สหพันธุ์เกษตรกร (พ.ศ. 2499)
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พรรคสหพันธุ์เกษตรกร
พรรคสหพันธุ์เกษตรกรเป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 โดยยื่นจดทะเบียนต่อปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ทะเบียนเลขที่ 7/2499 หัวหน้าพรรคการเมือง คือ พันเอก พระยาราชอัคนีรักษ์ (ผาด ศรจิตติ) เลขาธิการพรรคการเมือง คือ นายจำลอง ริ้วทอง
นโยบายของพรรคสหพันธุ์เกษตรกร
นโยบายด้านการปกครอง พรรคสหพันธุ์เกษตรกรจะถือการปกครองโดยหลักประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเป็นประชุมของชาติ และแบ่งแยกอำนาจทั้งสามออกโดยเด็ดขาด และพรรคสหพันธุ์เกษตรกรจะเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้การใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวจะต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
นโยบายด้านการต่างประเทศ พรรคสหพันธุ์เกษตรกร จะรักษาไว้ซึ่งสัมพันธภาพทางการค้าและการเมืองระหว่างประเทศให้ดียิ่งขึ้นเพื่อเศรษฐกิจ และส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศตามกฎหมายระหว่างประเทศโดยนโยบายร่วมกัน และจะรักษาไว้ซึ่งอุดมคติแห่งสหประชาชาติในทางสันติ และอิสรภาพในทางเอกราช
นโยบายด้านการศึกษา พรรคสหพันธุ์ประชาธิปไตยจะส่งเสริมการศึกษาทุกแขนงให้ได้ผลกับประชาชน จะเพิ่มจำนวนสถานที่ศึกษา และจะจัดอุปกรณ์การศึกษาให้เพียงพอแก่นักเรียนนักศึกษาทุกแขนง ทั้งนี้ พรรคสหพันธุ์ประชาธิปไตยถือว่าการศึกษาของชาติเป็นรากฐานอันนำมาซึ่งประชาธิปไตย
นโยบายด้านเศรษฐกิจ พรรคสหพันธุ์ประชาธิปไตยจะส่งเสริมการเกษตรทุกแขนง รวมถึงอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมภายในครอบครัว โดยรัฐบาลจะปรับปรุงภาษีให้เหมาะสมกับฐานะของผู้เสียภาษี และจะพยายามรักษาระดับค่าเงินตราให้มีเสถียรภาพเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และจะจัดระบบการค้าภายในประเทศและการค้าต่างประเทศ เพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้ผลิตและผู้บริโภคให้มากที่สุด
นโยบายด้านความมั่นคง พรรคสหพันธุ์เกษตรกรจะดำเนินการป้องกันอาชญากรรมให้ลดน้อยลง และปราบปรามอาชญากรโดยอาศัยวิธีการที่ไม่ผิดศีลธรรม โดยหาทางให้อาชญากรกลับตนเป็นพลเมืองดีเพื่อเป็นกำลังสำคัญของชาติสืบต่อไป สำหรับการป้องกันรักษาความมั่นคงภายนอกประเทศ พรรคสหพันธุ์เกษตรกรจะมุ่งพัฒนากำลังอาวุธให้มีความทันสมัย เพื่อพร้อมสำหรับการป้องกันการรุกราน จะมุ่งพัฒนากองกำลังทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ และส่งเสริมให้ประชาชนได้ร่วมมือกับรัฐในการป้องกันประเทศ ตามหลัก “ประชาชนป้องกันประเทศ” ตามความเหมาะสมกับยุทธศาสตร์
นโยบายด้านสังคม พรรคสหพันธุ์ประชาธิปไตยจะส่งเสริมให้ประชาชนได้มีการอยู่ดีกินดี มีการดำรงชีวิตอย่างถูกต้อง มีสุขลักษณะ โดยจะจัดให้มีสถานีอนามัยและยารักษาโรคที่จำเป็นแก่แต่ละท้องถิ่น จะป้องกันรักษาสวัสดิภาพของประชาชน จะส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักใช้สิทธิและหน้าที่ของตนเองตามรัฐธรรมนูญ และจะเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการนับถือศาสนา และประกอบพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 พรรคสหพันธุ์เกษตรกรได้ส่งผู้สมัครของพรรคลงแข่งขันรับเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าผู้สมัครของพรรคสหพันธุ์เกษตรกรไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว
ที่มา
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 73 ตอนที่ 94 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 หน้า 3387-3391
ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, กำเนิดพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2510
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, การสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์หลักสูตรชั้นปริญญาโท ภาค 2 ทางรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519
สุจิต บุญบงการ, การพัฒนาการเมืองของไทย: ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหาร สถาบันทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531