พระราชนิยมและพัฒนาการด้านการศึกษาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ปานเทพ ลาภเกษร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์

 

ระบบการศึกษาของสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้หยั่งรากลึกนับเนื่องแต่การจัดตั้งโรงเรียนสำหรับทวยราษฏรเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และการออกพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเหตุให้เมื่อเริ่มต้นรัชกาลที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๖๙) กุลบุตรและกุลธิดาใน ๓,๘๑๗ ตำบลหรือร้อยละ ๗๖.๗๖ ของตำบลทั่วประเทศ (๔,๙๘๒ ตำบล) ได้รับการศึกษาภาคบังคับอย่างน้อย ๔ ปี [1] หากแต่ สยามกำลังเข้าสู่จุดผกผันทางเศรษฐกิจและการเมืองทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ อาทิ สภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจและภาวะต้องจัดงบประมาณให้ได้ดุลโดยการประหยัด ซึ่งรวมถึงการปลดข้าราชการบางส่วนออก ความขัดแย้งทางความคิดระหว่างระบอบราชาธิปไตยกับประชาธิปไตย ฯลฯ ทำให้ปรัชญาทางการศึกษาในยุคดังกล่าวเน้นการจัดการเรียนรู้เพื่อให้คนไทยสามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตนเองได้ และการปลูกฝังค่านิยมประชาธิปไตยจวบจนสิ้นรัชกาล

พระราชนิยมว่าการการเรียนรู้ของคนไทย

หากจะทำความเข้าใจว่าระบบการศึกษาของไทยในแต่ละยุคแล้ว การศึกษาความเชื่อ ทัศนคติ และค่านิยมขององค์รัฐาธิปัตย์ต่อการจัดการเรียนรู้และระบบการศึกษาที่พึงประสงค์น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแสวงหาความจริง แล้วนำมาเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐและผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นจากความเชื่อและทัศนคตินั้นๆ ดังนั้น หากจะยกย่องว่าสมเด็จพระบรมชนกนาถเป็นผู้พระราชทานการศึกษาเพื่อปวงชน (education for all) ในขณะที่สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชของพระองค์เป็นผู้พระราชทานการศึกษาภาคบังคับ (compulsory education)ในสยามแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวางรากฐานพลเมืองศึกษา (civic education) ด้วยปรัซญาการศึกษาที่มองคนแต่ละคนเป็นกลไกสำคัญที่จะโอบอุ้มรัฐให้อยู่รอด โดยจำแนกเป็น

๑) เรียนเพื่อรู้เป็นขุมทรัพย์ในตน

ด้วยการเรียนรู้ในแต่ละบุคคลคือ การสั่งสมความรู้และประสบการณ์ของตนเองเพื่อดำรงชีพและประกอบสัมมาชีพในอนาคต พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ที่ทรงตระหนักว่า การศึกษาเป็นการลงทุนสร้างทรัพยากรที่มีค่าเพื่อเกิดประโยชน์แก่ทั้งส่วนตนและส่วนร่วม ปัจเจกบุคคลทุกคนจึงควรตระหนักถึงความสำคัญในการวางแผนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณค่าของตนเองในภายภาคหน้า โดยเฉพาะการศึกษาในระดับสูงที่ต้องลงทุนมาก พระราชนิยมดังกล่าวสะท้อนในพระราชหัตถเลขากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินไปฝรั่งเศสเพื่อรักษาพระองค์และศึกษาต่อ เมื่อพระชนมายุ ๒๔ พรรษา (พ.ศ. ๒๔๖๔) ความว่า

“ในการที่จะเล่าเรียนนี้ข้าพระพุทธเจ้าถือว่าเป็นการส่วนตัว เพราะฉะนั้นคิดด้วยเกล้าฯ ว่าจะใช้ทุนส่วนตัวตลอดไป เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองเงินทองของหลวง แม้เรียนมาไม่ได้ประโยชน์ทางราชการก็มิได้เสียหายประการใด ส่วนกำลังกายนั้นข้าพระพุทธเจ้าได้สอบถามหมอแล้วว่าจะทนทำการทหารได้หรือไม่ หมอตอบว่าได้แน่นอนและเปนการดีสำหรับโรคด้วยซ้ำ เพราะต้องการ exercise มาก"

ในการนี้ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานอยู่เล่าเรียนต่อไปนี้มิใช่จะคิดอยู่เที่ยวเสียเฉยๆ ที่ในยุโรปนี้เลย เพราะข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะ improve ตนเองโดยแท้ และให้โอกาสภรรยา (หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีในขณะนั้น) ได้รับการเล่าเรียนด้วย” [2]

พระราชนิยมว่าด้วยการศึกษาเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองในอีกมิติหนึ่ง คือ การเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถในการแสดงหาความรู้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานในการแสวงความจริง ดังปรากฏในพระราชปรารภว่าด้วยการพระราชทุนเล่าเรียนทางวิทยาศาสตร์เป็นเวลา ๕ ปีละๆ ๑ ทุน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ความว่า

“การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจจะให้กุลบุตรบรรลุภูมิอารยธรรม ได้ทรงใฝ่พระราชหฤทัยอยู่เป็นนิตย์ที่จะอุปถัมภ์บำรุงประชาชนชาวไทยให้ถึงพร้อมสมบูรณ์ทุกอย่างบรรดามี และในเวลานี้วิชชาอันเป็นหลักที่ตั้งส่วนใหญ่แห่งความเจริญทั้งมวล ปรากฏว่าวิทยาศาสตร์มีคุณสมบัติสามารถช่วยเหลือในการตรวจสอบข้อมูลได้ตระหนักแล้วประกอบหาผลประโยชน์สำเร็จกิจที่พึงประสงค์....หากชาติใดล้าหลังในวิชชาสำคัญนี้ ก็หานับว่ามีความเจริญที่แท้จริงไม่”

๒) เรียนเพื่อรู้หน้าที่

พระราชนิยมเรื่องการรู้จักหน้าที่ของตนเองปรากฏในพระบรมราโชวาทในหลายโอกาส อาทิ “การมีน้ำใจดี” โดยฝึกฝนให้นักเรียนเรียนรู้ขนบธรรมเนียม รู้จักปกครองและควบคุมตนเองตามหน้าที่ที่ตนมี และเป็น”นักกีฬาแท้” ได้แก่ การรู้แพ้ รู้ชนะตามวิถีประชาธิปไตย (พระบรมราโชวาท เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๗๕) หรือแม้แต่การส่งเสริมการศึกษาในสตรีที่เริ่มแพร่หลายอันเป็นผลสืบเนื่องจากพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔ ที่สะท้อนเมื่อทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนดาราวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่ครูและนักเรียนที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ความว่า

“การศึกษาสำหรับสตรีนั้นนับว่าเป็นของสำคัญ เพราะเมื่อผู้หญิงมีความรู้ทั้งทางวิชาอ่านหนังสือและทั้งทางในทางวิชาเย็บปักถักร้อยทำครัวการบ้าน ก็ย่อมทำให้เกิดความสุขในบ้านบิดามารดา หรือมีบ้านช่องเป็นของตนเอง จะได้สั่งสอนให้บุตรหลานของตนเจริญรุ่งเรืองให้ดียิ่งขึ้นไป ทำให้เกิดความสุขสบายมาสู่บ้านของคนทุกๆ แห่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ย่อมจะทำให้เกิดความสุขแก่คนทั่วไป การศึกษาสำหรับสตรีในทางการบ้านเหล่านี้เป็นของสำคัญอย่างยิ่ง”

๓) เรียนเพื่อรักถิ่นฐานบ้านเกิด

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชนิยมว่า สถานศึกษาควรทำหน้าที่บ่มเพาะให้เด็กทั้งชายและหญิงเข้าใจในตนในฐานะพลเมืองของสยาม ไม่ว่าสถานศึกษาเหล่านั้นจะเป็นโรงเรียนรัฐหรือโรงเรียนราษฎร์ ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนจีน จำนวน ๔ แห่ง เมื่อเดือนมีนาคม ๒๔๗๐ ความว่า

“การที่พวกพ่อค้าได้คิดจัดตั้งโรงเรียนขึ้นนั้น ก็โดยที่ความประสงค์อยากที่จะให้บุตรหลานได้เล่าเรียนวิชาต่างๆ ในภาษาจีนที่เป็นภาษาของตน เพื่อที่จะได้เป็นการสะดวกสบายสำหรับที่จะประกอบอาชีพทำการค้าขายต่อไป และเพื่อประโยชน์อื่นๆ ด้วย นอกจากการสอนภาษาจีน ท่านยังจัดการสอนภาษาไทยด้วย เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าโรงเรียนจีนนั้นมีประโยชน์มากเพราะนอกจากที่จะสอนจะให้วิชาแก่เด็กจีนให้สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้สะดวกยิ่งขึ้น ยังทำให้เด็กจีนรู้จักเมืองไทยดี และเมื่ออ่านหนังสือไทยออกและเขียนได้ ย่อมจะทำให้ไทยและจีนสนิทสนมกลมเกลียวยิ่งขึ้นไปอีก” [3]

พัฒนาการด้านการจัดศึกษาไทย

ตลอดรัชสมัย พัฒนาการด้านการศึกษาได้รับการต่อยอดจากความพยายามในการจัดการศึกษาสำหรับปวงชนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ และการขยายโอกาสทางการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาภาคบังคับโดยการจัดการประถมศึกษาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ ที่พอจะจำแนกได้ ดังนี้

๑) การสร้างคลังสมองและแหล่งเรียนรู้แห่งชาติ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มภารกิจที่สำคัญด้านการศึกษา โดยการสร้างองค์ความรู้แห่งชาติและการศึกษาตามอัธยาศัย (informal education) ของคนไทย โดยใน พ.ศ. ๒๔๖๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งราชบัณฑิตยสภาในสามแผนก คือ

๑.๑ แผนกวรรณคดี เป็นพนักงานจัดการหอพระสมุดสำหรับพระนคร และสอบสวนพิจารณาวิชาอักษรศาสตร์

๑.๒ แผนกโบราณคดี เป็นพนักงานจัดการพิพิธภัณฑสถาน ตรวจรักษาโบราณสถาน

๑.๓ แผนกศิลปากร เป็นพนักงานจัดการบำรุงรักษาวิชาการช่าง

นอกจากจัดตั้งหน่วยราชการที่ดูแลทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นมรดกตกทอดของชาติแล้ว ยังมีการตั้งสภาราชบัณฑิต จำนวน ๗ ท่านเพื่อให้คำชี้แนะ กำหนดทิศทาง และแก้ไขข้อขัดข้องตามภารกิจทั้งสาม โดยกำหนดให้มีการประชุมอย่างน้อยปีละ ๔ ครั้ง เป็นที่มาของพระราชบัญญัติสำคัญๆ อาทิ พระราชบัญญัติจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร พระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งโบราณและศิลปวัตถุออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๔๖๙ และพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. ๒๔๗๔ นโยบายด้านการศึกษาที่เน้นการสร้างผู้รู้และองค์กรที่ดูแลสรรพวิชาทั้งสามประการ การสร้างและพัฒนาระบบสืบค้นหนังสือและศิลปวัตถุสำหรับสาธารณะ และการคุ้มครองวรรณกรรมอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของคนในชาติล้วนสะท้อนพระราชนิยมที่ประสงค์จะให้คนไทยใฝ่เรียน ใฝ่รู้ มีภูมิคุ้มกันด้านภาษาและวัฒนธรรมเพื่อความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ และรู้รักษาศิลปวัฒนธรรมอันดีงามที่สั่งสมจากคนรุ่นอดีตสู่ปัจจุบัน และสืบทอดสู่บุคคลรุ่นหลัง

๒) การสร้างผู้นำทางความคิดสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

จากพระราชนิยมว่าด้วยการจัดการศึกษาเพื่อให้พลเมืองรู้จักหน้าที่ของตน นโยบายด้านการศึกษาที่สำคัญในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกประการหนึ่งคือ การสร้างระบบการศึกษาให้มันคงและปลูกจิตสำนึกการเป็นพลเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตยข้างตนในสองทิศทาง กล่าวคือ

๒.๑ จากบนลงล่าง

ด้วยพระราชวินิจฉัยว่าระบบราชการจะยังคงเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาไปสู่การปฏิบัติภายใต้รัฐบาลในระบบใหม่ ดังนั้น รัชสมัยของพระองค์จึงมุ่งการจัดองคาพยพด้านการศึกษา โดยเฉพาะในกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) เพราะแต่เดิมการจัดการศึกษาในส่วนภูมิภาคยังเป็นหน้าที่ของศาสนจักรและกระทรวงมหาดไทย โดยมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างกระทรวงฯ ถึงสามครั้ง คือใน พ.ศ. ๒๔๖๙ ๒๔๗๓ และ ๒๔๗๔ กล่าวคือ ๑) นำกิจการสืบทอดพระศาสนาในกรมธรรมการเดิมมาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยใช้ชื่อว่า กระทรวงธรรมการ เพื่อมุ่งหวังให้ประชาชนเรียนรู้หลักคำสอนทางศาสนา ๒) ส่งเสริมการสร้างตำราหลัก โดยตั้งกรมตำราในกรมศึกษาธิการ เน้นการสร้างปทานุกรม การตรวจและจัดพิมพ์แบบเรียน และการเผยแพร่ตำราเรียนหลักให้ใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งภายหลังพัฒนาเป็นกรมวิชาการ ๓) การตั้งกองสถิติและรายงานเพื่อรวบรวมข้อมูลของนักเรียนและครูทั่วประเทศ และ ๔) ตั้งกองสุขาภิบาลโรงเรียนเพื่อตรวจสภาพโรงเรียนให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมรดกตกทอดให้กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบันพัฒนาระบบบริหารราชการสมัยใหม่ที่ใช้ข้อมูลด้านนักเรียนและครูเป็นฐานการพัฒนานโยบาย รวมทั้งการสร้างระบบทดสอบแห่งชาติ (national or board test) สำหรับคนทั้งประเทศ

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การแก้ไขพระราชบัญญัติประถมศึกษาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ หรือหลังจากที่ประกาศบังคับใช้แล้ว ๙ ปี ด้วยเห็นว่า การผลักภาระให้ชายไทยที่มีอายุระหว่าง ๑๘- ๖๐ ปีจ่ายเงินบำรุงการศึกษาชาติปีละ ๑- ๓ บาท หรือที่เรียกว่าเงินศึกษาพลีนั้น นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์ในเชิงการบริหารแล้ว[4] รัฐควรประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดแจ้งในการให้การศึกษาเป็นนโยบายสาธารณะ (public policy) ที่จะต้องสนับสนุนงบประมาณอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จึงให้ตัดข้อความว่าด้วยเงินศึกษาพลีจากพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว พร้อมให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติสนับสนุนงบประมาณเพื่อการศึกษาปีละไม่ต่ำกว่าสามล้านบาทซึ่งเป็นเงินจำนวนมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนงบประมาณของแผ่นดินทั้งหมด แนวความคิดนี้เป็นไปได้ยากในสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในสมัยนั้น หากแต่ได้ทรงวางรากฐานในเชิงนโยบายที่รัฐต้องโอบอุ้มการศึกษา ส่งผลให้เกิดสถานศึกษาของรัฐประเภทต่างๆ โดยเฉพาะการศึกษาภาคบังคับจนทั่วถึงในอีกกว่าห้าทศวรรษหลังจากนั้น อาจกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระทรวงธรรมการและการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาเป็นพระราชมรดกที่ทรงพระราชทานให้กระทรวงศึกษาธิการได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพในการต่อมา

๒.๒ จากล่างขึ้นบน

คำถามที่สำคัญคือ แล้วคนไทยควรเล่าเรียนอะไรเพื่อเป็นกำลังสำคัญของชาติดังพระราชนิยมที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น หลักฐานสำคัญประการหนึ่งที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในผู้เรียน คือ ทรงตั้งพระราชหฤทัยในการปรับปรุงโครงการศึกษาชาติหรือนโยบายการศึกษาชาติที่ระบุระบบและรูปแบบการจัดการศึกษาให้เข้าใจในหมู่ผู้จัดการศึกษา โดยเฉพาะปณิธานในการออกแบบหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอนให้คนเป็นพลเมืองในระบบใหม่ ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เสนาบดีกระทรวงธรรมการว่า ภายภาคหน้า ระบบการศึกษาที่สอนให้คนเชื่อฟังพระราชานั้นดูจะช้าและล้าสมัย หากแต่ควรสอนให้คนไทยรู้จักการอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแบบ Constitutional Monarchy เพราะในขณะนั้นพระมหากษัตริย์ก็ไม่ได้ทรงใช้สิทธิขาดในการบริหารประเทศเฉกเช่นที่เข้าใจกันแต่เดิม หากแต่มีการผสมผสานรูปแบบการบริหารสมัยใหม่ดังเช่นที่ประเทศประชาธิปไตยในตะวันตกได้ดำเนินการ [5] ถึงแม้ร่างแผนการศึกษาชาติฉบับนี้จะไม่ได้ประกาศใช้ด้วยเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เสียก่อน แต่การปลูกฝังคนในระบอบประชาธิปไตยเป็นพระราชมรดกด้านการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าทรงเป็นผู้วางรากฐานของพลเมืองศึกษาในระบอบประชาธิปไตยคนแรกๆ ของประเทศ

ถึงแม้ว่ารัชสมัยของพระองค์จะสิ้น หากแต่ทรงสืบสานพระราชปณิธานในการจัดการศึกษาของสองรัชกาลก่อนอย่างแข็งขัน ทรงเข้าใจว่าระบบการศึกษาแบบตะวันตกซึ่งยังไม่ได้รับการจัดแบบเต็มรูปแบบในประเทศ โดยเฉพาะการศึกษานอกระบบและการเรียนรู้ตามอัธยาศัย จึงทรงเน้นการสร้างระบบการเรียนรู้แห่งชาติผ่านศิลปวัฒนธรรม ภาษา และโบราณคดีดั่งที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงสมควรยกย่องพระองค์ท่านว่าเป็นผู้พระราชทานแนวการจัดการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อให้คนไทยเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ

อ้างอิง

  1. คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ ๑๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัว. (๒๕๓๗). พระราชประวัติและพระราชกรณีกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพ: อมรินทร์พรินติ้ง.
  2. หจช., กต. ๖.๖/๑๔ เรื่องสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยจะทรงศึกษาทหารฝรั่งเศส (พ.ศ. ๒๔๖๔- ๒๕๖๖).
  3. http://www.thaichinese.net/chinese_school/chinese_school3.html
  4. คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ ๑๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัว. อ้างแล้ว.
  5. หจช., เอกสารรัชกาลที่ ๗ ศ.๑ (๑-๒๖).

บรรณานุกรม

คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ ๑๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัว. (๒๕๓๗). พระราชประวัติและพระราชกรณีกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพ: อมรินทร์พรินติ้ง.

หจช., กต. ๖.๖/๑๔ เรื่องสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยจะทรงศึกษาทหารฝรั่งเศส (พ.ศ. ๒๔๖๔- ๒๕๖๖).

เว็บไซต์

http://www.thaichinese.net/chinese_school/chinese_school3.html