สังคมนิยมเสรีประชาธิปไตย (พ.ศ. 2517)
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พรรคสังคมนิยมเสรีประชาธิปไตย
พรรคสังคมนิยมเสรีประชาธิปไตยเป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517 โดยยื่นจดทะเบียนต่อปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 ทะเบียนเลขที่ 37/2517 หัวหน้าพรรคคือ นายสมบูรณ์ บรรลุศิลป์ เลขาธิการพรรค คือ เรือโท จำลอง ชูนามชัย รองเลขาธิการพรรคคือ นายวิชัย บรรลุศิลป์ กรรมการอำนวยการอื่น ได้แก่ นายชูศักดิ์ ว่องระงับภัย นายสมภพ หมายสวัสดิ์ นายไพฑูรย์ ศิริสุนทรสกุล นายสุพจน์ กาญจนวิบูลย์ นายชัยพร ธนถาวรภาพ นายจรูญ ศักดิ์สุวรรณ นายเยิ้ม เพชรสุวรรณ นายเจือ จันทร์แดง นายบุญตา คงภูบาล นายพยุง อ่อนกล่ำ นายโกวิท ด่านวิไล นายเจริญ จันทร์อ่อน และนายสถิตย์ ศรีจำปา
นโยบายของพรรคสังคมนิยมเสรีประชาธิปไตย
นโยบายด้านการเกษตรกรรม จะออกกฎหมายหรือหาทางให้ประกันราคาผลผลิตการเกษตรที่เป็นสินค้าหลักหรือสินค้าอย่างอื่น ตามที่ตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศต้องการ จะสงวนและออกฎหมายห้ามเอกชนรับซื้อผลผลิตโดยจะให้เกษตรกรเจ้าของผู้ผลิต เป็นผู้กำหนดราคาการผลิตและการจำหน่ายทั้งหมดในราคาที่เป็นธรรมแก่สังคม เพื่อตัดปัญหาช่องว่างหรือพ่อค้าคนกลางออกทั้งหมด โดยจัดตั้งหน่วยงานในรูปองค์การสหกรณ์แห่งชาติ ดำเนินกิจการโดยรัฐกับประชาชน โดยจะจัดตั้งองค์การสหกรณ์ขึ้นทุกประเภท กระจายอยู่ทุก ๆ ตำบลทั่วราชอาณาจักร มีหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบซื้อผลผลิตและจำหน่ายผลผลิตที่กฎหมายบัญญัติหรือรัฐหรือสหกรณ์กำหนด
นโยบายด้านการปฏิรูปที่ดิน พรรคสังคมนิยมเสรีประชาธิปไตยจะสร้างระบบการปลอดหนี้ให้แก่ชาวไร่ชาวนา หรือผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างแท้จริง โดยรัฐจัดหาที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือจัดซื้อที่ดินผืนใหญ่ที่เป็นของนายทุน เพื่อนำมาจัดสรรให้แก่ราษฎรผู้ที่รักษอาชีพเกษตรกรรม แต่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองที่จะทำกิน และสำหรับชาวไร่ชาวนาหรือเกษตรกรที่มีที่ดินเป็นของตนเองอยู่แล้ว แต่ขาดทุนทรัพย์หรือปัจจจัยการผลิต โดยจะต้องได้รับความช่วยเหลือทุกวิถีทางจากรัฐ
นโยบายด้านการอุตสาหกรรม พรรคสังคมนิยมเสรีประชาธิปไตยจะส่งเสริมการลงทนอุตสาหกรรม ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาล โดยให้สามารถจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรมหนักหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทุกประเภท เพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ที่มีความจำเป็นต่อการอำนวยความสะดวกในการครองชีพและการพัฒนาประเทศ และยังเป็นการแก้ไขปัญหาดุลการค้าในระยะยาวได้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอุตสาหกรรม จะส่งเสริมผลิตเพื่อการส่งออกและผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ
นโยบายด้านธนาคาร พรรคสังคมนิยมเสรีประชาธิปไตยจะโอนธนาคารเป็นของรัฐและดำเนินกิจการธนาคารเป็นรูปของธนาคารแห่งชาติ เพราะนโยบายของพรรคถือว่า กิจการธนาคารนั้นมีความสำคัญและมีบทบาทมากที่สุดต่อระบบการพาณิชย์และการพัฒนาประเทศ เพราะธนาคารมีความใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์กับรัฐบาล และจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องควบคุมกิจการของธนาคารของประเทศเอาไว้ทั้งหมด ส่วนบริษัทเงินทุนที่เอกชนกำลังดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบันนี้จะถูกยกเลิกไปในที่สุด และโอนกิจการมาขึ้นกับธนาคารพาณิชย์แห่งชาติเสีย
นโยบายด้านการบริหาร พรรคสังคมนิยมเสรีประชาธิปไตย จะใช้ระบบการกระจายอำนาจ เพื่อให้ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ มีสิทธิเลือกผู้ปกครองตนเอง และกำหนดทิศทางของตนเอง เพื่อให้การบริหารมีความรับผิดชอบและมีข้อผูกพันอยู่กับประชาชน และกระจายการปกครองไปสู่องค์กรของท้องถิ่นทุกระดับ โดยให้มีอำนาจอิสระและมีส่วนรับผิดชอบร่วมกันเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าและรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนส่วนรวม แผนการป้องกันและปราบปรามคอรัปชั่นจะต้องนำมาใช้อย่างรีบด่วน และทำการปราบโดยขั้นเด็ดขาด ไม่มีการยกเว้น
นโยบายด้านการศึกษา พรรคสังคมนิยมเสรีประชาธิปไตยจะให้การศึกษาแก่ชนในชาติฟรี หรือให้เปล่าทั้งหมดทุกระดับโดยไม่คิดมูลค่า เพื่อเปิดโอกาสให้แก่ชนในชาติทุกคนได้รับการศึกษาตามความสามารถของแต่ละบุคคล โดยปราศจากอุปสรรคทางด้านการเงินหรือฐานะ แต่วิธีจัดระบบการศึกษาให้เปล่านั้น ให้ถือเป็นหน้าที่ของรัฐและองค์การของท้องถิ่นต่าง ๆ ทุกระดับ เป็นผู้มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบจัดระบบการศึกษาของชาติให้เพียงพอกับจำนวนของประชากร โดยให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยจะให้ดำเนินการปฏิบัติไปตามโครงการเป็นขั้น ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับที่มาของรายได้ทางเศรษฐกิจและภาษี จนกว่าจะบรรลุเป็นผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ทุกประการ
นโยบายด้านการสาธารณสุข พรรคสังคมนิยมเสรีประชาธิปไตยจะให้การรักษาพยาบาลฟรีหรือให้เปล่าทั้งหมดโดยไม่คิดมูลค่า รัฐต้องให้ความเสมอภาคแก่ชนในชาติเท่าเทียมกัน ทั้งในด้านการตรวจและการรักษา โรงพยาบาลและสถานพยาบาลของรัฐทุก ๆ แห่งทั่วราชอาณาจักร จะต้องให้การรักษาพยาบาลโดยไม่คิดมูลค่า ห้ามเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล รวมทั้งแพทย์และพยาบาล จะเรียกร้องเอาเงินหรือสิ่งของเป็นค่าตอบแทนจะกระทำมิได้ และค่าใช้จ่ายในการตรวจและการรักษาพยาบาลเช่นว่านี้ ให้ถือเป็นหน้าที่ในการรับผิดชอบของรัฐและองค์การของท้องถิ่นในระดับต่าง ๆ ที่จะเป็นผู้จัดสรรเงินงบประมาณและรายได้จากทางอื่น ๆ มาเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งหมด ส่วนโรงพยาบาลและสถานพยาบาลของเอกชนให้โอนเป็นของรัฐหรือจะต้องยกเลิกไปในที่สุด
นโยบายด้านการทหาร พรรคสังคมนิยมเสรีประชาธิปไตยจะส่งเสริมให้กองทัพไทยมีอิสระเสรีในการป้องกันเอกราชและอธิปไตยของชาติ และดำรงอัตรากำลังทหารและยุทโธปกรณ์เพียงพอ ในการพิทักษ์รักษ์ผลประโยชน์ของชาติ ตามภาวะความจำเป็นของสถานการณ์ และจะให้รัฐพึ่งตนเองให้มากที่สุด แต่ถ้าจะต้องมีการรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ จะต้องปราศจากการแทรกแซงและไม่มีข้อผูกพันกับประเทศนั้น ๆ ด้วย
นโยบายด้านสวัสดิการสังคม พรรคสังคมนิยมเสรีประชาธิปไตยจะให้ความเสมอภาคทางด้านหลักประกันสังคมเท่าเทียมกันและวิธีการใดที่จะนำมาใช้เพื่อขจัดปัญหาช่องว่าง หรือเพื่อขจัดการเอารัดเอาเปรียบในสังคม รัฐจะต้องดำเนินการแก้ไขให้ถึงที่สุด เพื่อความยุติธรรมในสังคม รัฐจะต้องให้หลักประกันตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ จนกระทั่งไม่สามารถจะดำรงสังขารอยู่ได้ และสิทธิในระหว่างการมีชีวิตอยู่ เริ่มแรกเป็นทารกจะต้องได้รับการบำรุงและเลี้ยงดูอย่างสมบูรณ์ การศึกษา การรักษาพยาบาล การมีที่อยู่อาศัย การว่างงาน และการประกันแรงงาน การสมรส การทุพพลภาพหรือการไม่สมประกอบ การชราภาพ และการมรณะ
นโยบายด้านศาสนา พรรคสังคมนิยมเสรีประชาธิปไตยจะส่งเสริมศาสนาทุก ๆ ศาสนาเพื่อนำเอาหลักคำสวนที่เป็นหลักสัจธรรม โดยนำเอามาสอนใช้พัฒนาทางจิต เพื่อยกจิตใจของมนุษย์ให้สูงขึ้น อันจะนำสังคมของมวลมนุษย์ไปสู่สันติสุขทั้งมวล ทั้งปัจจุบันและอนาคต
นโยบายด้านวัฒนธรรม พรรคนี้ส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงามของประชาชน ในอันที่จะเชิดชูสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคมส่วนรวม จะต้องให้ดำรงอยู่คู่กับชาติตลอดกาล แต่ถ้าประเพณีหรือค่านิยมของชาวต่างชาติ ที่จะนำเอาความเสื่อมเสียหรือความเสื่อมโทรมมาสู่สังคมของเรา จะต้องได้รับการต่อต้านและขจัดออกไปให้หมดสิ้น จะยกเลิกแหล่งอบายมุข และแหล่งความเสื่อมโทรมของสังคมให้หมดไปในที่สุด และสิ่งใดที่จะยกเลิกก่อนและหลัง ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมที่เป็นคุณและโทษ
พรรคสังคมนิยมเสรีประชาธิปไตยส่งผู้สมัครลงแข่งขันรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 โดยผู้สมัครของพรรคสังคมนิยมาเสรีประชาธิปไตยไม่ได้รับ]] ซึ่งต้องสิ้นสภาพลงเมื่อคณะทหารเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2516
ที่มา
ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ ตอนที่ 92 เล่มที่ 193 ฉบับพิเศษ ลงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2518, หน้า 450-466
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, การสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์หลักสูตรชั้นปริญญาโท ภาค 2 ทางรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519
สุจิต บุญบงการ, การพัฒนาการเมืองของไทย: ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหาร สถาบันทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531
บุญทัน ดอกไธสง, การเปลี่ยนแปลงทางการบริหารและการเมืองไทย, กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2520