ชาวนา (พ.ศ. 2498)
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พรรคชาวนา
พรรคชาวนาเป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 โดยได้ยื่นจดทะเบียนต่อปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ทะเบียนเลขที่ 6/2498 โดยมีหัวหน้าพรรคคือ นายเสรี อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขาธิการพรรคคือ นายเกษม เฮงสวัสดิ์
อุดมการณ์ของพรรคชาวนา
พรรคชาวนาถือคตินิยมว่า “ประชาสุขฺขํ” ความผาสุกของประชาชนย่อมเป็นใหญ่ พรรคชาวนาจะยึดถือระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จะขัดขวางระบอบเผด็จการทุกวิถีทาง จะเสียสละเพื่อส่วนรวมของประเทศชาติ และประเทศไทยต้องเป็นของคนไทย พรรคชาวนาจะพยายามให้ประชาธิปไตยคงอยู่ในประเทศไทยด้วยระบอบที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
นโยบายของพรรคชาวนา
นโยบายด้านการต่างประเทศ พรรคชาวนาจะร่วมมือกับสหประชาชาติตามหลักการของสหประชาชาติ ส่งเสริมสัมพันธไมตรี โดยถือหลักถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แต่คำนึงถึงความเป็นเอกราชโดยสมบูรณ์ของประเทศไทยเป็นหลักสำคัญ
นโยบายด้านการปกครอง พรรคชาวนาจะปรับปรุงการปกครองภายในให้โจรผู้ร้ายบรรเทาเบาบางลงจนราษฎรนอนตาหลับ จะปรับปรุงตำรวจให้มีปริมาณเพียงพอ และมีสมรรถภาพเข้มแข็งและมีความสุภาพอ่อนโยนต่อประชาชน จะปรับปรุงให้ข้าราชการเป็นผู้รับใช้ราษฎรอย่างแท้จริง และส่งเสริมให้ได้รับรายได้เพียงพอแก่อัตภาพในครอบครัว จะให้ประชาชนปกครองกันเองตลอดไปจนถึงท้องถิ่นในส่วนภูมิภาค จะขยายความเจริญไปตามท้องถิ่นให้เท่าเทียมกัน จะบูรณชนบทให้มีความเจริญโดยไม่คำนึงถึงแต่เพียงเมืองหลวงแต่เมืองเดียว จะจัดให้ราษฎรมีที่อยู่อาศัย อยู่ดี กินดี โดยมีบ้านเรือนของตนเองเป็นหลักฐาน จะปรับปรุงกำนันผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล ให้เป็นข้าราชการเพื่อปราบปรามโจรผู้ร้าย
นโยบายด้านการเกษตร พรรคชาวนาถือเป็นอุดมคติอันสูงสุดที่จะพยายามทำทุกวิถีทางในอันที่จะยกฐานะและระดับการครองชีพของชาวนา ให้พ้นจากสภาพแร้นแค้นให้สมกับชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของประเทศชาติ ด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยเฉพาะการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อให้ชาวนาทุกคนได้มีที่ดินของตนเองเป็นกรรมสิทธิ์ จะดำเนินการปรับปรุงที่ดินทั่วไป เพื่อให้มีสภาพเป็นที่ดินอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมในการกสิกรรมด้วยการจัดให้มีชลประทาน การขุดลอกลำห้วย หนอง คลอง บึง เพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดปี จะดำเนินการจัดสรรที่ดิน โดยจัดหาที่ดินรายใหญ่ด้วยการบุกเบิกป่า หรือจัดซื้อแล้วแต่กรณี มาแบ่งสรรให้แก่ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน จะดำเนินการให้ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ได้ใช้พันธุ์ข้าวและพันธุ์พืชที่ดี และให้ทำการเพาะปลูกตามหลักวิชา เพื่อให้ได้ผลผลิตมากที่สุด พรรคชาวนาจะจัดตั้งสหกรณ์รูปต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน หาทุนดำเนินการเพาะปลูก ในการบริโภค และในการผลิตผล เป็นต้น รวมตลอดจนการสร้างสหกรณ์นิคม จะขยายปศุสัตว์เพื่อเป็นสินค้าสำคัญส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ และจะจัดวางมาตรฐานให้ราษฎรได้รับความสะดวกในการดำเนินอาชีพ เช่น ตัดไม้ หาของป่า ทำน้ำมันยาง เผาถ่าน
นโยบายด้านการอุตสาหกรรม พรรคชาวนาจะให้รัฐหรือองค์การสาธารณะเป็นผู้ดำเนินการสาธารณูปโภคทั้งมวล จะส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเลี้ยงตัวเองได้ในทางเศรษฐกิจ จะไม่ยอมให้มีการผูกขาดตัดตอน หรืออภิสิทธิ์ในการประกอบการอุตสาหกรรมเฉพาะอย่าง จะให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการอุตสาหกรรมเฉพาะที่นำรายได้มาสู่รัฐ เช่น สุรา ยาสูบ เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมรายใหญ่ ๆ ประเภทอุตสาหกรรมหนัก รัฐจะต้องดำเนินการเอง หรือโดยร่วมมือกับเอกชน
นโยบายด้านการพาณิชย์ พรรคชาวนาจะส่งเสริมให้คนไทยได้มีความรู้และได้ประกอบการค้าให้มากยิ่งขึ้น จะไม่ยอมให้มีการผูกขาดหรืออภิสิทธิ์ ในการประกอบการค้า ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม การค้าต่างประเทศจะต้องอยู่ในความควบคุมของรัฐ และจะพยายามระวังรักษาดุลยภาพแห่งการค้าให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศ จะควบคุมมาตรฐานของสินค้าส่งออกไปต่างประเทศให้รัดกุม และจะส่งเสริมการค้าวัตถุดิบภายในประเทศให้มีมาตรฐานแน่นอนและกว้างขวางออกไป
นโยบายด้านการคมนาคม พรรคชาวนาจะขยายการสร้างทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงจังหวัด และทางหลวงชนบทให้ทั่วทุกตำบล และหมู่บ้าน ตลอดจนทางรถไฟโดยอาศัยหลักเศรษฐกิจเป็นสำคัญ จะให้รัฐหรือเทศบาลเป็นผู้ดำเนินการขนส่งส่วนสำคัญ จะขยายการสื่อสารให้ประชาชนได้รับความสะดวกเพิ่มขึ้นทั่วถึงทุกหมู่บ้านและตำบล
นโยบายด้านการคลัง พรรคชาวนาจะปรับปรุงให้งบประมาณอยู่ในดุลยภาพโดยถือหลักประหยัดและจัดทำงบประมาณให้เหมาะแก่ฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ และจะจัดระบบการเก็บภาษีให้เป็นธรรมแก่สังคม โดยถือหลัก 4 ประการ คือ ประหยัดในการเก็บ เสมอภาค ความแน่นอน และความยุติธรรม โดยถือหลักความสามารถในการเสียภาษีของราษฎรเป็นหลักสำคัญยิ่ง
นโยบายด้านการศึกษา พรรคชาวนาจะจัดให้ประชาชนได้รับการศึกษาโดยทั่วถึง โดยจัดให้มีโรงเรียนประชาบาล อนุบาลตามท้องถิ่นให้เพียงพอแก่จำนวนเด็ก จะจัดให้มีโรงเรียนอาชีพทุกแขนงให้อย่างพอเพียง จะจัดให้มีการขยายการศึกษาชั้นอุดมศึกษาให้กว้างขวาง จะจัดให้มีมหาวิทยาลัยไปยังส่วนภูมิภาค จะสนับสนุนและส่งเสริมให้มีโรงเรียนของเอกชนให้มีมากยิ่งขึ้น จะจัดให้มีห้องสมุดประชาชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และจะเพิ่มครูให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอแก่การสอน
นโยบายด้านการศาสนาและวัฒนธรรม พรรคชาวนาจะให้ความอุปถัมภ์แก่ศาสนาทุกศาสนา แต่พรรคชาวนาจะยึดถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ จะรักษาและส่งเสริมขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงามของแต่ละท้องถิ่นไว้เป็นสมบัติของชาติ จะสนับสนุนและส่งเสริมวัฒนธรรม โดยมีสภาวัฒนธรรมเป็นผู้ดำเนินการ
นโยบายด้านการยุติธรรม พรรคชาวนาจะให้ผู้พิพากษามีอิสระอย่างแท้จริงในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีในศาล และให้การพิจารณาคดีในศาลเป็นไปโดยรวดเร็วยิ่งขึ้น จะให้มีศาลแขวงประจำทุกอำเภอ จะส่งเสริมฐานะและความมั่นคงของผู้พิพากษา เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาเป็นไปโดยเที่ยงธรรม
นโยบายด้านการทหาร พรรคชาวนาจะปรับปรุงกองทัพให้มีสมรรถภาพเข้มแข็งเพียงพอแก่การป้องกันประเทศ และให้เป็นทหารของชาติอย่างแท้จริง
นโยบายด้านสังคม พรรคชาวนาจะจัดให้มีสถานพยาบาลเพียงพอแก่ความต้องการของประชาชน ตลอดจนคณะสงฆ์ รวมทั้งสนับสนุนสถานพยาบาลของเอกชน จะดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพและอนามัยดีโดยทั่วกัน จะช่วยเหลือผู้ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองให้สามารถครองชีพอยู่ได้โดยดี แม้จะเป็นเพราะชราหรือทุพพลภาพก็ตาม จะดำเนินการสงเคราะห์ในยามว่างงาน เจ็บป่วย ยามชรา ตลอดจนในยามที่จะประสพสาธารณภัย และการฌาปนกิจ จะจัดให้มีบริการมารดาและทารกสงเคราะห์ ให้ทั่วถึงทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จะช่วยเหลือครอบครัวโดยอุปการะครอบครัวที่มีบุตรมาก และหญิงหม้ายเป็นพิเศษ
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 1 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 พรรคชาวนาส่งผู้สมัครของพรรคลงแข่งขันรับเลือกตั้ง แต่ผู้สมัครของพรรคไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว พรรคชาวนา รวมถึงพรรคการเมืองทั้งหมดที่จดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 ต้องยุติบทบาทลงโดยสิ้นเชิง เมื่อเกิดการปฏิวัตินำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501
ที่มา
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 72 ตอนที่ 90 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 หน้า 2801-2809
ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, กำเนิดพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2510
สุจิต บุญบงการ, การพัฒนาการเมืองของไทย: ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหาร สถาบันทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, การสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์หลักสูตรชั้นปริญญาโท ภาค 2 ทางรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519