บันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

บันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม

          บันทึกความเข้าใจร่วมกัน (Memorandum of Understanding : MOU) หมายถึง การจัดทำหนังสือโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแสดงความสมัครใจจะปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด และตามเงื่อนไขที่ปรากฏอยู่ในหนังสือนั้นกับอีกฝ่ายหนึ่ง โดยหนังสือไม่ได้เป็นสัญญาผูกมัด แต่แสดงความต้องการอันแน่วแน่ของผู้ลงนามว่าจะปฏิบัติดังที่ได้ระบุไว้ และอีกฝ่ายหนึ่งก็มีความเข้าใจเดียวกัน หากฝ่ายใดมิได้ปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่สามารถฟ้องร้องในคดีได้[1]

          ทั้งนี้ การจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกัน หรือ MOU เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม (Coalition Government) ถือเป็นกลไกในการสร้างแนวร่วมทางการเมือง หรือจัดตั้งรัฐบาลผสมในลักษณะร่างสัญญาที่ครอบคลุมวาระทั้งในเชิงนโยบายและแนวทางการทำงานร่วมกัน ตลอดจนเป็นเครื่องมือในการการกำกับดูแลการทำงานร่วมกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ อาทิ สาธารณรัฐเคนยาที่ใช้การลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการสร้างจรรยาบรรณการเลือกตั้งและยุติเหตุการณ์ความรุนแรง รวมทั้งยังเป็นจุดกำเนิดของการจัดตั้งรัฐบาลผสมในแอฟริกา ในขณะที่ประเทศมาเลเซียใช้บันทึกความเข้าใจร่วมกันเป็นกลไกของแนวร่วมพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนรัฐบาลผสมให้เกิดเสถียรภาพในการทำหน้าที่รัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำข้อตกลงที่จะลงคะแนนเสียงให้กับรัฐบาลหรืองดเว้นการออกเสียงเมื่อมีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ รวมทั้งให้การสนับสนุนรัฐบาลในบางด้าน เช่น การสนับสนุนร่างงบประมาณรายจ่าย เป็นต้น ในขณะที่ประเทศนิวซีแลนด์มีการทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างพรรคแรงงานกับพรรคกรีนเพื่อจัดตั้งรัฐบาล (Cooperation Agreement)[2] โดยพรรคกรีนจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และด้านความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและชุมชน นอกจากนี้พรรคกรีนจะให้การสนับสนุนรัฐบาลที่นำโดยพรรคแรงงานในกระบวนการต่าง ๆ ทางรัฐสภา เพื่อเสริมความเข้มแข็งในการทำงานของรัฐบาลและการนำในรัฐสภาที่มีเสถียรภาพมากขึ้น

 

ภาพ : การลงนามความร่วมมือระหว่างพรรคแรงงานและพรรคกรีนในการจัดตั้งรัฐบาลผสมของนิวซีแลนด์ ในปี ค.ศ. 2020[3]

Memorandum of Understanding-MOU (1).jpg
Memorandum of Understanding-MOU (1).jpg

 

          อย่างไรก็ดี ในกรณีของไทยนั้น การลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งที่ผ่านมาสิ่งที่เป็นการรับประกันความเป็นปึกแผ่นของรัฐบาลผสม มีเพียง "การให้สัตยาบัน" เท่านั้น โดยยังไม่เคยมีครั้งใดที่การหารือระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลจะลงเอยด้วยการลงนามในบันทึกความเข้าใจอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร[4]

          ทั้งนี้ การลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันที่เกิดขึ้นได้รับความสนใจในสังคมการเมืองไทยในปี พ.ศ. 2566 โดยหลังการแถลงผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างไม่เป็นทางการของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ได้แถลงการจัดตั้งรัฐบาลและแนวนโยบายต่าง ๆ ที่ได้หาเสียงไว้ไปหารือกับอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม ซึ่งจะร่วมมือกันในการจัดตั้งรัฐบาล ด้วยการสร้างวิธีการและบรรทัดฐานใหม่ในการเมืองไทยโดยการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่าง 8 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล (151 ที่นั่ง) ในฐานะพรรคที่ได้รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวนมากที่สุด รองลงมา คือ พรรคเพื่อไทย (141 ที่นั่ง) พรรคประชาชาติ (9 ที่นั่ง) พรรคไทยสร้างไทย (6 ที่นั่ง) พรรคเพื่อไทรวมพลัง (2 ที่นั่ง) พรรคเสรีรวมไทย (1 ที่นั่ง) พรรคเป็นธรรม (1 ที่นั่ง) และพรรคพลังสังคมใหม่ (1 ที่นั่ง) โดยมีจำนวนผู้แทนราษฎรรวมกันทั้งสิ้น 312 คน จากผลการเลือกตั้ง และประกาศจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน[5] โดยมีการลงนามใน วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ในเวลาเดียวกันกับการประกาศรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 9 ปีก่อน ท่ามกลางคำถามถึงท่าทีต่อนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

 

ภาพ : 8 พรรคการเมืองลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม[6]

Memorandum of Understanding-MOU (2).png
Memorandum of Understanding-MOU (2).png

 

เนื้อหาและสาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรค

          ภายหลังจากถกเถียงดังที่กล่าวมา ในท้ายที่สุดได้นำไปสู่การแถลงข่าวและลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อสร้างพื้นฐานในการจัดตั้งรัฐบาลและทำงานร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล ระหว่าง 8 พรรคการเมือง ทุกพรรคเห็นร่วมกันว่าภารกิจของรัฐบาลที่ทุกพรรคจะผลักดันนั้น ต้องไม่กระทบต่อรูปแบบของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ ประกอบไปด้วยวาระร่วมที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลง ซึ่งเป็นวาระและนโยบายที่ทุกพรรคเห็นตรงกัน พร้อมผลักดันร่วมกันผ่านกลไกบริหารและนิติบัญญัติ และพร้อมรับผิดชอบร่วมกัน ดังต่อไปนี้

          (1) ฟื้นฟูประชาธิปไตยรวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

          (2) ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนเองนับถือ

          (3) ผลักดันการปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรมให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย โดยยึดหลักความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน

          (4) เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับเป็นระบบสมัครใจ ทั้งนี้ยังคงไว้ซึ่งการเกณฑ์ทหารยามศึกสงคราม

          (5) ร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงทบทวนภารกิจของหน่วยงานและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง

          (6) ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ปราศจากการทุจริต

          (7) แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันโดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน

          (8) ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม

          (9) ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือพักใช้ชั่วคราวซึ่งการอนุมัติ อนุญาตที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GDP ของ SME สนับสนุนอุตสาหกรรม และสินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

          (10) ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยพรรคประชาชาติขอสงวนสิทธิในการไม่เห็นด้วยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเหตุผลด้านศาสนา

          (11) ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม แก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดีที่เป็นผลจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

          (12) ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

          (13) จัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (zero-based budgeting)

          (14) สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระทางการคลังระยะยาว

          (15) แก้ไขปัญหายาเสพติดโดยเร่งด่วน

          (16) นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษผ่านการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา

          (17) ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มการเข้าถึงตลาด เทคโนโลยีและแหล่งน้ำ สร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรเพื่อวางแผนการผลิตและรักษาผลประโยชน์เกษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ

          (18) แก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน

          (19) ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

          (20) ยกระดับระบบสาธารณสุขเพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพทั้งการส่งเสริม การป้องกัน การรักษา และการฟื้นฟูสุขภาพ

          (21) ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

          (22) สร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษรวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเร็วที่สุด

          (23) ดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำของไทยในอาเซียนและเวทีระหว่างประเทศ ตามกรอบความร่วมมือต่าง ๆ โดยเฉพาะกรอบความร่วมมือพหุภาคีรวมถึงรักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ

 

          ทั้งนี้ พรรคร่วมทั้ง 8 พรรค ยังเห็นพ้องกันใน 5 แนวทางทางการปฏิบัติในการบริหารประเทศ ดังต่อไปนี้

          (1) ทุกพรรคจะคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน

          (2) ทุกพรรคจะทำงานโดยซื่อสัตย์สุจริต หากมีบุคคลของพรรคใดมีพฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชัน ทุกพรรคจะยุติการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้น ๆ ทันที

          (3) ทุกพรรคจะทำงานโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน จริงใจต่อกัน สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง มากกว่าผลประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง

          (4) ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจฝ่ายบริหารของรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของแต่ละพรรคการเมือง

          (5) ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติมแต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติของผู้แทนราษฎรที่สังกัดแต่ละพรรคการเมือง

 

ภาพ : แสดงบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรค[7]

Memorandum of Understanding-MOU (3).png
Memorandum of Understanding-MOU (3).png
Memorandum of Understanding-MOU (4).png
Memorandum of Understanding-MOU (4).png
Memorandum of Understanding-MOU (5).png
Memorandum of Understanding-MOU (5).png

 

          นอกจากนี้ ยังมี “วาระเฉพาะ” ของแต่ละพรรคการเมืองที่ไม่ถูกระบุในบันทึกข้อตกลง (MOU) ซึ่งเป็นวาระและนโยบายที่แต่ละพรรคขับเคลื่อนเองเพิ่มเติมจากบันทึกข้อตกลง แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับนโยบายในบันทึกข้อตกลงผ่าน 2 กลไกหลัก[8] ได้แก่

          (1) ผลักดันผ่านกลไกบริหารของกระทรวงที่พรรคมีตัวแทนเป็นรัฐมนตรี เช่น หากพรรคก้าวไกลบริหารกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายการศึกษานอกเหนือจากในบันทึกข้อตกลงที่อยู่ในขอบเขตอำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ

          (2) ผลักดันผ่านกลไกนิติบัญญัติของระบบรัฐสภาโดยผู้แทนราษฎรของพรรค เช่น กฎหมาย 45 ฉบับ ที่พรรคพร้อมเสนอสู่สภาทันทีที่สภาเปิด ไม่ว่าจะปรากฎอยู่ในบันทึกข้อตกลงหรือไม่

          อย่างไรก็ตาม การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน หรือ MOU ในการจัดตั้งรัฐบาลผสมหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2566 ได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นกลไกในการสร้างความร่วมมือของพรรคร่วมรัฐบาลในการบริหารงานและสานต่อความร่วมมือ ตลอดจนผลักดันให้เกิดระบบประชาธิปไตยเพื่อให้การดำรงอยู่ร่วมกันตามพหุวัฒนธรรมและการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีต่อไป[9]

 

อ้างอิง

[1] “เลือกตั้ง 2566: ศัพท์ใหม่การเมืองไทย "MoU" ที่รัฐบาลก้าวไกลใช้” , Retrieved from URL https://www.thaipbs.or.th/ news/content/327974 (10 กรกฎาคม 2566).

[2] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “Cooperation Agreement” , Retrieved from URL https://www.parliament.nz/ media/7554/ labour_greens_cooperation_agreement-1.pdf (10 July 2023).

[3] “New Zealand's Labour and Greens formally sign 'cooperation' deal”, Retrieved from URL https://www.the guardian.com/world/2020/nov/01/new-zealands-labour-and-greens-formally-sign-cooperation-deal (10 July 2023).

[4] “ต่างประเทศใช้ MOU ตั้งรัฐบาลหรือไม่ เมื่อ "ก้าวไกล" เตรียมเสนอใช้กับพรรคร่วมรัฐบาล”, สืบค้นจาก https://www.bbc.com/ thai/articles/c6p956ldd74o (10 กรกฎาคม 2566).

[5] “MoU กลไกจัดตั้งรัฐบาลผสม สร้างบรรทัดฐานใหม่การเมืองไทย”, สืบค้นจาก https://thaipublica.org/2023/05/review-of-political-mou/(10 กรกฎาคม 2566), “ส่อง MOU รัฐบาลก้าวไกล นโยบายพรรคร่วมข้อไหนมีแล้ว ยังอยู่ หรือเติมใหม่”, สืบค้นจาก https://thecitizen.plus/node/81099 (10 กรกฎาคม 2566).

[6] “ส่อง MOU รัฐบาลก้าวไกล นโยบายพรรคร่วมข้อไหนมีแล้ว ยังอยู่ หรือเติมใหม่”, สืบค้นจาก https://thecitizen.plus/node/ 81099 (10 กรกฎาคม 2566).

[7] “บันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล”, สืบค้นจาก https://www.moveforwardparty.org/wp-content/uploads/ 2023/ 05/Move-Forward-Cabinet-MOU.pdf (10 กรกฎาคม 2566).

[8] “เลือกตั้ง 66 ‘ก้าวไกล’ แจง MOU รัฐบาลผสม มี ‘วาระร่วม-วาระเฉพาะ’ ใช้ฤกษ์รัฐประหารเมื่อ 9 ปีก่อนแถลงเย็นพรุ่งนี้”, สืบค้นจาก https://workpointtoday.com/election-form-a-government-2/(10 กรกฎาคม 2566).

[9] ศุภภัทรวริศรา เกตุสุนทร, “MOU บรรทัดฐานใหม่การจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาลยุคเปลี่ยนผ่านอำนาจการเมือง”, สืบค้นจาก https://www.banmuang.co.th/column/politic/7273 (10 กรกฎาคม 2566).