สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เขียน : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ : นักธุรกิจผู้รักการเมือง

          เมื่อมีนักธุรกิจที่มั่งคั่งโดดเข้ามาเล่นการเมืองโดยการลงเลือกตั้งเอง จึงน่าสนใจโดยเฉพาะเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว และการเลือกตั้งครั้งนั้นที่มีพ่อค้าซึ่งร่ำรวยเข้ามาเล่นการเมือง ก็คือการเลือกตั้งหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 ที่มีการเลือกตั้งตามมาในปี 2512 นักธุรกิจหนุ่มที่จะยกมาคุยในครั้งนี้ มาจากธุรกิจขายยาทันใจอันเลื่องชื่อระบือเมืองแห่งบริษัทโอสถสภา (เต็กเฮงหยู) การที่เขาตัดสินใจเข้ามาเล่นการเมืองคราวแรกนั้นถึงกับทำให้ถูกบิดาพูดเรียบๆโดยไม่ได้คัดค้าน แต่ฟังดูเย็นชากับบุตรชายวัย 40 ปี ว่า

           “ถ้าเพชรอยากเล่นการเมือง ก็ไปเล่นการเมือง ไม่ต้องทำโอสถสภา”

          นักธุรกิจที่วางมือการค้ามาเล่นการเมืองโดยลงเลือกตั้งด้วยตัวเองแทนที่จะคอยหนุนอยู่เบื้องหลังผู้นี้คือ ร.ต.อ.สุรัตน์ โอสถานนท์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 จังหวัด อดีตรัฐมนตรี 3 กระทรวง ที่เคยทำงานบริหารพรรคมาถึง 3 พรรค

          สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ เป็นคนกรุงเทพฯบ้านอยู่ตำบลศาลาแดง อำเภอบางรักนี่เอง แต่ไปเกิดที่เมืองเพชร เพราะตอนที่มารดาจะคลอดนั้นได้เดินทางไปภาคใต้ กลับมาทางรถไฟต้องแวะบ้านญาติที่จังหวัดเพชรบุรีเพื่อคลอดบุตร สุรัตน์เล่าไว้ในหนังสืองานศพของท่านว่าท่านเกิดวันที่ 11 พฤษภาคม ปี 2472 แต่แจ้งเกิดช้าไป วันเกิดที่แจ้งจึงเป็นปี 2473

          อันบิดาของท่านคือนาย สวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ ผู้เป็นบุตรชายนายแป๊ะ ผู้ก่อตั้งบริษัทโอสถสภา มารดาได้แก่คุณหญิงล้อม เมื่อเป็นคนกรุงเทพฯ จึงได้เรียนตั้งแต่ต้นในพระนคร ทั้งโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โรงเรียนอำนวยศิลป์ โรงเรียนเทพศิรินทร์ จนจบชั้นมัธยม 8 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แล้วสอบเข้าเรียนเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่อยู่ได้ปีเดียวก็ออกไปเรียนไฮสกูลใหม่ที่ฮ่องกง เท่านั้นยังไม่พอเขายังไปเรียนไฮสกูลซ้ำอีกที่รัฐแมสซาชูเซตร์ โดยจบปริญญาบริหารธุรกิจที่ University of Colorado และกลับไทยมาทำงานที่บริษัทของบิดา แล้วจึงไปเป็นตำรวจ ได้ยศ ร.ต.อ.และเคยทำหน้าที่เป็นล่ามให้ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ แต่ลาออกราชการตำรวจในวันที่ 1 สิงหาคม ปี 2500

          การที่เข้ามาเล่นการเมืองนั้น สุรัตน์ถูกชวนโดยหลวงประกอบนิติสาร จากพรรคประชาธิปัตย์ให้ร่วมลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎรที่จังหวัดพระนคร ในปี 2512 ครั้งนั้นพรรคประชาธิปัตย์ชนะที่พระนคร สุรัตน์จึงได้เป็นผู้แทนฯ แต่พรรคสหประชาไทยได้เสียงข้างมากในสภาฯ จอมพล ถนอม กิตติขจร หัวหน้าพรรคจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรี และสุรัตน์ต้องเป็นฝ่ายค้าน สภาฯชุดนี้อยู่ได้ถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน ปี 2514 จอมพล ถนอมได้ยึดอำนาจตนเอง สภาฯได้ถูกล้ม ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เรียกว่า"เหตุการณ์ 14 ตุลาคม" จอมพลถนอมและคณะหมดอำนาจ

          หลังจากมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 และมีการเลือกตั้ง ปี 2518นั้นสุรัตน์ไม่ได้ลงเลือกตั้ง แต่รับเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งประเทศ ผลการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ชนะได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ทำให้หัวหน้าพรรค ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และสุรัตน์เองแม้จะไม่ได้ลงสมัครเข้ารับเลือกตั้งก็ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคม ในปี 2518 แต่เป็นรัฐมนตรีคราวนี้แสนสั้น เพราะรัฐบาลเสียงข้างน้อยของนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาฯให้เข้าทำหน้าที่บริหารประเทศจึงต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะ

       การเมืองที่ตามมามีทั้งการยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ และโศกนาฏกรรมการเมืองในวันที่ 6 ตุลาคม ปี 2519 ตลอดจนการยึดอำนาจซ้ำกันถึงสองครั้ง ทำให้สุรัตน์ว่างเว้นจากการเมืองไปบ้าง เขาได้กลับมามีบทบาทตั้งกลุ่มการเมืองนอกพรรคการเมือง ที่เรียกกันว่ากลุ่มราชพฤกษในปี 2520  และปีนี้ตอนปลายปี พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี สุรัตน์ได้กลับมาลงเลือกตั้งอีกครั้ง โดยคราวนี้ท่านย้ายเขตเลือกตั้งไปที่ต่างจังหวัด ไปลงสมัครที่จังหวัดขอนแก่นอันเป็นสถานที่ใหม่ที่สุรัตน์ไปสร้างฐานทางการเมืองมาเป็นเวลาหลายปี ลงเลือกตั้งครั้งนี้สังกัดพรรคกิจสังคมที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค สุรัตน์ได้ตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค ตอนนั้นหัวหน้ารัฐบาลคือ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ สุรัตน์ชนะเลือกตั้งและเมื่อพรรคกิจสังคมได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ สุรัตน์ก็ได้ตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

      สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ร่วมรัฐบาลของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อยู่อย่างดีมีสุข เพราะในวันที่ 11 สิงหาคม ปี 2529 ได้ตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อันถือว่าเป็นตำแหน่งที่สำคัญ แต่มักจะเป็นเป้าถูกอภิปรายมากทีเดียว ดังนั้นเป็นรัฐมนตรีไม่ทันไรจึงเป็นผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผลการออกเสียงไว้วางใจและไม่ไว้วางใจคราวนี้ แม้จะได้รับเสียงไม่ไว้วางใจไม่มากพอที่จะทำให้พ้นตำแหน่งรัฐมนตรี แต่รัฐมนตรีสุรัตน์ก็ได้ยื่นใบลาออกขอพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีในวันที่ 7 พฤศจิกายน ปี 2529 นั่นเอง เพราะ “...มีสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนหนึ่งงดออกเสียง”

       พ้นจากคณะรัฐมนตรีแต่ยังไม่พ้นจากวงการเมือง สุรัตน์ยังมีตำแหน่งใหญ่ในพรรคกิจสังคม เป็นเลขาธิการพรรคและยังเป็นที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ จนหมดสมัยของนายกฯพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ และผ่านเข้ามาสู่ยุคที่พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาอีก 3 ปี จนรัฐบาลของท่านถูกคณะ รสช. ยึดอำนาจในปี 2534 แต่เมื่อจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2535 พลเอก ชาติชาย อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทยก็ได้กลับมาตั้งพรรคใหม่ชื่อพรรคชาติพัฒนา สุรัตน์ได้เข้ามาช่วยพลเอก ชาติชาย ได้เป็นรองหัวหน้าพรรคและยังอยู่ดูการเมืองต่อมา ร.ต.อ.สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ได้ดูการเมืองอย่างใกล้บ้างไกลบ้างจน ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2551