อาณานิคมบนดาวอังคาร

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และธีทัต จันทราพิชิต

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

          การล่าอาณานิคมในอวกาศโดยทั่วไปได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นความต่อเนื่องของลัทธิจักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการตัดสินใจในการล่าอาณานิคมบนดาวอังคารและเหตุผลของการใช้แรงงานในอาณานิคม[1] การตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารเป็นแนวคิดหนึ่งของการล่าอาณานิคมในอวกาศ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้มนุษย์สามารถไปตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารได้ อย่างไรก็ตาม การตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารยังเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงทั้งในกลุ่ม นักวิทยาศาสตร์ นักการเมือง นักธุรกิจ รวมถึงถูกพูดถึงในสื่อวัฒนธรรมมวลชน ไม่ว่าจะนวนิยาย ภาพยนตร์ หรือภาพวาดอย่างกว้างขวาง

 

ทำไมต้องเป็นดาวอังคาร

          SpaceX ซึ่งถูกก่อตั้งโดย อีลอน มัสก์ นักธุรกิจผู้มีความสนใจในการตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารโดยเฉพาะได้อธิบายไว้ว่าดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่เหมาะแก่การตั้งอาณานิคมเนื่องจากระยะทางที่ไม่ไกลมากและมีลักษณะใกล้เคียงกับโลก คือ มีความห่างโดยเฉลี่ยจากโลกประมาณ 140 ล้านไมล์ และมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ใกล้เคียงกับโลกทำให้ดาวอังคารยังได้รับแสงอาทิตย์ในระดับพอเหมาะ แม้จะหนาวกว่าที่โลกสักเล็กน้อย แต่สามารถทำให้อากาศอุ่นขึ้นได้ด้วยการสร้างเรือนกระจก ทั้งแก๊สในดาวอังคารก็มีลักษณะใกล้เคียงกับโลกทำให้สามารถปลูกต้นไม้ได้ ส่วนแรงโน้มถ่วงก็ประมาณ 38% ของโลก ขณะที่กลางวันกลางคืนแทบจะใกล้เคียงกับเวลาบนโลก[2]

 

Colony on Mars.jpg
Colony on Mars.jpg

ภาพ : การวางโดมโครงการบนดาวอังคารของ SpaceX[3]

          ทั้งหมดทำให้ดาวอังคารกลายเป็นตัวเลือกที่เหมาะต่อการตั้งอาณานิคม ผิดกับดาว เช่น ดาวศุกร์ที่แม้จะมีขนาดใกล้เคียงกับโลก แต่มีชั้นบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้[4] อย่างไรก็ตาม การพยายามตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารต้องทำภารกิจในการส่งคนไปเหยียบดาวอังคารเสียก่อนจึงจะสามารถตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารได้

 

ทำไมถึงไม่ควรเป็นดาวอังคาร

          แม้จะมีความนิยมว่าดาวอังคารเป็นตัวเลือกในการตั้งอาณานิคมนอกโลก แต่ก็มีผู้เห็นแย้งว่าไม่ควรจะตั้งอาณานิคมบนดาวอังคาร เช่น เจราร์ด เค. โอนีล (Gerard K. O’Neill) มองว่าสภาพแวดล้อมบนดาวอังคารนั้นไม่เหมาะจะมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะแรงโน้มถ่วงที่น้อยกว่าโลกมากทำให้ผู้อยู่อาศัยจะมีปัญหาด้านสุขภาพ[5] และขนาดโดยรวมก็เล็กเกินไป ทั้งยังไม่มีชั้นบรรยากาศ

 

ความพยายามในการส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคาร

          ภายหลังความสำเร็จของโครงการอพอลโลทำให้มีการเสนอว่าสหรัฐฯ ควรจะทำอย่างไรต่อการสำรวจอวกาศ โดยทีมวิจัยของนาซ่าได้เสนอให้ตั้งเป้าหมายสำรวจดาวอังคารต่อจากภารกิจสำรวจดวงจันทร์ ทั้งนี้ข้อเสนอมีด้วยกัน 3 ตัวเลือก[6]

          1. เพิ่มงบประมาณการสำรวจอวกาศเป็นจำนวนเท่าตัวจากที่นาซ่าได้รับ เพื่อทำให้ภารกิจไปดาวอังคารสำเร็จในทศวรรษที่ 1980 โดยต้องมีการสร้างสถานีอวกาศบนวงโคจรโลกและฐานบนดวงจันทร์ที่ต้องสามารถอยู่อาศัยได้ 50 คน ตัวเลือกนี้จะต้องสร้างสถานีอวกาศให้สำเร็จ ในปี ค.ศ. 1971 และต้องมีการพัฒนาระบบขนส่งและเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อใช้ในการสำรวจ

          2. คงงบประมาณไว้ที่จำนวนเท่าเดิมในช่วงปีแรก ก่อนจะเพิ่มงบประมาณในช่วงปีหลัง ตัวเลือกนี้จะชะลอภารกิจส่งมนุษย์ไปดาวอังคารเป็น ปี ค.ศ. 1986

          3. คงงบประมาณที่จำนวนเท่าเดิมแต่จะเพิ่มขึ้นตามเหตุความจำเป็นคล้ายตัวเลือกที่สอง หากแต่ไม่กำหนดกรอบระยะเวลาในการส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคาร

          แต่ทั้งสามตัวเลือกไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติ เมื่อ ริชาร์ด นิกสัน ตัดสินใจตัดงบประมาณของนาซ่าเนื่องมาจากปัญหาภายในและภายนอกประเทศ

          ต่อมาในศตวรรษที่ 21 สหรัฐฯ และชาติพันธมิตร พร้อมกับบริษัทเอกชนได้เริ่มดำเนินโครงการอาเทมิสเพื่อที่จะส่งคนไปยังดวงจันทร์อีกครั้ง โดยเป้าหมายของโครงการอาเทมิสนั้นเพื่อปูทางไปสู่การส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคารในอนาคต[7]

 

ในวัฒนธรรมมวลชน

          การตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารปรากฏอยู่ในสื่อวัฒนธรรมมวลชนมาโดยตลอด โดยมีตั้งแต่การพูดถึงอารยธรรมดาวอังคาร โดยในนวนิยายเรื่อง War of The Worlds ของ เอซ. จี. เวลลส์ H.G. Wells ก็ได้เขียนถึงสงครามระหว่างมนุษย์กับเอเลี่ยนชาวดาวอังคารที่เข้ามารุกรานโลกหรือในงานเขียนของ เอ็ดการ์ ไรซ์ เบอร์โรส์ อย่าง จอห์น คาร์เตอร์ ก็มีการกล่าวถึงอารยธรรมบนดาวอังคาร

          ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1990 ก็ได้มีการเขียนนวนิยายไตรภาคดาวอังคาร (Mars trilogy) โดยนักเขียนชาวอเมริกันชื่อ คิม สแตนลี่ โรบินสัน เล่าเรื่องถึงการตั้งอาณานิคมบนดาวอังคาร ในเกมส์ เช่น Mass Effect แม้จะมีฉากหลังเป็นสงครามกาแลคซี่ แต่ก็มีการพูดถึงการตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารในฐานะก้าวแรกสู่สังคมอวกาศของมนุษย์

          ในสื่อของญี่ปุ่นก็มีการพูดถึงการตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารอย่างสม่ำเสมอ เช่น Terra Formars เนื้อหาเป็นความพยายามจะตั้งอาณานิคมบนดาวอังคาร, Aldnoah.Zero ก็เป็นอนิเมะที่เป็นสงครามระหว่างมนุษย์กับดาวอังคาร หรืออนิเมะแฟรนไชน์กันดั้มอย่าง Mobile Suit Gundam : Age และ Mobile Suit Gundam : Iron-Blooded Orphans ก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับการตั้งอาณานิคมบนดาวอังคาร เช่นกัน

 

บรรณานุกรม

Gabrielle Cornish (July 22, 2019). "How imperialism shaped the race to the moon". The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/outlook/2019/07/22/how-imperialism-shaped-race-moon/

Geoffrey A. Landis. (2003). Colonization of Venus. NASA.

Gerard K. O’Neill. (1978). The High Frontier : Human Colonies in Space (3rd ed.). Bantam Book: New York.

NASA. (2019). 50 Years Ago: After Apollo, What? Space Task Group Report to President Nixon. Retrieved from https://www.nasa.gov/feature/50-years-ago-after-apollo-what-space-task-group-report-to-president-nixon

SpaceX. (n.d.). Why Mars?. Retrieved from https://www.spacex.com/human-spaceflight/mars/

 

อ้างอิง

[1] Gabrielle Cornish (July 22, 2019). "How imperialism shaped the race to the moon". The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/outlook/2019/07/22/how-imperialism-shaped-race-moon/

[2] SpaceX. (n.d.). Why Mars?. Retrieved from https://www.spacex.com/human-spaceflight/mars/

[4] Geoffrey A. Landis. (2003). Colonization of Venus. NASA. และ Gerard K. O’Neill. (1978). The High Frontier : Human Colonies in Space (3rd ed.). Bantam Book: New York. P.37

[5] ibid. p.37

[6] NASA. (2019). 50 Years Ago: After Apollo, What? Space Task Group Report to President Nixon. Retrieved from https://www.nasa.gov/feature/50-years-ago-after-apollo-what-space-task-group-report-to-president-nixon

[7] อ่านแผนการโครงการอาเทมิสได้ที่ https://www.nasa.gov/sites/default/files/atoms/files/artemis_plan-20200921.pdf