พระชะตาชีวิตที่แปรเปลี่ยน
ผู้เรียบเรียง : ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล
ศิริน โรจนสโรช
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์
ในวันพุธที่ ๘ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์หนึ่งทรงพระราชสมภพมา เป็นพระราชโอรสองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงพระเจริญวัยขึ้นในพระราชสำนัก จวบจนเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ
หลังจากที่ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยวุลลิช ทรงรับราชการทหารในกองทัพอังกฤษระยะหนึ่งแล้วจึงเสด็จฯ กลับประเทศไทยตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากยังไม่ทรงมีพระมเหสีและพระราชโอรส ดังนั้น จึงทรงออกพระราชกฤษฎีกาประกาศตั้งองค์รัชทายาท เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ โปรดเกล้าฯ ให้ตำแหน่งรัชทายาทสืบทอดต่อกันในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอร่วมพระราชชนนีตามลำดับพระชนมายุ โดยเริ่มจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ จนกว่าพระองค์จะทรงมีพระราชโอรส ในครั้งนั้นคงไม่มีผู้ใดคาดเดาเหตุการณ์อนาคตได้เลยว่าตำแหน่งรัชทายาทจะตกมาถึงสมเด็จพระราชอนุชาองค์สุดท้อง แม้เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชาทรงพระผนวชใน พ.ศ.๒๔๖๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสก็ได้ทรงชักชวนให้ทรงอยู่ในสมณเพศตลอดไปเนื่องจากทรงเห็นว่าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นี้เป็นพระองค์สุดท้อง คงมิได้มีโอกาสสืบราชสมบัติ แต่พระองค์กราบทูล ปฎิเสธ
แต่ในระยะระหว่างปี ๒๔๖๓ ถึง ๒๔๖๘ พระชาตาชีวิตได้ผันแปร ด้วยเหตุที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทิวงคตและสิ้นพระชนม์ตามลำดับ คือ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ เสด็จทิวงคต ในปี ๒๔๖๓ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย สิ้นพระชนม์ ปี ๒๔๖๖ และสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา เสด็จทิวงคตในปี ๒๔๖๗ เหลือเพียงสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ เพียงองค์เดียว จึงทรงเป็นรัชทายาทโดยอนุโลม ภายหลังจึงมีกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันติวงศ์ที่ตราขึ้นในปี ๒๔๖๗ ซึ่งก็มิได้มีการเปลี่ยนแปลงสิทธิของพระองค์ในการดำรงตำแหน่งรัชทายาท รัชทายาท จึงต้องทรงศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีการปกครองบ้านเมืองและราชการแผ่นดินตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อเตรียมพระองค์ด้านการปกครอง บางครั้งก็ต้องทรงปฏิบัติราชการแทนพระองค์ เช่น ทรงสั่งหนังสือราชการแทน ประทับเป็นประธานในที่ประชุมเสนาบดีสภา
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ นั้น ทรงมีเพียงพระราชธิดา คือสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี ดังนั้นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา พระยศซึ่งเพิ่งจะทรงได้รับ จึงได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ต่อมา ความนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ดังกล่าวแล้ว พระราชหัตถเลขานิติกรรมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ครั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมาย จวบจนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ และทรงสละราชสมับัติในขณะประทับที่ประเทศอังกฤษ ในวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ เมื่อทรงสละราชสมบัติ ข้าราชสำนักที่ตามเสด็จฯ ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้กลับประเทศไทย จึงเหลือเพียงพระประยูรญาติและข้าราชบริพารดั้งเดิมในพระองค์จำนวนไม่มาก เช่น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระราชบุตรบุญธรรม หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ พระเชษฐาต่างพระมารดาในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีและครอบครัว หลวงศักดิ์นายเวร (แจ่ม เงินยอง) ข้าหลวงเดิมพระองค์และภรรยา
แม้จะทรงสละราชสมบัติแล้ว แต่ยังคงทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา อันมีมาแต่เดิมก่อนที่จะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ
ทรงพยายามประหยัดรายจ่ายแต่ต้องทรงคำนึงถึงการรักษาพระเกียรติยศมิให้ชาวต่างประเทศดูหมิ่นในฐานะอดีตพระมหากษัตริย์ แต่ก็ต้องทรงประสบกับเหตุการณ์ที่ต้องทรงใช้พระขันติธรรม ดังที่หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ [1] ทรงเล่าว่า
“เวลามีเรื่องร้ายที่นำความทุกข์โศกหรือความเดือดร้อนมาสู่พระองค์ท่าน ก็ทรงอดทนทุกอย่าง แม้ภายหลังที่ทรงสละราชย์แล้ว คนไทยในต่างประเทศยังวางตัวไม่ถูกเมื่อพบกับพระองค์ท่าน เพราะสถานการณ์ตอนนั้นปั่นป่วนไม่รู้ว่าใครเป็นพวกใคร หากถวายความเคารพ หรือ ‘คบค้าสมาคม’ กับพระองค์ท่าน อาจจะมีภัยถึงตัวและครอบครัวหรือไม่ จนถึงกับเคยรับสั่งด้วยความเสียพระทัยว่า “เรามันหมาหัวเน่า คนเห็นก็หนีหมด”
พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีทรงดำเนินพระชนมชีพอย่างสงบสุขและสันโดษ ทรงทำสวน และปลูกดอกไม้นานาชนิด และทรงทดลองปลูกพืชโดยไม่ต้องลงดินด้วย บางครั้งก็จะเสด็จประพาสต่างประเทศบ้าง เพื่อทรงพักผ่อนสำราญพระอิริยาบถ หากยังมีเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนพระราชหฤทัยอยู่เนืองๆ อันเป็นผลจากการกระทำและคำกล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีของรัฐบาลไทยสมัยนั้น แต่ก็ทรงพยายามต่อสู้เพื่อความถูกต้อง และทรงยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นอย่างดุษณียภาพ และด้วยขัตติยมานะ ภายในพระราชหฤทัยจะรู้สึกทุกข์ทรมานเพียงใดกับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ยากนักที่คนภายนอกจะล่วงรู้ได้ นอกจากพระองค์ท่านเอง[2]
วันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตด้วยพระหทัยวาย การถวายพระเพลิงพระบรมศพดำเนินไปอย่างเรียบๆ คงมีเพียงเสียงบรรเลงท่วงทำนองไวโอลินคอนแชร์โต้ของเมนเดิลโซนคลอเบาๆ เป็นเสมือนเสียงที่สำแดงความโศกเศร้าของผู้ที่รักและภักดีต่อพระองค์ที่มาเฝ้าฯ เป็นครั้งสุดท้ายเพื่อคารวะดวงพระวิญญาณ
สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์หนึ่ง เสด็จพระราชสมภพมาโดยมิมีผู้ใดคาดคิดว่าจะเสด็จผ่านพิภพเป็นเจ้าชีวิต และคงยิ่งมิมีผู้ใดคาดว่าจะทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และองค์แรกในระบอบประชาธิปไตย และแม้พระองค์เองก็มิได้ทรงทราบล่วงหน้าว่า พระชะตาจะผันผวน ต้องเสด็จนิราศร้างจากแผ่นดินที่ทรงพระราชสมภพไปเป็นเวลา ๗ ปีจนเสด็จสวรรคต ณ ต่างแดน คงเหลือพระราชกรณียกิจที่ทรงคุณค่าอเนกอนันต์และประโยคสุดท้ายของพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติอันเป็นอมตะไว้คู่แผ่นดินไทย
ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร
อ้างอิง
- ↑ อนุสรณ์หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ป.ม., ท.ช., ท.จ.ว. เนื่องในพิธีพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันจันทร์ที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๕. (๒๕๔๕). กรุงเทพฯ: มูลนิธิธนาคารกรุงเทพฯ, หน้า ๗๓.
- ↑ อนุสรณ์หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ป.ม., ท.ช., ท.จ.ว. เนื่องในพิธีพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันจันทร์ที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๕. (๒๕๔๕). กรุงเทพฯ: มูลนิธิธนาคารกรุงเทพฯ, หน้า ๗๔.
บรรณานุกรม
รำไพพรรณี พระบรมราชินี, สมเด็จพระนางเจ้า. (๒๕๔๕). พระราชบันทึกทรงเล่า ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗. นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า.
ศิริน โรจนสโรช. (๒๕๕๖). พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน ๑๒๐ ปี ผ่านฟ้า ประชาธิปก (น. ๒-๓๑). นนทบุรี: สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ศิรินันท์ บุญศิริ. (๒๕๓๗). พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. ใน กุลทรัพย์ เกษแม่น
กิจ, เนียนศิริ ตาละลักษมณ์, ฉวีงาม มาเจริญ, สุภรณ์ อัศวสันโสภณ, เพลินพิศ กำราญ, บุหลง ศรีกนก, . . . ประณีต นิยายลับ. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปกมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (น. ๓-๑๑๓). (พิมพ์ครั้งที่ ๒). กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
อนุสรณ์หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ป.ม., ท.ช., ท.จ.ว. เนื่องในพิธีพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันจันทร์ที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๕. (๒๕๔๕). กรุงเทพฯ: มูลนิธิธนาคารกรุงเทพฯ.