ประชาธิปไตยสุจริต เศรษฐกิจเข้มแข็ง
ประชาธิปไตยสุจริต เศรษฐกิจเข้มแข็ง
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
ความนำ
การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 นับเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของการเมืองไทย ภายหลังการเมืองไทยปลอดการเลือกตั้งมา 5 ปีเต็ม นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557 ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและกระบวนการทางการเมืองที่สำคัญหลาย เช่น ระบบการเลือกตั้ง การกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามีสิทธิร่วมโหวตผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าเงื่อนไขข้างต้นเป็นปัจจัยที่ทำให้บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ที่ลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ เกิดความรู้สึกว่าตนเองเสียเปรียบให้แก่พรรคผู้กุมอำนาจ นั่นก็คือ พรรคพลังประชารัฐ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งทั่วไปว 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 บรรดาพรรคการเมืองต่างนำเสนอนโยบายต่อสาธารณชน โดยส่วนหนึ่งได้มุ่งชี้ให้เห็นความผิดพลาดของการบริหารงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่น พรรคประชาธิปัตย์ได้ชูนโยบาย “ประชาธิปไตยสุจริต เศรษฐกิจเข้มแข็ง”
ในการหาเสียงครั้งนี้
“ประชาธิปไตยสุจริต เศรษฐกิจเข้มแข็ง” เป็นยุทธศาสตร์และนโยบายการหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2562 โดยสาระสำคัญของนโยบายดังกล่าว คือการขับเคลื่อนการเมืองภายใต้หลักประชาธิปไตยที่ต้องมีพื้นฐานบนความสุจริต ยุติธรรม รวมทั้งการเมืองที่จะต้องนำพาไปสู่การสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ภายใต้นโยบาย “ประชาธิปไตยสุจริต เศรษฐกิจเข้มแข็ง” ของพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงก่อนการเลือกตั้งนั้น มีจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนระบบเผด็จการและการสืบทอดอำนาจการเมืองทุกรูปแบบ ตลอดจนการไม่สนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ทั้งนี้ ในภายหลังพรรคประชาธิปัตย์ได้ตัดสินใจเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
ประชาธิปัตย์บนเส้นทางการเมืองไทย
หากนับเส้นทางการเมืองตั้งแต่การก่อตั้งพรรคจวบจนจึงปัจจุบันพรรคประชาธิปัตย์ได้เดินอยู่บนเส้นทางการเมืองควบคู่กับสังคมไทยมากกว่า 70 กว่าปี และถือเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยเท่าที่ยังดำเนินการทางการเมืองอยู่ในปัจจุบันของไทย โดยพรรคประชาธิปัตย์ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2489 มีหัวหน้าพรรคคนแรกคือ นายควง อภัยวงศ์ และเลขาธิการพรรคคือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อพิจารณาอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ในระยะแรกของการก่อตั้งพรรคนั้นพรรคได้ประกาศอุดมการณ์ไว้ด้วยกัน 4 ประการ กล่าวโดยสรุปคือ [1]
ประการที่หนึ่ง อุดมคติทางการเมือง: ดำเนินการในวิถีทางอันบริสุทธิ์ อาศัยหลักกฎหมายและเหตุผล คัดค้านเผด็จการทุกรูปแบบ และสนับสนุนหลักการสันติภาพของโลก
ประการที่สอง อุดมคติทางเศรษฐกิจ: เคารพกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล แต่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
ประการที่สาม อุดมคติทางสังคม: เคารพสถาบันครอบครัว ส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมและจารีตประเพณีอันดีงามของชาติ และ
ประการที่สี่ หลักการป้องกันประเทศ การป้องกันประเทศจะต้องเกิดจากความพร้อมเพรียงของประชาชนและกองทัพแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพรรคประชาธิปัตย์ได้แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยความอุดมการณ์ของพรรคเป็น 10 ประการ โดยอุดมการณ์ที่เพิ่มเติมมาในปัจจุบันที่สำคัญนั้นคือประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น การให้คนไทยมีที่ทำกิน ที่อยู่ มีอาชีพ และประเด็นเรื่องการส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างประเทศ[2]
ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีบนเส้นทางการเมืองไทยของพรรคประชาธิปัตย์ที่สลับสับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลในฐานะแกนนำและพรรคร่วม รวมทั้ง การทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรนั้น เราอาจจำแนกแบ่งยุคการเมืองได้ออกเป็น 5 ยุคด้วยกันคือ[3] ยุคที่หนึ่ง (พ.ศ. 2489-2501) : ยุคแห่งการสร้างพรรคและสร้างประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ ยุคที่สอง (พ.ศ. 2511-2519): ยุคแห่งการฟื้นฟูพรรคและเชิดชูประชาธิปไตย ยุคที่สาม (พ.ศ. 2522-2533): ยุคแห่งการปรับปรุงนโยบายและเข้ามีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมือง ยุคที่สี่ (ปลายปี พ.ศ. 2533-2544): ยุคแห่งการเป็นรัฐบาลของประชาชนและฝ่ายค้านที่มีประสิทธิภาพ และ ยุคที่ห้า (พ.ศ. 2544-2551): ยุคแห่งการต่อสู้เผด็จการรัฐสภา และต่อต้านการใช้อำนาจรัฐอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อผลประโยชน์ทับซ้อน
อย่างไรก็ตาม ภายใต้การขับเคลื่อนอุดมการณ์ทางการเมืองในสนามการเมืองไทยในแต่ละยุคสมัยของพรรคประชาธิปัตย์นั้น สิ่งหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากสังคมโดยทั่วไป คือ อัตลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต่อสู้เผด็จการรัฐสภาและต่อต้านการใช้อำนาจรัฐอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อผลประโยชน์ทับซ้อน[4] และคงกล่าวไม่เกินจริงว่าพรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่มีความเป็นสถาบันทางการเมืองมากที่สุดพรรคหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบัน
'นโยบายการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปปี '2562
กลยุทธ์การหาเสียงถือเป็นส่วนหนึ่งในระบบการเลือกตั้งและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง อันเนื่องจากเป็นกระบวนการส่งผ่านนโยบาย ชุดความคิด และอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองไปยังสาธารณชน นอกจากนี้ กลยุทธ์การหาเสียงยังหวังผลในการสะท้อนภาพลักษณ์ อัตลักษณ์ทั้งตัวบุคคลและพรรคการเมืองเพื่อสร้างความรับรู้ จดจำได้ของสาธารณชนอีกด้วย ในแง่นี้จะเห็นว่าการสื่อสารในประเด็นของภาพลักษณ์ทางการเมืองไปยังผู้รับสารหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้[5] ดังนั้น จะเห็นว่าไม่ว่ายุคสมัยใด ทั้งในภาวะปกติของกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาของการเลือกตั้ง การหาเสียงและการฉายภาพลักษณ์ อัตลักษณ์ของพรรคการเมืองจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อหวังผลคะแนนนิยมในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ตาม สำหรับกลยุทธ์การหาเสียงเพื่อเตรียมความสำหรับศึกเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 นั้น พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ชูสโลแกน “ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยต้องสุจริต” และนโยบายหาเสียงคือ “แก้จน สร้างคน สร้างชาติ” สำหรับวาระ “ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยต้องสุจริต” นับเป็นการสานต่ออุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคตั้งแต่การก่อตั้งพรรค แน่นอนว่าวลีดังกล่าวนี้ย่อมแฝงไปด้วยการแดกดัน เสียดสี โจมตีรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐในขณะนั้น ดังที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ขยายความว่าหากประชาชนไม่เป็นใหญ่ เราก็ไม่สามารถมีประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ ฉะนั้นภายใต้กรอบกติกาทางการเมือง การเลือกตั้ง การเลือกนายกรัฐมนตรีที่ถูกออกแบบมาปัจจุบัน แม้จะไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างสากล แต่เสียงของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ยังมีความจำเป็นเพื่อกำหนดว่าประชาชนต้องการใคร พรรคใดเพื่อบริหารประเทศ และโดยนัยนี้แล้วย่อมเป็นการส่งเสียงไปยังสมาชิกวุฒิสภาซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งให้ได้เคารพต่อเจตจำนงของประชาชน ในขณะที่วลี “ประชาธิปไตยสุจริต” นั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เห็นว่าคำนี้มีความสำคัญมากอันเนื่องจากที่ผ่านมาความล้มเหลวของประชาธิปไตยไทยมีสาเหตุมาจาก แม้รัฐบาลต่างๆ จะผ่านกระบวนการเลือกตั้ง แต่เมื่อมีอำนาจรัฐแล้วไม่ได้ฉวยใช้อำนาจนั้นไปตามครรลองของประชาธิปไตย ดังนั้น สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์นำเสนอคือการใช้อำนาจภายหลังได้รับเลือกตั้งจะต้องเป็นไปตามวิถีทางของประชาธิปไตยและมุ่งใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม[6]
ทั้งนี้ กลยุทธ์หรือแนวนโยบายการหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ข้างต้น ล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงภาพลักษณ์ และอัตลักษณ์ของพรรคที่แอบแฝงไว้ด้วยการประชดประชันกลุ่มผู้กุมอำนาจรัฐแต่เดิม นอกจากนี้ ยังหมายรวมถึงสภาพบริบทการเมืองในห้วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมาอันหมายถึงสังคมไทยมีประชาธิปไตยเป็นสาระสำคัญหากแต่ขาดซึ่ง “ความสุจริต” และ “ประชาชน” ไม่ได้เป็นใหญ่หรือเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง
ด้านโยบายหาเสียงซึ่งถูกบรรจุไว้ด้วย 3 วาระใหญ่คือ “แก้จน สร้างคน สร้างชาติ” ซึ่งภายใต้วาระทั้งสามดังกล่าว สามารถขยายความแต่ละวาระได้ดังนี้
1) วาระแก้จน มีรายละเอียดที่สำคัญ เช่น การสานต่อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มเงินจาก 500 บาท เป็น 800 บาท นโยบายโฉนดสีฟ้าซึ่งกำหนดให้ประชาชนมีความมั่นคงในที่ดินทำภายใน 4 ปี การจัดตั้งกองทุนน้ำชุมชน เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า 120,000 บาทต่อปี เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทต่อปี เพิ่มเงินอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 1,000 บาทต่อปี เป็นต้น
2) วาระสร้างคน มีรายละเอียดที่สำคัญ เช่น นโยบายเกิดปั๊บรับแสน เงินเด็กแรกเกิด 5,000 บาท และจ่ายให้ทุกเดือน เดือนละ 1,000 บาท จนกว่าจะถึง 8 ขวบ ปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นโยบายอาหารเช้าและอาหารกลางวันฟรีจนถึงมัธยมศึกษา เรียนฟรีจนถึงชั้น ปวส. และส่งเสริมการศึกษาสายอาชีพให้เชื่อมโยงกับเอกชน นโยบายแจกคูปองเพิ่มทักษะ 3,500 บาทจำนวน 1 ล้านคนต่อปี เช่น การเรียนภาษา
3) วาระสร้างชาติ ดำเนินยบายเร่งด่วน เช่น ปราบปรามยาเสพติดโดยเพิ่มอำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ให้ส่งฟ้องไปยังอัยการได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งตำรวจ เป็นต้น [7]
ในขณะที่นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น เห็นว่าการนำเสนอนโยบาย “แก้จน สร้างคน สร้างชาติ” นั้น เป็นการเริ่มต้นด้วยการเพิ่มรายได้ ลดหนี้สิน ลดค่าใช้จ่าย และการสร้างคน โดยนโยบายดังกล่าวเป็นการมองไปในระยะยาวเพื่อตอบโจทย์ขีดความสามารถในการแข่งขันของคนไทย การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ รวมทั้งการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่แท้จริง ทั้งนี้ นายกรณ์ จาติกวณิชยังได้กล่าวเสริมด้วยว่านโยบายดังกล่าวหากพรรคประชาธิปัตย์สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้พรรคสามารถดำเนินการได้ทันที[8]
ดังจะพบว่าแนวนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่นำเสนอต่อสาธารณะในศึกเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ได้ตั้งอยู่บนอุดมการณ์ฐานรากตั้งแต่การก่อตั้งพรรคคือการยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย อย่างแรงกล้าโดยให้คุณค่าต่อหลักการประชาชนเป็นใหญ่ผนวกกับการเป็นประชาธิปไตยที่จะต้องสุจริตไม่บิดพลิ้วอย่างที่เป็นมาของการเมืองไทยในอดีต อนึ่งสำหรับนโยบายด้านอื่นๆ จะเห็นว่าเป็นแนวนโยบายที่ต้องการเพิ่มศักยภาพของทุนมนุษย์และลดการเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นสำคัญ
ประชาธิปไตยสุจริต เศรษฐกิจเข้มแข็ง
จากอุดมการณ์และนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่า “ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยต้องสุจริต” และ “แก้จน สร้างคน สร้างชาติ” ที่ใช้ในการขับเคลื่อนศึกเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 เพื่อมุ่งหวังได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น ในช่วงโค้งสุดท้าย พรรคประชาธิปัตย์ได้ออกแคมเปญใหม่ภายใต้ชื่อ “ประชาธิปไตยสุจริต เศรษฐกิจเข้มแข็ง” เพื่อหาเสียงและสร้างการรับรู้แนวทางนโยบายพรรคต่อสาธารณะก่อนการหย่อนเสียงลงคะแนนในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งการหาเสียงโค้งสุดท้ายของพรรคประชาธิปัตย์ได้จัดให้มีการปราศรัยใหญ่เป็นครั้งสุดท้ายลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร[9] การปราศรัยครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้ชี้ให้เห็นถึงสภาพความล้มเหลวของรัฐบาล คสช. ในการบริหารงานช่วงที่ผ่านมา โดยนายชวน หลีกภัย แกนนำและผู้อาวุโสของพรรคได้ขึ้นปราศรัยพูดถึงปัญหารายได้เฉลี่ยของครัวเรือนทั่วประเทศระหว่างปี 2554-2561 ที่ลดลง โดยเฉพาะภายหลังรัฐประหาร 2557 ทั้งนี้ นายชวน หลีกภัย ยังได้กล่าวเสริมด้วยว่าตนเองได้เคยทำจดหมายร้องเรียนไปยังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในประเด็นปัญหาดังกล่าว แต่ไม่เคยได้รับการสนองตอบแต่อย่างใด
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และแคนติเดตนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้กล่าวให้ความมั่นใจว่าพรรคประชาธิปัตย์จะนำพาประเทศไทยไปข้างหน้าโดยการหลุดพ้นจากเศรษฐกิจและการเมืองแบบเดิมๆ ผ่านแนวคิดการสร้างประชาธิปไตยสุจริต เศรษฐกิจเข้มแข็ง นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังได้ประกาศจุดยืนไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง จะไม่มีทางไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐอีกด้วยเพราะเห็นว่านี่เปรียบเสมือนระบบสืบทอดอำนาจที่ถูกจัดวางไว้ตั้งแต่ต้น
ดังนั้น จะเห็นว่านอกจากนโยบายทั่วไปด้านเศรษฐกิจและสังคมแล้ว หลักใหญ่ใจความของการขับเคลื่อนพรรคเพื่อรับศึกเลือกตั้งครั้งนี้คือการโจมตีความชอบธรรมของระบบการเมืองในช่วงที่ผ่านมาเป็นสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบระบบสืบทอดอำนาจของผู้กุมอำนาจรัฐในช่วงเวลาดังกล่าว และนี่คงเป็นที่มาของวลี “ประชาธิปไตยสุจริต” เพราะในแง่นี้ ประชาธิปไตยเพียงประการเดียวไม่เพียงพอที่จะธำรงสังคมไว้ หากแต่ต้องมีสุจริตในการฉวยใช้อำนาจด้วย
“ประชาธิปไตยสุจริต” และเจตจำนงประชาชนที่ปลายทาง
การนำเสนออุดมการณ์ทางการเมืองและแนวโยบายการบริหารประเทศของพรรคประชาธิปัตย์ มีความมุ่งหวังเข้ามาแก้ไขปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เพื่อสร้างดุลให้กับสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ และเชิดชูความสุจริตยุติธรรมเป็นวาระนำ แต่นั่นกลับไม่ได้รับคะแนนความนิยมและการตอบรับจากสังคมส่วนใหญ่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ ศึกเลือกตั้งครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ถือว่าแพ้อย่างราบคาบ ดังปรากฏผลเลือกตั้งซึ่งได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง 52 คนเท่านั้น โดยแบ่งออกเป็นแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 33 คน[10] และแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 19 คน[11] ในขณะเดียวกัน การเปิดตัวของพรรคน้องใหม่อย่าง “อนาคตใหม่” ในวงการเมืองผ่านการเลือกตั้งครั้งแรกนี้กลับได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากถึง 80 คน ยิ่งไปกว่านั้น ความนิยมของชนชั้นกลางในเขตกรุงเทพมหานครที่เคยเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์สามารถยึดกุมพื้นที่ดังกล่าวได้ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้กลับพบว่าไม่มีผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ได้รับฉันทามติให้เป็นผู้แทนแม้แต่เขตเดียว ปลายทางผลลัพธ์จากศึกเลือกตั้งในสนามการเมืองไทยครั้งนี้ ส่งผลให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลภายใต้แกนนำอย่างพรรคพลังประชารัฐ และสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
เป็นนายกรัฐมนตรี
บรรณานุกรม
“‘กรณ์’ชูนโยบายปชป. แก้จน สร้างคน สร้างชาติ กระจายอำนาจเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัด.” มติชนออนไลน์ (7 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1352969>. (เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563).
“ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง” (7 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190507142930.pdf>. (เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563).
“ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ.” (8 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก<https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190508184334.pdf>. (เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563).
“ประชาธิปัตย์ เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ภาคเหนือ 16 จังหวัด ย้ำนโยบาย ‘แก้จน สร้างคน สร้างชาติ.” The Standard (27 มกราคม 2562). เข้าถึงจาก < https://thestandard.co/democrat-party-northern-candidates/>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
“ประวัติพรรคประชาธิปัตย์.” พรรคประชาธิปัตย์. เข้าถึงจาก <https://www.democrat.or.th/about/history/>. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563.
วิชญ์จำเริญ มณีแสง. (2559). “วาทกรรมทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์.” วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต. สาขาการจัดการ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.
สุรพงษ์ โสธนะเสถียร,แนวคิดในการหาเสียงเลือกตั้ง (กรุงเทพฯ: ประสิทธิ์ภัณฑ์แอนด์พริ้นติ้ง, 2545).
“อภิสิทธิ์” ปล่อยคาราวานประชาธิปไตย ชู “ประชาชนเป็นใหญ่-ประชาธิปไตยสุจริต”- “แก้จน สร้างคน สร้างชาติ”.” ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (13 มกราคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-277384>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
“อภิสิทธิ์พร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สร้างประชาธิปไตยสุจริต-เศรษฐกิจเข้มแข็ง.” ประชาไท (22 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2019/03/81642>. (เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563).
อยุทธ์ เพชรอินทร. (2537). “อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์.” วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต. ภาควิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2537.
“อุดมการณ์.” พรรคประชาธิปัตย์. เข้าถึงจาก <https://www.democrat.or.th/about/ideology/>. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563.
[1] อยุทธ์ เพชรอินทร, “อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์,” (วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต, ภาควิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2537), หน้า 87.
[2] โปรดดู อุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์ได้จาก “อุดมการณ์,” พรรคประชาธิปัตย์, เข้าถึงจาก <https://www.democrat.or.th/about/ideology/>, เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563.
[3] โปรดดู “ประวัติพรรคประชาธิปัตย์,” พรรคประชาธิปัตย์, เข้าถึงจาก
<https://www.democrat.or.th/about/history/>, เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563.
[4] วิชญ์จำเริญ มณีแสง, “วาทกรรมทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์,” (วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต, สาขาการจัดการ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2559), หน้า 205.
[5] โปรดดู สุรพงษ์ โสธนะเสถียร,แนวคิดในการหาเสียงเลือกตั้ง (กรุงเทพฯ: ประสิทธิ์ภัณฑ์แอนด์พริ้นติ้ง, 2545). หน้า 34-45
[6] “อภิสิทธิ์” ปล่อยคาราวานประชาธิปไตย ชู “ประชาชนเป็นใหญ่-ประชาธิปไตยสุจริต”- “แก้จน สร้างคน สร้างชาติ”,” ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (13 มกราคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-277384>, เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
[7] “ประชาธิปัตย์ เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ภาคเหนือ 16 จังหวัด ย้ำนโยบาย ‘แก้จน สร้างคน สร้างชาติ,”
The Standard (27 มกราคม 2562), เข้าถึงจาก < https://thestandard.co/democrat-party-northern-candidates/>, เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
[8] “กรณ์’ชูนโยบายปชป. แก้จน สร้างคน สร้างชาติ กระจายอำนาจเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัด,” มติชนออนไลน์ (7 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1352969>, (เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563).
[9] “อภิสิทธิ์พร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สร้างประชาธิปไตยสุจริต-เศรษฐกิจเข้มแข็ง,” ประชาไท (22 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2019/03/81642>, (เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563).
[10] “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง”
(7 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก
<https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190507142930.pdf>, (เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563).
[11] “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ,”
(8 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก<https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190508184334.pdf>, (เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563).