ตุนไว้แล้ว 250 เสียง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย


ความนำ

“ตุนไว้แล้ว 250 เสียง” เป็นวลีที่ใช้สื่อความถึง สมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่มาจากการสรรหาโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ อันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้ในวาระแรกของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ สมาชิกวุฒิสภามีสิทธิลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมรัฐสภาร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 500 คน ในแง่นี้ สมาชิกวุฒิสภาจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอว่าอาจต้องตอบแทนบุญคุณ คสช. และขาดอิสระในการตัดสินใจ โดยวลี “ตุนไว้แล้ว 250 เสียง” เกิดขึ้นในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2562 จากทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะทั้งสองฝ่ายต่างเชื่อมั่นว่าสมาชิกวุฒิสภา 250 คน จะยกมือโหวตอย่างพร้อมเพรียงกัน สนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปภายหลังการเลือกตั้ง ทั้งนี้ภายหลังการเลือกตั้งสิ้นสุดลง พรรคพลังประชารัฐ (ซึ่งเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี) ได้รวบรวมพรรคการเมืองต่างๆ จนได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ได้มีมติให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไปด้วยคะแนนเสียง 500 ประกอบด้วยเสียงจาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 251 เสียง และ สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 249 เสียง ข้อคอรหาที่มีต่อสมาชิกวุฒิสภา ชุดที่แต่งตั้งโดย คสช. จึงปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

 

ที่มาของ “วุฒิสมาชิก” ตามรัฐธรรมนูญไทย

โดยทั่วไปแล้ว การปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วยระบบรัฐสภาแบบสภาคู่ (bicameral  system) จะมีองค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีหน้าที่พิจาราณาร่างกฎหมาย ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลโดยการอภิปรายและตั้งกระทู้ถาม ขณะที่ วุฒิสภา เป็นสภาคู่ขนาน ที่อาจจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง โดยอ้อม หรือจากการสรรหา ทำหน้าที่เป็นสภาสูงตรวจสอบทบทวนร่างกฎหมายที่ผ่านมาจากสภาล่าง หรือสภาผู้แทนราษฎร[1] ในบริบทสังคมการเมืองไทยนั้น วุฒิสภา หรือที่เรียกในขณะนั้นว่า "พฤฒสภา" ปรากฏครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 โดยกำหนดให้ "พฤฒสภา" มีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมาย และให้ความเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอมา (มาตรา 52) รวมถึงอำนาจในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล (มาตรา 56) ทั้งยังมีอำนาจในการเปิดอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี (มาตรา 69) ได้อีกด้วย[2] นั่นจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของสภาสูง หรือ วุฒิสภาในประเทศไทย ซึ่งผู้ที่จะดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาแต่ละยุคสมัย ก็มีที่มาแตกต่างกัน อาทิ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 กำหนดให้พฤฒสภา ประกอบด้วยสมาชิก 80 คน มาจากราษฎรได้เลือกตัวแทนของตนมาเลือกสมาชิกสภาอาวุโสอีกชั้นหนึ่ง (มาตรา 24-25) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 กำหนดให้วุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกินสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด (มาตรา 84)[3] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 กำหนดให้วุฒิสภาจำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง (มาตรา 121-122)[4] และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กำหนดให้วุฒิสภาจำนวน 150 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน และมาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาอีก 74 คน (มาตรา 111)[5]

สำหรับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560[6] นั้น ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 250 คน มาจากการเลือกกันเองของบุคคลซี่งมีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และคุณวุฒิอื่นๆ โดยให้มีการเลือกกันเองตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ (มาตรา 107) โดยกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่น่าสนใจ ก็คือ สมาชิกวุฒิสภา ต้องไม่เป็น หรือเคยเป็น ส.ส. ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง รัฐมนตรี สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวนี้แล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี รวมถึงต้องไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของ ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอีกด้วย (มาตรา 108)

อย่างไรก็ตาม ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้ในวาระแรกของวุฒิสภาซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 250 คน ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น ให้ผู้สมัครใน 10 กลุ่มวิชาชีพเลือกกันในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ตามลำดับ จนกระทั่งเหลือ 200 รายชื่อ หลังจากนั้นจึงส่งรายชื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คัดเลือกให้เหลือ 50 รายชื่อ และอีก 194 รายชื่อที่ได้รับการสรรหาโดย คสช. บวกกับ ส.ว. โดยตำแหน่งอีก 6 คน
จากปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 250 คน (มาตรา 269) แต่ที่น่าสนใจและถูกจับตามองเป็นอย่างมาก ก็คือ บทเฉพาะกาลของแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ยังกำหนดให้ ในช่วง 5 ปีแรกของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส.ว. (250 เสียง) มีอำนาจร่วมกับ ส.ส. (500 เสียง) ในที่ประชุมรัฐสภา (750 เสียง) พิจารณาการลงมติเห็นชอบผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งสองสภารวมกัน (376 เสียง) (มาตรา 272)

 

'"ตุนไว้แล้ว '250 เสียง" ก่อนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2562

การจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2562 ถือเป็นจุดชี้ขาดทางการเมืองของรัฐบาล คสช. ไม่เพียงเพราะว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เท่านั้น หากยังเป็นการยืนยันความสำเร็จ หรือ ล้มเหลวทางการเมืองของรัฐบาล คสช. ได้อีกด้วย ดังนั้น ช่วงปลายปี 2561 กลุ่มการเมืองหลายกลุ่มจึงออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างคึกคัก สำหรับฝ่ายที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัยนั้น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน กล่าวบนเวทีเปิดตัวเข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองใหม่ การที่จะชนะเลือกตั้งพรรคการเมืองเก่าที่มีอยู่เดิม จำเป็นต้องเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีต่อพรรคเก่าเหล่านั้นให้ได้ อย่างไรก็ตาม "การเลือกตั้งนี้ รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา" เราจึงต้องใช้ประโยชน์ในส่วนนี้ทุกคะแนนมีความสำคัญ ฉะนั้นตัวบุคคลในแต่ละเขตแปรเปลี่ยนเป็นคะแนนให้ได้ เพราะทุกคะแนนมีความสำคัญมาก"[7]

ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ก็ออกมายอมรับขณะที่แกนนำพรรคหลายคนเดินทางมาลาออกจากพรรคเพื่อไทย เพื่อไปสังกัดพรรคอื่นๆ
ว่า "รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เขียนมาเพื่อพวกเรา" จึงมาถึงทางแยกที่ผู้ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยจำเป็นต้องเลือกเดิน เพื่อที่จะเข้าไปทำงานในระบบรัฐสภาต่อไป[8] แม้หลายฝ่ายจึงมุ่งโจมตีว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีข้อกำหนดกฎกติกาหลายประการ โดยเฉพาะการให้อำนาจ ส.ว. มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
เป็นนายกรัฐมนตรี แต่สำหรับนายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง ขณะนั้น และอดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ได้ยอมรับอย่างภาคภูมิใจว่า

 

…ขณะนี้มีผู้สมัคร ส.ว. กว่า '7,000 คน และให้เลือกกันเองจนเหลือ 200 คน ส่วนจะเลือกกันแบบไหนนั้น ก็อย่าไปรู้มัน จาก 200 คน พลเอกประยุทธ์ หรือ คสช. หยิบมา เหลือ 50 คน ซึ่งเรียกว่า ส.ว. มาโดยกลุ่มสาขาอาชีพ กับอีกประเภทคือมาโดยตำแหน่ง จำนวน 6 คน...ผมเป็นคนคนเขียนในรัฐธรรมนูญ ปกติ ส.ว. จะไม่มีน้ำหนักเท่าไหร่ ไม่มีสิทธิไปโหวตนายกรัฐมนตรี โดยผมเป็นคนเสนอให้ ส.ว. 250 คน มีสิทธิโหวตนายกรัฐมนตรี ผมเป็นคำเริ่มต้นคำถามพ่วงให้ ส.ว. สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ปรบมือให้ผมหน่อย[9]

 

การยอมรับของนายวันชัย สอนศิริ ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด มากเท่ากับยิ่งดึงดูดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมในวงกว้างมากขึ้น ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนั้น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย
หนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่า
งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ส.ว. 250 คน ว่า “ประชาชนทั้งประเทศเลือก ส.ส. 500 คน คสช.เลือก ส.ว. 250 คน ส.ส.และ ส.ว. รวมกัน 750 คน เลือกนายก บิ๊กตู่ (พล.อ.ประยุทธ์) หัวหน้า คสช. ตั้งบิ๊กป้อม
(พล.อ.ประวิตร) เป็นประธานสรรหาฯ ขณะที่ บิ๊กตู่ เป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายก อยู่กับเรากระเป๋าตุง แต่ในกระเป๋าลุง มีตุนไว้แล้ว 250 เสียง เหนื่อยหน่อย..แต่สู้ไม่ถอยค่ะ!!”[10] ทั้งนี้ การ "ตุนไว้แล้ว 250 เสียง" ไม่เพียงจะถูกพุ่งเป้าโจมตีอย่างหนักเท่านั้น แต่ยังได้สร้างความมั่นใจให้กับฝ่ายที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งบนพื้นฐานของความได้เปรียบจากการมี ส.ว. สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังเห็นได้จากคำปราศรัยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งขึ้นปราศรัยหาเสียงที่สวนเบญจสิริ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2562
โดยอธิบายถึงการจะได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีนั้น จะต้องได้เสียงจากทั้ง 2 สภา เกินกึ่งหนึ่ง (376 เสียง)
เมื่อพิจารณาแล้ว แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ มีโอกาสน้อย เมื่อเทียบกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจาก "ประยุทธ์มีในกระเป๋าแล้ว 250 พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการอีก 126” ซึ่งหากนำคะแนนมารวมกันไว้ที่พรรครวมพลังประชาชาติไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน[11]

 

'“ตุนไว้แล้ว 250 เสียง” 'VS ปฏิบัติการปิดสวิตซ์ ส.ว.

 

...ถึงแม้ว่า ส.ว. จะตั้งมาจากผม แต่ผมถามว่าคนเหล่านั้น คุณดูถูกคน '200 คนเขาหรือ เขาไม่มีสมองหรือ เขาไม่รักประเทศหรือ เขาก็รักประเทศชาติทุกคนนั่นแหละ[12]

 

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

22 กุมภาพันธ์ 2562

 

ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 สิ้นสุดลง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ได้รับรองผลการเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อย ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคเพื่อไทย ได้จำนวน ส.ส. 136 ที่นั่ง รองลงมา คือ พรรคพลังประชารัฐ ได้ 115 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่ ได้ 81 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 53 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 51 ที่นั่ง พรรคเสรีรวมไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคละ 10 ที่นั่ง และพรรคอื่นๆ รวมกันอีก 43 ที่นั่ง[13] อย่างไรก็ตาม มาตรา 159 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดให้พรรคที่มีคุณสมบัติจะเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้นั้น จะต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่าร้อยละ 5
ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด (25 คน) ซึ่งส่งผลให้มีผู้ที่มีคุณสมบัติจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเหลือเพียง 7
ก็คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ จากพรรคเพื่อไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรคพลังประชารัฐ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคอนาคตใหม่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย[14] ทันทีที่ทราบผลการเลือกตั้ง พรรคการเมืองต่างๆ ก็จับขั้วแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน ก็คือ ฝ่ายหนึ่งนำโดยพรรคพลังงานประชารัฐ ซึ่งสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี กับอีกฝ่ายหนึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าจะสนับสนุนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคการเมืองขนาดเล็กอื่นๆ ต่างสงวนท่าทีและยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ทั้งนี้ “ปฏิบัติการปิดสวิตช์ ส.ว.” เริ่มต้นขึ้นจากพรรคร่วมฝ่ายต้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีเป้าหมายเพื่อสกัดกั้นการโหวตของ ส.ว. ที่จะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจาก ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวโยงกับประชาชน และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็น “คนนอก” ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งหรือผ่านการลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2562 ที่ผ่านมา ทั้งยังมองว่ากลุ่มคนที่แต่งตั้งสอวอกินเป็นกลุ่มคนที่ไม่อยากเห็นสังคมไทยเดินไปสู่ความก้าวหน้าแต่ต้องการที่จะเห็นประเทศไทยหยุดนิ่งอยู่กับที่ในอดีต เนื่องจากเป็นสภาพสังคมที่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกเขา ทั้งนี้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้แถลงปลุกขวัญกำลังใจและเรียกร้อง ส.ส.
จากพรรคการเมืองอื่นๆ นอกเหนือไปจากพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคประชาชนปฏิรูป ว่า

 

…มาร่วมกันปิดสวิตช์ส.ว. เพราะตอนนี้ชัดเจนแล้วว่า พรรคที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ได้ไม่ถึง 126 เสียง ทำให้การปิดสวิตช์ส.ว.เป็นไปได้ ถ้าต้องการยับยั้งกลไกที่ไม่ได้มาจากประชาชน...พรรคทุกพรรคที่ไม่ใช่ 3 พรรคนี้ สามารถมีส่วนทำให้ประเทศไทยไปข้างหน้า การเมืองไม่ไปสู่ทางตันได้ สามารถยกมือรับรองนายกฯ ที่ถูกเสนอชื่อโดยพรรคการเมืองที่รวมเสียงข้างมากได้ เพราะพรรคการเมืองนอกจาก 3 พรรค จะมีเสียงรวมกัน 378 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร มากกว่าจำนวนเสียงของทั้ง 3 พรรค บวกกับ 250 ส.ว. แต่งตั้ง[15]

 

อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการปิดสวิตช์ ส.ว. ก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ เพราะในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ได้มีมติให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไปด้วยคะแนน 500 เสียง ซึ่งในจำนวนนี้ มี ส.ว. ลงคะแนนให้ 249 เสียง ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มีเพียง 244 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง[16] ส่งผลให้ฝ่ายต่อต้านพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ต้องตกเป็นฝ่ายค้านในสภา ทั้งนี้ประเด็นเรื่อง ส.ว. สรรหา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงและเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องจากฝ่ายต่างๆ ที่ต้องการให้มีการยกเลิก ในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้[17] หรือแม้แต่ผู้ที่เป็น ส.ว. เองก็มีความเห็นว่าไม่ควรใช้อำนาจดังกล่าวในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี[18]

 

นัยสำคัญต่อการเมืองไทย

วลี “ตุนไว้แล้ว 250 เสียง” ดึงดูดคำวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการ สื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงภาคประชาสังคมจำนวนมาก ถึงความบิดเบี้ยวของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
และสถาบันรัฐสภา หากพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์แล้ว ก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงมิติต่างๆ อย่างน้อย 5 ประการ

ประการแรก แม้การแต่งตั้ง ส.ว. 250 คนและให้สิทธิในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะเป็นภาพสะท้อนของการจัดสรรความสัมพันธ์เชิงอำนาจของ คสช. เพื่อแก้โจทย์การเมืองที่ดำรงอยู่ก่อนการรัฐประหาร วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการอาศัยกลไกต่างๆ อาทิ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กลไกลในระบบรัฐสภา และเครื่องมือประชาธิปไตยอย่างการเลือกตั้ง จนท้ายที่สุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัยหนึ่งนั้น ก็คือการฉาบเคลือบการกระทำทางการเมืองที่มีข้อครหาอย่างการสืบทอดอำนาจ

ประการที่สอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดให้ ส.ว. มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ในที่ประชุมรัฐสภา ภายในเวลา 5 ปีแรกนับจากมีการเลือกตั้ง ส.ส. นั้น
มีความหมายว่า ส.ว. จะมีโอกาสเลือกนายกรัฐมนตรีได้อย่างน้อยถึงสองสมัย (หรืออาจมากกว่านั้น หากรัฐบาลแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ไม่ครบวาระ 4 ปี) ซึ่งหมายความต่อไปได้ว่า หากนายกรัฐมนตรีที่ได้รับคะแนนโหวตจาก ส.ว. ทั้งสองครั้ง อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ สังคมการเมืองไทยก็จะตกอยู่ภายใต้รัฐบาลนั้นยาวนานถึง 8 ปี

ประการที่สาม การให้สิทธิแก่ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มีลักษณะใกล้เคียงกันกับข้อกำหนดที่ระบุไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 จะแตกต่างกันก็แต่โดย ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชชนะจากไทยพ.ศ. 2521 นั้น ไม่ได้มีเพียงสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่มีสิทธิโหวตร่างกฎหมายร่วมกันกับ ส.ส. ในที่ประชุมรัฐสภาอีกด้วย

ประการที่สี่ การให้ ส.ว. 250 คน มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. ในที่ประชุมรัฐสภา อาจเป็นการบิดเบือนเจตจำนงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เพราะแทนที่ ส.ส. จะทำหน้าที่ดังกล่าวเพื่อรับผิดชอบต่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เลือกตนเข้ามา กลับแบ่งสันอำนาจนั้นให้แก่ ส.ว.
250 คน ที่มาจากการสรรหาโดย คสช. ซึ่งผู้นำคณะรัฐประหารก็ถูกเลือกกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

ประการที่ห้า แม้ ส.ว. สรรหา 250 คน จะไม่มีสิทธิโหวตร่างกฎหมายร่วมกับ ส.ส. เหมือนเช่น
ส.ว. ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 ทว่าการให้ ส.ว. 250 คน มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. ในที่ประชุมรัฐสภา ก็เป็นการขยายอำนาจแก่ ส.ว. อย่างปฏิเสธไม่ได้ ทั้งที่ อำนาจของวุฒิสภาในระบบรัฐสภาหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

บรรณานุกรม

Heywood, Andrew (2019). Politics. 5th Edition. London: Red Globe Press.

“แก้รัฐธรรมนูญ: 5 สัปดาห์ ได้ครบ 5 หมื่นรายชื่อ "ไอลอว์" เตรียมยื่นร่างแก้ไข รธน. ต่อรัฐสภา." บีบีซีไทย (14 กันยายน 2563). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-54143285>. เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563.

““เจ๊หน่อย” ลั่น “สู้ไม่ถอย” เหน็บ “บิ๊กตู่” ตุน ส.ว.ลากตั้ง 250 เสียง ย้อนกลับมาเลือกตัวเองเป็นนายกฯ." ผู้จัดการออนไลน์ (27 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก

          <https://mgronline.com/politics/detail/9620000020498>. เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563.

“‘ธนาธร'ปลุก378เสียงปิดสวิตซ์'สว.' ยันหนุน'สุดารัตน์'." เดลินิวส์ออนไลน์ (8 พฤษภาคม 2562). <https://www.dailynews.co.th/politics/708133>. เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563.

““บิ๊กตู่” ปัดใช้ 250 ส.ว. หวนเก้าอี้ นายกฯ." PPTV (22 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/98819>. เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563.

“เปิดชื่อแคนดิเดต พรรคไหน ใครมีสิทธิ ชิงเก้าอี้ นายกรัฐมนตรี!." ข่าวสดออนไลน์ (31 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_2571194>. เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563.

“‘ผมเป็นคนเขียนในรธน. ให้สว.มีสิทธิ์โหวตนายกฯ…’ ฟังวันชัย เปิดใจปลื้ม มีส่วนให้อำนาจสว.." มติชนออนไลน์ (18 ธันวาคม 2563). เข้าถึงจาก

           <https://www.matichon.co.th/politics/news_1277941>. เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563.

“ผลเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต รวม 349 คน แยกเป็นรายพรรค." ไทยรัฐออนไลน์ (7 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1562331>. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563.

“รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา" ???." คมชัดลึก (19 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงจาก <https://www.komchadluek.net/news/scoop/352831>. เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563.

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489." ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 30 เล่ม 63, 10 พฤษภาคม 2489.

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521." ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 95 เล่ม 146, 22 ธันวาคม 2521.

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540." ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 114 เล่ม 55, 11 ตุลาคม 2540.

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550." ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 124 เล่ม 47ก, 24 สิงหาคม 2550.

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560." ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 134 เล่ม 40ก, 6 เมษายน 2560.

“เลือกตั้ง 2562 : กกต. ประกาศรับรอง 149 ส.ส. บัญชีรายชื่อ."  บีบีซีไทย (8 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-48197070>. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563.

“เลือกนายกฯ : 500 ต่อ 244 งดออกเสียง 3 มติรัฐสภาหนุน พล.อ. ประยุทธ์ นั่งนายกฯ ต่อ." บีบีซีไทย (14 กันยายน 2562). <https://www.bbc.com/thai/thailand-48530879>. เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563.

“ส.ว.ไม่ขอโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีก สัญญาณชัดแก้รัฐธรรมนูญ." ไทยรัฐออนไลน์ (7 กันยายน 2563). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1925260>. เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563.

“สุเทพลั่น 'พล.อ.ประยุทธ์' ตุนไว้แล้ว 250 เสียง หลัง 24 มีนาจะไม่เป็นเผด็จการ." ประชาไท (19 มีนาคม 2562) <https://prachatai.com/journal/2019/03/81586>. เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563.

 

อ้างอิง 

[1] Andrew Heywood, Politics, 5th Edition (London: Red Globe Press, 2019), pp. 591-592.

[2] "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489," ราชกิจจานุเบกษา, ตอนที่ 30 เล่ม 63, 10 พฤษภาคม 2489.

[3] "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521," ราชกิจจานุเบกษา, ตอนที่ 95 เล่ม 146, 22 ธันวาคม 2521.

[4] "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540," ราชกิจจานุเบกษา, ตอนที่ 114 เล่ม 55, 11 ตุลาคม 2540.

[5] "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550," ราชกิจจานุเบกษา, ตอนที่ 124 เล่ม 47ก, 24 สิงหาคม 2550.

[6] "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560," ราชกิจจานุเบกษา, ตอนที่ 134 เล่ม 40ก, 6 เมษายน 2560.

[7] "รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา" ???," คมชัดลึก (19 พฤศจิกายน 2561), เข้าถึงจาก

<https://www.komchadluek.net/news/scoop/352831>. เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563.

[8] ""รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา" ???," คมชัดลึก (19 พฤศจิกายน 2561), เข้าถึงจาก

 <https://www.komchadluek.net/news/scoop/352831>. เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563.

[9] "‘ผมเป็นคนเขียนในรธน. ให้สว.มีสิทธิ์โหวตนายกฯ…’ ฟังวันชัย เปิดใจปลื้ม มีส่วนให้อำนาจสว.," มติชนออนไลน์ (18 ธันวาคม 2563), เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1277941>. เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563.

[10] "“เจ๊หน่อย” ลั่น “สู้ไม่ถอย” เหน็บ “บิ๊กตู่” ตุน ส.ว.ลากตั้ง 250 เสียง ย้อนกลับมาเลือกตัวเองเป็นนายกฯ," ผู้จัดการออนไลน์ (27 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9620000020498>. เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563.

[11] "สุเทพลั่น 'พล.อ.ประยุทธ์' ตุนไว้แล้ว 250 เสียง หลัง 24 มีนาจะไม่เป็นเผด็จการ," ประชาไท (19 มีนาคม 2562) <https://prachatai.com/journal/2019/03/81586>. เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563.

[12] "“บิ๊กตู่” ปัดใช้ 250 ส.ว. หวนเก้าอี้ นายกฯ," PPTV (22 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก

 <https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/98819>. เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563.

[13] "ผลเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต รวม 349 คน แยกเป็นรายพรรค," ไทยรัฐออนไลน์ (7 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1562331>. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563. และ "เลือกตั้ง 2562 : กกต. ประกาศรับรอง 149 ส.ส. บัญชีรายชื่อ,"  บีบีซีไทย (8 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก

 <https://www.bbc.com/thai/thailand-48197070>. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563.

[14] "เปิดชื่อแคนดิเดต พรรคไหน ใครมีสิทธิ ชิงเก้าอี้ นายกรัฐมนตรี!," ข่าวสดออนไลน์ (31 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_2571194>. เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563.

[15] "'ธนาธร'ปลุก378เสียงปิดสวิตซ์'สว.' ยันหนุน'สุดารัตน์'," เดลินิวส์ออนไลน์ (8 พฤษภาคม 2562), <https://www.dailynews.co.th/politics/708133>. เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563.

[16] "เลือกนายกฯ : 500 ต่อ 244 งดออกเสียง 3 มติรัฐสภาหนุน พล.อ. ประยุทธ์ นั่งนายกฯ ต่อ," บีบีซีไทย (14 กันยายน 2562), <https://www.bbc.com/thai/thailand-48530879>. เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563.

[17] "แก้รัฐธรรมนูญ: 5 สัปดาห์ ได้ครบ 5 หมื่นรายชื่อ "ไอลอว์" เตรียมยื่นร่างแก้ไข รธน. ต่อรัฐสภา," บีบีซีไทย (14 กันยายน 2563), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-54143285>. เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563.

[18] "ส.ว.ไม่ขอโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีก สัญญาณชัดแก้รัฐธรรมนูญ," ไทยรัฐออนไลน์ (7 กันยายน 2563), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1925260>. เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563.