สมาคมนักกฎหมายแห่งอาเซียน (ASEAN Law Association)
บทนำ
ต้นกำเนิดของสมาคมนักกฎหมายแห่งอาเซียนนั้น เกิดขึ้นจากที่ประชุมพัฒนากฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอินโดนีเซียในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1979 ซึ่งในขณะนั้น มีประเทศที่เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน 5 ประเทศ อันได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย โดยที่ประชุมมองว่านักกฎหมายมีบทบาทสำคัญในการสร้างความร่วมมือภายในภูมิภาคดังนั้นที่ประชุมจึงตัดสินใจว่าควรจะมีการก่อตั้งสมาคมนักกฎหมายอาเซียนขึ้น [1]
วัตถุประสงค์ของสมาคมนักกฎหมายอาเซียน
สมาคมนักกฎหมายแห่งอาเซียนมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ 4 ประการ[2] ได้แก่
1. เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ ความร่วมมือ และเข้าใจตรงกันของนักกฎหมายในอาเซียน
2. เพื่อจัดกรอบการทำงานขององค์กรเพื่อความร่วมมือกันในภูมิภาค โดยกรอบความร่วมมือมี 3 เรื่องใหญ่ๆได้แก่ การศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของกฎหมายซึ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายในภูมิภาค การส่งเสริมและสร้างความสะดวกในการประสานงานระหว่างนักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ศูนย์วิจัยกฎหมาย และสถาบันอื่นๆของอาเซียน และสุดท้ายเพื่อดำเนินการวัตถุประสงค์ต่างๆที่ได้กำหนดไว้ในบันทึกการประชุม การแถลงการณ์ต่างๆ รวมไปถึงจากการหารือกันระหว่างองค์กร ที่ประชุมใหญ่ และข้อตกลงอื่นๆ
3. เพื่อช่วยให้ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกมีอุปสรรคทางกฎหมายให้น้อยลง
4. ประสานกับนานาประเทศทั้งในและนอกภูมิภาคเพื่อให้จุดประสงค์ต่างๆข้างต้นเป็นจริงได้
โครงสร้างองค์กรและการทำงานของสมาคมนักกฎหมายแห่งอาเซียน
3.1 ที่ประชุมสมัชชา
ที่ประชุมสมัชชานั้นประกอบไปด้วยตัวแทนจากชาติอาเซียนทุกประเทศ โดยที่ประชุมสมัชชานั้นจะจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี โดยประเทศสมาชิกจะผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพโดยเวียนกันตามตัวอักษร ซึ่งในการประชุมแต่ละครั้งประเทศสมาชิกจะส่งตัวแทนมาตามจำนวนที่กำหนดไว้ในระเบียบลำดับรองลงมา ทั้งนี้องค์ประชุมของที่ประชุมสมัชชาจะต้องประกอบด้วยตัวแทนไม่น้อยกว่า 6 ประเทศสมาชิก
อำนาจของที่ประชุมสมัชชานั้นได้แก่ การกำหนดนโยบายของสมาคม ตัดสินใจและยอมรับความเห็นตามรายงานของกรรมการสมาคม เลือกตั้งเจ้าหน้าที่ของสมาคม ทำการแก้ไขธรรมนูญของสมาคม ยกเลิกกฎระเบียบใดๆที่คณะกรรมการได้ตั้งขึ้น จัดหาสถานที่ประชุมสมัชชาในแต่ละครั้ง และกระทำการอื่นใดที่เหมาะสมหรือจำเป็นเพื่อการส่งเสริมและรักษาผลประโยชน์ของสมาคมเอาไว้ ซึ่งในการตัดสินใจในเรื่องใดๆจะต้องให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันทั้งหมด [3]
3.2 คณะมนตรีบริหาร
มีหน้าที่หลักในการดำเนินงานของสมาคม และออกกฎระเบียบลำดับรองอื่นๆที่ไม่ล่วงเกินไปยังอำนาจของสมัชชาที่ประชุมใหญ่ โดยสมาชิกของคณะมนตรีบริหารจะประกอบไปด้วย 5 สมาชิกหลักจากทุกประเทศสมาชิกอาเซียนอันได้แก่ตัวแทนนักกฎหมายของภาครัฐ ตัวแทนตุลาการของประเทศนั้นๆ ตัวแทนทนายฝึกหัดของประเทศนั้นๆ ตัวแทนอาจารย์สอนกฎหมาย และ ตัวแทนอื่นๆอีก 1 คน
อำนาจของคณะมนตรีบริหารที่สำคัญก็เช่น การออกกฎระเบียบเพื่อบังคับใช้กับประเทศสมาชิก การเสนอแนวทางปฏิบัติให้รัฐ การจัดประชุมคณะมนตรีบริหาร การอนุมัติงบประมาณ การกำหนดหัวข้อการประชุมสมัชชา และการกำหนดและแต่งตั้งหน้าที่พนักงานของสมาคมตามที่เห็นสมควร [4]
3.3 สำนักเลขาธิการสมาคม
สถานที่ตั้งของสำนักเลขาธิการสมาคมนั้นตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา หัวหน้าของสำนักเลขาธิการสมาคมซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมสมัชชามีหน้าที่ในการดูแลตราประทับและบันทึกของสมาคม มีหน้าที่ในการเข้าร่วมประชุมและจับเวลาการประชุม แต่งตั้งพนักงานและตัวแทนของสมาคมตามความเหมาะสมเพื่อให้ดำเนินการแทนตนขณะที่ตนไม่ปฏิบัติหน้าที่ได้ และหน้าที่อื่นๆตามที่คณะมนตรีหรือประธานสมาคมมอบหมายให้เป็นครั้งคราว[5] โดยหัวหน้าคนปัจจุบันคือ นาย SwandyHalim ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมสมัชชาครั้งที่ 11 ในปี ค.ศ. 2012 [6]
นอกจากคณะทำงานต่างๆตามที่ปรากฏอยู่ในธรรมนูญของสมาคมแล้วนั้น ยังมีคณะทำงานย่อยอื่นๆอีกที่ช่วยงานในสมาคม เช่น
3.4 คณะกรรมการถาวร
สมาคมนักกฎหมายอาเซียนมีคณะกรรมการถาวรทั้งหมด 7 คณะ เพื่อทำหน้าที่ในการศึกษาเรื่องต่างๆในแง่มุมของกฎหมายเพื่อแสวงหาความร่วมมือกันภายในภูมิภาคอาเซียน โดยเรื่องทั้ง 7 ที่ทำการศึกษานั้นได้แก่ ความร่วมมือกันในการพิจารณาคดี กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายธุรกิจ การระงับข้อพิพาททางเลือก การเรียนการสอนด้านกฎหมาย อาชีพด้านกฎหมาย และ ข้อมูลด้านกฎหมายต่างๆ [7]
3.5 คณะกรรมการแห่งชาติ
เป็นคณะกรรมการของสมาคมที่ประจำอยุ่ในทุกประเทศ โดยสมาชิกของคณะกรรมการนี้ในแต่ละประเทศจะมีไม่เกินไปกว่า 10 คน ซึ่งได้มากจากการคัดเลือกของสมาคม โดยสมาชิกอย่างน้อย 2 คนจะต้องเป็นผู้พิพากษา นักกฎหมายของภาครัฐ นักกฎหมายฝึกหัด หรือ อาจารย์สอนกฎหมายของประเทศนั้นๆ ในส่วนของการทำงานนั้น หน้าที่ของคณะกรรมการแห่งชาตินี้จะถูกกำหนดโดยคณะมนตรีบริหาร ซึ่งจะมอบหมายให้แต่ละคณะต่างๆกันไปเป็นครั้งคราว [8]
3.6 กลุ่มวิจัยเกี่ยวกับองค์การการค้าโลก
จากการประชุมสมัชชาครั้งที่ 8 ณ ประเทศสิงคโปร์ในปี ค.ศ.2003 ได้มีการหารือกันถึงเรื่องการที่ประเทศสมาชิกหลายๆประเทศจะนั้นเข้าหรือ หรือตั้งใจจะเข้าร่วมกับองค์การการค้าโลก ซึ่งนโยบายขององค์การการค้าโลกนั้นอาจจะทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติได้ เพราะองค์การการค้าโลกมีการแบ่งแยกกลุ่มประเทศเป็นประเทศด้อยพัฒนากับประเทศพัฒนาอย่างชัดเจน การกำหนดแนวทางต่างๆขององค์การนั้นก็มักจะขึ้นอยู่กับเหล่าประเทศพัฒนาแล้ว การดำเนินงานจึงค่อนข้างเอื้อประโยชน์ให้แก่ประเทศเหล่านั้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเตรียมความพร้อมของประเทศสมาชิกในการเข้าร่วมกับองค์การการค้าโลก ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าอาเซียนนั้นอาจจะไม่มีความพร้อมมากเพียงพอ ด้วยความกังวลเช่นนี้ ที่ประชุมจึงตัดสินใจที่จะให้มีการหารือในเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้นทั้งในระหว่างสมาชิกอาเซียนด้วยกันและผู้เชี่ยวชาญจากที่อื่นที่นอกเหนือไปจากองค์การการค้าโลก เพื่อที่อาเซียนจะได้รวมตัวกันรักษาผลประโยชน์ของตนเอาไว้ได้ ณ จุดนี้เองที่เป็นที่มาของการก่อตั้งกลุ่มวิจัยเกี่ยวกับองค์การการค้าโลกขึ้น [9]
4. การประชุม
การประชุมสมัชชานั้นจะจัดขึ้นในทุกๆ 3 ปี ซึ่งในแต่ละครั้งก็จะมีการหารือกันในประเด็นสำคัญๆต่าง เช่น
4.1 การประชุมสมัชชาครั้งที่ 8
ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการพยายามที่จะหาแนวทางในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบการพิจารณาคดีซึ่งต้องโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ การบริการกฎหมายข้ามพรมด้านภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลกโดยที่ประชุมเห็นว่าควรที่จะให้แต่ละประเทศสามารถบังคับใช้กฎหมายของประเทศตนและกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆได้ในทุกประเทศสมาชิก เพียงแต่ยังมีอุปสรรคหลายๆแง่ที่ต้องแก้ไข เช่น ภาษาและความต่างกันของกฎหมาย การพัฒนาระบบการศึกษากฎหมายซึ่งควรจะศึกษาให้เข้ากับโลกาวิวัฒน์ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมายสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม สัญญาการค้าขายไฟฟ้าในภูมิภาคเองก็เป็นอีกเรื่องที่มีการหารือกัน โดยมองว่าการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ต่างกันอาจจะทำให้เกิดปัญหาในการค้าขายได้ ซึ่งยังคงต้องหาทางแก้ไขในเรื่องนี้ต่อไป และสุดท้ายคือการก่อตั้งกลุ่มวิจัยเกี่ยวกับองค์การการค้าโลก ซึ่งเห็นควรให้ก่อตั้งขึ้นเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของสมาชิกอาเซียนที่จะเข้าร่วมกับองค์การการดังกล่าวและรักษาผลประโยชน์ของตนเอาไว้ [10]
4.2 ผลการประชุมสมัชชาครั้งที่ 9
มีการประชุมหารือในหัวข้อหลักๆ ได้แก่ การเรียนการสอนกฎหมายในศตวรรษที่ 21 ควรสอดคล้องกับโลกาวิวัฒน์ ควรมีการเพิ่มเนื้อหาในวิชาที่ไม่ใช่กฎหมายเข้าไป และควรมีการพัฒนาแหล่งข้อมูลทางกฎหมาย การคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรีจากการค้ามนุษย์ การกระทำผิดทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีการพิจารณาให้การกระทำผิดดังกล่าวมีโทษที่รุนแรงขึ้น ทั้งในเรื่องของโทษอาญาและการชดใช้เยียวยาผู้เสียหายเป็นตัวเงินผลกระทบขององค์การการค้าโลกและความร่วมมือทางการค้าภายในภูมิภาคต่ออาเซียน และ การฟ้องคดีและประโยชน์สาธารณะโดยเห็นว่าควรจะมีองค์กรที่จะมาควบคุมดูแลให้การดำเนินคดีนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และไม่ต้องให้ทุกคดีความต้องขึ้นสู่ศาล [11]
4.3 ผลการประชุมสมัชชาครั้งที่ 10
มีการประชุมทั้งหมด 6 หัวข้อ โดยเน้นไปที่การศึกษาผลกระทบจากกฎบัตรอาเซียนที่จะมีต่อกฎหมาย ทั้งในแง่ของการศึกษา การขนย้ายแรงงานข้ามชาติ การปฏิรูปกฎหมายภายในของประเทศสมาชิก หรือแม้กระทั่งการค้าขายภายในภูมิภาค ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าควรจะต้องมีการปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับกฎบัตรอาเซียนด้วย เพื่อที่จะเป็นการปูทางให้กับกฎหมายอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้เพื่อประโยชน์ในการสร้างประชาคมทั้งสามของอาเซียน จำเป็นที่จะต้องมีการเพิ่มหลักเกณฑ์และกฎหมายใหม่ๆอีกมาก มีความพยายามที่จะผลักดันให้สมาคมกับหน่วยงานอาเซียนนั้นร่วมมือกัน และวางแผนในการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะสร้างตุลาการกลางขึ้น รวมไปถึงการระงับข้อพิพาทด้วยอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนจำเป็นจะต้องมีการประสานกฎหมายภายในของตนให้สามารถนำระบบดังกล่าวมาใช้ได้ [12]
4.4 การประชุมสมัชชาครั้งที่ 11
ในท้ายที่สุดของการประชุมครั้งนี้มีความเห็นร่วมกันว่าสมาคมนักกฎหมายอาเซียนควรที่จะมีการวางแนวทางในการศึกษาและวิเคราะห์กฎหมายภายในภูมิภาคอาเซียน พร้อมทั้งระบุให้ได้ว่ามีปัญหาใดที่พบบ่อยหรือกฎหมายใดที่อาจจะก่อให้เกิดผลเสียได้ พร้อมทั้งยกระดับวิชาชีพกฎหมายให้ผู้ที่ประกอบวิชาชีพมีความเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความซื่อสัตย์ และสุดท้ายคือการผลักดันให้สมาคมมีส่วนร่วมและร่วมมือกับองค์กรอื่นๆที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และสถานศึกษาต่างๆ เรื่องที่หารือกันในครั้งนี้ก็เช่นการสร้างศูนย์กฎหมายอาเซียน การประสานกฎหมายธุรกิจของแต่ละประเทศสมาชิกเข้าด้วยกัน การใช้การระงับข้อพิพาททางเลือก และผลกระทบจากกฎบัตรอาเซียนที่มีต่อกฎหมาย [13]
บทบาทของสมาคมนักกฎหมายอาเซียนและทิศทางที่ควรจะเป็นในอนาคต
สมาคมนักกฎหมายอาเซียนเป็นที่ร่วมตัวกันของนักกฎหมายชั้นนำของภูมิภาคทั้งจากภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายหรือคณาจารย์ผู้สอนกฎหมาย สมาคมนี้จึงมีบทบาทอย่างมากในการสร้างเครือข่ายนักกฎหมายอาเซียน ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูลและวิทยาการต่างๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนากฎหมายในภาพรวม แต่อย่างไรก็ดีแม้ว่าข้อมูลการศึกษาค้นคว้าต่างๆของสมาคมกับหน่วยงานต่างๆในอาเซียนจะได้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ แต่ข้อมูลเหล่านี้ยังไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างเป็นทางการ [14] ทำให้ไม่สามารถนำไปใช้หรือนำไปอ้างอิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระนั้นในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะมีการร่วมมือกันระหว่างองค์กรมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากรายงานการประชุมของทางสมาคมที่พยายามผลักดันความร่วมมือดังกล่าว รวมไปถึงที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านกฎหมายซึ่งได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่าจะสนับสนุนการทำงานของสมาคมนักกฎหมายอาเซียนด้วย [15] ดังนี้หากความร่วมมือระหว่างสมาคมนักกฎหมายอาเซียนกับหน่วยงานอื่นๆของอาเซียนได้รับการพัฒนา สิ่งนี้น่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาในแง่กฎหมายของอาเซียน โดยสมาคมนักกฎหมายอาเซียนนั้นจะมีส่วนสำคัญในการเสนอความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงและการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆในอาเซียน รวมไปถึงจะมีส่วนช่วยในการประสานกฎหมายที่แตกต่างกันของประเทศสมาชิกได้
บรรณานุกรม
ASEAN Law Association. 2014. “Brief History.” http://www.aseanlawassociation.org/history.html (accessed June 15, 2015)
ASEAN Law Association. 2014. “Secretary-General.” http://www.aseanlawassociation.org/secgen.html (accessed June 15, 2015)
ASEAN Law Association. 2014. “Standing Committee.” http://www.aseanlawassociation.org/standingcommittees.html (accessed June 15, 2015)
PornchaiDanvivathana. 2010. “Role of ALA in the Current Legal Issues under the ASEAN Charter.”http://www.thailawforum.com/articles/Role-of-ALA.html (accessed June 15, 2015)
REPORT OF THE RAPPORTEUR-GENERAL (2 Dec 2003) (2003)
REPORT OF THE GENERAL RAPORTEUR(17 October 2009) (2009)
REPORT OF THE RAPPORTEUR GENERAL TO THE 34TH GOVERNING COUNCIL OF THE ASEAN LAW ASSOCIATION (2012)
อ้างอิง
- ↑ ASEAN Law Association. 2014. “Brief History.” http://www.aseanlawassociation.org/history.html(accessed June 15, 2015)
- ↑ Constitution of The ASEAN Law Association (2004): article 2.
- ↑ Constitution Of The ASEAN Law Association (2004): article 5
- ↑ Constitution Of The ASEAN Law Association (2004): article 6
- ↑ Constitution Of The ASEAN Law Association (2004): article 7
- ↑ ASEAN Law Association. 2014. “Secretary-General.” http://www.aseanlawassociation.org/secgen.html (accessed June 15, 2015)
- ↑ ASEAN Law Association. 2014. “Standing Committee.” http://www.aseanlawassociation.org/standingcommittees.html (accessed June 15, 2015)
- ↑ BY-LAWS OF THE ASEAN LAW ASSOCIATION (2004)
- ↑ REPORT OF THE RAPPORTEUR-GENERAL (2 Dec 2003) (2003)
- ↑ Ibid 9.
- ↑ The Ninth Session of the General AssemblyOf the ASEAN Law AssociationBangkok, Thailand22-25 November 2006Report of the Rapporteur-General (2006)
- ↑ REPORT OF THE GENERAL RAPORTEUR(17 October 2009) (2009)
- ↑ REPORT OF THE RAPPORTEUR GENERAL TO THE 34TH GOVERNING COUNCIL OF THE ASEAN LAW ASSOCIATION (2012)
- ↑ PornchaiDanvivathana. 2010. “Role of ALA in the Current Legal Issues under the ASEAN Charter.”http://www.thailawforum.com/articles/Role-of-ALA.html(accessed June 15, 2015)
- ↑ Joint Statement of the Seventh ASEAN Law Ministers Meeting (ALAWMM) Bandar Seri Begawan, 20 October 2008 (2008)