พันธมิตรชานม (Milk Tea Alliance)
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุทธิกานต์ มีจั่น
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
“พันธมิตรชานม” (Milk Tea Alliance) หมายถึง พันมิตรไซเบอร์ข้ามพรมแดน ที่ประกอบด้วยแนวร่วมก่อตั้ง 3 ประทศ ได้แก่ ประเทศไทย ฮ่องกง และไต้หวัน จากนั้นตามมาด้วยอินเดียและพม่า พร้อมด้วยแรงสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ในอีกหลายชาติเอเชีย ถือเป็นเครือข่ายทางความคิดที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพลเมืองชาวเน็ต (Netizen) ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในภูมิภาคของประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งที่มีชื่อเสียงในเรื่องเครื่องดื่มประเภทชา และยังใช้การดื่มชาเป็นตัวแทนทางวัฒนธรรม เช่น ชาเย็นของไทย ชาดำใส่นมของฮ่องกง ชานมไข่มุกของไต้หวัน ชานมใส่เครื่องเทศของอินเดียและชาพม่า เป็นต้น
กล่าวได้ว่า กลุ่มพันธมิตรชานมเริ่มต้นจากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะผู้ใช้ทวิตเตอร์ของทั้ง 3 ประเทศดังกล่าวที่ได้มีประเด็นถกเถียงกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวสาธารณรัฐประชาชนจีน จากกรณีที่นักแสดงชาวไทย นายวชิรวิชญ์ ชีวอารี หรือ “ไบร์ท” ได้เผยแพร่ข้อความและภาพในทวิตเตอร์เกี่ยวกับการเรียกฮ่องกงในฐานะประเทศ และขยายเป็นประเด็นเรื่องความกังวลใจต่ออิทธิพลของสาธารณรัฐประชาชนจีนในภูมิภาคเอเชีย ตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 โดยเริ่มจากการเป็นข้อโต้แย้งกันระหว่างผู้ติดตามนักแสดงคนดังกล่าวในประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนจะขยายประเด็นไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีการกล่าวอ้างและพาดพิงไปถึงไต้หวันด้วย ซึ่งผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวไทยก็ได้ร่วมแสดงออกในเชิงสนับสนุนจุดยืนการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของไต้หวันและฮ่องกง
กลุ่มพันธมิตรชานมและการเคลื่อนไหวบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะทวิตเตอร์ เกิดขึ้นจากนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงและนักการเมืองฝั่งประชาธิปไตยในไต้หวันได้พัฒนาเนื้อหาและข้อถกเถียงดังกล่าวมาสร้างจุดร่วมด้วยการใช้แฮชแท็ก #MilkTeaAlliance ในแง่ของความเป็นพวกเดียวกันที่ต้องการเรียกร้องประชาธิปไตยและชอบดื่มชาเหมือนกัน โดยกระแสของกลุ่มพันธมิตรในโลกไซเบอร์นี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลามีสงครามการใช้สัญลักษณ์และการสื่อสารที่แสดงแนวคิดบนโลกอินเตอร์เน็ตระหว่างกลุ่มที่มีแนวคิดสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่กับเยาวชนที่มีแนวคิดสนับสนุนประชาธิปไตยและขยายวงกว้างมาเรื่อย ๆ ทั้งนี้ แม้ในแต่ละประเทศจะมีประเด็นปัญหาแตกต่างกันออกไป แต่เมื่อมีการต่อสู้มักมีประเด็นร่วมกันคือการเรียกร้องประชาธิปไตยและเป้าหมายในการต่อสู้อำนาจเผด็จการในหลายประเทศ จากนั้นคำนี้จึงถูกนำมาใช้เรียกกลุ่มต่าง ๆ ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ที่แม้จะไม่อยู่ในประเทศเดียวกันแต่ใช้อินเตอร์เนทและพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ในการเชื่อมโยงชุดอุดมการณ์เข้าไว้ด้วยกัน
อีกทั้งการเคลื่อนไหวของพันธมิตรชานมยังได้รับการวิเคราะห์ว่ายังมองอีกว่าการประท้วงในประเทศไทยนั้นสะท้อนความไม่พอใจสะสมต่อระบอบการเมืองไทยตั้งแต่รัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา และยังเป็นการต่อต้านรัฐบาลซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนทางกองทัพซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลจีน นอกจากนี้แล้วปฏิบัติการของพันธมิตรชานมยังได้แสดงให้เห็นถึงการปะทะของ 2 ชุดความคิด ระหว่างแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมกับประชาธิปไตยสากลของคนรุ่นใหม่ ที่ขยายขอบเขตการเคลื่อนไหวและการแบ่งปันประสบการณ์ไปไกลกว่าพรมแดนของประเทศ ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ที่นำไปสู่การรวมตัวกันของผู้ที่สนับสนุนเสรีภาพของประชาชนและสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง ที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากทั้งการต่อต้านอำนาจเผด็จการของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนและรัฐบาลของไทย โดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเหล่านี้เห็นว่ารัฐบาลไทยที่มาจากการรัฐประหารได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับจีนเพื่อพึ่งพิงและสร้างความมั่งคงให้แก่การรักษาอำนาจของตัวเอง ซึ่งผลที่ได้กลับไม่ได้ให้ประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง ทำให้มีประชาชนจำนวนมากแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ว่าชะตากรรมของประเทศไทยอาจไม่ต่างจากไต้หวันและฮ่องกงที่ได้รับการแทรกแซงจากรัฐบาลจีน ตลอดจนการแสดงจุดยืนในการต่อต้านระบบอำนาจนิยม และต่อต้านระบบอำนาจและอิทธิพลของรัฐบาลจีนนั้นก็เป็นจุดยืนร่วมกันของกลุ่มพันธมิตรชานมอยู่แล้ว โดยที่การเกิดขึ้นและเติบโตของพันธมิตรชานมยังแสดงให้เห็นว่าประเทศจีนนั้นยังคงไม่ประสบความสำเร็จในการครองใจคนหมู่มากในไต้หวันและในประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ
ทั้งนี้ กลุ่มพันธมิตรชานมได้พัฒนาจากการเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์มาเป็นการออกมาเคลื่อนไหวและแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ รวมถึงการชุมนุมบนท้องถนนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาชาวไทย เพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในประเทศ ทำให้กลุ่มพันธมิตรชานมได้รับความสนใจมากขึ้นด้วยการสนับสนุนจากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในประเทศพันธมิตร ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการชุมนุมของคนหลากหลายชาติในการต่อสู้เพื่อนำสิทธิเสรีภาพกลับสู่บ้านเมืองของตัวเองและเพื่อนบ้านได้ ดังเช่น การเกิดกลุ่ม Taiwan Alliance for Thai Democracy ซึ่งเป็นผู้จัดงาน “ไทเปจะไม่ทน” เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมและ 19 กันยายน พ.ศ. 2563 เพื่อร่วมเป็นพันธมิตรจัดการชุมนุมคู่ขนานกับการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอกในประเทศไทย ซึ่งในการชุมนุมนอกจากจะมีการปราศรัยเรียกร้องประชาธิปไตยในไทยแล้ว ยังมีตัวแทนจากไต้หวัน ฮ่องกง และจีนแผ่นดินใหญ่ร่วมปราศรัยและบอกเล่าประสบการณ์จากบ้านเกิดของตัวเอง รวมทั้งยังได้มีการแต่งเพลงชาติพันธมิตรชานม (Anthems of Milk Tea Alliance) และแฮชแท็ก #ชานมข้นกว่าเลือด เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคี และความเสียสละของชาวเน็ตทวิทเตอร์ ทั้งยังได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของชาวเอเชียรุ่นใหม่ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการรวมตัวและหล่อหลอมผู้มีที่แนวคิดเดียวกันจากหลายประเทศ และใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้กลยุทธ์และเทคนิค ในการชุมนุม รวมไปถึงขั้นตอนปฏิบัติถ้าหากไม่มีแกนนำหรือว่าแกนนำถูกจับกุม การสลายการชุมนุมให้ทันท่วงทีก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการเข้าปราบปรามอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน ซึ่งฮ่องกงนั้นถือเป็นต้นแบบการส่งต่อทั้งแนวความคิดความเชื่อทางด้านการต่อสู้เพื่อเสรีนิยม รวมไปถึงต้นแบบกลยุทธ์ในการประท้วง ทั้งยังกล่าวได้ว่าภาพการประท้วงและแนวทางการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในฮ่องกงและไทยที่ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้สร้างอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของเยาวชนในประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย เช่น พม่า ภายใต้บรรยากาศของความร่วมมือในการสนับสนุนและเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกันภายใต้ความเป็นพันธมิตรที่มีการผสมผสานกันระหว่างแนวร่วมอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ กับประเด็นเรื่องชาตินิยม สังคม เศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์อย่างเข้มข้น
อย่างไรก็ดี พันธมิตรชานมไม่เพียงแต่จะปรากฏภาพของแบ่งปันความคิดและประสบการณ์ร่วมกันระหว่างผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังได้ขยายประเด็นข้อถกเถียงต่าง ๆ ไปยังการสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านหลายโครงการในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ประเด็นการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง และการเซ็นเซอร์โดยรัฐบาลต่าง ๆ รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง รวมไปถึงการเกิดแฮชแท็กเพื่อต่อต้านบริษัทผลิตภาพยนตร์การ์ตูนดิสนีย์ในกรณีการฉายภาพยนตร์เรื่องมู่หลาน จนทำให้เกิดกรณีการเคลื่อนไหวประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งในเขตการปกครองพิเศษซินเจียงอุยกูร์และในทิเบต นอกจากนี้ กลุ่มพันธมิตรชานมยังมีบทบาทสำคัญในการแสดงจุดยืนเคียงข้างนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงคนสำคัญ ได้แก่ นายโจชัว หว่อง นายไอแวน หล่ำ และนางสาวแอกเนส จาว ที่ถูกควบคุมตัวหลังให้การรับสารภาพในหลายข้อหา เกี่ยวกับการชุมนุมที่ไม่ได้รับอนุญาต โดยกลุ่มพันธมิตรชานมได้รณรงค์และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวทั้ง 3 คน ผ่านการใช้แฮชแท็ก #SaveJoshuaWong และ #SaveHKThreeActivist เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563
นอกจากการเคลื่อนไหวในกลุ่มเยาวชนแล้ว พันธมิตรชานมยังได้รับความสนใจในระดับรัฐบาลมากขึ้นเมื่อผู้นำประเทศและแกนนำเคลื่อนไหวทางการเมืองคนสำคัญได้ส่งข้อความหรือเผยแพร่เนื้อหาผ่านสื่อสังคมออนไลน์มายังประชาชนในประเทศพันธมิตร ได้แก่ เมื่อนายเจิ้ง เหวินชาน นายกเทศมนตรีเมืองเถาหยวน ของไต้หวัน ทวีตข้อความขอบคุณเพื่อนจากประเทศไทย ภายหลังจากรัฐบาลไต้หวันส่งมอบหน้ากากและชุดป้องกัน PPE ให้แก่ประเทศไทยในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 พร้อมดื่มชานมไข่มุกและชาไทยกระชับมิตรภาพ และยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้นเมื่อมีการเผยแพร่ข้อความเป็นภาษาไทยของประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน แห่งไต้หวัน เนื่องในโอกาสอวยพรวันสงกรานต์ให้คนไทย เช่นเดียวกับ นายโจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ได้เผยแพร่ข้อความในการสร้างความหวังเรื่องการสร้างแนวร่วมใหม่ทั่วเอเชียเพื่อต่อต้านอำนาจนิยมทุกรูปแบบ เป็นต้น ในขณะที่โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้ออกแถลงผ่านเฟซบุ๊กของสถานทูตในการย้ำว่า "จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน" รวมทั้งการยืนยันถึงหลักการจีนเดียวและตอบโต้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่สร้างความเข้าใจผิดและความขัดแย้ง เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2563 เป็นต้น
ทั้งนี้ การรวมตัวของพันธมิตรชานมได้รับความสนใจอีกครั้งในการประกาศเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ครั้งใหญ่ภายใต้คำขวัญ "Make Milk Tea and End Dictatorship 28.2.2021" เพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมในพม่าและแสดงจุดยืนต่อต้านเผด็จการทหารในพม่า ทั้งยังเป็นการกดดันกลุ่มผู้นำประเทศอาเซียนให้เคารพผลการเลือกตั้งของชาวพม่าผ่านทางทวิตเตอร์พร้อมกันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการพบปะกันอย่างไม่เป็นทางการระหว่างฝ่ายรัฐบาลทหารพม่าและผู้นำไทยในกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังกล่าวได้ว่า การสนับสนุนของพันธมิตรชานมต่อการต่อต้านคณะรัฐประหารในพม่านั้น ยังมีเป้าหมายผลักดันในเกิดปรากฏการณ์การลุกฮือปฏิวัติของมวลชน เช่นเดียวกับที่เกิดการเดินขบวนและการประท้วงในตะวันออกกลางภายใต้ความเชื่อที่ว่าจุดเริ่มต้นของการโค่นล้มรัฐบาลทหารพม่าอาจส่งผลถึงกระแสการต่อต้านรัฐบาลปัจจุบันของไทย และอาจก้าวไปสู่อีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้
ภาพ การ์ตูนพันธมิตรชานม
![]() |
![]() |
ที่มา : “ชาวเมียนมาประกาศเข้าร่วมเป็น #พันธมิตรชานม เป็นชาติที่ 5 ต่อจากอินเดีย”, สืบค้นจากhttps://board.postjung.com/1272527 (20 มกราคม 2565).
ภาพ การทำกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มพันธมิตรชานม เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563
![]() |
![]() |
ที่มา : “พันธมิตรชานม รวมตัวเรียกร้องความยุติธรรมให้ 3 แกนนำม็อบฮ่องกง”. สืบค้นจาก https://mthai.com/news/93413.html (20 มกราคม 2564).
ภาพ อีโมจิ ‘พันธมิตรชานม’ ของ Twitter

ที่มา : “Twitter ฉลอง! ครอบรอบ 1 ปี #MilkTeaAlliance สร้างอีโมจิชานมไข่มุกสามสี”. สืบค้นจาก https://www.brighttv.co.th/news/twitter-milkteaalliance-1year(20 มกราคม 2564).
อ้างอิง
“‘1 ปี Milk Tea Alliance’ กับวาสนา วงศ์สุรวัฒน์”. สืบค้นจาก https://www.the101.world/wasana- wongsurawat-interview-2/(20 มกราคม 2564).
“47 วัน ‘พันธมิตรชานม’ การทูตยุคโซเชียลมีเดีย แผนแยบยลฟื้นฟูชาติ?”. สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/prachachuen/prachachuen-scoop/news_2211039 (30 กันยายน 2563).
“Milk Tea Alliance พันธมิตรชานมแห่งเอเชียประกาศนัดรวมพลชาวเน็ตทั่วเอเชีย แสดงจุดยืนต่อต้านเผด็จการทหารในพม่า”. สืบค้นจาก https://thestatestimes.com/post/202 1022711 (30 กันยายน 2563).
“ชานมข้นกว่าเลือด : ประจักษ์ ก้องกีรติ มอง พันธมิตรชานม ปะทะ “สลิ่มจีน” ใน “ศึกทวิตภพข้ามพรมแดน” .สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-52295774(30 กันยายน 2563).
“ชาวไต้หวัน-ฮ่องกง 'พันธมิตรชานม' ร่วมเวทีคนไทยต่างแดน-หนุน ปชต.ไทย”. สืบค้นจาก http://www.voicetv.co.th/read/C7N_-dYGK(30 กันยายน 2563).
“พันธมิตรชานม - การเคลื่อนไหวทางการเมืองคนรุ่นใหม่ของเอเชีย”. สืบค้นจาก https://www.voathai.com/a/ milk-tea-alliance-asia-netizen-oppression-censorship-china-thailand/5564002. Html (30 กันยายน 2563).
“พันธมิตรชานม since 2020 : จากติ่งตีกันสู่ขบวนการเรียกร้องเสรีภาพ”. สืบค้นจาก https://adaymagazine.com/milk-tea-alliance/ (30 กันยายน 2563).
“พันธมิตรชานม รวมตัวเรียกร้องความยุติธรรมให้ 3 แกนนำม็อบฮ่องกง”. สืบค้นจาก https://mthai.com/news/93413.html (20 มกราคม 2564).
“พันธมิตรชานม สงครามตัวแทนการเมืองไทยบนทวิตภพ”. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/877020(30 กันยายน 2563).
“Anthems of MilkTea Alliance”. Retrieved from URL https://www.youtube.com/watch ?v=Lg6lqT-AdN8(20 January 2022).
“โจชัว หว่อง ที่รัก ด้วยความเคารพจากพันธมิตรชานม”. สืบค้นจาก https://waymagazine.org/dear- joshua/(20 มกราคม 2564).
“ต่างวัฒนธรรม แต่ใจเดียวกัน ที่มา 5 สมาชิก ‘ภาคีชานม’ #MilkteaAlliance”. สืบค้นจาก https://www.agenda.co.th/social/5-members-of-milkteaalliance/(20 มกราคม 2564).
“ม็อบเมียนมาเผยได้แรงบันดาลใจจากไทยและฮ่องกง”.สืบค้นจาก https://www.Posttoday.com/world/644935/(20 มกราคม 2564).