ทรงสนับสนุนโรงเรียนภาษาจีน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐานและเปิดกิจการทำการค้าในสยามมีมาตั้งแต่อดีตกาล จนเป็นความผูกพันกันอย่างลึกซึ้งระหว่างไทยและจีน ผู้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีโรงเรียนจีนซึ่งตั้งขึ้นก่อนนานแล้ว เพื่อให้ลูกหลานจีนได้เรียนรู้ภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีจีน แต่บางแห่งได้กลายเป็นแหล่งปลูกฝังความนิยมในระบอบสาธารณรัฐและลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งกำลังแข่งขันกันเป็นใหญ่ในประเทศจีนในขณะนั้น รัฐบาลของพระองค์จึงเกรงว่าอาจส่งผลระยะยาวเป็นภัยต่อประเทศชาติได้ จึงได้มีนโยบายเข้าตรวจตรากำกับการจัดการศึกษาในโรงเรียนจีนให้รัดกุมโดยละมุนละม่อม ไม่ให้แตกต่างมากนักจากการปฏิบัติต่อโรงเรียนราษฎร์อื่น ๆ ภายใต้พระราชบัญญัติเดียวกันเพื่อสร้างความผสมกลมกลืนโดยโน้มนำให้ลูกจีนค่อยๆ มีความรู้สึกนึกคิดเป็นไทย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนจีน ๔ แห่งในเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ และพระราชทานพระราชดำรัสว่า

“...นอกจากการสอนภาษาจีนท่านยังสอนภาษาไทยเรื่องที่เกี่ยวกับเมืองไทยด้วย เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าโรงเรียนจีนนั้นมีประโยชน์ เพราะนอกจากที่จะให้วิชาแก่เด็กจีนให้สามารถทำมาหาชีพให้สะดวกยิ่งขึ้น ยังทำให้เด็กจีนรู้จักเมืองไทยดี และเมื่ออ่านหนังสือไทยออกและเขียนได้ ย่อมจะทำให้ไทยและจีนสนิทสนมกลมเกลียวกันยิ่งขึ้น...”

โรงเรียนจีนที่เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมคราวนั้น คือ โรงเรียน ซินหมิน โรงเรียนจงหัว โรงเรียนเลียนฮะและโรงเรียนน่ำเฮง ซึ่งต่อมาได้ยุบตัวลงและนำนักเรียนมารวมกันที่โรงเรียนเผยอิง

การเสด็จพระราชดำเนิน เยี่ยมโรงเรียนจีนนี้ นับเป็นวิธีการอันนุ่มนวลที่ทรงช่วยเกื้อหนุนนโยบายสร้างความผสมกลมกลืนของรัฐบาล ซึ่งได้เป็นการวางรากฐานสำหรับรัฐบาลไทยในสมัยต่อ ๆ มาที่ได้ดำเนินรอยตามจนเกิดผลสำเร็จตราบกระทั่งปัจจุบัน

ที่มา

บทสารคดี “ปกเกล้าธรรมราชา” สารคดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ในวโรกาสครบ ๑๒๐ ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพและเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประจำปี ๒๕๕๖