พรรคไทยสร้างสรรค์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          พรรคไทยสร้างสรรค์ เคยเป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งโดยการรวมตัวกันของผู้ความสนใจการเมืองใน วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553 โดยมีนายวิบูลย์ แสงกาญจนวนิช อดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการติดตามผลการใช้งบประมาณของรัฐบาล องค์การมหาชน และกองทุน ในคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ ติดตามมติของสภา และตรวจรายงานการประชุม โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก และมีคณะกรรมการบริหารพรรค รวม 11 คน มีจำนวนสมาชิก 18 คน หลังจากนั้นใน วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553 หัวหน้าพรรค พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารพรรค จำนวน 5 คน ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง โดยมีนายปวิตร ปานสถิตย์ ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคและในเวลาต่อมาได้มีมติให้เลิกพรรค เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554 และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554[1] ทั้งนี้ นายวิบูลย์ แสงกาญจนวนิช ได้เป็นหัวหน้าพรรคถิ่นกาขาว ซึ่งส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งในการแข่งขันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557[2]

 

ภาพ : สื่อในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคไทยสร้างสรรค์  ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2557[3]

Thai Sangsan Party (1).jpg
Thai Sangsan Party (1).jpg

 

          ในเวลาต่อมา พรรคไทยสร้างสรรค์ (Creative Thailand Party) เป็นพรรคการเมืองไทยที่จดทะเบียนก่อตั้งเป็น ลำดับที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2564 โดยมีนายธำรง เรืองธุระกิจ เป็นหัวหน้าพรรค และนางสาวญาณิศา จันทร์เรือง เป็นเลขาธิการพรรค โดยมีที่ทำการพรรคตามที่ระบุไว้อยู่ที่ เลขที่ 357 ถนนสุโขทัย แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพฯ[4] ซึ่งสถานที่นี้เคยถูกใช้เป็นที่ทำการของพรรคชาติพัฒนามาก่อนย้ายไปตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรค อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา โดยที่ประชุมผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคไทยสร้างสรรค์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ได้กำหนดข้อบังคับพรรคและคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรค คือ 3 เสาอุดมการณ์ ในการมาทำงานทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ดังนี้

          (1) ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องรู้คุณค่าของประวัติศาสตร์และการต่อสู้ของบรรพบุรุษชาติไทย

          (2) คิด ทำ อย่างสร้างสรรค์ ทุกนโยบายต้องยึดหลักความถูกต้อง ความเท่าเทียม ความเสมอภาค กระจายความสุข ยอมรับอดีต จับมือเดินหน้าทำงานร่วมกับคนไทยทุกกลุ่ม ทุกระดับ เพื่อให้ความสร้างสรรค์นำประเทศไทย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง แม้เผชิญวิกฤตการณ์ในอนาคต

          (3) สร้างสรรค์ระบบเศรษฐกิจพอเพียงให้แข็งแกร่งที่สามารถนำประชาชนคนไทยทั้งชาติมีความเป็นอยู่อย่างสงบสุขและภาคภูมิใจ

 

ตราสัญลักษณ์และการให้ความหมาย

          "พรรคไทยสร้างสรรค์" ชื่อย่อภาษาไทย "ท.ส.ส" ใช้เครื่องหมายพรรคการเมืองเป็นรูปสัญลักษณ์แฮชแท็ก (# Hashtag) ความหมายในเชิงการออกแบบ เส้นทั้ง 4 เส้นเปรียบเสมือนภูมิภาคของประเทศทั้ง 4 ภาค ที่ได้รับการขีดลากมาสานต่อกัน เปรียบเสมือนอุดมการณ์ของพรรคไทยสร้างสรรค์ ที่จะเป็นตัวแทนของพี่น้องทั้งประเทศ นําเอาความคิดที่หลากหลายของในแต่ละท้องถิ่นมาสานต่อให้เป็นแนวทางความคิดร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์ให้ประเทศไทยนั้นเดินหน้าต่อไป โดยความหมายในเชิงสัญลักษณ์ เส้นทั้ง 4 เส้นที่นํามาสานกันไว้คล้ายคลึงกับเครื่องหมาย #หรือแฮชแท็ก ซึ่งเป็นการแสดงของคนที่มีความคิดหรือไอเดียที่คล้ายคลึงที่จะใช้แฮชแท็กมารวมพวกเขาเอาไว้ ซึ่งพรรคไทยสร้างสรรค์ คือ กลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่คล้ายคลึงกัน มีความคิดที่อยากจะสร้างสรรค์พัฒนาบ้านเมืองไปในทิศทางเดียวกัน และพร้อมจะขยายแนวความคิดในการพัฒนาให้เป็นวงกว้างเพื่อสร้างสรรค์การเมืองรูปแบบใหม่ สร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยอย่างแท้จริง[5]

 

ภาพ : ตราสัญลักษณ์พรรคไทยสร้างสรรค์[6]

Thai Sangsan Party (2).png
Thai Sangsan Party (2).png

 

          ทั้งนี้ รายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคไทยสร้างสรรค์ชุดก่อตั้ง จำนวน 10 คน[7] ได้แก่

          (1) นายธำรงค์ เรืองธุระกิจ หัวหน้าพรรค ทำธุรกิจด้านยานยนต์ และเป็นนายสนามของงานแข่งรถยนต์ชื่อ “KPM Trackday” ขณะที่บุคคลในตระกูล “เรืองธุระกิจ” ปรากฏชื่อเป็นกรรมการบริษัทหลายแห่ง

          (2) นายกฤษฎา ตั่งเวชกุล รองหัวหน้าพรรค นักธุรกิจขายปลีกชิ้นส่วนยานยนต์ และร้านขายปลีกเครื่องดื่ม

          (3) นางอัญชลี เรืองธุรกิจ รองหัวหน้าพรรค

          (4) น.ส.ญาณิศา จันทร์เรือง เลขาธิการพรรค นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และร้านอาหาร

          (5) น.ส.อนัญญา อนันกิจโชค รองเลขาธิการพรรค เป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยปรากฏชื่อเป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท รชานนท์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และ บริษัท วี สตอรี่ 2019 จำกัด

          (6) น.ส.กนิษฐา เหลืองกังวานกิจ เหรัญญิกพรรค ทำธุรกิจร้านอาหารร่วมกับ น.ส.ญาณิศา จันทร์เรือง

          (7) น.ส.ณวรรณเพ็ญ พิศลพูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค นักธุรกิจด้านยานยนต์ ปั๊มน้ำมัน และอื่น ๆ

          (8) นายไกรพุฒิ อินทรโยธา โฆษกพรรค ทำธุรกิจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ต่อมาลาออกจากตำแหน่งเมื่อ วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2565

          (9) นายพชร ภูมิจิตร กรรมการบริหารพรรค นักธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้า และงานวิศวกรรม

          (10) น.ส.นริศรา ลิ้มธนากุล กรรมการบริหารพรรค นักธุรกิจซอฟต์แวร์ ต่อมาลาออกจากตำแหน่งเมื่อ วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2565

 

          นอกจากรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคที่ปรากฏในประกาศฉบับนี้ มีรายงานว่านักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังการปลุกปั้นพรรคนี้ คือ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 อดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อ วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หลังต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลใน "คดีกบฏ" จากการจัดการชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์_ชินวัตร ระหว่างปี พ.ศ. 2556-2557[8] ผลที่ตามมาทางการเมือง คือ นักการเมืองทั้ง 5 คน ไม่มีพันธะผูกพันกับพรรคเดิมที่เคยสังกัด และกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้พวกเขาได้เปิดดีลใหม่ทางการเมือง อย่างไรก็ตามในกรณี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ต้องคำพิพากษาศาลอาญาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปีด้วย จึงไม่สามารถเปิดหน้าทำกิจกรรมกับพรรคการเมืองใดได้[9]

 

          ทั้งนี้ พรรคไทยสร้างสรรค์เป็นหนึ่งในพรรคที่ถูกกล่าวถึงในฐานะพรรคทางเลือกหรือ "พรรคสำรอง" ให้ พล.อ.ประยุทธ์_จันทร์โอชา ในกรณีที่ตัดสินใจไม่ร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐ โดยอาจจะมีสมาชิกพรรคพลังประชารัฐบางส่วนที่ไม่ต้องการสนับสนุนพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมาร่วมงานกับพรรคพรรคไทยสร้างสรรค์ด้วย[10] และในเวลาต่อมา นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้มีการออกมาปฏิเสธ[11] โดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เผยแพร่ยอดเงินบริจาคพรรคการเมือง ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 พบว่า พรรคไทยสร้างสรรค์ ได้รับเงินบริจาค 441,000 บาท[12]  

 

          อย่างไรก็ดี ก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในปี พ.ศ. 2566 นายธำรง เรืองธุระกิจ หัวหน้าพรรคไทยสร้างสรรค์ ได้มีหนังสือแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าในการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคไทยสร้างสรรค์เมื่อ วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2566 ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้เลิกพรรคไทยสร้างสรรค์ ตามข้อบังคับพรรคไทยสร้างสรรค์ พ.ศ. 2564 ข้อ 123 วรรคหนึ่ง กรณีดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้พรรคไทยสร้างสรรค์สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองตามมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 โดยมีผลตั้งแต่ วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา[13]

 

อ้างอิง

[2] “เปิดปูมหลัง 45 พรรคเล็ก “ใครเป็นใคร” ในศึกเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 นี้”, สืบค้นจาก https://www.isranews.org/content-page/ item/26969-per.html (25 มิถุนายน 2566).

[3] “พรรคไทยสร้างสรรค์ เบอร์ 38”, สืบค้นจาก https://www.facebook.com/photo/? fbid=172378119490439&set= pb. 100077494610144.-2207520000 (25 มิถุนายน 2566).

[4] “ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง รับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคไทยสร้างสรรค์”, สืบค้นจาก https://www.ratchakitcha.soc. go.th/DATA/PDF/2564/D/095/T_0158.PDF (25 มิถุนายน 2566).

[5] “ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง รับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคไทยสร้างสรรค์ ”, สืบค้นจาก https://www.ratchakitcha.soc. go.th/DATA/PDF/2564/D/095/T_0158.PDF (25 มิถุนายน 2566).

[6] “ไทยสร้างสรรค์” มาแล้ว! โชว์ 10 กก.บห.ชุดแรก-ถูกปัดไม่ใช่ “พรรคสำรอง” นายกฯ”, สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews. com/politics/979251 (25 มิถุนายน 2566).

[7] “ไทยสร้างสรรค์” มาแล้ว! โชว์ 10 กก.บห.ชุดแรก-ถูกปัดไม่ใช่ “พรรคสำรอง” นายกฯ”, สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews. com/politics/979251 (25 มิถุนายน 2566).

[8] “รวมไทยสร้างชาติ: พรรคเก่า-พรรคใหม่-พรรคอะไหล่สำรอง พรรคไหนบ้างที่ประกาศเคียงข้าง พล.อ. ประยุทธ์”, สืบค้นจาก https:// www.bbc.com/thai/thailand-60314201 (25 มิถุนายน 2566).

[9] “กปปส.: ก้าวต่อไป 4 อดีตแกนนำ สร้าง “พรรคขวาใหม่” กับภารกิจ “หนุนลุงตู่”, สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-59876673 (25 มิถุนายน 2566).

[10] “รวมไทยสร้างชาติ: พรรคเก่า-พรรคใหม่-พรรคอะไหล่สำรอง พรรคไหนบ้างที่ประกาศเคียงข้าง พล.อ. ประยุทธ์”, สืบค้นจาก https:// www.bbc.com/thai/thailand-60314201 (25 มิถุนายน 2566).

[11] “โฆษกรัฐบาลเผยนายกรัฐมนตรี ยืนยันการเพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อดูแลการดำรงชีพ พร้อมปฏิเสธเข้าสังกัดพรรคไทยสร้างสรรค์ และย้ำไม่มีแนวคิดยุบสภา”, สืบค้นจาก https://thainews.prd.go.th/th/news/print_news/TCATG211123155256376 (25 มิถุนายน 2566).

[12] “กกต.เปิดยอดบริจาคพรรคการเมือง เดือน ก.ค.65 พรรคเศรษฐกิจไทยสูงสุด 6 ล้านบาท”, สืบค้นจาก https://mgronline.com/ uptodate/detail/9650000090000 (25 มิถุนายน 2566).

[13] “เลือกตั้ง’66: กกต.ประกาศให้ 3 พรรคสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง”, สืบค้นจาก https://www.infoquest.co.th/2023/289428 (25 มิถุนายน 2566) , “ราชกิจจาฯ ประกาศ พรรคเพื่อราษฎร คนงานไทย ไทยสร้างสรรค์ สิ้นสภาพพรรคการเมือง”, สืบค้นจาก https://www. nationtv.tv/politic/378910554 (25 มิถุนายน 2566).