ระบบพรรคเดี่ยวครอบงำการเมือง
ผู้เรียบเรียง ชัยวัฒน์ ม่านศรีสุข และ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
Dominant party system or One-party dominance
ระบบพรรคการเมืองที่มีพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งสามารถชนะการเลือกตั้งได้เสียงข้างมากเด็ดขาดสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว หรือได้เสียงข้างมากมากพอที่จะเป็นแกนนำที่มีอำนาจต่อรองสูงมากในการจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคการเมืองขนาดเล็กได้ ระบบพรรคเด่นพรรคเดียวมีความแตกต่างจากระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว (single-party system) ตรงที่ในระบบพรรคการเมืองพรรคเดียวจะปรากฎในประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการที่รัฐบาลเผด็จการไม่อนุญาตให้มีพรรคการเมืองอื่นๆ ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองนอกจากพรรคการเมืองของรัฐบาล แต่ในประเทศที่มีระบบพรรคเดี่ยวครอบงำทางการเมือง ในบางประเทศอาจมีลักษณะเป็นแบบกึ่งเผด็จการหรือเผด็จการแบบอ่อน (soft authoritarian) ซึ่งอนุญาตให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นนอกเหนือจากพรรคการเมืองรัฐบาลเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แต่อาจมีกฏระเบียบต่างๆ ที่ไม่เอื้ออำนวยหรือสร้างอุปสรรคต่อความสามารถในการแข่งขันในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองเหล่านั้น แต่ในบางประเทศมีระบบการเมืองที่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยที่เปิดให้มีการแข่งขันทางการเมืองอย่างเสรี
ตัวอย่างของประเทศที่มีระบบพรรคการเมืองแบบพรรคเดี่ยวครอบงำทางการเมืองในปัจจุบันได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย กัมพูชา อียิปต์ แคเมรูน เป็นต้น
องค์ประกอบของระบบพรรคการเมืองแบบพรรคเดี่ยวครอบงำทางการเมือง
- T.J. Pempel นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมืองญี่ปุ่นได้สรุปองค์ประกอบของระบบพรรคการเมืองแบบพรรคเดี่ยวครอบงำทางการเมืองไว้ 4 ประการคือ[1]
ประการแรก จะต้องมีความ “ครอบงำ” ในเชิงปริมาณ/จำนวน นั่นคือ จะต้องได้รับชัยชนะและได้รับจำนวนที่นั่งในรัฐสภามากกว่าคู่แข่งมากอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ ควรจะต้องได้รับเสียงข้างมากเกินครึ่งหนึ่ง หรือมากพอที่จะทำให้พรรคการเมืองในอันดับที่สองและอันดับที่สามมีนัยสำคัญทางการเมืองน้อยมาก
ประการที่สอง พรรคการเมืองนั้นจะต้องมีอำนาจในการเจรจาต่อรองที่ “ครอบงำ” นั่นคือ แม้ว่าพรรคจำเป็นจะต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคการเมืองเล็กๆ แต่พรรคจะต้องมีอำนาจในการต่อรองสูง/เหนือกว่าพรรคการเมืองเล็กๆ เหล่านั้น
ประการที่สาม พรรคการเมืองนั้นจะต้อง “ครอบงำ” อำนาจในฐานะรัฐบาลอย่างต่อเนื่องยาวนาน (dominant chronologically) การที่จะจัดเป็นระบบพรรคเดี่ยวครอบงำได้ พรรคการเมืองที่เป็นพรรคเดี่ยวครอบงำนั้นจำเป็นต้องมีประวัติการครองอำนาจอย่างต่อเนื่องยาวนานพอสมควร แม้ว่าจะไม่มีเกณฑ์ที่แน่ชัดว่าจะต้องต่อเนื่องยาวนานแค่ไหนจึงจะจัดว่าเป็นระบบพรรคเดี่ยวครอบงำ แต่แน่นอนว่า คงไม่ใช่พรรคการเมืองที่ประสบความสำเร็จในการได้เสียงข้างมากล้นเหลือและครองอำนาจได้เพียงปีหรือสองปีเท่านั้น ตัวอย่างเช่น พรรคเสรีประชาธิปไตยของญี่ปุ่นสามารถครอบความเป็นพรรคเด่นพรรคเดียวได้ยาวนานถึง 38 ปี เป็นต้น
ประการสุดท้าย พรรคเดี่ยวครอบงำจะต้อง “ครอบงำ” ในเชิงการบริหารปกครอง พรรคการเมืองนี้จะต้องมีความสามารถในการสร้างนโยบายและกำหนดทิศทางของการบริหารเชิงนโยบายของประเทศได้ เนื่องจากพรรคการเมืองนั้นจะใช้นโยบายเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจ โดยกำหนดนโยบายในลักษณะที่ดึงดูดใจผู้ลงคะแนนเสียงที่สนับสนุนพรรค
ในประเทศที่มีระบบพรรคการเมืองแบบพรรคเดี่ยวครอบงำ ภาพที่ปรากฏมักจะเปิดให้มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างเสรี นั่นคือ พรรคการเมืองที่มิใช่พรรครัฐบาลได้รับอนุญาตให้มีอยู่ได้และดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งผู้สมัครลงแข่งขันในการเลือกตั้งทั่วไป อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครของพรรคการเมืองเหล่านี้มักไม่ได้รับการเลือกตั้ง เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันหรือหาเสียงสนับสนุนจากผู้ลงคะแนนเสียงได้มากเท่ากับผู้สมัครจากพรรครัฐบาล
การเกิดขึ้นของระบบพรรคการเมืองแบบพรรคเดี่ยวครอบงำ
การเกิดขึ้นของระบบพรรคการเมืองแบบพรรคเดี่ยวครอบงำมีสาเหตุมาจากหลายประการ ซึ่งอธิบายโดยสรุปได้ดังนี้
ประการแรก พรรคการเมืองอื่นเสียเปรียบพรรครัฐบาล เนื่องจากขาดผลงานหรือผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมที่จะสามารถดึงดูดใจผู้ลงคะแนนเสียง ขณะที่พรรครัฐบาลในระบบพรรคเดี่ยวครอบงำจะอาศัยความเป็นรัฐบาลในการสร้างนโยบายสาธารณะที่ดึงดูดใจผู้ลงคะแนนเสียงในวงกว้าง ซึ่งอาจอยู่ในรูปของนโยบายประชานิยม หรืออาจสร้างนโยบายที่ให้ประโยชน์แก่กลุ่มเฉพาะที่เป็นผู้สนับสนุนทางการเมืองของพรรค ตัวอย่างเช่น พรรคเสรีประชาธิปไตยของญี่ปุ่น จะมีนโยบายที่ให้ประโยชน์แก่กลุ่มผู้สนับสนุนเฉพาะของตน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มอุตสาหกรรรมขนาดกลางและเล็ก และกลุ่มผู้ลงคะแนนเสียงในเขตเลือกตั้ง เป็นต้น
ประการที่สอง ความไม่สมดุลของการแบ่งเขตเลือกตั้ง ตัวอย่างเช่น ในกรณีของญี่ปุ่น การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบไม่สมดุล หรือผิดสัดส่วน (mal-apportionment) เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลให้พรรคเสรีประชาธิปไตยได้เปรียบในการเลือกตั้ง การจัดสัดส่วนของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปกระจุกตัวอยู่ในเขตพื้นที่ชนบทมากเกินจริง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว กระบวนการกลายเป็นเมืองอันเป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่รวดเร็วได้ทำให้เกิดการอพยพของประชากรในเขตชนบทเข้าไปสู่เขตเมือง แต่การจัดสัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเมืองเพิ่มขึ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรในเขตเมือง ดังนั้น พรรคเสรีประชาธิปไตยจึงได้เปรียบเนื่องจากฐานเสียงของพรรคส่วนใหญ่ได้แก่ผู้ลงคะแนนเสียงที่อาศัยอยู่ในเขตชนบทเป็นหลัก
ประการสุดท้าย พรรคเดี่ยวครอบงำอาจอาศัยอำนาจรัฐในการสร้างเงื่อนไขซึ่งลดทอนโอกาสของพรรคการเมืองอื่นในการแข่งขันทางการเมือง ในบางประเทศอาจมีการห้ามหรือมีข้อจำกัดในการมีการปราศรัยที่เสรี หรืออาจมีการฟ้องร้องพรรคการเมืองฝ่ายค้าน[2] ตัวอย่างเช่น ในประเทศสิงคโปร์ ผู้นำของพรรคการเมืองฝ่ายค้านถูกฟ้องร้องให้กลายเป็นบุคคลล้มละลาย ในขณะที่กฎหมายของสิงคโปร์ห้ามมิให้บุคคลล้มละลายลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น
สำหรับปัญหาสำคัญที่อาจเกิดขึ้นกับระบบพรรคเดี่ยวครอบงำทางการเมืองได้แก่ ปัญหาเรื่องการขาดฝ่ายค้านที่จะสามารถตรวจสอบการทานของพรรครัฐบาล อย่างที่ปรากฏในบางประเทศที่มีระบบพรรคเดี่ยวครอบงำ ได้มีการตั้งคำถามถึงความเป็นประชาธิปไตยของประเทศเหล่านั้น โดยเฉพาะในประเทศที่พรรครัฐบาลสามารถใช้อำนาจรัฐในการสกัดกั้นความสามารถในการแข่งขันของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน
อ้างอิง
- ↑ T.J. Pempel, “Introduction: Uncommon Democracies: The One-Party Dominant Regimes,” in Uncommon Democracies: The One-Party Dominant Regimes, (Ithaca and London: Cornell University Press, 1990), pp. 3-4
- ↑ “Dominant-party system” (Retrieved from http://en.wikipedia.org/wiki/Dominant-party_system 1 December 2008)