นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย มุกสง และจรัสศรี สมตน

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

 

          ชื่อเสียงและบทบาทความสำคัญของ นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ ในห้วงเวลาช่วงกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านนับได้ว่าเป็นแพทย์คนสำคัญทั้งในวงการแพทย์และในวงการเมืองบริหารงานสาธารณสุขของประเทศ เนื่องจากท่านเป็นแพทย์อีกคนที่ไม่เคยเข้าไปบริหารงานในกระทรวงสาธารณสุขมาก่อน แต่กลับได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในยุคหลังการปฏิวัติประชาชน 14 ตุลาคม 2516 แล้วได้สร้างผลงานสำคัญ คือ การปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารกระทรวงสาธารณสุขให้เกิดประสิทธิภาพแก่ประชาชนทั่วทั้งประเทศ ทั้งนี้ นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ ยังเป็นแพทย์ที่เป็นผลผลิตมาจากการเปลี่ยนผ่านของโรงเรียนแพทย์ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จากพระกรุณาธิคุณในการส่งเสริมด้านการสาธารณสุขและการแพทย์สมัยใหม่ ส่งผลให้ นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ เป็นบิดาแห่งศัลยแพทย์แห่งศิริราชพยาบาลและเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุขคนสำคัญที่มีผลมาถึงปัจจุบัน

ประวัติ

          นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ เกิดวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 เป็นบุตรของ พระยาเกษตรรักษา (เจี๊ยง โปษะกฤษณะ) และ คุณหญิงเกษตรรักษา โดยตนเป็นบุตรลำดับที่ 3 จากบรรดาพี่น้องทั้งหมด 8 คน ทั้งนี้ ตระกูล “โปษะกฤษณะ” (Poshakrishna) เป็นนามสกุลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ในขณะบิดารับราชการเป็นขุนหลวงวีหิกรณ์[1]

          ด้านชีวิตครอบครัว นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ สมรสกับคุณหญิงมัทนี โปษะกฤษณะ มีบุตร-ธิดา รวม 4 คน ได้แก่

          1. นายอภิราม โปษะกฤษณะ

          2. นายอนิรุทธ์ โปษะกฤษณะ

          3. นางอภิฤดี โปษะกฤษณะ

          4. นางสาวอนันทิตา โปษะกฤษณะ

          ชีวิตเริ่มต้นวัยเรียนของนายแพทย์อุดมได้ฉายแววความโดดเด่นทางด้านภาษา หลังจากจบชั้นอนุบาลจากโรงเรียนครูไซ จึงเข้าเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์ตั้งแต่อายุ 5 ปี จากนั้นศึกษาต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญถึงชั้น 8 พร้อมกับผลการเรียนที่เป็นเลิศทางด้านภาษาจากการได้รับรางวัลเกียรตินิมภาคฝรั่งเศส Prix d’ honneur ใน พ.ศ. 2470 และเข้าเรียนแผนกภาษาที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ พ.ศ. 2472 และสามารถสอบไล่ได้ประโยคมัธยมศึกษาบริบูรณ์ภายในปีเดียว จากนั้นทำการสอบเข้าเตรียมแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุมานะจนกระทั่งสอบติดแพทย์ใน ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2473[2] และเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลใน พ.ศ. 2475 จนกระทั่งได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต (เหรียญทอง) เป็นแพทย์ประจำบ้านแผนกอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล พ.ศ. 2479 และทำหน้าที่เป็นอาจารย์แพทย์แผนกกายวิภาคศาสตร์ในปีถัดมา

แพทยศาสตรบัณฑิตในรัชกาลพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

          ชีวิตของนักเรียนเตรียมแพทย์ของนายแพทย์อุดม ได้เริ่มต้นขึ้นในรั้วคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2473 จากนั้นจึงได้ข้ามฟากไปเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลใน พ.ศ. 2475 ในระยะแรกเป็นการเรียนระยะพรีคลินิกจำนวน 2 ปี คือ วิชากายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา พยาธิวิทยา จุลชีววิทยา ปรสิตวิทยา และในสองปีถัดมา เป็นการเรียนระยะคลินิก ซึ่งต้องดูแลผู้ป่วยทั้ง 3 ภาควิชา คือ อายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ สูติศาสตร์ และนรีเวชวิทยา จนกระทั่งในปลายปี พ.ศ. 2478 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานปริญญาบัตร แพทยศาสตร์บัณฑิต[3] ให้กับแพทย์ที่จบการศึกษาจากศิริราช รุ่นที่ 41 หรือแพทยศาสตร์บัณฑิตจุฬา รุ่นที่ 8 ซึ่งในรุ่นดังกล่าวมีนายแพทย์ที่มีชื่อเสียงอีกหลายท่าน เช่น นายแพทย์เสริม พริ้งพรวงแก้ว นายแพทย์ประดิษฐ์ ตันสุรัต ทั้งนี้ มีนายแพทย์ที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรของรุ่นนี้รวม 27 คน[4]

          หากกล่าวถึงบริบทการพระราชทานปริญญาบัตรในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี_พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ห้องชั้นบนด้านสนามม้า (ตึก 1 คณะอักษรศาสตร์ในปัจจุบัน) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรางวัลเหรียญทองและเหรียญเงินสำหรับผู้ที่ได้คะแนนยอดเยี่ยมตลอดหลักสูตร 4 ปี และเหรียญทองแดงสำหรับผู้ได้คะแนนเป็นที่ 1 ในแผนกอายุรศาสตร์ แผนกศัลยศาสตร์ แผนกสูติศาสตร์ แผนกพยาธิวิทยา แผนกสรีระวิทยา และแผนกกายวิภาควิทยา[5] การพระราชทานปริญญาบัตรในวิชาชีพแพทย์สมัยใหม่เป็นการเพิ่มเกียรติภูมิและฐานะทางสังคมกับวิชาชีพแพทย์ให้กลายเป็นที่ยอมรับในสังคมอย่างเด่นชัด การริเริ่มพระราชทานปริญญาบัตรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จากแต่เดิมแพทย์ที่จบมาจากศิริราชจะได้รับเป็นประกาศนียบัตรเปลี่ยนเป็นปริญญาบัตร ส่งผลให้ทางราชการยอมรับและจ้างแพทย์เหล่านั้นเข้าไว้ในระบบราชการในเงินเดือนที่สูงกว่าเดิม ทำให้ฐานะของแพทย์ปริญญาสูงขึ้น[6] กล่าวได้ว่า นายแพทย์อุดมเป็นแพทย์ที่เติบโตท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจากการปฏิวัติ 2475 และการสาธารณสุข ในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 ทรงให้ตรากฎเสนาบดีโดยแบ่งการประกอบโรคศิลปะออกเป็นแผนปัจจุบันและแผนโบราณ และทรงโปรดเกล้าให้จัดตั้ง “สภาการแพทย์” ขึ้นอยู่กับกรมสาธารณสุขในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และปรับปรุงส่วนราชการในกรมสาธารณสุข[7]

          จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของโรงเรียนแพทย์ในสมัยรัชกาลที่ 7 ที่ส่งเสริมให้อาจารย์ในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ไปศึกษาและดูงานในต่างประเทศ โดยมีมูลนิธิร็อคกีเฟลเลอร์ และ ศาสตราจารย์ เอลเลอร์ จี เอลลิส ชาวอเมริกัน อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีท่านแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (21 ตุลาคม พ.ศ. 2478 - 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497)[8] เป็นผู้ผลักดันคนสำคัญในการส่งนักเรียนแพทย์ไปศึกษาที่ต่างประเทศเพื่อกลับมาดำรงตำแหน่งแทนอาจารย์ชาวต่างประเทศที่จ้างมาโดยมูลนิธิฯ เช่น สหรัฐอเมริกา กระทั่งกองทุนฮุมบอลท์ประเทศเยอรมนี ได้เข้ามามีอิทธิพลในโรงเรียนแพทย์เป็นอย่างมากและเปิดโอกาสให้อาจารย์ในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ศึกษาดูงานที่ประเทศเยอรมนี ทั้งนี้ นายแพทย์อุดมได้ไปสมัครเรียนภาษาเยอรมันที่สมาคม ไทย-เยอรมัน ในตอนเย็นหลังเลิกงานจากการเป็นอาจารย์จากภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ศิริราชพยาบาล จนกระทั่งเรียนจบหลักสูตรและสอบได้ทุนและเดินทางไปเรียนต่อในประเทศเยอรมนีใน พ.ศ. 2481[9]

นักเรียนทุนรัฐบาลเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

          หลวงวาจวิทยาวัจฒน์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ชักชวนนายแพทย์อุดมศึกษาต่อในวิชาทันตแพทย์เพื่อกลับมาเป็นอาจารย์คณะทันตแพทย์[10] ใน พ.ศ. 2481 นายแพทย์อุดมจึงสอบได้ทุนอเล็กแซนเดอร์ วอน ฮุมโบลดท์ จากรัฐบาลเยอรมนี และเดินทางไปเรียนต่อที่เมืองไลป์ซิก ประเทศเยอรมนี[11] จนกระทั่งจบการศึกษาทันตแพทย์ศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 (Dr.Med. Dent Magna Cum Laude) พ.ศ. 2481 แต่ในขณะนั้นได้เกิดการปะทุขึ้นของสงครามโลกครั้งที่_2 พ.ศ. 2482 ประกอบกับประเทศไทยประกาศเข้าร่วมสงครามนี้ใน พ.ศ 2485 ทำให้ผู้ที่ศึกษาอยู่ในช่วงสงครามไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้

          จากการที่นายแพทย์อุดมต้องใช้ชีวิตในเยอรมนีและออสเตรียตลอดระยะเวลา 8 ปี ทำให้นายแพทย์อุดมได้เล่าเรียนปริญญาทางศัลยแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 (Dr. Med.) ที่เมืองไฮเดลแบร์กใน พ.ศ. 2485 และเริ่มทำงานที่แผนกศัลยศาสตร์ มหาวิทยาลัยไฮเดลแบร์ก จนกระทั่งเดินทางออกจากเยอรมนีไปประเทศออสเตรีย ทำงานที่แผนกศัลยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวียนนา แม้จะย้ายออกมาจากสมรภูมิสงครามแต่ก็ยังมีการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยที่บาดเจ็บจากลูกระเบิดเช่นกัน ทั้งนี้นายแพทย์อุดมทำการศึกษาต่อในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย จนได้เป็นผู้ชำนาญศัลยศาสตร์จากแพทยสภาเวียนนา (Facharzt Für Chirurgie) ใน พ.ศ. 2489 และกลับมาเป็นอาจารย์แผนกศัลยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2489[12] หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดไปแล้วปีกว่า

บิดาแห่งประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย

          หลังจากกลับมาจากยุโรป นายแพทย์อุดมปฏิบัติงานในแผนกศัลยศาสตร์ทั่วไปและได้ปรับปรุงความรู้วิธีการผ่าตัดที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศเยอรมันและออสเตรีย เช่น การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคแผลเปื่อย การตัดลำไส้ใหญ่ในโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่รวมไปถึงภาระงานในการสอนนักศึกษา ใน พ.ศ. 2492 การแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจในยุคสงครามเย็นได้เกิดขึ้นรวมทั้งการแข่งขันวิชาการแพทย์ นายแพทย์อุดมเป็นหนึ่งในตัวแทนจากรัฐบาลไทยในการแสดงปาฐกถาที่อินโดจีน โดยมีรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นผู้จัดงานดังกล่าว

          ในขณะเดียวกัน การศัลยกรรมสมองขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ จึงทำให้นายแพทย์อุดมรับหน้าที่เป็นอาจารย์สาขาศัลยกรรมศีรษะ คอ เต้านม และสมอง และได้สร้างความลำบากใจอย่างมากเนื่องจากการตรวจและใช้เครื่องมือพิเศษไม่เพียงพอนัก นายแพทย์อุดมจึงติดต่อเพื่อนร่วมรุ่นมาช่วยรักษาใน พ.ศ. 2497 ได้รับทุน I.C.A. ศึกษาดูงานกับ ศาสตราจารย์ จี.ฮอแรกซ์ ที่ลาฮีคลินิก สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 1 ปี และดูงานที่สถาบันประสาทประสาทศัลยศาสตร์ ณ มหาวิลทยาลัยโคโลญ ประเทศเยอรมนี และที่สต็อคโฮล์ม ประเทศสวีเดน จนกระทั่งกลับมาประเทศไทย นายแพทย์อุดมจึงสร้างบุคลากรทางประสาทศัลยศาสตร์ ตั้งแต่การฝึกอบรม การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ  การหาทุน การติดต่อสถานที่ฝึกอบรมในต่างประเทศ การสร้างอุปกรณ์ การจัดหาเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง การทำวิธีทางพยาธิวิทยาของสมอง ทำให้แผนกศัลยศาสตร์ศิริราชในเวลานั้นกลายเป็นศูนย์กลางในการให้คำปรึกษาผู้ป่วยทางสมอง[13]

          ทั้งนี้ นายแพทย์อุดมยังสนับสนุนสาขาที่อยู่ในแขนงศัลยศาสตร์ เช่น สาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ สาขาอื่น ๆ เช่น สาขาอายุรศาสตร์ จากการที่นายแพทย์อุดมได้เดินทางไปประชุมวิชาการในต่างประเทศหลายครั้งทำให้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกศัลยแพทย์ (I.F.C.S) จากสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2498 และสนับสนุนการสร้างเครือข่ายสมาชิกศัลยแพทย์จากการก่อตั้งสมาคม เช่น สมาคมประสาทวิทยา วิทยาลัยศัลยแพทย์ (ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย) เพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการและให้บริการแก่ชุมชน[14] จากผลงานและความเชี่ยวชาญที่เป็นที่ประจักษ์ทำให้นายแพทย์อุดมได้รับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ทางด้านศัลยศาสตร์ใน พ.ศ. 2499 และเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สมัยที่ 1 พ.ศ. 2507-2510 และ สมัยที่ 2 พ.ศ. 2513-2516[15]

จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสู่เลขาธิการมูลนิธิ พอ.สว.

          ในสมัยรัฐบาลของ นายสัญญา_ธรรมศักดิ์ (14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2517) นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทั้งสองสมัย[16] ผลงานที่โดดเด่นในเวลานั้น คือ การออกนโยบายขยายขอบเขตบริการทางสาธารณสุขกระจายไปส่วนภูมิภาค ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะให้สำนักงานปลัดกระทรวงให้กระจายอำนาจไปยังภูมิภาคเกิดประสิทธิภาพคล่องตัวและไม่ซ้ำซ้อนกันระหว่างกรมกองต่าง ๆ [17] นอกจากนี้ นายแพทย์อุดมยังเป็นประธานกรรมการบริหารกลางมูลนิธิแพทย์อาสา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (ในรัชกาลที่ 9) หรือที่รู้จักกันในนามมูลนิธิ พอ.สว. ซึ่งมูลนิธิฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2512 จนกระทั่งก่อตั้งอย่างเป็นทางการ พ.ศ. 2517 นายแพทย์อุดมเป็นประธานกรรมการบริหารฯ โดยตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข[18]

          นายแพทย์อุดมเคยมีประสบการณ์ในบุกเบิกงานสาธารณสุขในท้องถิ่นธุรกันดารมาแล้วตั้งแต่ครั้งยังดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นหนึ่งในคณะผู้แทนในการออกพัฒนาการแพทย์ให้ชาวอีสาน ภายใต้การดำเนินงานของกรมการเร่งรัดพัฒนาชนบท (ร.พ.ช.) ในการพัฒนาพื้นที่ภาคอีสานทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการแพทย์ เพื่อให้ภาครัฐเข้าถึงและดึงมวลชนแข่งกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ให้มาหาฝ่ายรัฐบาลมากขึ้น ดังนั้น นายประสงค์ สุขุม เลขาธิการ ร.พ.ช. ในขณะนั้น จึงเชิญผู้แทนจากหน่วยงานแพทย์จาก ศิริราช จุฬาลงกรณ์ กรมการแพทย์ เทศบาลกรุงเทพฯ กระจายลงพื้นที่ตามจังหวัดภาคอีสานตั้งแต่ พ.ศ. 2509 โดยทางศิริราช นายแพทย์อุดมเลือกไปจังหวัดอุดรธานีและกระจายหน่วยแพทย์เพิ่มเติมไปยัง สถานีอนามัยชั้น 1 ได้แก่ อ.หนองบัวลำภู อ.หนองหาน อ.เพ็ญ และ อ.บ้านผือ ดำเนินงานจนถึง พ.ศ. 2517[19]

          ชีวิตหลังเกษียณของนายแพทย์อุดมยังคงช่วยทำงานที่โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลหนองบัวลำภู ช่วยงานอาสาสมัครตามพระราชประสงค์ฯ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และดำเนินงานกับมูลนิธิ พอ.สว. รวมถึงการออกปฏิบัติงานต่างจังหวัดตามอำเภอต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือทางวิชาการ (ศัลยศาสตร์) โดยมีกำหนดจะออกไปทุก ๆ 2 เดือน และอยู่กรุงเทพฯ 2 สัปดาห์ ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระราชดำริว่า นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ มีความรู้ความสามารถและความตั้งใจที่จะบำเพ็ญประโยชน์ให้กับกิจการของมูลนิธิได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ กรรมการมูลนิธิ พอ.สว. ปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาประธานกรรมการมูลนิธิ พอ.สว. ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2534

          จากประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ ได้เผชิญสภาพความเจ็บป่วยทุกข์ทรมานของผู้คนในสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลอดจนประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นธุรกันดารในช่วงทำงานที่อุดรธานี ทำให้ชีวิตหลังการเกษียณราชการ อุทิศตนถ่ายทอดความรู้ความสามารถให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และออกเดินทางตรวจเยี่ยมรักษาผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่าง ๆ จนกระทั่งในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2539 เกิดอาการสำลัก จึงเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลพร้อมมิตร หลังจากนั้นได้มีอาการปอดอักเสบอย่างรุนแรง มีน้ำท่วมปอดตามด้วยภาวะไตวาย ในวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ถึงแก่อนิจกรรมด้วยวัย 86 ปี 2 เดือน[20]

บรรณานุกรม

เอกสารหอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ

(7) ออ 2.3/26 กมล. สินธวานนท์. (2552).  งานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว. ใน ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายแพทย์กมล สินธวานนท ป.ป.ช.,ม.ว.ม.,ท.จ.ว. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).

(8) ออ 2.2/33 อนุสรณ์สาธารณสุข ครบรอบ 40 ปี แห่งการสถาปนากระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2485-2525. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล สหประชาพาณิชย์.

(8) ออ 2.2/35 (2531) ศิริราชร้อยปี ประวัติและวิวัฒนาการ. จิตนา ศิรินาวิน ศุภชัย รัตนมณีฉัตร ประเสริฐทองเจริญ คณะบรรณาธิการ.

หนังสือ

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์และ นภนาท อนุพงศ์พัฒน์, 2561. ปกิณกคดี 100 ปี การสาธารณสุขไทย ในวาระ 100 ปี การสาธารณสุขไทย (พ.ศ. 2461 – 2561). นนทบุรี, สุขศาลา สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.).

เวชนิสสิต ประจำปี 2498 – 2499, 2498. มปท., มปพ.

อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ, 2540. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน). น. 163.

รายงานวิจัย

ชาติชาย มุกสง, 2564. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การแพทย์และการสาธารณสุขสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2468 – 2477. กรุงเทพฯ, พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า.

เว็บไซต์

หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2566, จาก http://www.memohall.chula.ac.th/faq /.

เชิงอรรถ

[1] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ, 2540. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน). น. 25.

[2] แหล่งเดิม. น. 25 – 28.

[3] ข้อมูลดังกล่าวอ้างอิงจาก อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ, 2540. น. 70. เป็นข้อความของนายแพทย์ประดิษฐ์ ตันสุรัต เขียนไว้อาลัยให้กับการจากไปของนายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ ผู้เขียนสันนิษฐานว่า การรับปริญญาในปลายปี 2478 อาจเป็นช่วงคาบเกี่ยวกันระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประกาศสละราชสมบัติ (วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 หรือหากนับเป็นปัจจุบันคือ พ.ศ 2478) อย่างไรก็ตาม หากสืบค้นหลักฐานจากหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม ปี 2554 ของนายแพทย์เสม พริ้งพรวงแก้ว พบว่ามีรูปถ่ายหมู่พร้อมกับปริญญาบัตรของแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาในปีดังกล่าว

[4] เวชนิสสิต ประจำปี 2498 – 2499, 2498. มปท., มปพ.

[5] ชาติชาย มุกสง, 2564. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การแพทย์และการสาธารณสุขสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2468 – 2477. กรุงเทพ, พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า. น. 51.

[6] แหล่งเดิม. น. 52.

[7] โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์และ นภนาท อนุพงศ์พัฒน์, 2561. ปกิณกคดี 100 ปี การสาธารณสุขไทย ในวาระ 100 ปี การสาธารณสุขไทย (พ.ศ. 2461 – 2561). นนทบุรี, สุขศาลา สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.). น. 56.

[8] หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2566, จาก http://www.memohall.chula.ac.th/faq /.

[9] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ, 2540. น. 70.

[10] แหล่งเดิม. น. 114.

[11] (8) ออ 2.2/35 (2531) ศิริราชร้อยปี ประวัติและวิวัฒนาการ. จิตนา ศิรินาวิน ศุภชัย รัตนมณีฉัตร ประเสริฐ ทองเจริญ คณะบรรณาธิการ. น. 178.

[12] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ, 2540. น. 116.

[13] แหล่งเดิม. น. 117-118.

[14] แหล่งเดิม. น. 118-119.

[15] แหล่งเดิม. น. 35.

[16] (8) ออ 2.2/33 อนุสรณ์สาธารณสุข ครบรอบ 40 ปี แห่งการสถาปนากระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2485-2525. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล สหประชาพาณิชย์. น.2

[17] แหล่งเดิม. น.6

[18] (7) ออ 2.3/26 กมล. สินธวานนท์. (2552).  งานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว. ใน ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายแพทย์กมล สินธวานนท ป.ป.ช.,ม.ว.ม.,ท.จ.ว. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน). น.207.

[19] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ, 2540. น. 163.

[20] แหล่งเดิม. น. 171-172.