พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. พ.ศ. 2550

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง นพรัตน์ วงศ์วิทยาพาณิชย์ แ่ละ รศ.ดร.นคิรนทร์ เมฆไตรรัตน์


สาระสำคัญ

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 นี้ถูกบัญญัติขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 295 บทเฉพาะกาล เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2550 โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญที่แตกต่างจากกฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฉบับ พ.ศ.2541 อาทิ เช่น


(1) จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตเดียวหลายคน และมีการจัดการเลือกตั้งแบบสัดส่วน โดยกำหนดให้กลุ่มจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวน 8 กลุ่มจังหวัด และแต่ละกลุ่มจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เพียง 10 คนเท่านั้น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้นำเอาระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนตามกลุ่มจังหวัดมาใช้ เพื่อให้พรรคการเมืองขนาดเล็กที่มีฐานเสียงในแต่ละภาคสามารถเข้ามามีบทบาทในสภาผู้แทนราษฎรได้ (และตัดเกณฑ์ที่ว่าพรรคใดที่ได้น้อยคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อน้อยกว่า 5% จะเสียสิทธิได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรออกไป)


(2) จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาโดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง 1 จังหวัด มีสมาชิภวุฒิสภาได้เพียง 1 คนเท่านั้น และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1 คน สามารถลงคะแนนเสียงได้เพียง 1 คะแนน และสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ อีกทั้งยังมีสมาชิกวุฒิสภาประเภทที่มาจากการสรรหาอีกด้วย


(3) จัดให้กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สนับสนุนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (มาตรา 28)


(4) เปลี่ยนมานับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งแทนสถานที่นับคะแนนผลการเลือกตั้งกลาง


ดังนั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 จึงมีรายละเอียดสาระสำคัญ อันประกอบไปด้วยตามหมวดต่าง ๆ ดังนี้


หมวด 1 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร


การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป โดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง โดยมีการเลือกตั้ง 2 ลักษณะ ดังนี้ (มาตรา 6)


(1) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นการลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นรายบุคคลตามการแบ่งเขตเลือกตั้งโดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเลือกผู้สมัครได้หลายคนในเขตเลือกตั้ง (มาตรา 8) และภายหลังจากการเลือกตั้งถ้าผู้สมัครคนใดได้คะแนนเสียงมากที่สุดก็จะได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และหากเขตเลือกตั้งใดมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียง 1 คน ผู้สมัครนั้นจะต้องได้คะแนนเสียงมากกว่า 20% ขึ้นไป และมากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง (มาตรา 88)


(2) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบสัดส่วน เป็นการลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น โดยเลือกจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเพียงพรรคการเมืองเดียว และใช้เขตกลุ่มจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวน 8 กลุ่มจังหวัด โดยให้จัดเรียงลำดับรายชื่อผู้สมัครตามลำดับหมายเลขกลุ่มละ 10 คน (มาตรา 41)


ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลเป็นเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง (มาตรา 15) ดังต่อไปนี้


(1) ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง 1 คน มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับสมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และดำเนินการที่จำเป็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง


(2) คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขต ไม่น้อยกว่า 5 คน มีหน้าที่เกี่ยวกับการกำหนดหน่วยเลือกตั้ง การเพิ่มชื่อและการถอนชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง การจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การเพิ่มชื่อและการถอนชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง รวมทั้งมีหน้าที่ในการกำกับดูแล การลงคะแนนเลือกตั้ง การนับคะแนนเลือกตั้ง และการประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้ง และคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตยังมีอำนาจในการแจ่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง อาทิ ผู้อำนวยการประจำหน่วยเลือกตั้ง และคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 9 คน (มาตรา 16)


อีกทั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งยังมีอำนาจในการกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งทั้ง ค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรายบุคคลในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ (มาตรา 50) ตลอดจนมีหน้าที่สนับสนุนการเลือกตั้ง อาทิ การปิดป้ายหาเสียง การพิมพ์และการจัดส่งเอกสารการเลือกตั้งให้ประชาชน จัดหาสถานที่หาเสียงจัดหาเวลาการออกอากาสทางวิทยุและโทรทัศน์ในการหาเสียงให้แต่ละพรรคการเมือง เป็นต้น (มาตรา 59) และคณะกรรมการการเลือกตั้งยังสามารถสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครหากเห็นว่าการเลือกตั้งไม่สุจริต รวมทั้งหากมีหลักฐานเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลยหรือไม่ยับยั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมืองนั้น และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปีหลังจากศาลมีคำสั่ง (มาตรา 103)


นอกจากนั้น ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปแจ้งเหตุอันสมควร อันที่ตนไม่สามารถไปเลือกตั้งได้ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก่อนวันเลือกตั้ง 7 วัน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งต้องเสียสิทธิตั้งแต่วันเลือกตั้งที่ผู้นั้นไม่ไปใช้สิทธิจนถึงวันเลือกตั้งครั้งที่ผู้นั้นไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (มาตรา 24) ดังนี้


(1) สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา


(2) สิทธิสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น


(3) สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นกำนัดและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่


(4) เสียสิทธิการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง (มาตรา 28)


พระราชบัญญัติฉบับนี้ ยังกำหนดให้ผู้เลือกตั้งสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตได้ โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องแจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งของตน และจัดให้มายังสถานที่เลือกตั้งกลาง (มาตรา 94) และสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อาศัยในต่างประเทศยังสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในประเทศที่ตนอาศัยอยู่ได้ (มาตรา 99)


หมวด 2 การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา


สมาชิกวุฒิสภาตามกฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฉบับ พ.ศ.2550 มีที่มาของสมาชิกวุฒิสภาด้วยกัน 2 ประเภท คือ
(1) สมาชิกวุฒิสภาที่มาโดยการเลือกตั้ง และ
(2) สมาชิกวุฒิสภาที่มาโดยการสรรหา


(1) สมาชิกวุฒิสภาที่มาโดยการเลือกตั้ง ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ละจังหวัดจะมีสมาชิกวุฒิสภาได้เพียงจังหวัดละ 1 คนเท่านั้น และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1 คน สามารถลงคะแนนเสียงได้เพียง 1 คะแนน (มาตรา 120) นอกจากนั้นผู้สมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภายังสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้แต่ก็เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่วุฒิสภา (มาตรา 123) โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้สนับสนุนการหาเสียงโดยการจัดสถานที่ปิดประกาศ และติดป้ายการเลือกตั้ง จัดพิมพ์เอกสารการเลือกตั้งให้กับประชาชน หาสถานที่หาเสียงให้ผู้มัคร (มาตรา 124)


(2) สมาชิกวุฒิสภาที่มาโดยการสรรหา เริ่มมาจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศการสรรหาให้มีกระบวนการสรรหาภายใน 30 วัน และให้องค์กรภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่น ที่เป็นนิติบุคคล เสนอชื่อผู้ที่สมควรได้รับการสรรหา และสามารถเสนอชื่อคนในองค์กรของตนได้ องค์ละ 1 คน ภายใน 15 วัน โดยผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อต้องเสียค่าธรรมเนียมคนละ 5,000 บาท เมื่อหมดเวลาการสรรหาให้คณะกรรมการการเลือกตั้งส่งรายชื่อต่อคณะกรรมการสรรหาภายใน 5 วัน และให้คณะกรรมการสรรหาเลือกสมาชิกวุฒิสภาภายใน 30 วัน และจำต้องกระทำการสรรหาโดยเปิดเผย โดยผู้ที่ได้รับเลือกเป็นสาชิกวุฒิสภาต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการสรรหาทั้งหมด และหลังจากนั้นให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศแต่งตั้งต่อไป


ดูเพิ่ิมเติม