ประชามติ (พ.ศ. 2550)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต



พรรคประชามติ

พรรคประชามติจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2550[1] โดยมีนายประมวล รุจนเสรี ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคและนายวิฑูรย์ แนวพานิช ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรค[2] ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550[3] นายวิฑูรย์ แนวพานิช ได้ลาออกจากdารเป็นสมาชิกพรรคและเลขาธิการพรรค

การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างเป็นทางการของพรรคประชามตินั้น เมื่อการเลือกตั้งในปี 2550 พรรคได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในแบบสัดส่วนจำนวน 80 คน และแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 283 คน ซึ่งทั้งหมดมิได้ถูกรับเลือกแต่อย่างใด

รายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินการที่สำคัญมีดังต่อไปนี้คือ[4]


ด้านการเมืองการบริหาร

1.แก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย

2.สร้างนิเวศวิทยา (Green Politic) ทางการเมืองใหม่

3.ออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้ยากไร้ตามแนวทางเศรษฐกิจการเมืองเพื่อสังคมหรือธัมมสังคมนิยม

4.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน

5.ป้องกันปราบปรามการเลือกตั้งที่ทุจริต ซื้อสิทธิ-ขายเสียง

6.ให้ราชการส่วนกลางรับผิดชอบเฉพาะเรื่องระดับชาติ ส่วนเรื่องท้องถิ่นให้เป็นหน้าที่ของประชาชนกับท้องถิ่นโดยภูมิภาคทำหน้าที่กำกับ ตรวจสอบ แนะนำท้องถิ่น

7.ลดขนาดจำนวนข้าราชการและภารกิจของส่วนกลาง–ส่วนภูมิภาคลงมาและนำไปเพิ่มให้ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น

8.เรียนฟรี รักษาฟรี น้ำประปาไฟฟ้าฟรีสำหรับครอบครัวผู้มีรายได้น้อย

9.ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นทุกกรณี

10.ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในสามจังหวัด

11.แก้ปัญหาภาคใต้ด้วยการเอาชนะใจประชาชน


ด้านเศรษฐกิจ

1.สร้างดุลยภาพทางเศรษฐกิจและการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามแนวราบ

2.ประเมินทรัพยากรของชาติให้เป็นมูลค่าเพื่อนำทุนไปพัฒนาประเทศแต่ไม่นำมูลค่ามาแปลงเป็นทุน

3.ส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน

4.เร่งให้มีภาษีมรดกและภาษีส่วนเกินทุน

5.ปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกันการผูกขาดของทุนใหญ่

6.ไม่แปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค สาธารณูปการ

7.สร้างธนาคารเพื่อคนยากจน

8.ให้ความสำคัญกับสหกรณ์

9.นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้

10.กระจายปัจจัยการผลิตเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

11.สร้างความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศใหม่

12.ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวชายแดน


ด้านการต่างประเทศ

1.ดำเนินนโยบายเป็นกลางและพัฒนาสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน

2.ร่วมมือกับกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและประเทศในโลกที่สามเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง

ด้านความมั่นคง

1.ให้ความสำคัญกับมั่นคงของมนุษย์

2.ปรับโครงสร้างกองทัพให้มีลักษณะบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อนและปรับกำลังให้เล็กลง

3.ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาระบบอุตสาหกรรมสำรองสงครามและอุตสาหกรรมทหาร

4.ดำเนินนโยบายมิให้กองทัพและการเมืองก้าวก่ายงานซึ่งกันและกัน

5.ป้องกันมิให้เกิดระบบพวกพ้องในกองทัพ

6.ปรับปรุงระบบกำลังสำรองให้สามารถปฏิบัติงานได้จริง


ด้านการศึกษา

1.เรียนฟรีถึงปริญญาตรี

2.พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาให้ใกล้เคียงกันทุกที่

3.มีระบบสวัสดิการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตครู

4.ปลดภาระหนี้สินครูด้วยระบบสหกรณ์

5.เพิ่มศักยภาพของสถาบันวิชาชีพ/อาชีวศึกษา

6.ตั้งสภาวิชาชีพระดับอาชีวศึกษา

7.ยกเลิกการนำมหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบ

8.สนับสนุนทุนเพื่อการวิจัย

9.ปรับปรุงค่าเล่าเรียนให้เหมาะสม

10.สร้างมหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้เรียนที่อยู่ห่างไกล


ด้านแรงงาน

1.ให้เงินผู้สูงอายุที่ยากไร้เดือนละ 1,500-2,000 บาท

2.ให้มีระบบการตัดสินใจแบบไตรภาคีเพื่อกระจายผลประโยชน์ในบริษัทมหาชนและรัฐวิสาหกิจ

3.พัฒนาฝีมือแรงงานและให้การศึกษาแก่ผู้ใช้แรงงานอย่างต่อเนื่อง

4.จัดระเบียบแรงงานต่างด้าว

5.จัดเงินเดือนค่าจ้างให้สมดุลกับค่าจ้างขั้นต่ำ


ด้านคมนาคมและการขนส่ง

1.พัฒนาระบบขนส่งทางน้ำเพื่อลดการใช้พลังงานน้ำมัน ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ

2.พัฒนาระบบจัดเก็บและขนส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพ

3.ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก

4.สร้างเครือข่ายการขนส่งทางทะเล

5.ทำให้สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศในภูมิภาค


ด้านสาธารณสุข

1.ผสมผสานการแพทย์สมัยใหม่และแผนไทย

2.จัดการเรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขในระบบเปิดที่สามารถเรียนรู้ได้ทุกระดับ

3.เน้นการแพทย์เชิงป้องกันมากกว่าการรักษา

4.มีความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์

5.เร่งผลิตยาในประเทศพร้อมป้องกันการเอาเปรียบจากบริษัทยาข้ามชาติ


ด้านเกษตร

1.จัดให้มีการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร

2.ปฏิรูประบบการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร

3.สนับสนุนการผลิตพืชที่เหมาะสมในแต่ละท้องถิ่น

4.สนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรชีวภาพ

5.ส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาเกษตรกรรม

6.พัฒนาการทำสวนยางพาราอย่างครบวงจร


ด้านสหกรณ์

1.ให้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางพัฒนาชุมชน

2.ให้สหกรณ์เป็นองค์กรธุรกิจทุกระดับ

3.ยกร่าง พ.ร.บ.สหกรณ์ใหม่โดยให้อิสระ กำกับดูแลกันเอง

4.จัดให้มีกองทุนพัฒนาสหกรณ์

5.จัดตั้งธนาคารสหกรณ์ระดับชาติ

6.จัดตั้งตลาดสหกรณ์ระหว่างประเทศกับสหกรณ์ทั่วโลก


ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

1.ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

2.สร้างเครือข่ายระบบสารสนเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เชื่อมต่อกันทั่วโลก

3.จัดตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งชาติและจัดให้มีเมืองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

1.ส่งเสริมการปลูกไม้สัก

2.ใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมกำหนดเขตป่าไม้ให้ชัดเจน

3.ปิดและอนุรักษ์พื้นที่ป่าที่เป็นมรดกโลก

4.ป้องกันและแก้ไขปัญหามลภาวะโดยยึดหลักผู้ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นผู้จ่าย

5.ออกกฎหมายควบคุมการนำเข้ากากสารพิษและขยะอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ


ด้านศาสนาและวัฒนธรรม

1.สร้างเอกลักษณ์ของคนไทยด้วยความมีน้ำใจ

2.ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของทุกศาสนา

3.ใช้ศาสนสถานเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และประชาคม

4.ยอมรับวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อสะท้อนลักษณะพหุสังคมที่เป็นจุดเด่นของชาติไทย


ด้านสารสนเทศและสื่อสารมวลชน

1.กำหนดให้คลื่นความถี่เป็นสมบัติสาธารณะ

2.สนับสนุนให้เกิดทีวีสาธารณะและจัดการแก้ปัญหาวิทยุชุมชน

3.ป้องกันมิให้มีการผูกขาดการผลิตสื่อต่างๆ การนำเสนอเนื้อหาเพียงด้านเดียวและเน้นแต่ความบันเทิงจนเป็นการทำลายสังคม


ด้านพลังงานของประเทศ

1.แก้ไขปัญหาการผูกขาดและการเอารัดเอาเปรียบในกิจการพลังงาน

2.ตราพระราชบัญญัติส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็กโดยใช้เชื้อเพลิงชีวภาพหรือพลังงานทดแทน

3.สร้างโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายก๊าซธรรมชาติให้ทั่วถึง

4.ตราพระราชบัญญัติมาตรฐานการประหยัดพลังงานในยานยนต์ เครื่องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าและอาคารที่อยู่อาศัย

5.ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาค (Energy Hub)

6.เชื่อมโยงระบบไฟฟ้าของอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียวโดยให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าส่งไฟฟ้า


ด้านการท่องเที่ยว

1.ส่งเสริมวัฒนธรรมการต้อนรับนักท่องเที่ยว

2.ป้องกันมิให้กิจการการท่องเที่ยวส่งผลกระทบวิถีชีวิตของชุมชน

3.ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว


ด้านสังคม

1.เสริมสร้างสถาบันครอบครัว

2.คุ้มครองเด็กและเยาวชนจากความรุนแรง

3.ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย

4.สนับสนุนบทบาทของผู้หญิงในทางการเมือง

5.ออกกฎหมายการให้บริการแก่ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส


ด้านกีฬา

1.ลดภาษีอุปกรณ์กีฬาทุกประเภท

2.ขจัดปัญหาการผูกขาดของสมาคมกีฬาทุกประเภท



อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนพิเศษ 174ง หน้า 52
  2. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนพิเศษ 174ง หน้า 88
  3. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 11ง หน้า 47
  4. สรุปความจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนพิเศษ 174ง หน้า 52-66