ตำราไปม็อบ
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และ ธีทัต จันทราพิชิต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ตำราไปม็อบ หมายถึง ข้อมูลแนะนำวิธีการแต่งกายและข้อควรระวังในการเข้าร่วมการชุมนุมสำหรับการชุมนุมในประเทศไทยใน ปี 2563 ซึ่งมีผู้ชุมนุมจำนวนมากเป็นเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และส่วนใหญ่ไม่เคยมีประสบการณ์การเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองมาก่อน
เนื้อหาตำราไปม็อบ
ตำราไปม็อบนั่นในตอนแรกมักจะเป็นวิธีการแต่งกายให้ปลอดภัย ไม่ถูกจดจำใบหน้า และไม่ทิ้งร่องรอยให้ตรวจจับต่อไปได้ โดยส่วนมากจะได้อิทธิพลจากการชุมนุมที่ฮ่องกงใน วันที่ 17 มิถุนายน 2562 ทางแฟนเพจเฟซบุ๊คสำนักข่าวออนไลน์ The Matter ได้ทำการลงบทความในหัวข้อ “How to เตรียมตัวไปม็อบแบบชาวฮ่องกง ต้องพกอะไรไป ปกปิดตัวตนดิจิทัลอย่างไร?” [1] โดยเนื้อหาของบทความดังกล่าวเน้นไปที่เครื่องแต่งกายและวิธีการปกปิดตัวตนซึ่งทาง The Matter ได้สรุปเอาไว้ว่า ไม่เพียงแค่มี อุปกรณ์ที่ต้องพร้อม แต่ชาวฮ่องกงยังเลือกวิธีการปฏิบัติตนที่ระวังตัว เพื่อไม่ให้ทิ้งร่องรอยและตัวตนของตัวเองไว้ในการชุมนุมด้วย ไม่ว่าจะเป็น
- ป้องกันการเปิดเผยตัวตนในโซเชียลมีเดีย เช่น รูปถ่ายที่เปิดเผยใบหน้า
- ใช้แอพฯ ติดต่อที่มีการเข้ารหัส เช่น Telegram หรือ Signal
- งดใช้ wi-fi สาธารณะ
- ลบข้อความที่สนทนาเกี่ยวข้องกับการประท้วง
- ใช้ซิมการ์ดแบบชำระเงินล่วงหน้าที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับข้อมูลส่วนบุคคล
- ห่อบัตรประชาชนด้วยฟอยด์กันการโดนสแกน
- ปิดโลเคชั่น การติดตามตำแหน่งบนโทรศัพท์
- ซื้อตั๋วรถไฟใต้ดินใช้แล้วทิ้งแทนที่จะใช้บัตรที่เชื่อมโยงกับรหัสของพวกเขา
- ปฏิเสธที่จะให้เบอร์โทรศัพท์กับนักข่าว
- เขียนเบอร์โทรศัพท์ของทนายไว้บนร่างกายด้วยปากกามาร์กเกอร์ที่มีน้ำมันในกรณีที่ถูกจับกุม โดยโพสต์ดังกล่าวได้รับการแชร์กว่าพันครั้ง
ต่อมาเมื่อมีการชุมนุมประท้วงใน ปี 2563 เกิดขึ้นก็ได้มีการพยายามแนะนำวิธีการแต่งกายหรือป้องกันตัวเองในกรณีไปม็อบอยู่หลายต่อหลายครั้ง กระทั่งเยาวชนปลดแอกได้ประกาศทำการนัดชุมนุมใน วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เวลา 17.00 น.[2] ซึ่งมีมูลเหตุจากกรณีของทหารอียิปต์เข้ามาประเทศไทยและไม่ทำการกักตัวตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นเดือนดังกล่าว[3] ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 กลุ่มเยาวชนปลดแอกได้ทำการโพสต์รูปภาพสำหรับการเตรียมตัวเข้าร่วมชุมนุม โดยเนื้อหาทั้งหมดมีว่า
“แค่ร่างกายต้องการปะทะแก๊สน้ำตาไม่พอ!! ต้องเตรียมพร้อมด้วย DRESS CODE: เสื้อสีดำ เพื่อไว้อาลัยให้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นรายวันในประเทศที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย เวลานี้เราไม่ทนอีกแล้ว! 17:00 น. เป็นต้นไป 18 กรกฎาคมนี้! มุ่งตรงไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขจัดต้นตอของปัญหา ถอนโคนเผด็จการที่ฝังรากลึกมายาวนาน *โปรดสวมหน้ากากอนามัยและพกเจลล้างมือ *แจกฟรีพิซซ่า 112 ชิ้นสำหรับผู้ที่มาก่อน *เรามีหน่วยพยาบาล อย่าให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องของลูกหลานเราที่ต้องมาเรียกร้องความยุติธรรมไม่จบสิ้น ให้มันจบในรุ่นของเรา”[4]
ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองที่มีตำราไปม็อบที่แนะนำวิธีการแต่งกายจำนวนมากและหลายชิ้นได้รับอิทธิพลจากการชุมนุมที่ฮ่องกง กระทั่ง วันที่ 15 สิงหาคม 2563 ทางเยาวชนปลดแอกก็ได้ทำการโพสต์ภาพที่ถูกวาดโดยศิลปิน หงุมหงิม ซึ่งแนะนำวิธีการแต่งกายและการแต่งตัวซึ่งเห็นได้ชัดว่าได้อิทธิพลจากการชุมนุมที่ฮ่องกง[5]
นอกจากนี้ ยังได้มีความพยายามถอดบทเรียนยุทธวิธีที่นักศึกษาฮ่องกงใช้รับมือกับตำรวจปราบจลาจล โดยสื่อมวลชนไทยทยอยออกมาอีก ดังตัวอย่างบทความ “กางตำราฮาวทู! เปิดแท็กติกม็อบฮ่องกงสู้แก๊สน้ำตา ยังไงไม่ให้เจ็บตัว” ของเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ที่สรุปวิธีการหลัก ๆ ที่การชุมนุมร่มเหลืองในฮ่องกงใช้อย่างได้ผล ได้แก่ กลยุทธ์ “ไม่มีผู้นำ” ยืดหยุ่นและใช้หลากหลายกลยุทธ์ เคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ การใช้สัญลักษณ์มือดับแก๊สน้ำตา และการโหมโฆษณาเพื่อระดมทุน[6] แนวทางเหล่านี้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาในประเทศไทยอย่างเด่นชัดในช่วงปลาย ปี 2563
ช่วงหลังจากนั้นอาจจะมีตำราไปม็อบหลายต่อหลายครั้ง แต่ด้วยความคุ้นชินต่อการชุมนุมประท้วงก็ทำให้ข้อมูลเรื่องเครื่องแต่งกายนั่นมีจำนวนที่น้อยลงเป็นอย่างมาก แต่ข้อมูลแนะนำการป้องกันตัวเองทางกฎหมายนั้นจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
อ้างอิง
[1] The Matter, 2562, “How to เตรียมตัวไปม็อบแบบชาวฮ่องกง ต้องพกอะไรไป ปกปิดตัวตนดิจิทัลอย่างไร?”. เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/thematterco/posts/2304482326433823/
[2] เยาวชนปลดแอก, 2563, ไม่ทนอีกต่อไป.... เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/FreeYOUTHth/photos/285910079524723
[3] บีบีซีไทย, 2563, โควิด-19 : กรณีทหารอียิปต์-ลูกทูต รัฐบาลชี้แจงอะไรบ้าง หลังขอโทษประชาชน.เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-53401225
[4] เยาวชนปลดแอก, 2563, แค่ร่างกายต้องการปะทะแก๊สน้ำตาไม่พอ!! ต้องเตรียมพร้อมด้วย. เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/FreeYOUTHth/photos/286691736113224
[5] เยาวชนปลดแอก, 2563, HOW TO ไปม็อบแบบเบสิค!. เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/FreeYOUTHth/photos/309635180485546
[6] “กางตำราฮาวทู! เปิดแท็กติกม็อบฮ่องกงสู้แก๊สน้ำตายังไงไม่ให้เจ็บตัว” เข้าถึงจาก https://www.posttoday.com/world/635744