พรรคดาวรุ่ง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย


ความนำ

           ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ได้เกิดปรากฏการณ์ที่สำคัญ ก็คือ การตั้งฉายาให้แก่บรรดาพรรคการเมืองซึ่งสะท้อนระดับความนิยมของประชาชน เช่น พรรคต่ำร้อย/พรรคดาวโรย พรรคตัวแปร และพรรคดาวรุ่ง เป็นต้น สำหรับฉายา “พรรคดาวรุ่ง” นั้นย่อมหมายถึงพรรคน้องใหม่อย่าง “พรรคอนาคตใหม่” ที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในศึกเลือกตั้งครั้งนี้  ซึ่งฉายาดังกล่าวนี้ ปรากฏครั้งแรกในสำนักข่าว CNN ที่ได้ยกให้พรรคอนาคตใหม่ เป็นพรรคดาวรุ่ง (rising star) ในการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 แม้พรรคจะลงเลือกตั้งครั้งแรก แต่ได้คะแนนเสียงมากถึง 5.3 ล้านเสียง โดย CNN วิเคราะห์ว่าสาเหตุที่พรรคอนาคตใหม่ได้รับความนิยมเป็นผลมาจากการช่วงชิงคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (first-time voters) ที่มีจำนวน 7 ล้านเสียง ด้วยการเสนอนโยบายแบบก้าวหน้าเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงและภาพของหัวหน้าพรรคที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจรัฐบาล คสช. อย่างชัดเจน[1] ซึ่งต่อมาสื่อมวลชนไทยได้นำเอาบทวิเคราะห์ดังกล่าวของ CNN มาเผยแพร่ในวงกว้าง[2]

 

กำเนิดเกิดขึ้นพรรคอนาคตใหม่

          พรรคการเมืองถือเป็นกลไกสำคัญในระบอบประชาธิปไตยอันเนื่องจากเป็นตัวแสดงหลัก ในกระบวนการทางการเมืองและการบริหารองคาพยพภายในรัฐนั้นๆ ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า พรรคการเมืองเกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มก้อนทางการเมือง (factions) ในช่วงที่มีการปกครองแบบผสม (mixed government) ระหว่างความสัมพันธ์ของกษัตริย์ อภิสิทธิชน และประชาชน ยกระดับเป็นพรรคการเมืองที่ประกอบไปด้วยคนหลากหลายทั้งกลุ่มคน ความคิด และผลประโยชน์ จนเป็นการปกครองด้วยระบบพรรคการเมือง (party government) ที่รัฐธรรมนูญรับรองสถานะพรรคการเมืองในฐานะองค์กรอย่างเป็นทางการ ซึ่งมาพร้อมกับระบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ[3] แม้กระทั่งประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม เช่น จีน เวียดนาม เกาหลีเหนือ ก็ยังต้องมีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาในเวทีระดับชาติ แม้ว่าในทางปฏิบัติจะมีเพียงพรรคการเมืองเดียวครองอำนาจนำมาอย่างยาวนานก็ตาม

          ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองก็ต้องมีการสมัครรับเลือกตั้งซึ่งต้องมีการแข่งขันการนำเสนอนโยบายและผู้สมัครของพรรค เพื่อให้ได้คะแนนเสียงจากประชาชนโดยมีเป้าหมายการเป็นฝ่ายรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงสูงจนสามารถเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลหรือการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อที่จะได้รับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีในฝ่ายบริหารและผลักดันนโยบายพรรคที่เคยหาเสียงไว้กับประชาชน[4] แต่การเลือกตั้งในหลายประเทศนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา หลายประเทศได้มีพรรคการเมืองใหม่ที่ลงเลือกตั้งครั้งแรกแล้วได้รับคะแนนเสียงจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ในกรณีของสเปน พรรคโปเดมอส (Podemos) และ พรรคซีดาดาโนส (Ciudadanos) ที่ลงเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2015 ทั้งสองพรรคได้รับคะแนน 34.6 % จากผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด ซึ่งคะแนนเสียงส่วนใหญ่มาจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ สัดส่วนดังกล่าวถือว่าเป็นคะแนนที่มากพอในการสั่นคลอนการนำของพรรคการเมืองใหญ่ดั้งเดิมอีกสองพรรคเป็นอย่างมาก[5] แน่นอนว่านี่นับเป็นตัวอย่างการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม

          พรรคอนาคตใหม่เกิดจากการรวมตัวก่อตั้งของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักธุรกิจและอดีตรองประธานบริหารบริษัทไทยซัมมิท ที่มองว่า ณ ขณะนั้นไม่มีพรรคการเมืองใดที่เป็นตัวแทนทางความคิดตนเองได้ แม้พรรคเพื่อไทยจะสนับสนุนประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ได้เป็นคำตอบและทางออกจากวิกฤตทางการเมือง[6] และได้รับการสนับสนุนจาก รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์สอนกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้ศึกษาแนวทางการเมืองของพรรคโปเดมอส (Podemos) ในสเปน แม้จะเป็นพรรคที่ก่อตั้งใหม่แต่ก็ได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับสาม เนื่องจากการใช้เครื่องมือการสื่อสารสมัยใหม่[7] ร่วมกับผู้ก่อตั้งอีก 24 คน ที่มาจากหลากหลายอาชีพ ทั้งนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางสังคม นักธุรกิจ และอดีตข้าราชการ ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งพรรคและได้รับการรับรองสถานะพรรคการเมืองจากคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561[8] ซึ่งในระหว่างการรวบรวมผู้ร่วมจัดตั้งพรรคก็ได้เกิดกระแสในโลกโซเชียลมีเดียจากแฮชแท็ก #ช่วยธนาธรตั้งชื่อพรรค ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์และมีการรีทวีตมากกว่าแปดหมื่นครั้ง ถือเป็นสีสันและความแปลกใหม่ของพรรคการเมืองใหม่ที่เริ่มก่อตั้ง[9]

          ในการประชุมใหญ่สามัญพรรคอนาคตใหม่ครั้งที่ 1 ที่ประชุมได้มีมติเลือกนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นหัวหน้าพรรค ส่วน รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นเลขาธิการพรรค โดยปกติกรรมการบริหารพรรคการเมืองมักจะมีสัดส่วนที่เป็นตัวแทนของภูมิภาคต่างๆ แต่โครงสร้างของพรรคอนาคตใหม่มีกรรมการสัดส่วนจากผู้ใช้แรงงานเพิ่มขึ้นมาอีกตำแหน่ง ในการประชุมดังกล่าวยังได้มีการประกาศจุดยืนและเจตนารมณ์ของพรรคที่จะฟื้นความเชื่อมั่นระบอบประชาธิปไตยกลับมาอีกครั้งหนึ่ง นำพาประเทศออกจากวิกฤต โดยที่ “อนาคตใหม่” คือ อนาคตที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน และยึดหลัก 3 ประการในการทำงาน คือ

           1. เป็นพรรคการเมืองที่มุ่งทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ มองพรรคการเมืองอื่นเป็นคู่แข่งไม่ใช่ศัตรู เอาชนะใจประชาชนด้วยนโยบาย

           2. เป็นพรรคการเมืองที่ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นเจ้าของ ผู้บริหารพรรคไม่กี่คนไม่สามารถกำหนดความเป็นไปของพรรคได้ สมาชิกพรรคมีอำนาจในการตัดสินและกำหนดทิศทางพรรค

           3. เป็นพรรคการเมืองที่มุ่งทำงานการเมืองระยะยาว พรรคจะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งให้ครบทุกเขตในทุกการเลือกตั้ง

           ขณะเดียวกันพรรคอนาคตใหม่มีความพยายามในการจะสร้างพรรคให้เป็นสถาบันการเมืองในระยะยาว ทั้งการขยายสาขาและศูนย์ประสานงานของพรรคไปยังจังหวัดต่างๆ การเปิดรับสมัครสมาชิกพรรคทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์ การวางแผนทำงานทางการเมืองที่สอดประสานกับมูลนิธิและวิสาหกิจเพื่อสังคมที่จะมีการก่อตั้งในอนาคต โดยมูลนิธิจะเน้นทางด้านการทำงานคลังสมอง สนับสนุนกิจกรรมเยาวชน จัดหลักสูตรการศึกษาให้ความรู้ และการวิจัยทางวิชาการ ส่วนวิสาหกิจเพื่อสังคมจะเป็นห้องทดลองทางนโยบาย แม้ว่าจะยังไม่ได้เป็นรัฐบาลแต่พรรคจะนำเอานโยบายมาทดลองใช้กับวิสาหกิจเพื่อสังคมและรอการขยายผลในอนาคต เพื่อปักธงทางความคิดและช่วงชิงพื้นที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง[10]

 

นโยบายของพรรคอนาคตใหม่

           ในการแถลงนโยบายพรรคเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2561 พรรคอนาคตใหม่ได้ชูนโยบายไทยสองเท่า “คนเท่าเทียมกัน ไทยเท่าทันโลก” อันเป็นการปักธงประชาธิปไตยด้วยการเสนอการทลายเศรษฐกิจผูกขาด การสนับสนุนขนส่งสาธารณะเพื่อทุกคน การส่งเสริมเกษตรก้าวหน้าด้วยการใช้เทคโนโลยี การใช้เทคโนโลยีสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อประชาชน การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเพื่อกำจัดการทุจริต การโอบรับความหลากหลายของคนในสังคม การสนับสนุนสิ่งแวดล้อมยั่งยืน และการปฏิรูปกองทัพ ลดนายพล ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ ซึ่งจะนำไปสู่การยุติระบบราชรวมศูนย์ การปฏิวัติการศึกษา และสร้างไทยเท่าเทียมด้วยระบบสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร[11]

          ก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้คัดสรรผู้ประสงค์ลงสมัคร ส.ส. และส่งผู้สมัครลงครบทุกเขต 350 คน และส่งรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคเพียงหนึ่งเดียว คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมชูแคมเปญพรรคว่าเป็นการเมืองแบบใหม่ที่ไม่ใช้เงินในการซื้อเสียง การสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองหลายสำนักประเมินว่าความนิยมทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่อยู่ที่ 10-15% คาดว่าจะได้ ส.ส. เข้าสภา 50-75 ที่นั่ง แต่นายธนาธรในฐานะหัวหน้าพรรคตั้งเป้า ส.ส. สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ถึง 100 คน[12] ถือได้ว่าพรรคการเมืองใหม่ที่ได้คะแนนนิยมที่ดี แม้ตัวผู้สมัคร ส.ส. เกือบทั้งหมดจะไม่เคยลงสมัคร ส.ส. มาก่อน

 

โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง

           ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งได้มีกระแสข่าวว่าตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) จะนำสำนวนคดีของแกนนำพรรคอนาคตใหม่ในข้อกล่าวหาการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จจากการไลฟ์สดผ่านเพจ The Future We Want กล่าวหาพาดพิงประเด็นการดูด ส.ส. ส่งอัยการให้ยื่นฟ้องต่อศาลในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งหากมีการส่งฟ้องจริงแล้วพิจารณาให้ฝากขังจำเลย ก็อาจกระทบต่อการหาเสียงในช่วงเวลาที่เหลือไม่ถึงหนึ่งเดือน จนเกิดกระแสในโซเชียลมีเดียและการสร้างแฮชแท็ก #savethanathorn อย่างไรก็ตามไม่ได้มีการส่งสำนวนให้อัยการเกิดขึ้นในวันดังกล่าว[13]

           ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึงอีก 17 วัน จากการที่พรรคได้เสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรีในรายชื่อของพรรค ซึ่งขัดกับหลักการสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ทรงดำรงอยู่เหนืองการเมือง แม้จะได้ทรงกราบบังคมทูลลาออกจากฐานันดรศักดิ์แล้วก็ตาม เพราะฉะนั้นพระบรมวงศานุวงศ์ต้องอยู่เหนือการเมืองทั้งหลาย การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติจึงขัดกับหลักการดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติในวันที่ 7 มีนาคม 2562[14] การยุบพรรคไทยรักษาชาติส่งผลให้ฐานเสียงของพรรคที่คาดการณ์ว่ามีประมาณ 2 ล้านเสียง ต้องกระจายไปเลือกพรรคอื่นที่อยู่ในฝ่ายที่ไม่เอาการสืบทอดอำนาจของ คสช. ซึ่งรวมถึงพรรคอนาคตใหม่

          วันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง นายศรีสุวรรณ จรรยา เตรียมยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าขาดคุณสมบัติการสมัครลงรับเลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่ จากการที่นายธนาธรและภรรยาถือหุ้นบริษัททำสื่อสิ่งพิมพ์ แม้นายธนาธรและภรรยาได้โอนหุ้นดังกล่าวให้ไปให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เพียง 3 วันก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าความไม่ปกติในการทำธุรกรรมและความไม่โปร่งใส นายศรีสุวรรณจึงได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 25 มีนาคม 2562 หลังการเลือกตั้งเพียง 1 วัน[15]

 

ผลการเลือกตั้ง

           ผลการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนเสียงทั้งหมด 6.3 ล้านเสียง ได้ ส.ส. เข้าสภาสูงถึง 81 คน แม้จะเป็นพรรคใหม่แต่ก็ชนะ ส.ส. เขตถึง 26 คน สามารถเอาชนะ ส.ส. เจ้าของพื้นที่เดิมได้ค่อนข้างมาก ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ถือเป็นพรรคที่ได้ ส.ส. สูงสุดเป็นอันดับสาม รองจากพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ และได้ ส.ส. เยอะกว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยที่ได้มีการก่อตั้งมาก่อนพรรคอนาคตใหม่[16] หลังการเลือกตั้งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อธิบายว่าที่พรรคอนาคตใหม่ได้รับคะแนนเสียงเยอะในการเลือกตั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าคือการเอาหรือไม่เอาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เอาหรือไม่เอาเผด็จการ

          แต่ในระหว่างการรอเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 ใช้เวลากว่าสองเดือนหลังวันเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งในวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ให้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราว จากการที่มีผู้ยื่นให้ศาลวินิจฉัยสมาชิกภาพนายธนาธรที่มีการถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ณ วันที่สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)[17] ซึ่งเมื่อเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายธนาธรก็ได้ยอมรับในคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ส่งผลให้ ส.ส. ในสภาของพรรคอนาคตใหม่ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ลดลงไปหนึ่งเสียง

           หลังจากที่ได้มีการนัดประชุมสภาครั้งต่อไปในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคแนวร่วมประชาธิปไตยที่ได้ลงนามสัตยาบรรณไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เสนอชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคที่ได้ ส.ส. เยอะมากที่สุดก็ตาม แต่ก็พ่ายแพ้ให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีเสียงจาก ส.ว. ลงมติสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรี 249 คน ด้วยคะแนน 500 ต่อ 244 เสียง[18]

 

บทส่งท้าย: ข้อวิเคราะห์ที่มีต่อ “อนาคตใหม่”

           ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ SUPER POLL มองว่า เมื่อพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ ฐานเสียงของพรรคจะกระจายไปเลือกพรรคอื่นที่มีอุดมการณ์คล้ายกัน คือ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย หรือพรรคเพื่อชาติ ซึ่งจะทำให้พรรคกลุ่มนี้มีคะแนนเสียงเพิ่มมากขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้[19]
           ในขณะเดียวกัน ดร.วรัชญ์ ครุจิต วิเคราะห์ความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่ว่าสามารถสร้าง branding เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนมากกว่าพรรคอื่น เน้นประเด็นการสื่อสารที่ชัดเจน สื่อสาต่อเนื่องจนเกิดพลังและการจดจำง่าย เช่น “เก่า/ใหม่” “เปลี่ยนแปลง” “อนาคต” “ต่อต้านเผด็จการ” ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกมากถึง 7.3 ล้านคน[20]

           สอดคล้องกับการศึกษา นายอลงกรณ์ ศิลปดอนบม และนายศิวัช ศรีโภคางกุล ที่ได้ศึกษาการเลือกตั้ง ส.ส. ขอนแก่น เขต 1 ซึ่งพรรคอนาคตใหม่เอาชนะ ส.ส. เดิมจากพรรคเพื่อไทยได้ ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยหลักที่ทำให้คนเลือกพรรคอนาคตใหม่เกิดจากจุดยืนทางการเมืองของพรรคที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของทหาร คนที่เลือกพรรคอนาคตใหม่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ผ่านเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549
และ 2557 ซึ่งพรรคได้ใช้การสานสัมพันธ์คนกลุ่มนี้ผ่านสื่อออนไลน์ซึ่งทำให้ได้คะแนนนิยมมากและช่วงชิงคะแนนจากฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยมาได้ แม้ว่าพรรคทั้งสองจะมีจุดยืนในการต่อต้านรัฐบาล คสช. ก็ตาม[21]

บรรณานุกรม

“About Us นโยบาย.” อนาคตใหม่. เข้าถึงได้จาก <https://futureforwardparty.org/?page_id=1027>. เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2563.

“About Us พรรคอนาคตใหม่.” อนาคตใหม่. เข้าถึงได้จาก <https://futureforwardparty.org/?page_id=1019>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.

“About Us วิสัยทัศน์.” อนาคตใหม่. เข้าถึงได้จาก <https://futureforwardparty.org/?page_id=1022>. เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2563.

“Confusion mounts as Thailand's election results delayed.” CNN (25 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก<https://edition.cnn.com/2019/03/24/asia/thailand-election-result-intl/index.html>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.

“เชื่อยุบ ทษช. เสียง ปชช. ไหลเข้าพรรคอุดมการณ์เดียวกัน.” เดลินิวส์ (7 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก<https://www.dailynews.co.th/politics/697165>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.

“ไทยรักษาชาติ : สรุปคำวินิจฉัยศาล รธน. สั่งยุบ ทษช. "เซาะกร่อนบ่อนทำลาย" สถาบันพระมหากษัตริย์.”
บีบีซีไทย (7 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47465782>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.

“ฉากชีวิตขนาดยาวกับความฝันนอกหมวกนักวิชาการ ของ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’.” The Matter (8 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://thematter.co/social/long-interview-with-piyabutr/76766>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.

ทวิตเตอร์ระดม แฮชแท็ก '#ช่วยธนาธรตั้งชื่อพรรค' พุ่งอันดับ 1.“ Voice TV (6 มีนาคม 2561). เข้าถึงได้จาก <https://voicetv.co.th/read/r1gxOk2_M>. เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2563.

“ธนาธร พรรคอนาคตใหม่ ตอบสดๆ ทุกข้อสงสัย.” The Standard (19 มีนาคม 2561). เข้าถึงได้จาก <https://thestandard.co/thestandarddaily19032561/>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.

““ธนาธร” เผยผลโพลอนาคตใหม่ ชี้ มีความนิยมคว้า 50-75 ที่นั่ง วางเป้าทะลุร้อยเสียง.” ประชาชาติธุรกิจ (26 มกราคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://www.prachachat.net/politics/news-282834>. เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2563.

“ปรากฎการณ์เลือกตั้ง 24 มี.ค. 62 'พปชร.-อนาคตใหม่' แจ้งเกิด-ปชป.พ่าย 'อภิสิทธิ์' ลาออก.” สำนักข่าวอิศรา (25 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://www.isranews.org/isranews/75003-isranews-75003.html>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.

 

“ผลเลือกตั้ง 2562: กกต. แถลงผลเลือกตั้ง 100% คะแนนมหาชนของ พปชร. พุ่งเป็น 8.4 ล้านเสียง.” บีบีซีไทย (28 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47730271>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563

“วิเคราะห์ยุทธศาสตร์การทำBranding ของ 'พรรคอนาคตใหม่'.” ThaiTribune (26 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <http://www.thaitribune.org/contents/detail/303?content_id=35012>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.

“ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องปมหุ้นสื่อ “ธนาธร” หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราว.” WorkpointToday (23 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://workpointtoday.com/court-ffp-tnt/>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.

“สรุปผลเลือกนายกฯ 500 ต่อ 244 เสียง ดูชัดๆ ใครโหวตใคร.” WorkpointToday (5 มิถุนายน 2562). เข้าถึงได้จาก <https://workpointtoday.com/votepm62/>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.

“ส่อวืด!‘ศรีสุวรรณ’จ่อร้อง‘กกต.’สอบคุณสมบัติ‘ธนาธร’ปมมีหุ้นในสื่อ.” แนวหน้า (23 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://www.naewna.com/politic/403491>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.

“สื่อต่างชาติตั้ง ฉายา พรรคดาวรุ่ง-ดาวโรย หลังติดตามผลการเลือกตั้งของไทย.” จส100 (25 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <http://www.js100.com/en/site/news/view/70371>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563

“อนาคตใหม่-ธนาธร อาจไปไม่ถึงวันเลือกตั้ง?.” The Matter (26 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงได้จาก <https://thematter.co/social/thanathorn-future-forward-party/71487>. เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2563.

“อลงกรณ์ ศิลปดอนบม และ ศิวัช ศรีโภคางกุล (2563). “การกำเนิดของพรรคอนาคตใหม่ที่มีผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปีพุทธศักราช 2562: กรณีศึกษาจังหวัดขอนแก่น.” วารสารสันติศึกษาปริทัศน์ มจร. ปีที่ 8. ฉบับที่ 1 (มกราคม-กุมภาพันธ์): 320-335.

Orriols, L., & Cordero, G., “The breakdown of the Spanish two-party system: the upsurge of Podemos and Ciudadanos in the 2015 general election,” South European Society and Politics, Volume 21 Issue 4 (2016): 469-492.

Sartori, G., “Parties and party systems: A framework for analysis”. (2005). ECPR press.

Strom, K., “A behavioral theory of competitive political parties,” American journal of political science, (1990): 565-598.

อ้างอิง


[1] “Confusion mounts as Thailand's election results delayed,” CNN (25 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก<https://edition.cnn.com/2019/03/24/asia/thailand-election-result-intl/index.html>, เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.

[2] “สื่อต่างชาติตั้ง ฉายา พรรคดาวรุ่ง-ดาวโรย หลังติดตามผลการเลือกตั้งของไทย,” จส100 (25 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <http://www.js100.com/en/site/news/view/70371>, เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 และ “ปรากฎการณ์เลือกตั้ง 24 มี.ค. 62 'พปชร.-อนาคตใหม่' แจ้งเกิด-ปชป.พ่าย 'อภิสิทธิ์' ลาออก,” สำนักข่าวอิศรา (25 มีนาคม 2562), เข้าถึงได้จาก <https://www.isranews.org/isranews/75003-isranews-75003.html>, เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.

[3] Sartori, G., “Parties and party systems: A framework for analysis”. (2005). ECPR press.

[4] Strom, K., “A behavioral theory of competitive political parties,” American journal of political science, (1990): 565-598.

[5] Orriols, L., & Cordero, G., “The breakdown of the Spanish two-party system: the upsurge of Podemos and Ciudadanos in the 2015 general election,” South European Society and Politics, Volume 21 Issue 4 (2016): 469-492.

[6] “ธนาธร พรรคอนาคตใหม่ ตอบสดๆ ทุกข้อสงสัย,” The Standard (19 มีนาคม 2561). เข้าถึงได้จาก <https://thestandard.co/thestandarddaily19032561/>, เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.

[7] “ฉากชีวิตขนาดยาวกับความฝันนอกหมวกนักวิชาการ ของ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’,” The Matter (8 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://thematter.co/social/long-interview-with-piyabutr/76766>, เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.

[8] “About Us พรรคอนาคตใหม่,” อนาคตใหม่, เข้าถึงได้จาก <https://futureforwardparty.org/?page_id=1019>, เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.

[9]ทวิตเตอร์ระดม แฮชแท็ก '#ช่วยธนาธรตั้งชื่อพรรค' พุ่งอันดับ 1,“ Voice TV (6 มีนาคม 2561), เข้าถึงได้จาก <https://voicetv.co.th/read/r1gxOk2_M>, เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2563.

[10] “About Us วิสัยทัศน์,” อนาคตใหม่, เข้าถึงได้จาก <https://futureforwardparty.org/?page_id=1022>, เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2563.

[11] “About Us นโยบาย,” อนาคตใหม่, เข้าถึงได้จาก <https://futureforwardparty.org/?page_id=1027>, เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2563.

[12] ““ธนาธร” เผยผลโพลอนาคตใหม่ ชี้ มีความนิยมคว้า 50-75 ที่นั่ง วางเป้าทะลุร้อยเสียง,” ประชาชาติธุรกิจ (26 มกราคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://www.prachachat.net/politics/news-282834>, เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2563.

[13] “อนาคตใหม่-ธนาธร อาจไปไม่ถึงวันเลือกตั้ง?,” The Matter (26 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงได้จาก <https://thematter.co/social/thanathorn-future-forward-party/71487>, เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2563.

[14] “ไทยรักษาชาติ : สรุปคำวินิจฉัยศาล รธน. สั่งยุบ ทษช. "เซาะกร่อนบ่อนทำลาย" สถาบันพระมหากษัตริย์,” บีบีซีไทย (7 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47465782>, เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.

[15] “ส่อวืด!‘ศรีสุวรรณ’จ่อร้อง‘กกต.’สอบคุณสมบัติ‘ธนาธร’ปมมีหุ้นในสื่อ,” แนวหน้า (23 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://www.naewna.com/politic/403491>, เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.

[16] “ผลเลือกตั้ง 2562: กกต. แถลงผลเลือกตั้ง 100% คะแนนมหาชนของ พปชร. พุ่งเป็น 8.4 ล้านเสียง,” บีบีซีไทย (28 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47730271>, เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563

[17] “ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องปมหุ้นสื่อ “ธนาธร” หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราว,” WorkpointToday (23 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://workpointtoday.com/court-ffp-tnt/>, เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.

[18] “สรุปผลเลือกนายกฯ 500 ต่อ 244 เสียง ดูชัดๆ ใครโหวตใคร,” WorkpointToday (5 มิถุนายน 2562). เข้าถึงได้จาก <https://workpointtoday.com/votepm62/>, เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.

[19] “เชื่อยุบ ทษช. เสียง ปชช. ไหลเข้าพรรคอุดมการณ์เดียวกัน,” เดลินิวส์ (7 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก<https://www.dailynews.co.th/politics/697165>, เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.

[20] “วิเคราะห์ยุทธศาสตร์การทำBranding ของ 'พรรคอนาคตใหม่',” ThaiTribune (26 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <http://www.thaitribune.org/contents/detail/303?content_id=35012>, เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.

[21] อลงกรณ์ ศิลปดอนบม และ ศิวัช ศรีโภคางกุล, “การกำเนิดของพรรคอนาคตใหม่ที่มีผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปีพุทธศักราช 2562: กรณีศึกษาจังหวัดขอนแก่น,” วารสารสันติศึกษาปริทัศน์ มจร, ปีที่ 8, ฉบับที่ 1 (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2563): 320-335.