ฤาษีเลี้ยงลิง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รศ.ดร.ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศ.อนันต์ เกตุวงศ์


“ฤาษีเลี้ยงลิง” เป็นคำที่ล้อเลียนกระทบกระเทียบเปรียบเปรยของการบริหารในพรรคการเมืองของไทยที่ภายในพรรคการเมืองมีกลุ่มการเมืองหลายกลุ่มที่สนับสนุนหัวหน้าพรรคการเมืองอยู่ โดยที่กลุ่มการเมืองหรือที่เรียกว่า มุ้ง ในพรรคการเมืองมักมีพฤติกรรมในการต่อรองผลประโยชน์กับหัวหน้าพรรคอยู่บ่อยครั้ง ถ้าหัวหน้าพรรคไม่ยินยอมหรือไม่รอมชอมกับการเรียกร้องต่อรองผลประโยชน์ของกลุ่มหรือ “มุ้ง” นั้น หัวหน้าหรือสมาชิกของกลุ่มก็จะออกมาแสดงบทบาทเคลื่อนไหวเพื่อต่อรองผลประโยชน์กับหัวหน้าพรรค ทั้งที่คณะกรรมการกลางบริหารพรรคได้มีมติอย่างสมบูรณ์ไปแล้วก็ตาม ในขณะเดียวกันหัวหน้าพรรคก็ไม่สามารถควบคุมกลุ่มหรือ “มุ้ง” ต่าง ๆ เหล่านั้นได้

คำ “ฤาษีเลี้ยงลิง” มักจะใช้กับกรณีที่พรรคการเมืองนั้นมีหลายกลุ่มหรือ “มุ้ง” ในพรรคการเมืองนั้นและมีหัวหน้าพรรคที่มีคุณลักษณะประณีประนอมและมีนิสัยชอบการรอมชอมในการแก้ปัญหาการเรียกร้องผลประโยชน์ของกลุ่มภายในพรรคของตน คำ “ฤาษีเลี้ยงลิง” เกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ในสมัยที่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ให้ดำรงหัวหน้าพรรคสืบต่อจากนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2512 ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีกลุ่มการเมืองเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นกลุ่มของคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ต่อมาสมาชิกที่เป็นคนรุ่นเก่าได้ลาออกไปก่อตั้งพรรคอธิปัตย์ขึ้น มาในปีเดียวกัน ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมี ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคเผชิญปัญหาการประสานประโยชน์ภายในกลุ่มสมาชิกซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ และ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้ที่มีคุณลักษณะที่นุ่มนวลและมักใช้วิธีประณีประนอมและชอบรอมชอม จึงมักใช้วิธีการโอนอ่อนผ่อนตามใจสมาชิกเหล่านั้น สื่อมวลชนในสมัยนั้นจึงตั้งสมญานามของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ว่าเป็นเสมือน “ฤาษีเลี้ยงลิง”