อาณานิคมบนดวงจันทร์
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และธีทัต จันทราพิชิต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
อาณานิคมบนดวงจันทร์
การตั้งอาณานิคมบนดวงจันทร์เป็นความคิดในการล่าอาณานิคมอวกาศที่ต้องการจะตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ ในทางกฎหมายไม่มีประเทศใดสามารถอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ดาวเคราะห์และดาวบริวารต่าง ๆ ได้ รวมไปถึงดวงจันทร์ด้วย ทำให้การปักธงสหรัฐฯ บนดวงจันทร์ในภารกิจอพอลโล 11 ไม่สามารถอ้างสิทธิเหนือดวงจันทร์ได้

ภาพ : นักบินอวกาศ บัซซ์ อัลดริน บนดวงจันทร์[1]
ที่มา
ความคิดในการเดินทางไปดวงจันทร์มีมานานหลายศตวรรษ กระทั่งในศตวรรษที่ 20 ที่เกิดการแข่งขันด้านอวกาศระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตทำให้ดวงจันทร์เป็นเป้าหมายสำคัญในการเดินทาง โดยทั้งสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตต่างมีความพยายามที่จะส่งคนเดินทางไปให้ถึงดวงจันทร์ หากแต่โครงการการเดินทางไปยังดวงจันทร์สหรัฐอเมริกาให้ความสนใจอย่างเปิดเผยและชัดเจนกว่าของสหภาพโซเวียต โดยประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศว่าสหรัฐฯ จะส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ภายในปลายทศวรรษที่ 1960[2]
ซึ่งนำมาสู่การพัฒนาโครงการอวกาศสามโครงการซึ่งโครงการแรกดำเนินไปก่อนการประกาศของ จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ นั่นก็คือโครงการเมอร์คิวรี่ หลังประกาศของเคนเนดี้ จึงมีโครงการเจมินี่ และโครงการอพอลโลตามมา
![]() |
![]() |
![]() |
นักบินอวกาศโครงการเมอร์คิวรี่ | นักบินอวกาศโครงการเจมินี่ | นักบินอวกาศโครงการอพอลโล |
ส่วนโครงการต่อมาอย่างโครงการเจมินี่ ที่ดำเนินงานในช่วงปี ค.ศ. 1965-1966 เป็นโครงการที่ตระเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมต่อการเดินทางไปยังดวงจันทร์ โดยมีวัตถุประสงค์ระบุไว้ทั้งสิ้น 4 ประการ ได้แก่
1. เพื่อทดลองการบินระยะยาวในอวกาศของมนุษย์โดยในที่นี้คือ การปฏิบัติการในอวกาศนานอย่างน้อยสองสัปดาห์
2. เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องการเข้าสู่วงโคจรและลงจอดบนดวงจันทร์ของยานอวกาศ
3. หาวิธีลงจอดที่สมบูรณ์แบบ
4. เข้าใจผลของการปฏิบัติการในอวกาศระยะยาวที่เกิดขึ้นกับตัวนักบินอวกาศ [4]
เมื่อโครงการเจมินี่แล้วเสร็จจึงนำมาสู่โครงการอพอลโล คือ โครงการส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ ซึ่งโครงการอพอลโลเป็นโครงการเดียวในปัจจุบันที่ส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ โดยการส่งครั้งสุดท้ายเป็นการส่งไปในภารกิจ อพอลโล 17
ภายหลังโครงการอพอลโลที่ส่งมนุษย์ไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ ได้มีการเสนอแผนการดำเนินงานโครงการอวกาศต่อไป คือ การเดินทางไปยังดาวอังคาร โดยมีข้อเสนอให้ตั้งฐานบนดวงจันทร์เพื่อใช้ในการเดินทางไปยังดาวอังคาร
ทว่าด้วยปัญหาทั้งภายในและภายนอกประเทศทำให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ลดงบประมาณของนาซ่าและพับโครงการเกี่ยวกับดวงจันทร์ และการสำรวจอวกาศทั้งหมดส่งผลให้ภารกิจอพอลโลถูกลดจำนวนครั้งลงจากที่จะดำเนินการจนถึงภารกิจ อพอลโล 20 เหลือแค่ภารกิจ อพอลโล 17 [5]และสหรัฐฯ รวมถึงประเทศอื่นก็ไม่ได้ส่งคนไปยังดวงจันทร์อีกเลยนับตั้งแต่ ปี 1972
แม้จะมีความพยายามส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์โดยสหรัฐอเมริกาอีกหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินงาน ทั้งนี้หลายประเทศมีการทำภารกิจบนดวงจันทร์ แต่เป็นการส่งหุ่นยนต์และดาวเทียมไปสำรวจ โดยที่มีประเทศเช่น สหรัฐฯ จีน รัสเซีย อินเดีย ในการส่งสำรวจ
ปัจจุบัน
ในต้นศตวรรษที่ 21 โครงการที่พยายามจะส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์หลายโครงการ เช่นในสมัยของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช มีการผลักดันให้ส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้งนับตั้งแต่ที่เกิดการเหยียบดวงจันทร์ครั้งสุดท้ายในภารกิจ อพอลโล 17 โดยมีกรอบเวลาให้ส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ใน ปี ค.ศ. 2015 และภารกิจทั้งหมดจะแล้วเสร็จในปี 2020 เพื่อให้สามารถทำการสำรวจจุดอื่นเพิ่มเติมได้อีก[6]
ต่อมาสหรัฐอเมริกาได้เริ่มทำโครงการสำรวจดวงจันทร์ใหม่อีกครั้งโดยตั้งชื่อโครงการว่าโครงการอาเทมิส[7] ซึ่งเป็นชื่อเทพธิดาน้องสาวของเทพอพอลโล ภารกิจในโครงการอาเทมิส คือ ภารกิจส่งคนไปยังดวงจันทร์เหมือนภารกิจ อพอลโล หากแต่มีความแตกต่างที่จะส่งคนไปยังดวงจันทร์เพื่อทำการตั้งอาณานิคมที่นั้น โดยภารกิจอาเทมิสได้รับการสนับสนุนจากประเทศอื่นนอกเหนือจากสหรัฐฯ และได้รับความร่วมมือจากเอกชน เช่น SpaceX และ Blue Origin ในการทำภารกิจ ทั้งนี้ภารกิจอาเทมิสได้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 2010 และจะส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ใน ปี 2024 แล้วจะดำเนินการตั้งฐาน ก่อนจะเริ่มมุ่งเป้าไปที่ดาวอังคารต่อไป

ภาพ : โครงการอาเทมิส[8]
ทั้งนี้นอกจากสหรัฐฯ แล้วยังมีประเทศอื่นที่มีโครงการส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ เช่น ประเทศจีนก็มีโครงการสำรวจดวงจันทร์ของตัวเองชื่อว่าโครงการชางเอ่อ โดยมีเป้าหมายในการส่งมนุษย์ไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ และตั้งสถานีวิจัยบนดวงจันทร์ภายในทศวรรษที่ 2030[9] [10]
บรรณานุกรม
NASA. (2019). 50 Years Ago: After Apollo, What? Space Task Group Report to President Nixon. Retrieved from https://www.nasa.gov/feature/50-years-ago-after-apollo-what-space-task-group-report-to-president-nixon
NASA. (n.d.). About Project Mercury. Retrieved from https://www.nasa.gov/mission_pages/mercury/missions/program-toc.html
NASA. (n.d.). Bridge to The Moon. Retrieved from https://www.nasa.gov/specials/gemini_gallery/
NASA. (2004). President Bush Offers New Vision For NASA. Retrieved from https://www.nasa.gov/missions/solarsystem/bush_vision.html
National Air and Space Museum (2023). What Was the Space Race?. Retrieved from https://airandspace.si.edu/stories/editorial/what-was-space-race
Space. (2022). China's next moon missions get the green light. Retrieved from https://www.space.com/china-moon-exploration-chang-e-missions-approved
Space. (2023). 'We're in a space race.' NASA chief says US 'better watch out' for China's moon goals. Retrieved from https://www.space.com/nasa-bill-nelson-china-space-race-moon
อ้างอิง
[2] National Air and Space Museum (2023). What Was the Space Race?. Retrieved from https://airandspace.si.edu/stories/editorial/what-was-space-race
[3] NASA. (n.d.). About Project Mercury. Retrieved from https://www.nasa.gov/mission_pages/mercury/missions/program-toc.html
[4] NASA. (n.d.). Bridge to The Moon. Retrieved from https://www.nasa.gov/specials/gemini_gallery/
[5] NASA. (2019). 50 Years Ago: After Apollo, What? Space Task Group Report to President Nixon. Retrieved from https://www.nasa.gov/feature/50-years-ago-after-apollo-what-space-task-group-report-to-president-nixon
[6] NASA. (2004). President Bush Offers New Vision For NASA. Retrieved from https://www.nasa.gov/missions/solarsystem/bush_vision.html
[7] อ่านแผนการโครงการอาเทมิสได้ที่ https://www.nasa.gov/sites/default/files/atoms/files/artemis_plan-20200921.pdf
[9] Space. (2023). 'We're in a space race.' NASA chief says US 'better watch out' for China's moon goals. Retrieved from https://www.space.com/nasa-bill-nelson-china-space-race-moon
[10] Space. (2022). China's next moon missions get the green light. Retrieved from https://www.space.com/china-moon-exploration-chang-e-missions-approved