเศรษฐกิจภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ส่งผลให้องค์กรอาชญากรมข้ามชาติได้เข้ามามีบทบาทในการก่ออาชญากรรมที่ผิดกฎหมายในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในบริเวณภาคพื้นดินและรวมถึงในการก่ออาชญากรรมทางทะเลด้วย ยกตัวอย่างเช่น การค้ายาเสพติดและสารเสพติดอื่นๆทางทะเล[10] การค้ามนุษย์ การลักลอบขนผู้ย้ายถิ่น การกระทำโจรสลัด[11] เป็นต้น ซึ่งหากองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติได้กระทำการสำเร็จ ก็จะส่งผลให้องค์กรอาชญากรรมนั้นมีความมั่นคงในด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้เกิดความยากลำบากในการปราบปรามองค์กรอาชญากรรมดังกล่าว ทั้งนี้จะส่งผลโดยตรงต่อภูมิภาคและประชาคมทั้ง 3 เสาของอาเซียน

ความท้าทายประการหนึ่งของอาเซียน คือการที่อาเซียนยังถือหลักการไม่แทรกแซงระหว่างกันอย่างเคร่งครัด[12] โดยประเทศสมาชิกไม่ต้องการให้ประเทศอื่นๆเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศตน ซึ่งเกิดจากหลักการที่ว่า การจัดการแก้ไขปัญหาภายในที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ด้วยการจัดการปัญหาภายในของประเทศนั้นๆเอง [13] ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยปกติแล้วจะเป็นข้อมูลปกปิดที่เกี่ยวพันกับความมั่นคงของแต่ละประเทศ ส่งผลให้แต่ละประเทศนั้นไม่ให้ความร่วมมือกันมากเท่าที่ควร การถือหลักการไม่แทรกแซงระหว่างกันอย่างเคร่งครัดจึงเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการให้ความช่วยเหลือกันในเรื่องการป้องกันและปราบปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ อีกประการหนึ่ง คือเรื่องของการขาดการประสานงานระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น บุคลากรของรัฐขาดความรู้ความเข้าใจในการประสานงานระหว่างรัฐ หรือขาดทักษะในเรื่องภาษาที่ใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างกัน เป็นต้น [14]

ซึ่งปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้นับว่าเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อภูมิภาคอาเซียนที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อนำไปสู่เสถียรภาพและความมั่นคงภายในภูมิภาค

ความร่วมมือของอาเซียน

อาชญากรรมข้ามชาติที่เข้ามามีบทบาทภายในภูมิภาคประเภทแรกๆ ก็คืออาชญากรรมข้ามชาติเกี่ยวกับการค้ายาเสพติด และพัฒนาขึ้นในรูปแบบอื่นๆ โดยองค์กรที่ดำเนินการจัดการปัญหาดังกล่าวนี้เป็นการเฉพาะนั้นก็คือตำรวจอาเซียน (ASEANAPOL) ซึ่งได้มีการประชุมหารือระหว่างกันครั้งแรกในเดือน ตุลาคม ค.ศ. 1981 [15] หลังจากนั้นอาเซียนได้มีความพยายามที่จะให้ประเทศสมาชิกสร้างความรวมมือระหว่างกันในการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมที่ปรากฏในรูปของปฏิญญานั้นก็คือ ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยอาชญากรรมข้ามชาติ[16] ที่ได้มีการลงนามในปี ค.ศ. 1997 โดยในปฏิญญาฉบับนี้ ได้มีการกำหนดให้ประเทศสมาชิกร่วมมือกันในการปราบปรามและป้องกันองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดให้มีการประชุมเกี่ยวกับเรื่ององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติอย่างน้อย ในทุกๆ 2 ปี การส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติระหว่างกัน เป็นต้น ซึ่งในปีต่อมาก็ได้มีปฏิญญามะนิลา ว่าด้วยการป้องกันและควบคุมอาชญากรรมข้ามชาติ [17] เพื่อส่งเสริมความร่วมมือภายในภูมิภาค ในการดำเนินการป้องกันแลปราบปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งนี้ในลักษณะของการดำเนินการนั้นจะถูกกำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ [18] โดยรูปแบบความร่วมมือในการดำเนินการของอาเซียน ในเรื่องต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาตินั้น มีรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งยกตัวอย่างเช่น ความร่วมมือในการแบ่งปันข้อมูลขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ การพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมต่างๆจากศูนย์ป้องกันองค์กรอาชญากรรมระหว่างประเทศต่างๆ การสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมระหว่างประเทศร่วมกัน มาตรการทางด้านชายแดน เป็นต้น [19]

อย่างไรก็ดี แม้ว่าอาเซียนจะมีแผนปฏิบัติการ หรือความร่วมมือรูปแบบต่างๆระหว่างรัฐสมาชิกที่ได้ดำเนินการภายใต้กรอบของอาเซียน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คืออาเซียนก็ยังเป็นภูมิภาคที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างเช่น กรณีของชาวโรฮิงญาที่พัวพันกับองค์กรอาชญากรรมค้ามนุษย์ องค์กรอาชญากรรมลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่น หรือองค์กรอาชญากรรมค้ายาเสพติด เป็นต้น ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ประเทศอาเซียนจำเป็นที่จะต้องหาทางวิธีการ รูปแบบใหม่ๆ และสร้างมาตรการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังต้องเพิ่มความสามารถในการรับมือกับองค์กรอาชญากรรมที่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างรวดเร็ว

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

ปัญหาองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในอาเซียนนั้น นับได้ว่าเป็นปัญหาที่สำคัญมากที่สุดปัญหาหนึ่ง ซึ่งประเทศทั้งหลายจะต้องให้ความร่วมมือระหว่างกันในการดำเนินการ ทั้งในบริบทของการดำเนินการป้องกัน และการดำเนินการปราบปรามองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ อย่างไรก็ดี การดำเนินการตามกรอบปฏิญญาอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาตินั้น ก็เป็นเพียงกรอบความร่วมมือแบบกว้างๆในการดำเนินการ ซึ่ง ความร่วมมือดังกล่าวนั้น อาจจะยังไม่เพียงพอ ต่อการแก้ไขปัญหาองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงจำต้องอาศัยความร่วมมือดังนี้

1.การทำความร่วมมือระหว่างกันในรูปแบบของความตกลงระหว่างประเทศ กล่าวคือรัฐสมาชิกในอาเซียนจะต้องทำความร่วมมือระหว่างกันในรูปแบบของ ความตกลงทวิภาคี และความตกลงพหุภาคี นอกเหนือจากความตกลงในกรอบของอาเซียน

2.การเพิ่มทักษะความรู้ความเข้าใจในด้านต่างๆให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ยกตัวอย่างเช่น รูปแบบของเอกสารเดินทางที่ถูกต้องของประเทศอื่นๆ หรือการฝึกอบรมความรู้ในด้านภาษาแก่เจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาท้องถิ่น เพื่อให้การสื่อสารระหว่างกันนั้น มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

3.การร่วมฝึกอบรมในเรื่องการปราบปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยการฝึกอบรมนี้อาจจะต้องขอความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งจากองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติที่ดูแลในเรื่องยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC) และร่วมมือกับประเทศอื่นๆนอกภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ

4.สร้างความยืดหยุ่นให้กับหลักการการไม่แทรกแซงระหว่างกัน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความคล่องตัว ซึ่งประเทศต่างๆในอาเซียนมักจะยึดมั่นในหลักการไม่แทรกแซงระหว่างกันมากจนเกินไป ทำให้ความยืดหยุ่นโดยเฉพาะในประเด็นทางด้านความมั่นคงนั้นเกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งส่งผลต่อความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการดำเนินการปราบปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

บรรณานุกรม

กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ. ASEAN Mini book . กรุงเทพฯ :กรมอาเซียน กระทรวงการ ต่างประเทศ. 2556.

กองวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.2557.มารู้จักอาเซียนกันเถอะ ตอนที่ 4 http://inter.oop.cmu.ac.th/webird/kmdetail.php?km_id=32 (accessed March 30 , 2015)

ชัชชม อรรฆภิญญ์ และ คมกริช ดุลยพิทักษ์. อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านองค์กร อาชญากรรมข้ามชาติ : เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านองค์อาชญากรรมข้ามชาติ

ปกป้อง ศรีสนิท .2556. “ว่าด้วยกฎหมายปราบแก๊งค์มาเฟียข้ามชาติ.” http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1372667252 (accessed March 18 , 2015)

ประธาน วัฒนวาณิชย์ , “การใช้ถ้อยคำในอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้ง ในลักษณะองค์กรและพิธีสารแนบท้าย,”รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่องการพัฒนากฎหมายป้องกันและปราบปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติระยะที่2,สถาบันกฎหมายอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด (สิงหาคม 2548)

พงษ์นคร นครสันติภาพ . 2558. “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามชาติ.” <http://www.police7.go.th/asset/information/news/sharing_news/file_b7350c645ba46a441b9dc9bb39fe108f0ebfa668/file_OJRTC.pdf> (accessed March 18 , 2015)

ศุภกร ปุญญฤทธิ์, “การบังคับใช้กฎหมายของกรมสอบสวนคดีพิเศษกับองค์กรอาชญากรรม”วิทยานิพนธ์ ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2552.

สุพิศาล ภักดีนฤบาล. 4 Dimensions การบริหารงานสืบสวน.นนทบุรี : กรีนแอปเปิ้ล กราฟฟิคปริ้น ติ้ง.,2556.

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ.2014. “ ASEANAPOL” <http://www.aseancommunity.police.go.th/aseanapol2.html>

สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด.2557.กรอบยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพ ติดเพื่อรองรับประชาคมอาเซียนปี 2558. http://www.nccd.go.th/upload/news/1%2877%29.pdf (accessed March 30 , 2015)

Pierre-Arnaud Chouvy.2011. “NEW DRUG TRAFFICKING ROUTES IN SOUTHEAST ASIA.” <http://geopium.org/?p=169> (accessed March 20 , 2015)

Ralf Emme,2003, “The threat of transnational crime in Southeast Asia : Drug trafficking, human smuggling and trafficking, and sea piracy.” http://pendientedemigracion.ucm.es/info/unisci/revistas/Ralf.pdf (accessed March 20 , 2015)


อ้างอิง

  1. สุพิศาล ภักดีนฤบาล. 4 Dimensions การบริหารงานสืบสวน.(นนทบุรี : กรีนแอปเปิ้ล กราฟฟิคปริ้นติ้ง.),2556,หน้า 110.
  2. United Nations Convention against Transnational Organized Crime (2000)
  3. ปกป้อง ศรีสนิท .2556. “ว่าด้วยกฎหมายปราบแก๊งค์มาเฟียข้ามชาติ.” http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1372667252 (accessed March 18 , 2015)
  4. United Nations Convention against Transnational Organized Crime (2000): Article 2.
  5. พงษ์นคร นครสันติภาพ . 2558. “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามชาติ.” <http://www.police7.go.th/asset/information/news/sharing_news/file_b7350c645ba46a441b9dc9bb39fe108f0ebfa668/file_OJRTC.pdf> (accessed March 18 , 2015)
  6. ประธาน วัฒนวาณิชย์ , “การใช้ถ้อยคำในอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรและพิธีสารแนบท้าย,”รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่องการพัฒนากฎหมายป้องกันและปราบปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติระยะที่2,สถาบันกฎหมายอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด (สิงหาคม 2548),หน้า6-7.
  7. ศุภกร ปุญญฤทธิ์, “การบังคับใช้กฎหมายของกรมสอบสวนคดีพิเศษกับองค์กรอาชญากรรม”(วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2552),หน้า15-16.
  8. ชัชชม อรรฆภิญญ์ และ คมกริช ดุลยพิทักษ์. อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ : เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านองค์อาชญากรรมข้ามชาติ หน้าที่1.
  9. กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ. ASEAN Mini book . (กรุงเทพฯ :กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ.) ,2556,หน้า57.
  10. Pierre-Arnaud Chouvy.2011. “NEW DRUG TRAFFICKING ROUTES IN SOUTHEAST ASIA.” <http://geopium.org/?p=169> (accessed March 20 , 2015)
  11. Ralf Emme,2003, “The threat of transnational crime in Southeast Asia : Drug trafficking, human smuggling and trafficking, and sea piracy.” http://pendientedemigracion.ucm.es/info/unisci/revistas/Ralf.pdf (accessed March 20 , 2015)
  12. Preamble of ASEAN Charter (2007)
  13. กองวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.2557.มารู้จักอาเซียนกันเถอะ ตอนที่ 4 http://inter.oop.cmu.ac.th/webird/kmdetail.php?km_id=32 (accessed March 30 , 2015)
  14. สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด.2557.กรอบยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเพื่อรองรับประชาคมอาเซียนปี 2558. http://www.nccd.go.th/upload/news/1%2877%29.pdf (accessed March 30 , 2015)
  15. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ.2014. “ ASEANAPOL” <http://www.aseancommunity.police.go.th/aseanapol2.html>
  16. ASEAN Declaration on Transnational Crime(1997)
  17. Manila Declaration on the Prevention and Control of Transnational Crime (1998)
  18. ASEAN Plan of Action to Combat Transnational Crime
  19. Ibid.