สงครามการเงิน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู

 

          สงครามการเงิน หมายถึง การปล้นสะดมทรัพย์สินข้ามประเทศที่เกิดจากการทำธุรกรรมทางการเงินและการซื้อขายทรัพย์สิน เป็นสงครามที่ไม่มีเสียงปืนและควันไฟ แต่อาศัยวิธีการที่ไม่ปกติธรรมดาในการปั่นอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราและการเคลื่อนไหวของเงินทุนข้ามประเทศเป็นสำคัญ[1] ผู้ก่อสงครามการเงินอาศัยเงินทุนเป็นอาวุธ และการเคาะแป้นคอมพิวเตอร์ (key board) เป็นการสั่งการ

          ในโลกปัจจุบันที่มีการเปิดเสรีทางการเงิน การซื้อขายหุ้นและการแลกเปลี่ยนเงินตราได้กลายเป็นเครื่องมือในการปล้นสะดมทรัพย์สินข้ามประเทศ ผู้กระทำการที่เป็นผู้ควบคุมเครื่องมือทางการเงินและมีเงินทุนมหาศาลสามารถที่จะขจัดหนี้ที่ค้างชำระได้อย่างง่ายดาย หรือกระทำการอย่างเปิดเผยชอบด้วยกฎหมาย ในการฉกฉวยผลิตผลที่เกิดจากแรงงานความอุตสาหะของผู้ใช้แรงงานมาเป็นของตัวเองได้โดยอาศัยมาตรการข้างต้น[2]

          วิธีการปล้นสะดมที่ประเทศแข็งแรงกว่ากระทำต่อประเทศอ่อนแอกว่า โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาในฐานะที่เงินตราของประเทศตนเป็นเงินตราสากล การทำสงครามการเงินของสหรัฐอเมริกาทำได้ไม่ยาก เริ่มด้วยการดำเนินนโยบายผ่อนปรนทางการเงิน (QE-quantitative easing) ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับประเทศที่เป็นเป้าหมายของการโจมตี หรือเข้าไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศนั้น ผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศนั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด อันจะทำให้ราคาสินค้าและบริการของประเทศนั้นทะยานขึ้นสูง หลังจากนั้นก็ถอนปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตออกไป เช่น เคยนำเข้าสินค้าจำนวนมากจากประเทศนั้นก็เลิกนำเข้า ทำให้การส่งออกของประเทศนั้นเกิดอาการสะดุด สินค้าที่ผลิตได้ขายไม่ออก โรงงานต้องชะลอการผลิตหรือปิดกิจการ คนงานตกงาน ไม่มีรายได้ ธุรกิจอื่นพลอยถูกกระทบ เมื่อเศรษฐกิจเกิดฟองสบู่ในขั้นรุนแรง นักเล่นหุ้นเก็งกำไรก็จะถอนทุนกลับ ในขณะที่หนี้เงินกู้ต่างประเทศก็ต้องชำระ อันจะทำให้ประเทศนั้นขาดเงินตราสำรองต่างประเทศในทันที สินทรัพย์ที่เคยมีราคาสูง ราคาก็จะตกลงมาอย่างรวดเร็ว กลายเป็นสินทรัพย์ราคาถูก ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ธนาคารกลางสหรัฐก็จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อดึงเงินจากตลาดโลกให้ไหลกลับเข้าสหรัฐฯ พอมาถึงตอนนี้บริษัทธุรกิจการเงินสหรัฐฯจะออกไปกว้านซื้อทรัพย์สินราคาถูกของประเทศนั้น จะเห็นได้ว่าโดยมาตรการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวกับเศรษฐกิจหดตัว เกิดการผันผวนทางเศรษฐกิจเช่นนี้ก็จะสามารถเข้ายึดทรัพย์สินของประเทศอื่นได้แล้ว วิธีการอย่างนี้ก็คือกลยุทธของสงครามการเงิน[3]    

          นอกจากนี้สหรัฐฯยังมีเครื่องมือทางการเงินอีก 2 กลไก ได้แก่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (the International Monetary Fund) และธนาคารโลกที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “The International Bank for Reconstruction and Development” กลไกแรกมีเป้าหมายที่เป็นทางการเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงินระหว่างประเทศและติดตามตรวจสอบระบบเงินตราของโลก ส่วนกลไกที่สองมีหน้าที่และเป้าหมายอย่างเป็นทางการ คือ การทำงานกับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อลดความยากจนและเพิ่มความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศกำลังพัฒนา[4] ทั้ง 2 สถาบันนี้ โดยสถานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีประเทศต่าง ๆ เป็นสมาชิกจำนวนมากถึง 189 ประเทศ แต่ในการบริหารงานนั้นสหรัฐอเมริกามีอิทธิพลครอบงำอยู่มาก ประการแรก ทั้ง 2 สถาบัน มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ประการที่ 2 สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ จำนวนเงินทุนที่ลง 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สัดส่วนเท่ากับ ร้อยละ 16.74[5] ธนาคารโลก จำนวนเงินทุนที่ลง 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สัดส่วนเท่ากับ ร้อยละ 16.67[6]) ประการที่ 3 อำนาจในการออกเสียง สหรัฐฯมีเสียงมากที่สุดทั้งใน 2 องค์กร และเป็นประเทศสมาชิกประเทศเดียวที่มีเสียง “วีโต้” (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ จำนวนเสียงเท่ากับ ร้อยละ 16.74[7] ธนาคารโลกจำนวนเสียงเท่ากับ ร้อยละ 15.77[8] การตัดสินปัญหาในกรณีที่ต้องมีการออกเสียงต้องใช้เสียง ร้อยละ 85 ขึ้นไป)

          การทำหน้าที่ของ 2 องค์กร แม้ว่าโดยทั่วไปจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก แต่ในหลายกรณีก็มีการใช้ 2 องค์กรข้างต้น เป็นเครื่องมือทางการเมืองและเครื่องมือทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นักหนังสือพิมพ์และถ่ายทำสารคดีชาวออสเตรเลียชื่อ John Pilger กล่าวถึงการทำงานของกองทุนระหว่างประเทศและธนาคารโลกว่าสร้างความเดือดร้อนและทุกข์ทรมานให้กับประชากรโลกในหลายกรณี เขารายงานว่าใน ปี 1985 ประเทศยากจนต้องจ่ายเงินกู้และดอกเบี้ยคืนให้กับประเทศพัฒนาแล้วมากเป็น 2 เท่า ของจำนวนเงินที่ประเทศยากจนได้รับจากประเทศพัฒนาแล้ว สภาพเช่นนี้เขามองว่าเท่ากับประเทศยากจนเป็นฝ่ายเลี้ยงดูประเทศร่ำรวย มากกว่าประเทศร่ำรวยช่วยเหลือประเทศยากจน 

          นอกจากนี้ธุรกรรมการเงินก็จัดเป็นเครื่องมือในการทำสงครามหรือเครื่องมือทางการเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น ในกรณีที่ประเทศเยเมน ไม่ออกเสียงสนับสนุนญัตติการก่อสงครามในอิรักของสหรัฐฯ สมัยรัฐบาลจอร์ช บุช ในสภาความมั่นคง องค์การสหประชาชาติ ทำให้ไม่ได้เงินกู้จากธนาคารโลก หรือกรณีให้เงินกู้กับประเทศฟิลิปปินส์สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยบริษัทอเมริกัน (เวสติ่งเฮาส์) ในสมัยมาร์กอส มูลค่า 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในพื้นที่ที่เป็นเขตแผ่นดินไหว และเมื่อสร้างเสร็จก็ใช้งานไม่ได้เพราะการสมคบกันทุจริตของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯกับผู้นำฟิลิปปินส์ รวมถึงการให้เงินกู้จำนวนมากของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศขึ้นกับความสัมพันธ์ที่ประเทศเหล่านั้นมีกับสหรัฐอเมริกา[9] 

          การปล้นสะดมทรัพย์สินของประเทศอื่นโดยชอบด้วยกฎหมายเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศอาร์เจนตินาใน ปี 1982 เป็นกรณีตัวอย่างของสงครามการเงินที่สหรัฐอเมริกาโจมตีประเทศอาร์เจนตินา เริ่มจากการปล่อยให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าเนื่องจากพิมพ์ขึ้นมามากไหลเข้าประเทศอาร์เจนตินาตั้งแต่ ปี 1973 เป็นต้นมา ทำให้เศรษฐกิจของอาร์เจนตินาเติบโตเฟื่องฟู ต่อมา ปี 1979 ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯเริ่มแข็งค่า ธนาคารกลางสหรัฐฯตัดสินใจที่จะปิดประตูการไหลออกของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่เพียงเท่านั้น เงินทุนสหรัฐฯจากอาร์เจนตินาเริ่มไหลกลับเข้าสหรัฐฯในปริมาณมาก ผลที่เกิดตามมาคือภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในประเทศอาร์เจนตินาสูงถึงกว่า ร้อยละ 600 ใน ปี 1981 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของอาร์เจนตินาถดถอยลงไปอยู่ที่ ร้อยละ 11.4 ปริมาณการผลิตลดลงถึง ร้อยละ 22.9 ในขณะที่เงินเดือนเพิ่มขึ้นเพียง ร้อยละ 19.2 ประชาชนได้รับความลำบาก สนับสนุนให้สหภาพแรงงานหยุดงานประท้วงรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลทหารถูกประชาชนต่อต้านและเกลียดชัง และพ้นจากอำนาจไปในที่สุดเมื่อมีการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 1983[10]

          อีกตัวอย่างหนึ่งของสงครามการเงิน ก็คือวิกฤตด้านการเงินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใน ปี 1997 ที่หลังจากสหรัฐอเมริกาปล่อยให้เงินไหลเข้าประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ติดต่อกันนานราว 10 ปี สหรัฐอเมริกาเริ่มลดทอนไม่ให้เงินไหลเข้า ทำให้เกิดปัญหาเงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอ ปัญหาวิกฤตการเงินเริ่มปะทุขึ้นในประเทศไทย และลามไปสู่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกหลายประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จากนั้นขยายไปที่ ไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเลยไปถึงรัสเซีย เหตุการณ์วิกฤตทางการเงินคราวนี้ทำให้เห็นว่าสภาวะการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลวร้าย นักลงทุนพากันถอนตัวออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เศรษฐกิจในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอื่นที่ถูกกระทบถดถอย ประชาชนยากจนลง[11]

          ปัจจัยที่ทำให้สหรัฐฯสามารถก่อสงครามการเงินไปได้ทั่วโลก นอกจากสหรัฐฯมีอำนาจควบคุมเหนือกลไกด้านการเงินทั้ง 2 แล้ว อีกด้านหนึ่งเกิดจากอำนาจในด้านเงินตราของสหรัฐฯเป็นเงินตราสากลที่ใช้เป็นสื่อกลางแลกซื้อสินค้าและบริการได้ทั่วโลก โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเหมือนกับประเทศทั่ว ๆ ไป สามารถนำไปแลกเปลี่ยนกับเงินตราของประเทศต่าง ๆ ทำให้อำนาจบาตรใหญ่เหนือระบบการเงินโลกเกิดขึ้นได้ ภายใต้ระบบที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นเงินตราสากล ระบบทุนนิยมโลกทำให้เศรษฐกิจของแต่ละประเทศตกอยู่ใต้อำนาจครอบงำของกลไกทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ การค้าในโลกเท่ากับเป็นการซื้อขายกันด้วยธนบัตรสหรัฐฯ ประเทศทั้งหลายในโลกนี้ถ้าหากมีเงินดอลลาร์สหรัฐฯก็จะสามารถซื้อหาสินค้าและบริการได้ อำนาจเหนือประเทศอื่นของเงินดอลลาร์สหรัฐฯทำให้อำนาจความยิ่งใหญ่ในด้านการเงินของสหรัฐฯเป็นไปได้ ด้วยเหตุดังกล่าวการเป็นประเทศที่มีฐานะพิเศษและการกระทำฝ่ายเดียวของสหรัฐฯในการเมืองระหว่างประเทศจึงเป็นไปได้ ประเทศส่งออกทั้งหลายในโลกที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำ ในระยะเวลา 20-30 ปี ที่ผ่านมา แข่งขันกันส่งออกสินค้าโดยไม่ได้คำนึงถึงความทุกข์ทรมานของประชากรและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศของตน ใช้ตัวแบบการผลิตที่สิ้นเปลืองพลังงาน ก่อมลภาวะสูง ค่าแรงต่ำ ส่งมอบสินค้าและสินทรัพย์อันมีคุณค่าให้กับสหรัฐฯอย่างไม่ขาดสาย เพื่อแลกกับเงินตราที่ใช้ภายในประเทศไม่ได้ และทั้งยังทำให้สหรัฐฯกลายเป็นผู้มีอำนาจครอบงำไปทั่วโลก จึงเป็นเรื่องที่ทำให้เสียความรู้สึกอย่างยิ่งสำหรับผู้คนในประเทศกำลังพัฒนา[12]

          ในประเทศไทยยุครัฐบาล พลเอกชาติชาย_ชุณหะวัณ (พ.ศ.2531-2534) มีการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจการเมืองโลกอย่างกว้างขวาง หลังการประชุม Plaza Accord, New York สหรัฐอเมริกา ซึ่งสหรัฐเห็นว่าการที่เงินเยนมีค่าต่ำกว่าความเป็นจริงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯเสียเปรียบดุลการค้า คือสินค้าญี่ปุ่นที่ส่งเข้าสหรัฐฯเมื่อคิดเป็นดอลลาร์ราคาจะถูก ในขณะที่สินค้าสหรัฐฯส่งเข้าญี่ปุ่นเมื่อคิดเป็นเยนราคาจะแพงทำให้ไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับสินค้าของประเทศอื่นได้ ทั้งนี้ค่าเงินเยนก่อนประชุมเคยมีค่าประมาณ 260 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มค่าเป็น 150 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ การที่ค่าเงินเยนแข็งค่าอย่างรวดเร็วทำให้ญี่ปุ่นต้องย้ายฐานการผลิตออกไปต่างประเทศ โดนเฉพาะประเทศที่มีค่าเงินผูกติดกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น ประเทศไทย เพราะค่าเงินของประเทศเหล่านี้จะอ่อนค่าตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯไปด้วย การลงทุนของญี่ปุ่นจึงไหลสะพัดเข้าสู่ประเทศไทย[13]  

          ส่วนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่มีการขึ้นลงไม่แน่นอนเป็นโอกาสให้เกิดธุรกิจการเก็งกำไรค่าเงินธุรกิจเกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์และสารสนเทศที่สามารถทำให้เงินสามารถเคลื่อนย้ายไปที่ใดในโลกในเวลาอันรวดเร็ว เงื่อนไขทั้งสองข้างต้นคือที่มาของระบบการเงินไร้พรมแดน 

          การไหลเข้ามาของเงินลงทุนจากต่างประเทศในยุครัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ แบ่งได้เป็น 2 สาย สายหนึ่งเป็นการเข้ามาลงทุนในด้านการผลิต อีกสายหนึ่งเป็นสายเก็งกำไร โดยเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ตลาดหุ้นไทยโตเร็วและมีมูลค่าสูงมาก หลังการเปิดเสรีทางการเงินใน ปี 2535 นักเก็งกำไรคนไทยกู้เงินจำนวนมหาศาลจากต่างประเทศเข้ามาปั่นหุ้น ปั่นที่ดิน และปั่นอสังหาริมทรัพย์ หนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯใน ปี 2535 ขยายเป็น 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯใน ปี 2540 เศรษฐกิจเก็งกำไรครอบงำเศรษฐกิจไทย การพลิกผันขึ้นลงของเศรษฐกิจไทยขึ้นกับการพลิกผันของตลาดหุ้นและตลาดเงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะการขึ้นลงของดอกเบี้ย การไหลเข้าออกของเงินทุนต่างประเทศกระทบต่อการขึ้นลงของตลาดหุ้น ทุนต่างประเทศในบางกรณีสามารถเข้ามาแสวงหากำไรโดยไม่ต้องลงทุน เพียงแต่ขนเงินเข้ามาปั่น เมื่อปั่นแล้วได้กำไรก็ขนเงินออกไป

          ในปี 2537 เกิดวิกฤติทางการเงินในประเทศเม็กซิโก วิกฤตินี้ส่งผลกระเทือนถึงประเทศไทยโดยตรง อินเตอร์แบงก์พุ่งขึ้นไปถึง ร้อยละ 50-100 ผู้มีเงินฝากธนาคารแตกตื่นพากันถอนเงินจากธนาคาร ตลาดหุ้นไทยตกลงอย่างรวดเร็ว ความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยดังกล่าวทำให้ประเทศไทยตกเป็นเป้าหมายใหญ่ของนักเก็งกำไรต่างชาติ นักเก็งกำไรต่างชาติจึงพากันเทขายหุ้นไทย หันสู่การปั่นทำลายค่าเงินไทย เงินสูญหายไปจากตลาดหุ้นประมาณ ร้อยละ 65 เมื่อเทียบกับ ปี 2537 พอวิกฤติตลาดหุ้นเริ่มปรากฏ ปัญหาด้านอื่น ๆ ก็ตามมา เช่น ปัญหาหนี้ ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ขายไม่ออก ข่าวลือการลดค่าเงินบาท การล้มละลายของสถาบันการเงิน ทำให้เอกชนกว้านซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐเทขายเงินบาท ในเดือนกันยายน ปี 2539 บริษัท มูดี้ ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของประเทศไทย ทำให้เงินทุนต่างประเทศไหลออกอย่างต่อเนื่อง และเกิดการโจมตีค่าเงินบาทครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2539 ใน ปี 2540 การโจมตีค่าเงินบาทเกิดขึ้นหลายระลอกในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้าแทรกแซงโดยใช้เงินสำรองระหว่างประเทศในการปกป้องค่าเงินบาทจากโจมตี การโจมตีค่าเงินบาทเกิดขึ้นอีกในตอนปลายเดือนเมษายนและโจมตีหนักมากในคืนวันที่ 8 พฤษภาคม เป็นต้นมา ในที่สุดรัฐบาลไม่มีเงินสำรองระหว่างประเทศมากพอที่จะปกป้องค่าเงินบาท ต้องยอมพ่ายแพ้ รัฐบาลพลเอกชวลิต_ยงใจยุทธ ต้องประกาศลดค่าเงินบาท โดยการปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2540[14]

          ผลที่เกิดตามมาคือค่าเงินบาทอ่อนตัวอย่างรุนแรงจากประมาณ 25-26 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่ารุนแรงสูงสุดลงไปที่ 50-52 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้คนไทยที่กู้หนี้จากต่างประเทศเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเงินสกุลอื่นมีหนี้เพิ่มมากขึ้นเท่าตัวเมื่อคิดเป็นเงินบาท ธนาคาร ธุรกิจการเงิน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ต้องขายกิจการให้นักลงทุนต่างประเทศ ธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กล้มละลายจำนวนมาก ประชาชนตกงานจำนวนหลายแสนคน จำนวนไม่น้อยกลับสู่ภูมิลำเนาเดิมของตนในชนบททำเกษตรกรรมเลี้ยงชีพ อย่างน้อยก็ในช่วงที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ นี้

          โดยสรุป สงครามการเงินเกิดขึ้นได้เพราะระบบการเงินเสรี การแลกเปลี่ยนเงินตรา และการเก็งกำไรจากการปั่นราคา ประเทศที่มีอำนาจทางการเงินมาก ทั้งในแง่ปริมาณเงินทุนและความได้เปรียบเชิงสถาบันการเงินย่อมอยู่ในฐานะเป็นฝ่ายกระทำได้มาก ส่วนประเทศเล็กจำเป็นต้องมีความระมัดระวัง มีมาตรการในการป้องกันการเก็งกำไรที่ทำให้ระบบการเงินในประเทศปั่นป่วน มาตรการควบคุมการนำเงินออกนอกประเทศโดยมีกำหนดเวลา หรือมาตรการทางภาษี เป็นต้น

 

อ้างอิง

[1] 《什么是金融战争?中国打赢过金融战争吗?》差率chl.cn (15/07/2564)

[2]廖子光《金融战争:中国如何突破美元霸权》dushu.com (15/07/2564)

[3] 水木然《100年金融战争》水木然专栏,2016年10月28日(15/07/2564)

[4] “How Does the International Monetary Fund Function?” investopedia.com>ask (17/072564) and “The World Bank Group and the International Monetary Fund”  worldbank.org>history (17/072564)

[5] “IMF Voting Rights” as of June 30, 2021, google.com (16/07/2564).

[6] “International Bank for Reconstruction and Development Subscriptions and Voting Power of Member Countries” as of June 30,2021, the docs.worldbank.org (17/07/2564)

[7] “IMF Voting Rights” as of June 30, 2021, google.com (16/07/2564).

[8] “International Bank for Reconstruction and Development Subscriptions and Voting Power of Member Countries” as of June 30,2021, the docs.worldbank.org (17/07/2564)

[9] John Pilger “IMF and World Bank are Weapons of War” youtube/WYCH

[10] เพิ่งอ้าง และดู “1976 Argentine coup d’etat” en.m.wikipedia.org (17/07/2564)

[11] เพิ่งอ้าง (水木然)

[12] 廖子光《金融战争:中国如何突破美元霸权》(第一章) (dushu.com (15/07/2564)

[13] ยุค ศรีอาริยะ “เครือข่ายอำนาจครอบโลกและวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่” ใน วิทยา ว่องกุล (บรรณาธิการ) กลียุคกับหายนะเศรษฐกิจไทย(กรุงเทพฯ อมรินทร์พริ้นติ้ง 2540) หน้า 26-32

[14] คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศไทย (ศปร.) รายงานผลการวิเคราะห์และวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ (กรุงเทพฯ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 2541) หน้า 48-75