องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน (ASEAN Human Rights Body)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ประวัติความเป็นมา

กฎบัตรอาเซียนข้อ 14 ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกลไกทางด้านสิทธิมนุษยชนขึ้นเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 41 เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 2008 ได้แต่งตั้งคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน (High Level Panel on an ASEAN Human Rights Body : HLP) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนต่างๆ เข้ามาทำหน้าที่ยกร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ (Terms of Reference) การกระทำดังกล่าวนั้น ได้สร้างความหวังให้กับภาคประชาสังคม ในอาเซียนว่าอาเซียนจะยอมรับหลักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและหลักธรรมาภิบาล ต่อมา ในเดือนกรกฎาคม 2009 ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศครั้งที่ 42 ให้ความเห็นชอบยกร่างดังกล่าวและเสนอให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอาเซียน มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Right : AICHR)[1] ซึ่งถือได้ว่า AICHR นั้นเป็นกลไกสิทธิมนุษยชนแรก ที่ได้เกิดขึ้นในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่ภาคประชาชนได้เรียกร้องมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี

ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน ( ASEAN Human Rights Body ) ที่ได้จัดตั้งขึ้นตามกฎบัตรอาเซียนข้อ 14 นั้น ได้ถูกพัฒนากลายเป็น คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ( ASEAN Intergovernmental Commission of Human Rights: AICHR) ในที่สุด

จุดประสงค์ของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ( ASEAN Intergovernmental Commission of Human Rights: AICHR)

จุดประสงค์ของ AICHR นั้น ประกอบด้วย 6 ประการ ดังต่อไปนี้ [2]

1.ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอาเซียน

2. พิทักษ์สิทธิของพลเมืองอาเซียนให้มีสันติสุข มีศักดิ์ศรีและมีความมั่งคั่ง

3. สนับสนุนในการบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ตามกฎบัตรอาเซียนในการที่จะรักษาเสถียรภาพและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในภูมิภาค สัมพันธไมตรีและความร่วมมือกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ตลอดจนส่งเสริมคุณภาพชีวิต สวัสดิภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนอาเซียนในการก่อตั้งประชาคมอาเซียน

4.ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภายใต้บริบทของภูมิภาคโดยคำนึงถึงเอกลักษณ์เฉพาะชาติและภูมิภาค เคารพในภูมิหลังที่มีความแตกต่างกันทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและศาสนา และรักษาสมดุลระหว่างสิทธิและความรับผิดชอบ

5.เพื่อเสริมความสอดคล้องกันระหว่างการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ระดับประเทศกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระดับระหว่างประเทศ

6.สนับสนุนการยึดถือมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาและแผนปฏิบัติการเวียนนา และตราสารว่าด้วยสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นภาคี [3]

ทั้งนี้ การตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ขององค์กรฯจะขึ้นอยู่กับรัฐบาลของรัฐสมาชิก ซึ่งจะกำหนดโดยที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน AICHR จะมีอำนาจหน้าที่หลักคือให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลอาเซียนในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยรวบรวมข้อมูลและทำรายงานเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอาเซียน [4]

3. ข้อบกพร่องที่ควรได้รับการปรับปรุงขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน

ขอบเขตอำนาจหน้าที่ (Terms of Reference) ขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งได้รับการร่างขึ้นตามข้อ 14 ของกฎบัตรอาเซียนนั้น มีเพียงแต่ลักษณะส่งเสริม แต่ไม่มีลักษณะในด้านป้องกันเลย[5] ยิ่งเมื่อได้วิเคราะห์รายละเอียดของ TOR แล้วจะพบว่าองค์กรสิทธิมนุษยชนนี้ไม่มีเขี้ยวเล็บใดๆ กล่าวคือ ไม่มีบทบาทในการรับเรื่องร้องทุกข์หรือร้องเรียน อีกทั้งไม่มีบทบาทในการเสนอบทลงโทษต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน[6] ขณะเดียวกันตัวกลไกดังกล่าวกลับยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกสมาชิก กล่าวคือ เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องรัฐบาลกับประชาชน ของรัฐนั้นๆ ซึ่งหากยึดหลักการดังนี้ เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลภายในประเทศ กลไกดังกล่าวก็จะไม่สามารถทำอะไรได้เลย[7] ในสภาพความเป็นจริงแล้ว การมีองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนก็มิได้ทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศอาเซียนลดน้อยลงแต่อย่างใด การละเมิดสิทธิมนุษยชนในอาเซียนเกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้งและส่วนใหญ่มิได้รับความสนใจจากสาธารณะ ยกตัวอย่างเช่น กรณี สปป.ลาว นายสมบัด สมพอน[8] ได้หายตัวไปขณะขี่รถยนต์ เมื่อปี 2012[9] เนื่องจาก การที่เขาได้เข้าไปให้ความรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศในลุ่มน้ำโขง และการดำเนินการดังกล่าวย่อมขัดแย้งกับทางรัฐบาลลาวที่ต้องการเร่งสร้างเขื่อนไทรบุรี และก้าวขึ้นตามแผนการเป็น ‘แบตเตอรี่แห่งเอเชีย’ หรือแหล่งผลิตพลังงานน้ำที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน [10]

กรณีไทยกับพม่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนของนักธุรกิจ-รัฐบาลไทย[11] เช่น การนำเครื่องจักรเข้ามาดำเนินการทันทีในที่ดินทำกินของชาวบ้านโดยไม่มีการแจ้งให้ล่วงหน้าหรือ ให้ข้อมูลใดๆ ขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่และสั่งไม่ให้สร้างบ้านหรือเพาะปลูก เป็นต้น

กรณีของกัมพูชา รัฐบาลจำกัดสิทธิในการแสดงออก ถึงการเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล เช่น ในปี 2011 จากรายงานของ Article 19 แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเป็นเครื่องมือในการปิดปากฝ่ายตรงข้ามและผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยเฉพาะในประเด็นสิ่งแวดล้อมและความขัดแย้งเรื่องที่ดิน [12] เป็นต้น

จากกรณีที่ยกตัวอย่างในเบื้องต้นนี้ กลุ่มองค์กรประชาชนอาเซียนที่ได้ติดตามกระบวนการร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่(Terms of Reference) นี้ จึงได้สรุปสิ่งที่ควรปรับปรุงมา 3 ข้อ ดังนี้ [13]

1.องค์กรสิทธิมนุษยชนต้องสามารถมีอำนาจในการจัดการทีมผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนเมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน

2. ต้องสามารถรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน

3. ต้องทำการตรวจสอบสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศสมาชิกได้อย่างประจำ

บรรณานุกรม

คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน.2555.“ขอบเขตอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ ระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน Terms of Reference of ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights” http://www.led.go.th/asean/pdf/2/2-7.pdf (accessed June 28,2015).

พนารัช ปรีดากรณ์.2558. “ทำความรู้จักคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน”. http://www.aseanthai.net/ewt_news.php?nid=2942&filename=index (accessed June 28,2015).

ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ.2551. “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียน: ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของอาเซียน?”.http://www.prachatai.com/journal/2009/07/25157 (accessed June 28,2015).

ประภัสสร์ เทพชาตรี.2552.”ข้อเสนอการทำให้อาเซียนเป็นองค์กรของประชาชนอย่างแท้จริง” http://thepchatree.blogspot.com/2009_03_24_archive.html (accessed June 28,2015).

พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ.2012 “แอบมองเพื่อนบ้าน (1) : สื่อและเสรีภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” http://www.mediainsideout.net/world/2012/10/67 (accessed July 6 2015).

มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร .2556. “ ความรุนแรงในลุ่มน้ำโขงและการละเมิดสิทธิมนุษยชน: กรณีการหายตัวไปของสมบัด สมพอน.” http://www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=993:seubnews&catid=5:2009-10-07-10-58-20&Itemid=14(accessed July 6,2015).

ศักดิ์สิทธิ์ ฆารเลิศ.2558. “ข้อถกเถียงทางการเมืองด้านกลไกสิทธิมนุษยชนในอาเซียน” http://www.lppreru.com/school/download.php?doc_id=4439&school_id=00000875&title=00000875_0_20150517-090930.pdf&pathfile=/home/esbuy/domains/esbuy.net/public_html/_files_school/00000875/document/00000875_0_20150517-090930.pdf&url=N‪.‬ (accessed June 28,2015).‬‬

สำนักงาน ก.พ..2555.”ก้าวสู่ประชาคมASEAN 2015”.

http://www.parliament.go.th/popup/images/asean_parliament/asean2015.pdf (accessed June 28,2015).

THAIPUBLICA.2014.”เสียงจากชุมชนทวาย กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนของนักธุรกิจ-รัฐบาลไทย “ http://thaipublica.org/2014/10/dawei-watch-2/ (accessed July 6,2015).


อ้างอิง

  1. คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน.2555.“ขอบเขตอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ ระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน Terms of Reference of ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights” http://www.led.go.th/asean/pdf/2/2-7.pdf (accessed June 28,2015).
  2. Terms of Reference of the ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights 1.1-1.6 < http://aichr.org/?dl_name=TOR-of-AICHR.pdf>.
  3. สำนักงาน ก.พ..2555.”ก้าวสู่ประชาคมASEAN 2015”.http://www.parliament.go.th/popup/images/asean_parliament/asean2015.pdf(accessed June 28,2015).
  4. ศักดิ์สิทธิ์ ฆารเลิศ.2558. “ข้อถกเถียงทางการเมืองด้านกลไกสิทธิมนุษยชนในอาเซียน” ‪http://www.lppreru.com/school/download.php?doc_id=4439&school_id=00000875&title=00000875_0_20150517-090930.pdf&pathfile=/home/esbuy/domains/esbuy.net/public_html/_files_school/00000875/document/00000875_0_20150517-090930.pdf&url=N‬‬‪.‬ (accessed June 28,2015).‬‬
  5. เรื่องเดียวกัน.
  6. ประภัสสร์ เทพชาตรี.2552.”ข้อเสนอการทำให้อาเซียนเป็นองค์กรของประชาชนอย่างแท้จริง” http://thepchatree.blogspot.com/2009_03_24_archive.html(accessed June 28,2015).
  7. ประภัสสร์ เทพชาตรี.2552.อ้างเเล้ว.
  8. ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมฮ่วมพัฒนา (Participatory Development Training Center : PADETC) ทำงานพัฒนาด้านการเกษตร การพัฒนาชนบทและโครงการต่าง เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ การพัฒนาที่ยั่งยืน การจัดการขยะ และหัตถกรรมชนบท
  9. มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร .2556. “ ความรุนแรงในลุ่มน้ำโขงและการละเมิดสิทธิมนุษยชน: กรณีการหายตัวไปของสมบัด สมพอน“http://www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=993:seubnews&catid=5:2009-10-07-10-58-20&Itemid=14(accessed July 6,2015).
  10. มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร .2556.อ้างเเล้ว.
  11. THAIPUBLICA.2014.”เสียงจากชุมชนทวาย กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนของนักธุรกิจ-รัฐบาลไทย “ http://thaipublica.org/2014/10/dawei-watch-2/(accessed July 6,2015).
  12. พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ.2012 “แอบมองเพื่อนบ้าน (1) : สื่อและเสรีภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” http://www.mediainsideout.net/world/2012/10/67 (accessed July 6,2015).
  13. ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ.2551. “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียน: ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของอาเซียน?”.http://www.prachatai.com/journal/2009/07/25157 (accessed June 28,2015).