พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

 ผู้เรียบเรียง : ฐิติกร สังข์แก้ว

 ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ :  ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร


พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ

ความนำ

        พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ หรือพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายที่ถูกตราขึ้นโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดที่มีศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธานฯ และมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของการตราพระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าว พบว่าเพื่อต้องการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะให้มีความเป็นรูปธรรมและให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งไทยเป็นภาคี[1] อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะในบริบทของประเทศไทยนั้นได้มีความพยายามผลักดันมาอย่างยาวนานโดยเห็นว่าควรมีข้อกำหนด ข้อปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะไว้ในกฎหมายเป็นการเฉพาะซึ่งหัวใจสำคัญคือให้การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกฝ่ายทั้งกลุ่มผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ภาครัฐ รวมทั้งผู้อื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองนั้นๆ

 

แนวคิดพื้นฐานของการชุมนุมสาธารณะ

        เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ (public meeting) ถือเป็นเสรีภาพประการหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยซึ่งรัฐจะต้องบัญญัติรับรองไว้ในระดับรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังมีสถานะเป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้กำหนดกรอบแนวทางไว้เป็นหลักปฏิบัติทั่วไปดังปรากฏในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชาติของสหประชาชาติ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นต้น ซึ่งลักษณะการชุมนุมสาธารณะที่ถูกบัญญัติรับรองไว้นั้นจะต้องมีลักษณะเป็นการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธเป็นประการสำคัญ

        เมื่อพิจารณาถึงนิยามความหมายของเสรีภาพในการชุมนุมพบว่ามีการให้นิยามไว้หลากหลาย เช่น หมายถึงเสรีภาพที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยที่บุคคลจะมาพบปะ (Meeting) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือเรื่องใดๆ ก็ตาม[2] หรือ หมายถึงการเข้ามารวมอยู่ชั่วครั้งชั่วคราวของบุคคลหลายคนเพื่อสนทนาหรือโต้แย้งเรื่องใดๆ การรวมกันเช่นนี้จะมีความผิดก็ต่อเมื่อมีความประสงค์ผิดกฎหมาย[3] หรือการนิยามว่าเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพราะประชาชนจะมาชุมนุมรวมกลุ่มกัน เพื่อแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ[4] เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงลักษณะเสรีภาพในการชุมนุมนั้นพบว่าเป็นเสรีภาพประกอบสร้างมาจากเสรีภาพพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งเป็นเสรีภาพพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย[5] ทั้งนี้ ยังมีลักษณะเป็นสิทธิสัมพันธ์ (relative right) ไม่ใช่สิทธิอันเด็ดขาด (absolute right) กล่าวคือ สิทธิในการชุมนุมอาจจะถูกจำกัดลงได้ตามกฎหมายกำหนด เช่น ในภาวะสงคราม หรือสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 63 ซึ่งได้สะท้อนหลักการไว้อย่างชัดเจน[6]

 

สาระสำคัญของ พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ

        สำหรับสาระสำคัญซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการจัดกิจกรรมการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 นั้น จะต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ทั้งนี้ การใช้ดำเนินกิจกรรมใดๆ ของผู้ชุมนุมจะต้องภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย (มาตรา 6) ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาโครงสร้างของพระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าวพบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 35 มาตรา 5 หมวด  หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 การแจ้งการชุมนุมสาธารณะ หมวด 3 หน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม หมวด 4 การคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการดูแลการสาธารณะ และหมวด 5 บทกำหนดโทษ อย่างไรก็ตาม สามารถสรุปประเด็นสำคัญๆ ได้ดังนี้

        1. การนิยามความหมาย พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ได้บัญญัติความหมายคำว่าการชุมนุมสาธารณ ไว้ว่า “การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่” (มาตรา 4 วรรค 1)

        2. สถานที่ชุมนุม ห้ามจัดการชุมนุมในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาท หรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตำหนัก หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพำนัก หรือสถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ รวมทั้งภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาล เว้นเสียแต่จะมีการจัดสถานที่การชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่เป็นการเฉพาะ (มาตรา 7)

        3. การขออนุญาตการชุมนุมสาธารณะ ผู้ประสงค์จะดำเนินการจัดการชุมนุมสาธารณะจะต้องแจ้งต่อหัวหน้าสถานีตำรวจในพื้นที่นั้นๆ ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง (มาตรา 10)

        4. ข้อห้ามสำหรับการชุมนุมสาธารณะ การจัดการชุมนุมสาธารณะใดๆ นั้นจะต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธซึ่งผู้ชุมนุมมีหลักปฏิบัติ เช่น ไม่ทำกระทำการอันใดให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ไม่พกพาอาวุธ ไม่ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญผู้อื่นให้ได้รับอันตรายหรือถึงแก่ชีวิต ไม่บุกรุกหรือทำลายซึ่งทรัพย์สิน ไม่ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งดูแลความสงบเรียบร้อยของการชุมนุมสาธารณะ และไม่เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่างเวลา 18.00 น. – 06.00 น. เป็นต้น (มาตรา 16) ทั้งนี้ การชุมนุมสาธารณะจะต้องไม่กีดขวางหรือมีลักษณะเป็นการขัดขวางการปฏิบัติในสถานที่ดังนี้ เช่น สถานที่ราชการ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานศึกษา เป็นต้น (มาตรา 8)

        5. ข้อยกเว้นในการบังคับใช้กฎหมาย ข้อกำหนดต่างๆ ภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ห้ามบังคับใช้กับกรณีดังนี้ เช่น การชุมนุมเนื่องในงานพระราชพิธี การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การจัดแสดงมหรสพ การกีฬา การประชุมทางวิชาการ เป็นต้น (มาตรา 3)

        6. บทกำหนดโทษ สำหรับบทกำหนดโทษในกรณีที่มีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มีอยู่ด้วยกันหลายสถานที่สำคัญ เช่น ผู้จัดการชุมนุมไม่ได้แจ้งว่าจะมีการชุมนุมสาธารณะต่อเจ้าหน้าที่มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท การชุมนุมสาธารณะในสถานที่ต้องห้าม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  ผู้ชุมนุมดำเนินการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาทิ การพกพาอาวุธ มีการบุกรุก มีการทำให้เกิดความกลัว ทำอันตรายต่อสิทธิเสรีภาพ ใช้กำลังประทุษร้ายต่อร่างกาย ฯลฯ มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น (ดูบทกำหนดโทษโดยละเอียด มาตรา 27-35)

        ดังนั้น จะเห็นว่าโดยหลักการใหญ่แล้ว พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายที่มุ่งหมายในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ กระบวนการต่างๆ สำหรับการชุมนุมสาธารณะของสังคมไทยให้มีความเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 คือผลของการอนุวัติการหลักนามธรรมเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะให้อยู่ในกฎหมายลำดับรองเป็นการเฉพาะเพื่อมุ่งคุ้มครองและรับรองสิทธิเสรีภาพของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นประการสำคัญ

 

กระแสวิพากษ์วิจารณ์

       อันเนื่องด้วยเหตุที่ว่าการชุมนุมสาธารณะเป็นเสรีภาพประการสำคัญในระบอบประชาธิปไตยและอาจถือเป็นป้อมปราการสุดท้ายของปัจเจกบุคคลที่จะใช้สำหรับการ “ต่อต้าน” อำนาจรัฐ ภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องเป็นไปอย่างสงบและปราศจากอาวุธซึ่งนานาอารยประเทศล้วนให้การรับรองเสรีภาพส่วนนี้ไว้ อย่างไรก็ตาม ควรกล่าวไว้เป็นสำคัญด้วยว่า โดยธรรมชาติของการชุมนุมสาธารณะแล้ว ไม่ว่าจะมีเหตุปัจจัยมาจากเรื่องทางการเมือง หรือเหตุอื่นๆ ย่อมนำไปสู่การกระทบสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องการชุมนุมนั้นๆ ไม่มากก็น้อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ว่าการดำเนินกิจกรรมเหล่านั้นจะเป็นไปอย่างสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ อาทิ การเดินขบวนประท้วงบนท้องถนน หรือการดำเนินกิจกรรมบนพื้นที่สาธารณะ ย่อมส่งผลกระทบต่อบุคคลซึ่งจำเป็นต้องเดินทางสัญจรหรือใช้สอยประโยชน์จากพื้นที่เหล่านั้น ดังนั้น ในเบื้องต้น ไม่ว่าจะมีกฎหมายที่ส่งเสริม ควบคุม หรือ จัดระเบียบการใช้เสรีภาพสำหรับการชุมนุมสาธารณะขึ้นมาบังคับใช้หรือไม่ก็ตาม ในแง่ของการดำเนินชีวิตตามปกติของปัจเจกบุคคล รวมทั้งสิทธิเสรีภาพของผู้ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องย่อมถูกรบกวนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้การชุมนุมสาธารณะไม่มีลักษณะเป็นการใช้ “สิทธิเกินส่วน” จนกระทบกระทั่งต่อบุคคลอื่นและสังคมส่วนร่วมมากเกินความเหมาะสม

        อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในบริบทของประเทศไทย ภายหลังมีกระแสว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีความพยายามบัญญัติ (ร่าง) พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... เพื่อบังคับใช้ได้มีกระแสกล่าวถึงประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวาง เหตุผลสำคัญอันเนื่องมาจากบริบททางการเมืองไทยในภาวะปัจจุบันที่อยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติประกอบกับในห้วงทศวรรษที่มารัฐไทยได้เผชิญกับการชุมนุมขนาดใหญ่ของกลุ่มก้อนทางการเมืองสลับสับเปลี่ยนเรื่อยมา ด้วยบทเรียนทางการเมืองของรัฐไทยที่ว่านี้ จึงมีความกังวลจากหลายฝ่ายว่าสุดท้ายแล้ว พระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าวมีเจตนารมณ์ซ่อนเร้นที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพและห้ามปรามการชุมนุมสาธารณะมากกว่าการส่งเสริมและคุ้มครอง

        อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมทัศนะความเห็นจากทุกฝากฝั่งของประชาชาติธุรกิจออนไลน์[7] พบว่ามีความคิดเห็นต่อพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ที่หลายหลาก เช่น พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เห็นว่าพระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าวจะช่วยอำนวยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีตที่ผ่านมาเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ด้านนายถาวร เสนเนียม มีความเห็นว่าพระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าวมีปัญหาที่สำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก ประเด็นเรื่องการกำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมหรือแกนนำการชุมนุมต้องรับผิดชอบทางอาญาหากมีการกระทำผิดของผู้ชุมนุมอันเนื่องด้วย นายถาวรมองว่าการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่มีผู้เข้าร่วมเป็นหลักหมื่นหลักแสนนั้น ในทางปฏิบัติแกนนำจะสามารถควบคุมดูแลความเรียบร้อยได้อย่างไร ? ประการถัดมา ประเด็นเรื่องดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้มีการจัดการชุมนุมสาธารณะ เพราะหากเจ้าหน้าที่มีดุลยพินิจไม่ให้จัดการชุมนุม คำถามที่สำคัญ ประชาชนจะทำอย่างไร? อันเนื่องด้วยพระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าวไม่เปิดช่องทางให้สามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ ดังนั้น จะเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นกดทับให้การชุมนุมสาธารณะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในทางปฏิบัติแม้แต่น้อย

        ในขณะเดียวกัน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.  เห็นว่าในทางปฏิบัติย่อมบังคับใช้พระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าวได้ยาก โดยยกตัวอย่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเพื่อระงับการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. สุดท้ายกลไกทางกฎหมายก็ไม่มีสภาพบังคับ 

        สำหรับความเห็นทางด้านวิชาการ เช่น รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่าพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายที่ไม่ได้ตระหนักถึงการใช้สิทธิเสรีภาพโดยแท้จริงอันเนื่องด้วยพระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าวมุ่งหมายที่จะบังคับใช้กับกรณีการชุมนุมทางการเมืองเป็นหลัก แต่กระนั้นก็ดี มีความกังวลว่าการบังคับใช้จะครอบคลุมไปถึงการชุมนุมขนาดเล็ก เช่น การชุมนุมของกลุ่มเกษตร กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีปัญหาในด้านอื่นๆ เช่น การนิยามการชุมนุมสาธารณะที่ไม่มีความหลากหลาย ปัญหาอำนาจในการวินิจฉัยอนุญาตการชุมนุมสาธารณะ รวมทั้งโทษอาญาที่จะตามมา ด้วยเหตุนี้ รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล จึงเห็นว่าในอนาคตพระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าวจะนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองนานัปการ ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จันทจิรา เอี่ยมมยุรา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกับรองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวคือ มองว่าพระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าวมีความแข็งกร้าวเกินไปอันเนื่องด้วยไม่รองรับสิทธิเสรีภาพการแสดงของการชุมนุมขนาดเล็กที่ต้องการแสดงออกในช่วงเวลาสั้นๆ  

        จากการทบทวนไปข้างต้นจะเห็นว่าภาครัฐมองประเด็นเรื่องการอำนวยประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่จะเกิดขึ้นจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แต่ในขณะเดียวกัน ฝากฝั่งผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะรวมทั้งภาควิชาการกลับมองว่าพระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ยิ่งไปกว่านั้น จะทำให้การชุมนุมสาธารณะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติ

 

นัยยะสำคัญต่อการเมืองไทย

        การบัญญัติพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เพื่อบังคับใช้เป็นการเฉพาะนั้นนอกจากจะเป็นการอนุวัติการหลักทั่วไปเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะให้มีความเป็นรูปธรรมขึ้นแล้ว ยังถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในทางการเมืองและกฎหมายของประเทศไทยอีกด้วย กล่าวคือ ก่อนหน้านี้ รัฐไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือการประท้วงทางการเมืองแค่เพียงรัฐธรรมนูญเพียงเท่านั้น และจะมีการเทียบเคียงบังคับใช้กฎหมายฉบับอื่นๆ กับกรณีการชุมุนมหรือการประท้วงทางการเมืองโดยสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ลักษณะตามสถานการณ์ คือ กฎหมายในสถานการณ์ปกติ (เช่น พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 เป็นต้น)และ กฎหมายในสถานการณ์ไม่ปกติ (กฎหมายความมั่นคงทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551) ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะดังกล่าวย่อมขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในแต่ละฉบับและมุ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะอย่างสิ้นเชิง[8]

        ดังนั้น หากพิจารณาในเชิงกายภาพและโครงสร้างของระบบกฎหมายพบว่าการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะเพื่อบังคับใช้เป็นการเฉพาะนั้นย่อมสะท้อนให้เห็นพัฒนาการที่สำคัญของระบบการเมืองในแง่ที่ว่ารัฐได้ตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่กระนั้นก็ดี สิ่งที่ต้องพิจารณากันต่อไปในอนาคตคือการบังคับใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558  จะเป็นไปในทิศทางใด? จะสามารถคุ้มครองการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะของประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน? และจะสามารถจรรโลงระบอบประชาธิปไตยไทยในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่?

 

บรรณานุกรม

 

““นักการเมือง-อจ.” วิพากษ์ กม.การชุมนุมในที่สาธารณะ.” ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. (16 กรกฎาคม 2558). เข้าถึงจาก <http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1437022746>. เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559.

“พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558." ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 132 ตอนที่ 63ก. 14 กรกฎาคม 2558.

ไพโรจน์ ชัยนาม. (2549). คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ: อักษรนิติ.

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก. 24 สิงหาคม 2550.

วินิจ เจริญชัยยง. (2539). “กฎหมายเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ.” วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วิษณุ เครืองาม. (2524). “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น.” วารสารนิติศาสตร์. 11. (5), 570-571.

สราวุธ ทับทอง. (2559). “บทความวิจัย สถานการณ์ฉุกเฉินและความรุนแรง: ศึกษาความเหมาะสมสำหรับการ ควบคุมและจัดการการชุมนุมประท้วงของภาครัฐในช่วง พ.ศ.2552-2553.” รัฐศาสตร์สาร. 37. (1), 139-142.

หยุด แสงอุทัย. (2512). คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511. กรุงเทพฯ: นำเซียการพิมพ์.

 

อ้างอิง


[1] โปรดดู “หมายเหตุ” ใน “พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 132 ตอนที่ 63ก, 14 กรกฎาคม 2558, หน้า 29.

[2] หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511, (กรุงเทพฯ: นำเซียการพิมพ์,2512), หน้า 54.

[3] ไพโรจน์  ชัยนาม, คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ, (กรุงเทพฯ: อักษรนิติ, 2549), หน้า 461.

[4] วิษณุ เครืองาม, “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น,” วารสารนิติศาสตร์, 11, (5) (2524), 570-571.

[5] เสรีภาพพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยมีทั้งหมด 6 ประการ คือ (1) เสรีภาพในการแสดงออก (2) เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (3) เสรีภาพในการพูด (4) เสรีภาพในการเดินทาง (5) เสรีภาพในการพิมพ์ และ (6) เสรีภาพในการเลือกตั้ง โปรดดู วินิจ  เจริญชัยยง, “กฎหมายเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ,” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539), หน้า 10-11.

[6] มาตรา 63 บัญญัติว่า  “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

การจำกัดสิทธิเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะและเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก” ใน “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก, 24 สิงหาคม 2550.

[7] ““นักการเมือง-อจ.” วิพากษ์ กม.การชุมนุมในที่สาธารณะ,” ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, (16 กรกฎาคม 2558). เข้าถึงจาก <http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1437022746>. เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559.

[8] โปรดดูสภาพปัญหาการเทียบเคียงบังคับใช้กฎหมายกับกรณีการชุมนุมหรือการประท้วงทางการเมืองอย่างละเอียดใน สราวุธ ทับทอง, “บทความวิจัย สถานการณ์ฉุกเฉินและความรุนแรง: ศึกษาความเหมาะสมสำหรับการควบคุมและจัดการการชุมนุมประท้วงของภาครัฐในช่วง พ.ศ. 2552-2553,” รัฐศาสตร์สาร, 37, (1) (มกราคม - เมษายน 2559), 139-142.