หน้ากากกายฟอว์คส์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          หน้ากากกายฟอว์คส์ (Guy Fawkes mask) คือ หน้ากากคนหน้าขาว เป็นการแสดงรูปลักษณ์ของ Guy Fawkes ผู้ก่อการลอบสังหาร พระเจ้าเจมส์ ที่ 1 ที่รู้จักกันในนาม “กบฏดินปืน (Gunpowder Plot)” อันเป็นเหตุมาจากความไม่พอใจที่รัฐปฏิเสธอิสรภาพในการนับถือศาสนาชาวคาทอลิก และรัฐสภาไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง โดยในเหตุการณ์ครั้งนั้น กาย ฟอว์คส์ และผู้ร่วมก่อการได้เตรียมการวางระเบิดใต้พระราชวังเวสต์มินส์เตอร์ซึ่งเป็นที่ทำการของรัฐสภาอังกฤษ โดยเขาได้ถูกจับกุม เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1605 ซึ่งเป็นคืนก่อนการประชุมรัฐสภา ซึ่งพระเจ้าเจมส์และคณะรัฐมนตรีจะมาเข้าร่วมประชุมด้วย โดย กาย ฟอว์คส์ ได้ถูกศาลตัดสินให้รับโทษประหาร ในเวลาต่อมากรณีลอบวางระเบิดนี้ได้ทำให้ กาย ฟอว์คส์ กลายเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายและภาพตัวแทนของชาวคาทอลิกหัวรุนแรง และยังเป็นเหตุที่ถูกอ้างเพื่อใช้ในการกดขี่ชาวคาทอลิกในอังกฤษอย่างยาวนานกว่า 200 ปี[1]  ซึ่งในวันที่ 5 พฤศจิกายนของทุกปี ในอังกฤษและบางประเทศในเครือจักรภพจะมีการจัดงานวันกบฏดินปืน (Bonfire Night) เพื่อรำลึกถึงการก่อการดังกล่าว โดยมักมีการจัดกิจกรรม เช่น ขบวนพาเหรด ดอกไม้ไฟ และมีการนำเอาตุ๊กตาฟางที่เป็นตัวแทนของฟอว์คส์มาเผาบนกองไฟ ​เป็นต้น[2]

 

ภาพ : ภาพวาด กาย ฟอว์คส์ และ หน้ากากกายฟอว์คส์ หรือ หน้ากากขาว ที่ถูกใช้ในปัจจุบัน [3]

Guy Fawkes mask (1).jpg
Guy Fawkes mask (1).jpg

 

          อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน กาย ฟอว์คส์ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านอำนาจรัฐ และ หน้ากากกายฟอว์คส์ หรือ “หน้ากากขาว” ได้รับการตีความใหม่โดยได้นำมาเขียนเป็นนิยายการ์ตูนที่ได้ถูกตีพิมพ์ในช่วงราวทศวรรษ 1980 โดยภาพของ หน้ากากกายฟอว์คส์ ที่พบเห็นในปัจจุบันเป็นผลงานของนักเขียน อลัน มัวร์ (Alan Moore) และ การออกแบบของ เดวิด ลอยด์ (David Lloyd)[4]  ซึ่งต่อมาได้นำมาเผยแพร่ในรูปแบบของภาพยนต์ เรื่อง “V for Vendetta” ในปี ค.ศ. 2005 หรือเพชฌฆาตหน้ากากพญายม ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เข้าฉายในประเทศไทย โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งมีตัวเอกเป็นนักอนาธิปไตยที่สวมหน้ากากกายฟอว์คส์ ทำหน้าที่ในการจุดชนวนการต่อต้านทรราชหรือรัฐบาลเผด็จการ และในเวลาต่อมาผู้คนจำนวนมากได้ใส่หน้ากากกายฟอว์คส์เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของการต่อต้านอย่างแพร่หลายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตัวอย่างสำคัญ เช่น การประท้วงในตะวันออกกลางหรืออาหรับสปริงค์ใน ปี ค.ศ. 2011 ที่ปรากฏภาพถ่ายของผู้ประท้วงที่ใส่หน้ากากกายฟอว์คส์เป็นจำนวนมาก และนำไปสู่การสั่งห้ามนำเข้าและจัดจำหน่ายในประเทศซาอุดิอาระเบีย และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เช่น ประเทศบาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยอ้างว่า “หน้ากากกายฟอว์คส์ได้ปลูกฝังวัฒนธรรมของการใช้ความรุนแรงและความเชื่อแบบสุดโต่ง”[5]

          อย่างไรก็ดี ภาพของการความเคลื่อนไหวอาหรับสปริงในประเทศอียิปต์ ได้สร้างแรงบันดาลใจและเป็นตัวอย่างให้แก่การประท้วงในอีกหลาย ๆ แห่ง อาทิ การชุมนุมปิดล้อมตลาดหุ้นวอลสตรีทที่เกิด​ขึ้นที่นครนิวยอร์ก หรือ Occupy Wall Street ในสหรัฐอเมริกา ที่ผู้ประท้วงนำเสนอประเด็นเรื่องปัญหาการทุจริตและไม่เป็นธรรมทางสังคม ความเอารัดเอาเปรียบของภาคธุรกิจ และความไม่พอใจต่อบทบาทของเหล่านักวิ่งเต้น (Lobbyist) ที่มีอิทธิพลในรัฐบาล ซึ่งในการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาร่วมชุมนุมว่า “หากต้องการให้การสนับสนุน แต่กลัวว่าจะตกงาน ก็แค่สวมหน้ากากแล้วเดินออกมา หน้ากากอะไรก็ได้” ซึ่งทำให้หน้ากากกายฟอว์คส์ ได้รับความนิยมและถูกเลือกเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงออกของผู้ที่ออกมาชุมนุมเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้สร้างประวัติศาสตร์ของการประท้วงที่แบบไร้แกนนำและปรากฏภาพนักเคลื่อนไหวจากกลุ่มนิรนามที่สามารถสร้างความสนใจ และขยายแนวร่วมในการขยายพื้นที่การประท้วงไปได้ในอีกหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา[6]

 

ภาพ : การเข้าร่วมประท้วงพนักงานของสายการบิน เตอร์กิช แอร์ไลน์ ในปี ค.ศ. 2013[7]

Guy Fawkes mask (2).jpg
Guy Fawkes mask (2).jpg

         

          ในกรณีของประเทศไทยนั้น การใช้หน้ากากกายฟอว์คส์ ได้ถูกนำมาใช้ทั้งในการประท้วงบนท้องถนนและการเคลื่อนไหวบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ ดังเห็นได้จากการชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2554 โดยเริ่มจากกลุ่มผู้ประท้วงขนาดเล็กในกรุงเทพ ไปจนถึงการจัดตั้งกลุ่มผู้ชุมนุมในนาม V For Thailand หรือ กลุ่มหน้ากากขาว ซึ่งมีผู้ร่วมจำนวนมากกว่า 1,000 คน เพื่อโจมตี พ.ต.ท.ทักษิณ_ชินวัตร และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์_ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี[8] รวมทั้งนำมาใช้การเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านมหาวิทยาลัยนอกระบบ ที่มีการนำหน้ากากนี้มาใช้ในการรณรงค์ของกลุ่มและยังมีการตั้งเพจในเฟซบุ๊ก ชื่อ "V for Vendetta หน้ากากปฏิวัติ" โดยมีรณรงค์ให้ผู้ที่มีจุดยืนร่วมกันเปลี่ยนรูปประวัติในเฟชบุตเป็นรูปสวมหน้ากากกายฟอว์คส์[9] รวมไปถึงการใส่หน้ากากกายฟอว์คส์ไปประท้วงหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ และสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 เพื่อเรียกร้องให้ขอโทษหลังจากมีการวิพากษ์วิจารณ์และเสนอให้ประเทศไทยแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล เป็นต้น [10]

 

ภาพ : การสวมหน้ากากกายฟอว์คส์เพื่อการแสดงออกทางการเมืองในประเทศไทย (ซ้าย) และในอียิปต์ (ขวา) [11]

Guy Fawkes mask (3).jpg
Guy Fawkes mask (3).jpg
Guy Fawkes mask (4).jpg
Guy Fawkes mask (4).jpg

 

          อย่างไรก็ดี ความนิยมต่อการใช้หน้ากากกายฟอว์คส์ที่แพร่หลายในการชุมนุมและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่แพร่หลายไปในหลายภูมิภาคทั่วโลกนั้น ได้ทำให้บริษัทสื่อที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่าง Time Warner ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพหน้ากาก มีการผลิตหน้ากากนี้มากกว่า 100,000 ชิ้น ในแต่ละปี นอกจากนี้หน้ากากกายฟอว์คส์ยังได้ถูกนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มนักปฏิบัติการบนคอมพิวเตอร์ เช่น กลุ่มแฮกเกอร์ Annonymous อีกด้วย ซึ่งการเติบโตและความนิยมของการใช้หน้ากากกายฟอว์คส์นั้น ได้รับการนิยามว่าเป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางสังคมในแนวใหม่ (new social movement) ที่ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะยึดอำนาจรัฐ อำนาจการปกครอง รวมทั้งยังมีลักษณะของการเคลื่อนไหวที่เน้นใช้การสื่อสารสมัยใหม่และการใช้สัญลักษณ์ เป็นการพึ่งตัวเองและเป็นเครือข่ายของคนจำนวนไม่มากนัก แต่สามารถเรียกมาพบปะกันได้ ซึ่งการแสดงออกของความไม่พอใจที่ต้องใช้หน้ากาก ได้แสดงให้เห็นว่าสังคมไม่มีความปลอดภัย ซึ่งการใส่หน้ากากเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าการต่อสู้อย่างเปิดเผยอาจได้รับอันตรายได้[12]

 

อ้างอิง

[1] กานต์ จันทน์ดี. “27 มกราคม 1606: กาย ฟอกส์ ถูกไต่สวนฐานเป็นกบฏ วางแผนสังหารพระเจ้าเจมส์”. สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_6006 (10 มิถุนายน 2564).

[2] “Guy Fawkes Day”. Retrieved from URL https://www.britannica.com/topic/Guy-Fawkes-Day(11 June 2021).

[3] “Guy Fawkes Night and the Famous Mask That Lives on Through Anonymous”. Retrieved from URL https://abcnews. go.com/Technology/guy-fawkes-night-famous-mask-lives-anonymous/story?id=26704615(11 June 2021).

[4] “The man behind the Anonymous mask”. Retrieved from URL https://www.cnbc.com/2015/12/29/the-man-behind-the-anonymous-mask-v-for-vendettas-david-lloyd.html(11 June 2021).

[5] “Saudi Arabia bans Guy Fawkes masks for ‘instilling culture of violence”. Retrieved from URL https://foreignpolicy. com/2013/05/30/saudi-arabia-bans-guy-fawkes-masks-for-instilling-culture-of-violence/(11 June 2021) และ “V For Vendetta' masks banned in Dubai” . Retrieved from URL https://www.digitalspy.com/comics/a440193/v-for-vendetta-masks-banned-in-dubai//(11 June 2021).

[6] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน “What is Occupy Wall Street? The history of leaderless movements”. Retrieved from https: //www.washingtonpost.com/national/on-leadership/what-is-occupy-wall-street-the-history-of-leaderless-movements/2011/ 10/10/gIQAwkFjaL_story.html (11 June 2021).

[7] “Turkish airline workers join demonstrations, don Guy Fawkes masks”. Retrieved from URL https://www.salon.com/ 2013/06/05/turkish_airline_workers_join_demonstrations_don_guy_fawkes_masks_partner/ (11 June 2021).

[8] “ม็อบหน้ากากขาวชุมนุมต้านระบอบทักษิณ”. สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/politic/news/225892 (10 มิถุนายน 2564).

[9] “หน้ากากVใน(การ)เมืองไทย”. Retrieved from URL https://www.komchadluek.net/news/politic/159534(10 มิถุนายน 2564).

[10] “Timeline: การใช้งาน 'หน้ากากกายฟอว์กส์' แบบไทยๆ”. สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2013/06/47015 (10 มิถุนายน 2564).

[11] “A Brief History of the Guy Fawkes Mask”. Retrieved from URL https://www.mentalfloss.com/article/ 70807/brief-history-guy-fawkes-mask (10 June 2021).

[12] ความเห็นของ สังศิต พิริยะรังสรรค์ อ้างใน “วิวาทะหน้ากากขาว‘กายฟอกส์’ สับสนแบบไทยๆ ล้มทักษิณ ล้มเจ้า หรือไม่มีความหมายเฉพาะ?”. สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2013/06/47278 (10 มิถุนายน 2564).