ดุลแห่งอำนาจ (Balance of Power)
ผู้เรียบเรียง : ณัชชาภัทร อมรกุล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู
ดุลแห่งอำนาจ (balance of power) เป็นแนวคิดสำคัญในทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งหมายถึง “สถานการณ์ที่ไม่มีรัฐใดหรือกลุ่มรัฐใดสามารถครอบงำและมีอำนาจเหนือรัฐอื่น ๆ ได้อย่างเต็มที่” แนวคิดนี้เป็นที่ยึดถือแพร่หลายในสำนักสัจนิยมที่เห็นว่า ช่วยป้องกันการครอบงำในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งมีอำนาจเหนือประเทศอื่น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดำเนินไปได้ด้วยเสถียรภาพและลดความเสี่ยงของสงครามและความขัดแย้ง
การใช้ดุลแห่งอำนาจจะต้องอยู่บนเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ประเทศต่าง ๆ มีอำนาจที่มีความสมดุล คือการที่รัฐต่าง ๆ หรือกลุ่มรัฐต่าง ๆ มีความสัมพันธ์ระหว่างกันบนพื้นฐานของมีอำนาจที่เท่าเทียมกันหรือใกล้เคียงกัน ไม่มีรัฐใดรัฐหนึ่งเข้มแข็งกว่ารัฐอื่น ๆ มากเกินไป เช่น ในช่วงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุโรปช่วงหลังยุคสงครามนโปเลียนถึงสงครามโลกครั้งที่_1 และในช่วงสงครามเย็น อันเป็นดุลอำนาจระหว่างขั้วอำนาจที่มีสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเป็นแกนนำ
โดยในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น ได้มีการใช้นโยบายหรือวิธีการต่าง ๆ เพื่อถ่วงดุลไม่ให้รัฐใดรัฐหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป อาจโดยการผ่านการสร้างพันธมิตร การเพิ่มอำนาจทางทหาร การพัฒนาเศรษฐกิจ การใช้วิธีการทางการทูต เพื่อป้องกันการครอบงำ ไม่ให้รัฐใดกลายเป็นผู้ครอบงำในระบบระหว่างประเทศ เพราะการครอบงำจะนำไปสู่ความไม่สมดุลและอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งและสงคราม อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศภายใต้ระบบดุลแห่งอำนาจนี้ ต้องมีการปรับตัวตามสถานการณ์ โดยระบบดุลแห่งอำนาจไม่ได้อยู่คงตัวตายตัวเสมอไปแต่จะต้องมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของอำนาจทางการทหาร เศรษฐกิจ และการเมือง
ทฤษฎีดุลอำนาจเป็นทฤษฎีหลักของทั้งสำนักคิดในสายสัจนิยมคลาสสิก (classical realism) และสายสัจนิยมใหม่ (neorealism) โดยพยายามอธิบายสาเหตุของการสร้างพันธมิตร เนื่องจากแนวคิดสัจนิยมใหม่เกี่ยวกับอนาธิปไตยที่เกิดจากระบบระหว่างประเทศ รัฐต่าง ๆ จึงต้องรับประกันการอยู่รอดของตนโดยการรักษาหรือเพิ่มพลังอำนาจของตนในโลกที่ต้องพึ่งพาตนเอง พวกสำนักคิดนี้มองว่า การระงับยับยั้ง หรือวิธีการที่ทำให้ไม่เกิดสงครามระหว่างประเทศนั้นทำได้โดยการสร้างดุลแห่งอำนาจ (Walden University, 2024) (Oldemeinen, 2010) พื้นฐานของความเชื่อนี้มาจากหลักการที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือการแก่งแย่งและต่อสู้กันเพื่อผลประโยชน์ของตนเองภายใต้ระเบียบโลกแบบอนาธิปไตย ที่ไม่มีองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่มีความชอบธรรมในการใช้อำนาจเหนือองค์กรอื่น ๆ รัฐชาติซึ่งเป็นตัวแสดงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กัน โดยปราศจากจริยธรรมหรือคุณค่าแบบที่ใช้กันในความหมายทั่วไปมาคุ้มครอง อย่างไรก็ดี รัฐในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถูกมองว่าเป็นตัวแสดงที่มีเหตุผล และเป็นตัวแสดงที่ตัดสินใจด้วยตัวของตัวเองเพื่อความอยู่รอด นักสัจนิยมทั้งหลายจึงมองว่า วิธีการเดียวที่จะสร้างความมั่นคงและสันติภาพในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็คือการสร้างดุลแห่งอำนาจ หากสมดุลแล้วก็จะไม่มีสงคราม เพราะไม่มีประเทศไหนที่จะกล้าฝืนสมดุลโดยลุกขึ้นมาทำสงคราม
ในการทำความเข้าใจกับคำว่าดุลแห่งอำนาจนั้น ต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจกับอำนาจก่อน โดยนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่วิเคราะห์เรื่องอำนาจในสายสัจนิยม (realism) ซึ่งเป็นสายสกุลที่มักใช้คำว่าดุลแห่งอำนาจมากที่สุดนั้น คงหลีกไม่พ้น Hans Morganthau ที่เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง Politics Among Nations : The Struggle for Power and Peace (Morgenthau, 1948) โดย Morganthau ได้อธิบายไว้ว่า อำนาจคือความสัมพันธ์ทางจิตวิทยาในรูปแบบหนึ่งระหว่างผู้ที่ใช้อำนาจกับผู้ที่ถูกใช้อำนาจ โดยอำนาจถูกนิยามในลักษณะกว้าง ๆ ได้แก่
1. อำนาจทางการเมือง (political power) คือ อำนาจเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนสามารถควบคุมและมีอิทธิพลต่อการกระทำของผู้อื่น หรือเป็นความสามารถในการทำให้ผู้อื่นกระทำตามความต้องการของตัวเอง ไม่ว่าจะผ่านการข่มขู่ บีบบังคับ หรือการเจรจาต่อรอง และการจูงใจ
2. ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ (power relations) คือ อำนาจไม่สามารถวัดได้เฉพาะตัว แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายขึ้นไป ความสัมพันธ์เชิงอำนาจสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์และปัจจัยต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจ การทหาร การเมือง และสังคม
3. ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อำนาจเป็นหัวใจหลักของการเมืองระหว่างประเทศ เนื่องจากรัฐต่าง ๆ อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ในระบอบอนาธิปไตยที่ไม่มีองค์อำนาจสูงสุด ไม่มีกฎหมายหรือกฎระเบียบใด ๆ ที่กำหนดกฎเกณฑ์ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน ภายในการเมืองระหว่างประเทศ รัฐต่าง ๆ จึงดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อรักษาหรือเพิ่มพูนอำนาจของตนเอง
Morgenthau เน้นว่า การเมืองคือการต่อสู้เพื่ออำนาจ การเมืองระหว่างประเทศจึงเป็นเรื่องอำนาจล้วน ๆ อำนาจเป็นวัตถุประสงค์หลักของรัฐต่าง ๆ ในเวทีระหว่างประเทศ โดยรัฐจะต้องพยายามสร้างดุลอำนาจ เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐใดรัฐหนึ่งครอบงำและกำหนดเงื่อนไขความสัมพันธ์ของรัฐอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องอำนาจและดุลแห่งอำนาจนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดมาในสมัยของ Morgenthau เพราะจริง ๆ แล้วก็พบว่า ดุลแห่งอำนาจเป็นแนวคิดที่เก่าแก่ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราสามารถพบแนวคิดนี้ได้ เจอได้ในงานเขียนของธูซิดิดิส เรื่องสงครามเพโลพอนนีเซียน ซึ่งเป็นเหตุการณ์บันทึกประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามระหว่างนครรัฐสปาร์ตา และนครรัฐเอเธนส์ ต้นเหตุของสงครามมาจากปัญหาเรื่องดุลแห่งอำนาจ กล่าวคือ เอเธนส์ต้องการขยายตัวมากขึ้น เพื่อเป็นผู้คุ้มครองนครรัฐกรีกให้รอดพ้นจากการขยายอิทธิพลของเปอร์เซีย ส่วนสปาร์ต้าก็มองการขยายตัวของเอเธนส์ด้วยความไม่สบายใจ เนื่องจากการขยายตัวของเอเธนส์ได้ทำลายดุลแห่งอำนาจซึ่งเคยอยู่ในนครรัฐเอเธนส์ ส่วนประวัติศาสตร์ยุโรปในช่วงหลังสงครามนโปเลียนจนก่อนถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็เป็นที่กล่าวขานกันว่า ทวีปยุโรปปราศจากสงครามขนาดใหญ่หรือสงครามระหว่างประเทศได้เป็นระยะเวลานับ 100 ปี เพราะความสามารถในการรักษาดุลแห่งอำนาจของชาติต่าง ๆ ในยุโรป
นักวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมักเรียกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่าอยู่บน “ระเบียบ” บางอย่าง (ใช้คำว่า ระเบียบหรือ order เพราะไม่ใช้คำว่ากฎหมาย/กติกาใด ๆ เพราะว่ามันไม่มี) ระเบียบในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดำเนินไปจนกระทั่งเริ่มมีรัฐหนึ่ง มีพฤติกรรมที่ขยายอำนาจของตัวเอง เช่น ขยายกองกำลังทางการทหารของตนเอง มีกองทัพเพิ่มมากขึ้น เกณฑ์ทหารเพิ่มมากขึ้น หรือเคลื่อนกำลังทหารไปประชิดชายแดนประเทศอื่นมากขึ้น เท่ากับว่า ขณะนั้นประเทศนั้นได้ปรับระเบียบดุลแห่งอำนาจเดิม จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดสงครามระหว่างประเทศ
ในการสร้างดุลแห่งอำนาจนั้น ไม่จำเป็นต้องสร้างผ่านกลไกทางการทหารเสมอไป เพราะการสร้างดุลแห่งอำนาจผ่านกลไกทางการทหารอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดจากประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศมหาอำนาจว่าดุลแห่งอำนาจกำลังสูญเสียไป ทำให้เกิดสภาวะ security dilemma หมายถึงสภาวะที่รัฐใดรัฐหนึ่งพยายามสร้างความมั่นคงให้กับตัวเอง ทำให้รัฐอื่นมองว่าความมั่นคงของรัฐตนถูกลดลงโดยเปรียบเทียบ ในที่สุดแล้วทำให้รัฐที่ต้องการสร้างความมั่นคงเป็นรัฐแรกนั้นต้องเผชิญหน้ากับความไม่มั่นคง เช่น หากรัฐ A มองว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่แน่นอน จึงเพิ่มกองทัพเรือ ทำให้รัฐ B ที่อยู่ข้าง ๆ เกิดความไม่สบายใจเวลารัฐ A มีกองทัพเรือมากขึ้น รัฐ B จึงเพิ่มกองทัพเรือมากขึ้นด้วย อาจนำไปสู่การแข่งขันสะสมอาวุธ หรือความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ และสภาวะเช่นนี้ยิ่งส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ดังนั้นรัฐต่าง ๆ ที่ต้องการสร้างดุลแห่งอำนาจ จึงต้องพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ ในการรักษาดุลแห่งอำนาจ เช่น การสร้างพันธมิตร โดยมีหลายครั้งในประวัติศาสตร์ที่รัฐที่อ่อนแอกว่าสามารถสร้างพันธมิตรกับรัฐอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง และเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับรัฐที่มีอำนาจมากขึ้น เช่นในสมัยสงครามนโปเลียน เมื่อฝรั่งเศสพยายามแสดงอำนาจมากขึ้นโดยการรุกรานชาติต่าง ๆ ทำให้ชาติอื่น ๆ ในยุโรป รวมตัวกันเป็นพันธมิตรเพื่อต่อต้านอำนาจของนโปเลียน นอกจากนี้รัฐต่าง ๆ ยังสามารถร่วมมือกันเพื่อการตรวจสอบและควบคุมอาวุธ (Arms Control) : การทำข้อตกลงในการควบคุมอาวุธและการตรวจสอบการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูงสามารถช่วยป้องกันไม่ให้รัฐหนึ่งมีอำนาจเกินไป
รัฐต่าง ๆ ยังสามารถสร้างดุลแห่งอำนาจในด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับพลังอำนาจอื่น ๆ นอกจากพลังอำนาจทางการทหารได้ด้วย เช่นพัฒนาเศษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง โดยการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศในเข้มแข็งและมีเสถียรภาพ เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจสามารถเป็นอำนาจด้วยตัวของมันเอง และยังสามารถสร้างเสริมพลังอำนาจทางการทหาร เช่นเดียวกับการใช้วิธีการทางการทูต โดยรัฐสามารถใช้การเจรจา การทำข้อตกลงระหว่างประเทศ การเข้าร่วมและแสดงบทบาทในองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อลดความตึงเครียดและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการรักษาดุลอำนาจ
อ้างอิง
Morgenthau, H. J. (1948). Politics Among Nations: The Struggle for Power and Peace. New York: Alfred A. Knopf.
Oldemeinen, M. (2010, February 15). The Political Realism of Thucydides and Thomas Hobbes. Retrieved from e-international relations: https://www.e-ir.info/2010/02/15/the-political-realism-of-thucydides-and-thomas-hobbes/#google_vignette
Walden University. (2024, March 12). What Is the Balance of Power and How Is It Maintained? Retrieved from Walden University: https://www.waldenu.edu/online-doctoral-programs/phd-in-public-policy-and-administration/resource/what-is-the-balance-of-power-and-how-is-it-maintained