ชาติเกษตรกรไทย (พ.ศ.2543)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พรรคชาติเกษตรกรไทย

พรรคชาติเกษตรกรไทยก่อตั้งขึ้นโดย นายวลัยพร กุลธำรง ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยพรรคชาติเกษตรกรไทยได้ยื่นจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองไว้ในทะเบียนพรรคการเมือง เลขที่ 22/2543 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2543 โดยมีคณะกรรมการบริหารพรรครวมทั้งสิ้น 19 คน ซึ่งประกอบด้วย

1. นายวลัยพร กุลธำรง หัวหน้าพรรค

2. นายกิตติพร ทองโสภณ รองหัวหน้าพรรค

3. นายประทีป โพธิ์นิ่มแดง รองหัวหน้าพรรค

4. นายณรงค์ เรืองสกุล รองหัวหน้าพรรค

5. นางกมลวรรณ ประกอบศิลป์ เลขาธิการพรรค

6. นายสุชาติ ปลั่งกลาง รองเลขาธิการพรรค

7. นายบรรลือสักร ไชยรัชต์ รองเลขาธิการพรรค

8. นายพีระพล ปริญญาพล รองเลขาธิการพรรค

9. นางสุภาพร สังขวิศิษฎ์ เหรัญญิกพรรค

10. นายนิพนธ์ ค้าเจริญ โฆษกพรรค

11. นางสาวจุไรรัตน์ ศรีสันเทียะ กรรมการบริหารพรรค

12. นางอุไรวรรณ ปลั่งกลาง กรรมการบริหารพรรค

13. นายอรุโณ วะนะเจริญ กรรมการบริหารพรรค

14. นางสาววลัยลักษณ์ กุลธำรง กรรมการบริหารพรรค

15. นางสาวสุกาญจน์ ถึงนอก กรรมการบริหารพรรค

16. นายวิทวัส เหลี่ยมธนวัฒน์ กรรมการบริหารพรรค

17. นางสาวนงเยาว์ ศรีสว่าง กรรมการบริหารพรรค

18. นายธัชนนท์ สิทธาจารุวัฒน์ กรรมการบริหารพรรค

19. นายวิโรจน์ ศฤงคาร กรรมการบริหารพรรค

เมื่อยื่นจดแจ้งพรรคนั้น พรรคชาติเกษตรกรไทยคำขวัญ “เปิดประตูสู่ทางเลือกใหม่เพื่อเกษตรกรไทย” เป็นคำขวัญของพรรคการเมือง โดยมีอุดมการณ์ที่มุ่งจะ “ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พรรคจะยึดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้ในการบริหารประเทศ อันจะก่อให้เกิดการอยู่ดีกินดีของประชากรในระบอบประชาธิปไตยสืบไป” โดยมีแนวนโยบายของพรรคในด้านต่างๆ ดังนี้

นโยบายด้านการเมืองการปกครองของพรรคนั้น มุ่งที่จะธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธี และปฏิรูประบบราชการอย่างจริงจัง

ส่วนนโยบายด้านเศรษฐกิจและการอุตสาหกรรมนั้น พรรคมุ่งที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งในเมืองและชนบท โดยจะส่งเสริมการท่องเที่ยว การธนาคาร การพลังงาน การอุตสาหกรรม และการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนการเพิ่มผลผลิตการเกษตรโดยการปฏิรูปที่ดิน พัฒนาระบบชลประทาน และระบบสหกรณ์เพื่อยกฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกร นอกจากนี้ พรรคจะดำเนินการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด

นโยบายส่วนใหญ่ของพรรคชาติเกษตรกรไทยนั้น มุ่งที่จะพัฒนาชนบท และภาคการเกษตรของประเทศ อันจะเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนระหว่างเมืองและชนบทให้ทัดเทียมกัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเพื่อความก้าวหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับนโยบายด้านการเงินการคลังนั้น พรรคมีเป้าหมายที่จะปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม โดยการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า พัฒนาตลาดการเงินของประเทศให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจโดยการขยายตลาดทุนเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาด้านต่างๆ และสนับสนุนนโยบายการสร้างงานและปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคม

นอกจากนี้ นโยบายด้านอื่นๆของพรรคชาติเกษตรกรไทยยังได้มุ่งที่จะสร้างสวัสดิการแรงงาน พัฒนาอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาสังคมเพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ยกระดับความรู้ การศึกษา และคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และการสาธารณสุข เพื่อยกระดับการดำรงชีวิตของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้ยุบพรรคชาติเกษตรกรไทยด้วยคำวินิจฉัยที่ 22/2544 ในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2544 โดยมีประเด็นจากการที่พรรคชาติเกษตรกรไทยไม่ดำเนินการให้มีสมาชิกตั้งแต่ห้าพันคนขึ้นไป ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมีที่อยู่ในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่นายทะเบียนประกาศกำหนด และมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2544 อันเป็นวันครบกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคชาติเกษต[[รกรไทยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 29 ซึ่งเป็นเหตุให้]]ยุบพรรคการเมืองได้ ตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง (5) นายทะเบียนพรรคการเมืองจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคชาติเกษตรกรไทย ตามมาตรา 65 วรรคสอง

ซึ่งมีประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย คือ การที่นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้มีคำสั่งยุบพรรคชาติเกษตรกรไทย เนื่องจากพรรคชาติเกษตรกรไทยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 29 ซึ่งบัญญัติว่า “ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง พรรคการเมืองต้องดำเนินการให้มีสมาชิกตั้งแต่ห้าพันคนขึ้นไป ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมีที่อยู่ในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่นายทะเบียนประกาศกำหนด และมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา” และโดยที่มาตรา 65 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “พรรคการเมืองย่อมเลิกหรือยุบด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้… (5) ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 29 มาตรา 35 หรือมาตรา 62” และวรรคสอง บัญญัติว่า “เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่า พรรคการเมืองใดมีเหตุตามที่ระบุไว้ใน (1) (2) (3) หรือ (5) ให้นายทะเบียนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองตามคำร้องของนายทะเบียน ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น” โดยภายหลังจากที่นายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้สั่งยุบพรรคชาติเกษตรกรไทยนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้มีผลคำวินิจฉัยว่า “เมื่อพรรคชาติเกษตรกรไทยมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 29 กรณีจึงมีเหตุที่จะสั่งยุบพรรคชาติเกษตรกรไทยได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว มาตรา 65 วรรคหนึ่ง (5) ศาลรัฐธรรมนูญจึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 65 วรรคสอง สั่งให้ยุบพรรคชาติเกษตรกรไทย”

ที่มา

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนพิเศษ 120 ง หน้า 151-232

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 90 ง หน้า 38

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนที่ 32 ก หน้า 36-66