รูปแบบรัฐบาลและระบบกฎหมายในประเทศสมาชิกอาเซียน
ผู้เรียบเรียง พัชร์ นิยมศิลป
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ ดร. ไชยวัฒน์ ค้ำชู
ข้อมูลพื้นฐานและความหมาย
ระบบรัฐบาล หมายถึง การจัดรูปเเบบ โครงสร้าง เเละอำนาจหน้าที่ขององค์กรทางการเมืองที่เรียกว่ารัฐบาล ในความหมายอย่างกว้าง สำหรับอำนาจหน้าที่ในที่นี้ รวมถึง ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรต่างๆทางการเมือง เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประมุข ประมุขกับรัฐสภา เป็นต้น ในระบบรัฐบาลจะมีการกำหนดวิธีการหรือกติการายละเอียดลงไปเช่น ที่มา องค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ การตรวจสอบการใช้อำนาจ ดังนั้น “ระบบรัฐบาล” จึงหมายถึง ระบบรัฐบาลในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องของอำนาจทางการเมือง (political power) สถาบันการเมือง (polotical institution) เเละบทบาททางการเมือง (political function) ตัวอย่างเช่น ระบบรัฐสภา เป็นระบบที่ ประมุขของประเทศเป็นคนละคนกับหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ ประมุขของประเทศนั้นคือ ตัวพระมหากษัตริย์ เเต่หากประเทศที่ไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็ใช้วิธีเลือกตั้งประมุขเเทนเรียกว่า “ประธานาธิบดี”(President) ซึ่งอยู่ในสถานะเดียวกันกับ พระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ประมุขของประเทศไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง กล่าวคือระบบรัฐสภาประมุขเป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น นอกจากนั้น ระบบรัฐสภาจะมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เเละรัฐบาลมาจากความไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎร ในทางกลับกัน ระบบประธานาธิบดี เป็นระบบที่ประมุขของประเทศเป็นคนเดียวกับหัวหน้ารัฐบาล ประมุขของประเทศจึงต้องรับผิดชอบทางการเมือง ทั้งนี้สภามาจากการเลือกตั้งของประชาชนและรัฐบาลก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วย ดังนี้ สภาจึงไม่มีอำนาจควบคุมรัฐบาล นอกจากนี้ระบบประธานาธิบดีจะไม่มีการยุบสภา ซึ่งต่างจากระบบรัฐสภาที่ให้อำนาจรัฐบาลยุบสภาได้
ระบบกฎหมาย (Law System) เป็นการจับกลุ่มของกลุ่มกฏหมายที่ใช้ในประเทศต่างๆในโนโลก ที่มีลักษณะเดียวกันเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งระบบกฏหมายเเบ่งออกได้ดังนี้
1) ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรหรือระบบซีวิลลอว์ (Civil Law) เรียกอีกอย่างว่าระบบประมวลกฏหมาย ระบบกฎหมายนี้นั้นความสำคัญอยู่ที่ตัวบทกฎหมายไม่ว่าจะออกมาโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร คำพิพากษาของศาลจึงเป็นเพียงการตีความในตัวบทกฏหมายหรือตัวบทของพระราชบัญญติเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการการแยกประเภทระหว่างกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชนออกจากกัน
2) ระบบกฎหมายจารีตประเพณีหรือคอมมอนลอว์ (Common Law) เป็นผลจากแนวคิดที่ถือว่าศาลยุติธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด คำพิพากษาของศาลจะสร้างบรรทัดฐานให้กับการวินิจฉัยคดีต่อๆมาที่เกิดขึ้นในภายหลัง ดังนั้นคำพิพากษาจึงเป็นที่มาของกฎหมาย อย่างไรก็ดี ระบบกฎหมายจารีตประเพณีนั้นใช้ระบบศาลเดียว มิได้เเยกศาลออกเป็นศาลยุติธรรม ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น คู่กรณีจึงต้องนำคดีมาฟ้องศาลยุติธรรมด้วยกันทั้งสิ้น
3) ระบบกฎหมายประเทศสังคมนิยม (Socialist Law) เกิดจากความต้องการของนักกฏหมายของประเทศสังคมนิยม ตามปรัชญาลัทธิมาร์กซ์ จ้องการให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม
4) ระบบกฎหมายศาสนา (Religious Law) เป็นการใช้หลักศาสนาเป็นแม่บทการปกครอง กฎหมายระบบนี้ให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์ ข้อบัญญัติศาสนา การพิจารณาตัดสินคดี จะใช้กฏที่มีฐานจากความเชื่อหรือคำภีร์ศาสนาเป็นหลัก
รูปแบบรัฐบาลและระบบกฎหมายในสมาชิกอาเซียน
ประเทศไทย
มีการปกครองระบอบเผด็จการทหารสลับกับระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ระบบรัฐบาลที่ใช้ในช่วงที่เป็นประชาธิปไตยคือระบบรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการแบ่งแยกอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจบริหาร รัฐสภาใช้อำนาจนิติบัญญัติ และศาลใช้อำนาจตุลาการ สำหรับระบบกฎหมายนั้น ประเทศไทยใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้กล่าวแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของกฎหมายต่างประเทศต่อระบบกฎหมายไทยว่า “ระบบกฎหมายในไทยปัจจุบันเมื่อพิจารณาถึงแบบแห่งกฎหมายย่อมถือได้ว่าเป็นระบบกฎหมายของประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมายแต่ถ้าพิจารณาถึงเนื้อหาสาระแห่งบทกฎหมายโดยตรงน่าจะกล่าวได้ว่า กฎหมายไทยมีรากเหง้าจากแหล่งต่างๆ 3 แหล่งด้วยกัน แหล่งแรก ได้แก่ ระบบกฎหมายไทยดั้งเดิมเช่นกฎหมายลักษณะครอบครัว และ กฎหมายมรดก เป็นต้นอีกแหล่งหนึ่งคือกฎหมายของประเทศที่ใช้ประมวล เช่น ประมวลแพ่งฝรั่งเศสเยอรมันสวิสบราซิลและญี่ปุ่น เป็นต้น แหล่งสุดท้ายที่มาคือ ระบบกฎหมายอังกฤษ”
ประเทศมาเลเซีย
สหพันธรัฐมาเลเซียมีการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลสหพันธรัฐ ประกอบด้วย 13 มลรัฐ ดังนั้นระบบรัฐบาลจะมีทั้งรัฐบาลสหพันฐรัฐ (Federal Government) และรัฐบาลมลรัฐ (State Government) ทั้งนี้ประมุขของมาเลเซีย (Yang Di Pertua Agong) มีที่มาจากการเลือกตั้งจากสุลต่านผู้ปกครองรัฐ 9 แห่งและผลัดหมุนเวียนกันขึ้นดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี อำนาจของกษัตริย์หรือประมุขจะเกี่ยวข้องกับศาสนาและพิธีการต่างๆ รวมทั้งมีอำนาจในทางบริหารและนิติบัญญัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
เนื่องจากประเทศมาเลเซียเป็นประเทศได้ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของประเทศอังกฤษมาก่อนดังนั้นจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นระบบกษัตริย์หรือระบบรัฐสภาก็ได้รับอิทธิพลมาจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ เช่นเดียวกับระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ การบริหารงานด้านกิจการยุติธรรมและการจัดโครงสร้างศาลก็ได้เดินตามแม่แบบที่อังกฤษแทบทั้งสิ้น จะแตกต่างก็เพียงมาเลเซียบังคับใช้กฎหมายอิสลามและมีศาลศาสนาที่ใช้รูปแบบเป็นของตนเอง มาเลเซียแบ่งศาลยุติธรรมออกเป็น 4 ชั้น ได้แก่
1)[[ ศาลสหพันธรัฐ]] (Federal Court) ประกอบด้วย ผู้พิพากษาที่ประมุข (ยังดีเปอร์ตัวอากง) ทรงแต่งตั้งตามคำกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรี แต่เดิมนั้นศาลสหพันธรัฐเป็นศาลสูงสุดในประเทศ แต่เมื่ออยู่ในระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ของอังกฤษ คำตัดสินของศาลสหพันธรัฐนี้อาจนำไปอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา (Privy Council) ณ กรุงลอนดอนได้ จนกระทั้งวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1978 ก็ได้มีการห้ามมิให้อุทธรณ์คดีอาญาและคดีกฎหมายรัฐธรรมนูญไปยังศาลฎีกาประเทศอังกฤษ จนในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1985 ศาลสหพันธรัฐจึงเป็นศาลสูงสุดและเป็นที่สุดไม่อาจอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาประเทศอังกฤษได้
2) ศาลอุทธรณ์ มีอำนาจรับอุทธรณ์จากศาลชั้นต้น
3) ศาลชั้นต้นในมาเลเซียตะวันตก (ภาคพื้นทวีป) ประกอบด้วย ศาลเซสชัน (Session Court) ศาลแขวง (Magistrates’ Courts) และศาลท้องถิ่น (Penghulu’s Court) ส่วนศาลชั้นต้นในมาเลเซียตะวันออก (ซาบาร์และซาลาวัก) ประกอบด้วย ศาลเฉพาะ (Session Court) ศาลแขวง (Magistrates’ Courts) และศาลพื้นเมือง (Native Court)
4) ศาลชำนัญพิเศษ อาทิ ศาลศาสนา ศาลคดีเด็กและเยาวชน เป็นต้น
ประเทศเวียดนาม
สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีการปกครองเเบบสังคมนิยม มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ เเละมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารเเละคณะรัฐมนตรี มีพรรคการเมืองพรรคเดียว คือพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม รัฐธรรมนูญ (ค.ศ. 1980) กำหนดให้พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเป็นกำลังหลักในการนำรัฐและสังคม (The force leading the state and the society) ดังนั้นพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจึงเป็นแกนกลางที่กำหนดบทบาททางการเมืองและระบบกฎหมายต่างๆ นอกจากนั้นพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจะมีการจัดโครงสร้างองค์กรคู่ขนานไปกับองค์กรของรัฐและหน่วยงานสังคมต่างๆ ตั้งแต่ระดับรัฐบาลส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคไปจนถึงการปกครองระดับท้องถิ่น อีกทั้งมีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อองค์กรตุลาการ องค์กรการศึกษา องค์กรวิชาชีพ อีกทั้งกฎบัตรพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ข้อ 41 วางหลักให้พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามนำพาประเทศผ่าน นโยบายการเมือง กลยุทธ์ ทิศทางการเมือง อุดมคติ กิจกรรม ที่จัดให้มีขึ้นหรือได้รับการแนะนำและประเมินผลโดยองค์กรและเจ้าหน้าที่ของพรรค ยกตัวอย่างเช่น การเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้บริหารองค์กรรัฐนั้น พรรคคอมมิวนิสต์จะเป็นผู้เลือกหรือเสนอรายชื่อให้ประชาชนเลือก อนึ่งเนื่องจากรัฐธรรมนูญเวียดนามไม่ได้กำหนดหลักการแบ่งแยกอำนาจไว้ อำนาจสูงสุดจึงรวมศูนย์อยู่ที่สภาแห่งชาติ (National Assembly) ซึ่งมีวาระ 5 ปี มีหน้าที่ นิติบัญญัติ ตัดสินใจนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคม ควบคุมการเงินการคลัง อนุมัติงบประมาณและเป็นที่ปรึกษาให้แก่ รัฐบาล ศาล และอัยการ (People’s Prosecutor) นอกจากนั้นสภาแห่งชาติยังเป็นผู้แต่งตั้งประธานประเทศ รองประธานประเทศ ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี ประธานศาลฏีกาและอัยการสูงสุด ทั้งนี้การดำเนินการและการตัดสินใจในสภาแห่งชาติจะยึดหลักประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ (Democratic Centralism) และตัดสินใจตามหลักเสียงข้างมาก (Majority Voting)
เมื่อพิจารณาถึงระบบศาล เวียดนามจัดอยู่ในระบบศาลคู่ขนาน ประกอบด้วย ศาลฎีกา ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดและศาลแขวง)ศาลทหาร และศาลชำนัญพิเศษอื่นๆ ที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมาย เช่น ศาลอาญา ศาลแพ่ง ศาลเศรษฐกิจ ศาลปกครองและศาลแรงงาน สำหรับระบบกฎหมายนั้น เวียดนามใช้ระบบซีวิลลอว์ (Civil Law) โดยระบบกฏหมายของเวียดนามได้รับอิทธิพลจากระบบกฏหมายคอมมิวนิสต์เเละระบบประมวลกฏหมายของฝรั่งเศส เวียดนามมีประมวลกฎหมายที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่ง ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา ประมวลกฎหมายแรงงาน และประมวลกฎหมายพาณิชย์นาวี อย่างไรก็ดีมีข้อสังเกตว่ากฎหมายที่ใช้ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะถูกบัญญัติในยุค ทศวรรษที่ 1990 หรือหลังจากนั้น เนื่องจากเวียดนามได้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เรียกว่า ดอยหมอย (Doi Moi)ในปี ค.ศ. 1986 พัฒนาการทางเศรษฐกิจส่งผลให้ระบบกฎหมายเวียดนามพัฒนาอย่างรวดเร็วเช่นกัน
ประเทศกัมพูชา
มีรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญมีระบบรัฐบาลแบบรัฐสภา โดยแบ่งแยกอำนาจออกเป็น 3 ฝ่ายด้วยกัน ได้แก่
1. ฝ่ายบริหาร คือพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลและเป็นผู้เสนอชื่อรัฐมนตรีโดยพระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งทำหน้าที่บริหารประเทศ
2. ฝ่ายนิติบัญญัติแบ่งเป็น 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
3. ฝ่ายตุลาการแบ่งเป็น 3 ศาล คือ
- 3.1. ศาลฎีกา
- 3.2. ศาลอุทธรณ์
- 3.3. ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัด และศาลทหาร)
ระบบกฎหมายในประเทศกัมพูชานั้นเป็นการผสมผสานระหว่างจารีตประเพณีดังเดิมกับระบบกฎหมายฝรั่ง โดยในยุคแรกนั้นชาวกัมพูชาใช้ระบบกฎหมายที่มีที่มาจากจารีตประเพณีของศาสนาพุทธและลัทธิขอม ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดถือกัมพูชาเป็นอาณานิคมก็ได้นำระบบกฎหมายซีวิลลอว์ (Civil Law) ที่ใช้แพร่หลายในทวีปยุโรปมาบังคับใช้ จวบจนถึงยุคเขมรแดงเรืองอำนาจก็เปลี่ยนระบบกฎหมายเป็นแบบเผด็จการ (ค.ศ. 1975 -1979) โดยผู้นำเขมรแดงรวบอำนาจไว้ได้อย่างสมบูรณ์ โดยในยุคนี้นักกฎหมายและผู้ประกอบวิชาชีพเกี่ยวกับกฎหมายตกเป็นเป้าหมายการสังหารและการตามล่าจากรัฐบาลเขมรแดงจนเรียกได้ว่าวงการกฎหมายในประเทศกัมพูชาสูญเสียบุคลากรเกือบทั้งหมด จนเมื่อเวียดนามได้เข้าปลดปล่อยกัมพูชา ระบบกฎหมายก็ได้รับการฟื้นฟูกลับมาเป็นซีวิลลอว์แบบฝรั่งเศสอีกครั้ง
สำหรับระบบศาลในประเทศกัมพูชานั้น เป็นระบบกึ่งศาลคู่ ซึ่งมีสภารัฐธรรมนูญ (Constitutional Council) และสภาแห่งผู้มีอำนาจปกครอง ( Supreme Council of Magistracy) แม้ว่าจะจัดตั้งในรูปแบบ “สภา” ซึ่งการจัดตั้งตุลาการในสภาเหล่านี้ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร สภารัฐธรรมนูญและสภาพแห่งผู้มีอำนาจปกครองก็มีอำนาจหน้าที่คล้ายคลึงกับศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองในประเทศไทย
ระบบศาลของกัมพูชาประกอบด้วยศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดและศาลทหาร) และศาลพิจารณาคดีอาชญากรรมร้ายแร้งที่เกิดขึ้นระหว่างสงครามภายใต้ระบอบเขมรแดง (Extraordinary Chamber in the Courts of Cambodia – ECCC) นอกจากนั้นกระทรวงยุติธรรมกับศาลของประเทศกัมพูชามิได้แยกออกเป็นอิสระแก่กัน กระทรวงยุติธรรมกัมพูชามีหน้าที่ตรวจสอบการบังคับคำตัดสินของศาลยุติธรรม เสนอความเห็นแก่ผู้พิพากษาในการบังคับใช้กฎหมายหรือระเบียบที่มีความคลุมเครือ อีกทั้งมีหน้าที่ตรวจสอบร่างกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศ
ประเทศอินโดนิเชีย
ประเทศอินโดนิเซียปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐซึ่งมีหลักการแบ่งแยกอำนาจ มีระบบรัฐบาลแบบประธานาธิบดี กล่าวคือประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขเเละหัวหน้าฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีอินโดนิเซียมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน (ตั้งแต่ปี ค.ศ.2004) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงสองวาระเท่านั้น รัฐธรรมนูญอินโดนิเซียได้กำหนดอย่างชัดแจ้งว่า ประธานาธิบดีจะต้องมีสัญชาติอินโดนิเซียโดยกำเนิด สำหรับอำนาจนิติบัญญัตินั้นจะอยู่ในอำนาจของรัฐสภา รูปรัฐสภาของอินโดนีเซีย แตกต่างไปจากรูปรัฐสภาของประเทศอื่นๆ ที่มีรัฐบาลเเบบเดียวกันทั้งนี้ประเทศอินโดนีเซียมีหลักปกครองที่ยึดถือเป็นสำคัญคือหลักปัญจศีลที่ใช้เป็นหลักของประเทศ ปรากฏในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ สำหรับระบบกฎหมายนั้น เป็นระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร เพราะระบบกฎหมายของอินโดนีเซียนั้นมีรากฐานจากกฎหมายโรมันและกฎหมายดัทช์ และทั้งนี้ยังได้รับอิทธิพลจากกฎหมายธรรมเนียมประเพณี นอกจากนี้อินโดนิเซียยังบังคับใช้หลักกฎหมายอิสลามหรือกฎหมายชารีอะห์นำมาใช้อีกด้วย
ระบบศาลอินโดนิเซียจัดอยู่ในระบบศาลคู่ขนาน ประกอบด้วยศาลฎีกาที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีทั่วไป ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลที่มีเขตอำนาจเฉพาะ ได้แก่ ศาลศาสนา ศาลทหารและศาลปกครอง (Law No.48/2009) ศาลฎีกา (The Supreme Court) มีเขตอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ข้อพิพาท คดีอาญา คดีแพ่ง คดีปกครอง คดีศาสนา คดีกฎหมายทหาร และสามารถวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายของกฎเกณฑ์แห่งกฎหมาย (legality of regulations) นอกจากนั้นยังสามารถให้ความเห็นหรือคำอธิบายทางกฎหมายแก่องค์กรของรัฐ
ประเทศฟิลิปปินส์
มีการปกครองประเทศระบอบประชาธิปไตย แบบสาธารณรัฐ มีระบบรัฐบาลเป็นรูปแบบประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้ง กล่าวคือ เป็นประมุขและผู้นำรัฐบาล ทั้งนี้มีการแบ่งอำนาจอธิปไตย ออกเป็น 3ส่วน คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ จุดที่เป็นที่โดดเด่นของการปกครองประเทศฟิลิปปินส์ คือ การจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ปกครองตั้งแต่ระดับประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี วุฒิสมาชิก จนถึงผู้ปกครองระดับท้องถิ่นบารังไก (Barangay) ซึ่งเป็นหน่วยปกครองเล็กที่สุดเทียบเท่าระดับหมู่บ้าน รัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดมีอิสระในการปกครองตนเองภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย (Department of Interior and Local Government)
สำหรับระบบกฎหมายนั้น ระบบกฎหมายของฟิลิปปินส์เป็นการรวมกันของกฎหมายเเองโกล-อเมริกัน กฎหมายโรมัน กฎหมายสเปนและขนบธรรมเนียมประเพณีของคนพื้นเมือง จนเรียกได้ว่าระบบกฎหมายของประเทศฟิลิปปินส์เป็นระบบผสมระหว่างคอมมอนลอว์และซีวิลลอว์ ส่วนระบบศาลของฟิลิปปินส์ได้รับอิทธิพลจากทั้งสเปนและอเมริกา โดยฟิลิปปินส์แบ่งศาล เป็น 4 ระดับ ได้แก่
1) ศาลระดับท้องถิ่น(Municipal Circuit Trial Court) เป็นศาลซึ่งจะหมุนเวียนกันไปพิจารณาคดี เทศบาลต่างๆโดยรับพิจารณาเฉพาะคดีที่ไม่ยุ่งยากและไม่ร้ายแรงนัก
2) ศาลระดับภูมิภาค มีศาลทั้ง หมด 16 ภาคตามเขตปกครอง เป็นศาลที่พิจารณาคดีที่มีความยุ่งยากหรือมีโทษร้ายแรงกว่าศาลท้องถิ่นและมีอำนาจในการพิจารณาคดีอุทธรณ์จากศาลท้องถิ่น
3) ศาลระดับชาติ เป็นศาลอุทธรณ์และศาลศาสนาอิสลาม ส่วนมากจะรับพิจารณาคดีอุทธรณ์ด้านภาษีและศาลพิจารณาคดีข้าราชการและเจ้าหน้าที่ข้อหาคดีทุจริตคอร์รัปชั่นภายใต้รัฐบัญญัติการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ (Anti-Graft and Corrupt Practices Act) รวมถึงข้อพิพาทเกี่ยวกับกฎหมายอิสลาม
4) ศาลสูง ประกอบด้วยประธานศาลสูงและคณะผู้พิพากษาศาลสูง จำนวน 14 คน รับพิจารณาคดีการเมือง คดีอุทธรณ์ คดีฎีกา รวมถึงคดีที่มีความสำคัญระดับประเทศ เช่น การสั่งถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งรวมทั้งพิพากษาคดีข้อโต้แย้งต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีหรือกรณีอื่นๆ ที่เกี่ยวกับประธานาธิบดีตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือระงับการประกาศใช้กฎอัยการศึก เป็นต้น นอกจากนียั้งพิจารณาอุทธรณ์ต่างๆ ที่มาจากศาลอุทธรณ์
ประเทศสิงคโปร์
มีระบบการปกครองประชาธิปไตย ซึ่งเหมือนไทย เเต่ต่างกันตรงที่ประเทศสิงคโปร์มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ซึ่งเป็นเชิงสัญลักษณ์เเละนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร รัฐธรรมนูญเเบ่งอำนาจอธิปไตยเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการเเละฝ่ายนิติบัญญัติ สำหรับระบบกฏหมายนั้น ประเทศสิงคโปร์ใช้ระบบจารีตประเพณี (Common Law) ซึ่งยึดคำพิพากษาเป็นสำคัญ เป็นเเนวทางในการตัดสินคดีอื่นๆ ในอดีตสิงค์โปรเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมช่องแคบมะละกา (The Straits Settlements) เช่นเดียวกับเมืองมะละกาและเกาะปีนังของมาเลเซีย โดยพื้นที่ทั้งสามส่วนนี้อยู่ภายใต้การปกครองของบริซติสอินเดีย ๖(British India) ดังนั้นกฎหมายคอมมอนลอว์ของอังกฤษจึงถูกบังคับใช้ในสิงคโปร์เหมือนกับอินเดียตั้งแต่ ค.ศ. 1826 จะมีสลับไปใช้ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ญี่ปุ่นก็เพียงช่วงที่ถูกญี่ปุ่นยึดครองระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ( ค.ศ. 1942-1945)
สิงคโปร์ใช้ระบบศาลเดี่ยว แบ่งออกเป็น ศาลฎีกา (The Supreme Court) ซี่งประกอบด้วยศาลอุทธรณ์ (Court of Appeal) ศาลสูง (High Court) และ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (The Constitutional Tribunal) และศาลชั้นต้น (The Subordinate Courts) ซึ่งประกอบด้วย ศาลจังหวัด ศาลแขวง ศาลเยาวชน ศาลโคโรเนอร์ (Coroners Courts)
ประเทศบรูไน
ประเทศบรูไนมีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจ กล่าวคือ สมเด็จพระราชาธิบดีเป็นผู้ปกครองประเทศเเละมีอำนาจสูงสุดเเต่เพียงผู้เดียว อำนาจอธิปไตยรวมอยู่ที่สมเด็จพระราชาธิบดี ทั้งในด้านนิติบัญญัติเเละบริหาร กล่าวคือ ในด้านนิติบัญญัติ ทรงมีพระราชอำนาจออกกฏหมายเเละเเก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ในด้านบริหาร ทรงดำรงตำเเหน่งนายกรัฐมนตรีเเละทรงมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ส่วนอำนาจตุลาการอยู่ที่ศาลสูงสุด เเต่ยังคงมีพระราชอำนาจชี้ขาดในคดีต่างๆได้ สำหรับระบบกฎหมายนั้น ประเทศบรูไนใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) ตามแบบประเทศอังกฤษ และกฎหมายอิสลาม หรือ กฎหมายชารีอะฮ์ซึ่งเป็นกฎหมายที่ลงโทษโดย ยึดหลักแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน เช่น การตัดเเขนผู้ที่ขโมย การประหารชีวิตผู้ที่ผิดประเวณีด้วยการปาก้อนหิน เป็นต้น
ประเทศพม่า
มีการปกครองแบบกึ่งสาธารณรัฐ กึ่งสหพันธรัฐ โดยรูปแบบรัฐบาลนั้น คือ ระบบประธานาธิบดี ซึ่งมีฐานะเป็นทั้งประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล โดยรัฐธรรมนูญของพม่า แบ่งอำนาจอธิปไตยเป็น 3 ฝ่าย คือ สภานิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ สำหรับระบบกฎหมายนั้นประเทศพม่ามีระบบกฎหมายที่มีเอกลักษณ์เนื่องจากเป็นการผสมผสานกันระหว่างจารีตประเพณีในกฎหมายครอบครัว ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์จากอิทธิพลของอังกฤษ และกฎหมายใหม่ของประเทศ โดยจะสังเกตได้ว่ามีกฎหมายของอังกฤษที่มีอิทธิพลอยู่ในพม่า อาทิกฎหมายว่าด้วยอายุความ กฎหมายอนุญาโตตุลาการ กฎหมายบริษัท กฎหมายว่าด้วยนิติกรรมสัญญา กฎหมายพยาน กฎหมายตั๋วเงิน กฎหมายว่าด้วยการซื้อ ขาย กฎหมายทรัพย์ กฎหมายทรัสต์ และกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หากเป็นกรณีที่ศาลไม่สามารถหากฎหมายมาบังคับได้ ศาลยุติธรรมในประเทศพม่าจะใช้กฎหมายทั่วไปของพม่าซึ่งมีรากฐานมาจากระบบคอมมอนลอว์ของประเทศอังกฤษมาวางหลักกฎหมายและพิพากษาคดีนั้นๆ รัฐธรรมนูญพม่าปี ค.ศ. 2008 มาตรา 293 กำหนดให้ศาลในประเทศพม่าประกอบไปด้วยศาลยุติธรรม ศาลทหาร และศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ศาลยุติธรรมนั้น ประกอบไปด้วยศาลต่างๆตามลำดับขั้นดังต่อไปนี้ ศาลฎีกาแห่งสหภาพพม่า (The Supreme Court of the Union of Myanmar) ศาลสูงแห่งสหภาพพม่าหรือศาลสูงแห่งรัฐ (The High Court of the Region or the State) ศาลปกครองตนเองภาค (Court of Self-Administered Division) ศาลปกครองตนเองพื้นที่ (Court of Self-Administered Zone) ศาลจังหวัด(District Courts) ศาลแขวง (Township Courts) ศาลอื่นๆที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย (Other Courts established by Law)
ประเทศลาว
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมีการปกครองในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ โดยมีพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นองค์กรที่มีบทบาทที่สำคัญที่สุดในการปกครองประเทศ มีการบริหารงานตามหลักการประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์อำนาจ และพิจารณาข้อตัดสินใจหรือ “บันหา” ตามหลักการเสียงข้างมาก (Majority Vote)
ลาวมีองค์กรบริหารประเทศ 4 องค์กรหลัก ได้แก่ สภาแห่งชาติ คณะรัฐบาล ศาลประชาชน และองค์การอัยการประชาชนฝ่ายนิติบัญญัติลาวคือ สภาแห่งชาติ ซึ่งเป็นสภาเดี่ยว (unicameral) มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นผู้คัดเลือกและส่งผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง นอกจากนั้นสภาแห่งชาติยังเป็นองค์กรบริหารที่มีอำนาจสูงสุด โดยฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการจะขึ้นตรงกับสภาแห่งชาตินี้ ฝ่ายบริหาร มีประธานประเทศเป็นประมุข เป็นฝ่ายตุลาการ มีศาลประชาชนสูงสุด สำหรับระบบกฎหมายนั้น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวใช้กฏหมายพื้นฐานจากประเพณี ขนบธรรมเนียมฝรั่งเศส และแนวทางปฏิบัติแบบสังคมนิยม ระบบศาลของประเทศลาวประกอบด้วย ศาลประชาชนสูงสุด ศาลอุทธรณ์ ศาลประชาชนแขวง ศาลประชาชนเมือง และศาลทหาร องค์กรตุลาการแยกออกจากกระทรวงยุติธรรมเมื่อปี ค.ศ. 2003 อย่างไรก็ดีผู้พิพากษายังมาจาการแต่งตั้งของคณะประจำสภาแห่งชาติตามการเสนอของศาลประชาชนสูงสุด
เอกสารอ้างอิง
ชัยโชค จุลศิริวงศ์. พรรคการเมืองมาเลเซีย.ใน พรรคการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ศึกษาเฉพาะประเทศอินโดนิเชีย ฟิลิปปินส์ ไทย และมาเลเซีย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย., 2545.
ธานินทร์ กรัยวิเชียร.ระบบกฎหมายอังกฤษ. กรุงเทพฯ:คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย., 2529.
นิชานท์ สิงหพุทธากูร. สภาพการเมืองการปกครอง:ระบอบการปกครอง.ในระบบการปกครองท้องถิ่นของประเทศเนอการาบรูไนดารุสลาม .กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า.,2556.
วรทัศน์ วัชรวสี. สาธารณรัฐอินโดนีเซียใน ประชาชาติอาเซียน. กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.,2533.
วิษณุ เครืองาม. ระบบรัฐบาล.ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แสวงสุทธิการพิมพ์.,2530.
สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม.ความสอดคล้องของกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ระบบงานและแนวทางปฏิบัติของกระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบงานยุติธรรมของประเทศไทย กับกระทรวงยุติธรรม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบงานยุติธรรมของประเทศอื่นๆในอาเซียน. กรุงเทพฯ : พีเอส พริ้นติ้ง แอนด์ดีไซน์.
หยุด แสงอุทัย. การแบ่งประเภทวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป :การแบ่งในระบบ Civil Law.ในความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป. กรุงเทพฯ :บริษัทฐานการพิมพ์จำกัด., 2555.
International Cooperation Study Center Thammasat University.2014. “ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย” , International Cooperation Study Center Thammasat University. http://www.apecthai.org/apec/th/profile1. (Accessed May 29,2014)
Jennifer Holligan and Tarik Abdulhak, “Overview of the Cambodia History, Governance and Legal Sources”, GlobalLex, http://www.nyulawglobal.org/globalex/cambodia.htm#cambodiaslegal (Accessed June 9, 2014).
Thai Embassy Brunei.2014. บรูไนนำกฎหมายอาญาอิสลามมาบังคับใช้ในประเทศ ควบคู่ไปกับกฎหมายพลเรือน . Thai Embassy Brunei. http://www.thaiembassybrunei.org(accessed May 29,2014)