ทักษิโนมิค
ผู้เรียบเรียง รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล
ทักษิโนมิค คือลัทธิหรือแนวทางสำหรับทำสงครามทางเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมาย สูงสุดทำให้ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอีกประเทศหนึ่งในเอเชีย และยังทำให้เอเชียทั้งทวีปเป็นศูนย์กลางสำคัญของเศรษฐกิจโลก
แนวทางการบริหารประเทศตามลัทธิทักษิโนมิค คือสนับสนุนให้ประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นชนชั้นรากหญ้า ให้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นตามลำดับ ส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง เข้มแข็ง พร้อมที่จะเข้าสู่สงครามเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็ลดบทบาทของชนชั้นกลางลงชั่วคราว กล่าวได้ว่า ชนชั้นสูงกับชนชั้นล่างได้รับอานิสงค์จากลัทธิทักษิณมากกว่าชนชั้นกลาง และเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมให้สอดคล้องกับความเข้มแข็งของชนชั้นที่กล่าวถึงข้างต้น โดยการขจัดศัตรูของสังคมอย่างแข็งขัน ศัตรูที่ว่าได้แก่ นักค้ายาเสพติด มาเฟีย นักทุจริต เป็นต้น
ส่วนบทบาทในอาเซียนและทวีปเอเชีย ลัทธิทักษิโนมิค ได้จัดลำดับหุ้นส่วนไว้หลายระดับ มีตั้งแต่เพื่อนบ้าน ใกล้ชิด 3 ประเทศ พม่า เขมร และลาว ถัดไปคือประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เหลือ นอกนั้นก็จัดแกนนำทวีปเอเชียเป็น 2 แกน คือ แกนที่1 เป็นแกนนำทางเศรษฐกิจ มีญี่ปุ่น จีน เป็นหลัก และไทยต้องเป็นหนึ่งในแกนหลักดังกล่าว ส่วนแกนที่2 เป็นแกนด้านตลาด คือ จีนกับอินเดีย เนื่องจากมีพลเมืองมาก ลัทธิทักษิโนมิคมีเป้าหมายนำไทยเข้าไปยืนระหว่างแกนนี้ ดังนั้น การก่อตั้งความร่วมมือแห่งเอเชียหรือเอซีดี และการจัดตั้งเอเชียบอนด์หรือตลาดพันธบัตรเอเชีย เกิดขึ้นเพื่อผนึกกำลังหุ้นส่วนทั้งหลายไปทำสงครามเศรษฐกิจกับยุโรปและอเมริกา
ส่วนที่มาขอคำ “ทักษิโนมิค” มาจาก 3 แหล่งด้วยกัน ได้แก่
1) นางอาร์โรโย ประธานาธิบดี แห่งประเทศฟิลิปปินส์ในคราวประชุมนานาชาติที่กรุงโตเกียว เมื่อเดือนมิถุนายนปี พ.ศ. 2546 เรียกแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณ ที่ทำได้อย่างเป็นรูปธรรม ว่า “ทักษิโนมิค”
2) สมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชา ในช่วงเวลาก่อนเดือนมิถุนายน ปี พ .ศ. 2546 ได้เชิดชูความคิดทะลายพรมแดนเพื่อนบ้านเพื่อร่วมมือกันสร้างความเจริญมั่งคั่งว่าเป็นทฤษฎีทักษิณ
3) ย้อนหลังไปในปี พ.ศ. 2545 นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการไทยจากรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร. ทักษิณว่าเป็นแบบทักษิณานุวัตร คือเป็นการใช้อำนาจนำพาประเทศให้เป็นไปตามความต้องการส่วนตัว (สยามรัฐรายวัน 9 มิถุนายน 2546)