ชาติสามัคคี (2549)
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พรรคชาติสามัคคี (2549)
พรรคชาติสามัคคี เรียกชื่อย่อว่า “ช.ส.ม.” เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “CHART SAMUCCEE PARTY” และเรียกชื่อย่อว่า “C.S.P” ขึ้นทะเบียนเป็นพรรคการเมืองเลขที่ 14/2549 ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 [1]
เครื่องหมายพรรคการเมืองมีลักษณะเป็นวงกลมสองวงซ้อนกัน วงด้านในมีพื้นเป็นสีขาว มีประชาชนเข้าแถวเคารพธงชาติบนทุ่งหญ้าสีเขียว วงกลมด้านนอกมีพื้นเป็นสีน้ำเงิน ด้านบนมีตัวอักษรภาษาไทยว่า “พรรคชาติสามัคคี” ด้านล่างมีตัวอักษรภาษาอังกฤษว่า “CHART SAMUCCEE PARTY” เป็นสีแดง ด้านข้างทั้งสองของวงกลมมีรวงข้าวสีทอง ซึ่งมีความหมายดังนี้ [2] ธงชาติ หมายถึง เอกราชและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ประชาชน หมายถึง ประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกเชื้อชาติ ศาสนา
ทุ่งหญ้า หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ของชาติและการกินดีอยู่ดีของประชาชน
รวงข้าว หมายถึง ชาวไร่ ชาวนา หรือเกษตรกรที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ
สีแดง หมายถึง อุดมการณ์ประชาธิปไตย
สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์
มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคชาติสามัคคี ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 8/169 หมู่ที่ 4 หมู่บ้านศรีสามพราน ถนนเพชรเกษม ตำบลท่าตลาด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 73110 [3]
ปณิธาน [4]
พรรคชาติสามัคคีจัดขึ้นจากสภาวการณ์ในอดีตที่เกิดการช่วงชิงอำนาจรัฐโดยวิธีรุนแรง เช่น รัฐประหาร การปลุกระดมมวลชนขึ้นสู้กับรัฐบาล ถือเป็นวิธีล้าสมัย แต่ปรากฏว่ายังไมมีพรรคที่เป็นของประชาชน (MASS PARTY) ที่แท้จริง ดังนั้นจึงมีปณิธานที่จะสร้างพรรค “ชาติสามัคคี” ให้เป็นพรรคของประชาชน เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายในโลกเสรี
อุดมการณ์ของพรรคชาติสามัคคี [5]
สมาชิกพรรคยึดมั่นและศรัทธาการปกครองระบอบประชาธิปไตยสากลอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของชาติ
นโยบายของพรรคชาติสามัคคี [6]
“พรรคชาติสามัคคี” ยึดแนวทางของสิทธิประชาธิปไตยสากลที่ประกอบด้วย ทฤษฎีรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ต่อการกำหนดนโยบายออกมา 12 ด้าน ดังนี้
1. นโยบายด้านการเมืองการปกครอง จะยึดถือตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้คนไทยมีสิทธิเสรีภาพสมบูรณ์ แก้กฎหมายบางฉบับที่ล้าหลัง ให้ข้าราชการประจำได้มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเหมาะสม กระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น และสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งองค์กรประชาธิปไตย
2. นโยบายด้านเศรษฐกิจ ทบทวนและแก้ไขแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ตรงกับสภาพความจริงและขีดความสามารถของชาติ ป้องกันการผูกขาดวิสาหกิจและพัฒนาระบบการบริหารรัฐวิสาหกิจ สนับสนุนการปฏิรูปที่ดิน เพื่อกระจายความเจริญ เป็นต้น
3. นโยบายด้านสังคม วัฒนธรรม ป้องกันและแก้ไขเหตุแห่งความไม่เป็นธรรมในสังคมทุกระดับ ปลูกจิตสำนึกและอุดมการณ์ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่งเสริมและสนับสนุนวัฒนธรรมอันดีของชาติ
4. นโยบายด้านการต่างประเทศ ดำเนินนโยบายอย่างอิสระให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของชาติ และลักษณะพิเศษของคนไทย และกระชับความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศทั่วโลกทั้งการค้า การช่วยเหลือระหว่างกัน และสนธิสัญญาระหว่างประเทศ
5. นโยบายด้านการป้องกันประเทศ พัฒนาพลังอำนาจของชาติให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพสูงทุกด้าน เพิ่มบทบาทของกองทัพกับการพัฒนา พัฒนาขีดจำกัดของกำลังพล รวมถึงปรับปรุงด้านสวัสดิการแก่ทหารผ่านศึก
6. นโยบายด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมและสนับสนุนให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อประโยชน์สูงสุด
7. นโยบายด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ประกันราคาสินค้าเกษตรอย่างเป็นธรรม ปรับปรุงหนี้สินของเกษตรกร และสนับสนุนการพัฒนาทั้งการเกษตรและอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
8. นโยบายด้านแรงงานและสวัสดิการสังคม ปรับปรุงกฎหมายให้มีความเป็นธรรมแก่แรงงาน รวมถึงเพิ่มหลักประกันแก่ผู้ใช้แรงงานให้มากขึ้น
9. นโยบายด้านการท่องเที่ยวและกีฬา ส่งเสริมการออกกำลังกายและเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาระดับชาติ และส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
10. นโยบายด้านการศึกษา ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคม ขยายการศึกษาภาคบังคับให้มากขึ้น และสนับสนุนให้ผลิตและเพิ่มคุณภาพของบุคลากรทางการศึกษา
11. นโยบายด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการสื่อสาร ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีคุณภาพ
12. นโยบายด้านสตรี เด็ก เยาวชนและผู้ด้อยโอกาส ออกกฎหมายให้หญิงและชายมีความเท่าเทียมกัน ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน และผู้ด้อยโอกาสไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ
พรรคชาติสามัคคีเคยส่งผู้แทนราษฎรลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน จำนวน 1 กลุ่มจังหวัด ซึ่งลงสมัครในกลุ่มจังหวัดที่ 3 ซึ่งประกอบด้วย 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดหนองคาย จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดเลย โดยส่งผู้แทนจำนวน 8 คน [7] เนื่องจากผู้สมัครสองคนมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง จึงถูกตัดสิทธิ์สองคนคือ นายประวิทย์ กิลี และนายจำนง สอนวงษ์ [8] และลงสมัครผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตที่จังหวัดขอนแก่น เขตเลือกตั้งที่ 3 จำนวน 3 คน ได้แก่ ผู้สมัครหมายเลข 4 นายนพดล ไชยฤทธิเดช ผู้สมัครหมายเลข 5 นางเยาวภา บุญฒา และผู้สมัครหมายเลข 6 น.ส.วารุณี เข็มบุญ [9] แต่ไม่มีผู้สมัครรายใดได้ชนะการเลือกตั้ง และได้คะแนนเสียงไม่ถึง 0.5 ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง พรรคละไม่เกิน 250,000 บาท
มีรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคชาติสามัคคีเมื่อตั้งพรรคทั้งสิ้น 9 คน โดยมีรายชื่อในตำแหน่งสำคัญ ดังนี้ [10]
1. นายนพดล ไชยฤทธิเดช หัวหน้าพรรค
2. นางอินทิรา เสมเพียง รองหัวหน้าพรรค
3. นายคำสี แก้วธานี รองหัวหน้าพรรค
4. นางยงยุทธ อุตทาพงษ์ เลขาธิการพรรค
แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2549 นายยงยุทธ อุตทาพงษ์ ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคและตำแหน่งเลขาธิการพรรค พรรคชาติสามัคคีได้แต่งตั้งให้นางอินทิรา เสมเพียร รองหัวหน้าพรรคทำหน้าที่แทนเลขาธิการพรรค [11]
ทางไอทีวีเคยเชิญนายนภดล ไชยฤทธิเดชร่วมนั่งสนทนาเกี่ยวกับนโยบายพรรค [12]รวมถึงเคยเสนอยื่นให้แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ร่วมกับพรรคการเมืองที่ไม่มีส.ส.อีก 14 พรรคการเมือง [13]
อ้างอิง
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 87 ง, วันที่ 31 สิงหาคม 2549, หน้า 79,89.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 87 ง, วันที่ 31 สิงหาคม 2549, หน้า 89-91.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 87 ง, วันที่ 31 สิงหาคม 2549, หน้า 91.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 87 ง, วันที่ 31 สิงหาคม 2549, หน้า 79-80.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 87 ง, วันที่ 31 สิงหาคม 2549, หน้า 91.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 87 ง, วันที่ 31 สิงหาคม 2549, หน้า 80-89.
- ↑ สามารถดูรายชื่อผู้สมัครเพิ่มเติมได้ที่ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 93ก, 18 ธันวาคม 2550, หน้า 100.
- ↑ ไทยโพสต์, 22 พฤศจิกายน 2549.
- ↑ เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ 13 พฤศจิกายน 2549.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 87ง, วันที่ 31 สิงหาคม 2549, หน้า 114.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 127 ง, 7 ธันวาคม 2549, หน้า 143.
- ↑ บ้านเมือง, 1 ธันวาคม 2549.
- ↑ เดลินิวส์, 4 เมษายน 2550.