ชาติชาย ชุณหะวัณ : ทายาทราชครู

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

 

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ชาติชาย ชุณหะวัณ : ทายาทราชครู


        ในบรรดาทายาทของกลุ่ม “ราชครู” ซึ่งมีจอมพล ผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้ากลุ่ม ชาติชาย เป็นบุตรชายคนเล็กของจอมพล ผิน กับคุณหญิงวิบุลลักษ์ ชุณหะวัณ จอมพล ผิน ยังมีบุตรชายอีกท่านหนึ่งกับภรรยาคนหลัง ชาติชาย ชุณหะวัณนับเป็นนายทหารที่มีบทบาททางการเมืองมากในสังคมไทย เคยได้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ การเป็นทายาทราชครูนั้นทำให้ชีวิตของนายทหารชื่อชาติชาย ชุณหะวัณ มีทั้งอำนาจ วาสนา และชะตากรรมที่ตกต่ำอยู่ด้วยอย่างมากในชีวิต

        ก่อนอื่น มารู้จักเรื่องราวของกลุ่มราชครูซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่เกาะกลุ่มกันอยู่ในวงศาคณาญาติเป็นขั้นแรกของครอบครัวจอมพล ผิน ชุณหะวัณ และบุตรเขยที่ได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 8_พฤศจิกายน_พ.ศ._2490 ยึดอำนาจรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ โดยมีพลโท ผิน เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ที่มีบุตรเขยสองคน คือ พ.อ. เผ่า ศรียานนท์ และ พ.ต.ประมาณ อดิเรกสาร ร่วมในคณะรัฐประหารด้วย ส่วนที่เรียกขานว่าเป็นกลุ่มราชครูนั้น ก็มิได้เกี่ยวข้องกับตำแหน่งราชครูแต่อย่างใด หากแต่เรียกตามชื่อซอยอันเป็นที่ตั้งนิวาสสถานของท่านจอมพล ผิน และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ผู้เป็นบุตรเขย และญาติใกล้ชิดอีกหลายครอบครัว หลังเดือนพฤศจิกายน ปี 2490 อำนาจในการดูแลการปกครองบ้านเมืองเริ่มมาอยู่ที่กลุ่มนี้ และยิ่งแข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ เมื่อ พล.ต.อ.เผ่า เป็นอธิบดีกรมตำรวจด้วยนอกเหนือจากตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล จนถึงปี 2498 กลุ่มที่อิงกองทัพเป็นฐานอำนาจก็ได้หันไปดำเนินการตั้งพรรคการเมืองคือพรรคเสรีมนังคศิลา มุ่งหมายที่จะดำเนินการทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งโดยที่คนสำคัญของกลุ่มได้แก่ พล.ต.อ. เผ่า ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ที่มีอำนาจคุมพรรคได้จริงแม้จะยังไม่ลงเลือกตั้ง ระยะเวลาประมาณสิบปีที่กลุ่มมีอำนาจบทบาททางการเมืองอย่างไม่เป็นทางการอยู่นี้ ยังไม่มีข่าวการมีบทบาททางการเมืองอะไรของชาติชายมากนัก เพียงแต่ว่าหลังการรัฐประหารปี 2490 ได้ไม่ถึง 2 ปีดี ท่านก็ได้รับแต่งตั้งไปเป็นรองผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอยู่ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา และก่อนการยึดอำนาจล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีผลล้มอำนาจของกลุ่มราชครูด้วยนั้น ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายพลจัตวา อายุเพียง 37 ปี คุมทหารม้ายานเกราะอยู่เท่านั้นเอง ชีวิตของนายพล ชาติชายเปลี่ยนแปลงไปหลังการยึดอำนาจครั้งนั้นมาก ดังที่จะได้ทราบกันต่อไป

        หันมาดูชีวิตเบื้องต้นของท่านดูบ้าง ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นคนเกิดที่พระนครนี่เอง แม้บิดาจะเป็นคนบางนกแขวก จังหวัดสมุทรสงครามก็ตาม ท่านเกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2463 ตอนแรกนั้นมีชื่อว่า “สมบุญ” มาเปลี่ยนชื่อให้สมกับอาชีพทหารในภายหลัง ตอนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 ท่านอายุได้ 12 ปี ตอนนั้นบิดายังเป็นนายทหารอยู่หัวเมืองที่จังหวัดปราจีนบุรี การที่มีบิดาเป็นนายทหารย้ายไปรับหน้าที่ตามหัวเมือง ท่านจึงเคยศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ที่จังหวัดราชบุรี ก่อนที่จะย้ายเข้ามาเรียนในพระนครที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทราวาส และโรงเรียนอำนวยศิลป์ จากนั้นได้เข้าเรียนทหารที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จบมาเป็นนายทหาร ได้เข้ารับราชการเป็นนายร้อยตรี เมื่อปี 2483 ได้เป็นผู้บังคับหมวด กองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ดังนั้นจึงเป็นทหารม้ามาตั้งแต่ต้น จนถึงวันที่ต้องออกจากกองทัพเพราะจอมพล สฤษดิ์ ยึดอำนาจ

          ในวันที่บิดาคือจอมพล ผิน กับพี่เขยสองคน ได้แก่ พ.อ.เผ่า ศรียานนท์  และ พ.ต.ประมาณ อดิเรกสาร ได้ร่วมกันทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 ล้มรัฐบาลหลวงธำรงฯนั้น ชาติชายอายุ เพียง 27 ปี มียศเป็นร้อยเอก และเป็นนายทหารคนหนึ่งที่นำกำลังไปที่บ้านพักนายปรีดี พนมยงค์ เพื่อจับกุมตัวอดีตนายกรัฐมนตรี ปรีดี พนมยงค์ ในวันนั้น

        หลังบิดาถูกยึดอำนาจ ชีวิตท่านเปลี่ยนไป ท่านต้องจากกองทัพ ทางรัฐบาลใหม่ส่งท่านไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยที่ประเทศอาร์เยนตินา ที่ดินแดนไกลโพ้นในลาตินอเมริกา จนการเมืองคลี่คลายไปมากท่านก็ถูกย้ายมาเป็นทูตใกล้บ้านขึ้นที่ยุโรป คือเป็นทูตที่ประเทศออสเตรีย และต่อมาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กระทั่งได้กลับมาเมืองไทยมาเป็นอธิบดีกรมการเมืองของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งสมัยนั้นกรมนี้ถือว่าเป็นกรมที่สำคัญมากของกระทรวง นี่ก็น่าจะแสดงว่าการถูกย้ายมาทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศของท่านนั้นไม่ได้เสียเปล่า ท่านได้ทำงานเป็นนักการทูตประสบความสำเร็จพอควรทีเดียว และเมื่อผู้มีอำนาจในตอนนั้นวางใจท่านก็ได้ตำแหน่งทางการเมืองในสมัยที่นายกรัฐมนตรี จอมพลถนอม กิตติขจร ตั้งรัฐบาลตอนปลายปี 2515 พลจัตวา ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อยู่จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 จอมพลถนอม ต้องลาออกจากนายกฯ และมีรัฐบาลใหม่ที่มีศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนี้ พลจัตวา ชาติชาย ยังได้เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีในตำแหน่งเดิม

        การเมืองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 นั้นเป็นการเมืองที่เปิดมาก นักการเมืองทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่เตรียมตัวจะเล่นการเมืองที่การเลือกตั้งมีความสำคัญมากในการตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งพรรคการเมืองเพื่อรวมคนที่คิดคล้ายๆกันเข้ามาช่วยในการเลือกตั้ง ส่งคนลงแข่งขันในการเลือกตั้ง และที่น่าจะเกินความคาดหมายของคนทั่วไปในวันนั้นก็คือทายาทของกลุ่มราชครูที่ลดบทบาททางการเมืองไปเป็นเวลาเกือบ 17 ปี คิดกลับมาเล่นการเมืองโดยลงเลือกตั้งกับเขาด้วย และไม่ได้แค่จะลงเลือกตั้งเท่านั้นแต่จะตั้งพรรคการเมืองจริงจังหวังเป็นรัฐบาลเลยทีเดียว 

        หลังการมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 และเตรียมการที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปนั้น ทายาทของกลุ่มราชครูก็ได้ร่วมกับญาติและมิตรตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรคชาติไทย จดทะเบียนเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2517 โดย พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร เป็นหัวหน้าพรรค และพลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นเลขาธิการ จึงมีคนล้อว่าเป็นพรรคญาติของกลุ่มราชครู ซึ่ง ปองพล อดิเรกสาร บุตรชายของพลตรี ประมาณ ได้เคยแสดงความเห็นเอาไว้ว่า

        “อันนี้ต้องยอมรับครับ การมารวมกันจัดตั้งเป็นพรรคชาติไทย เราอยู่ซอยราชครู เช่นคุณพ่อ พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ พล.ต.ศิริ สิริโยธิน ช่วงนั้นคนไม่ค่อยอยากมายุ่ง เราก็รวมตัวกันระหว่างญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงที่รักกันจริง อันนี้เป็นจุดที่แข็งของพรรค เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงพูดกันง่าย”

        นับว่าเป็นการกลับมาเล่นการเมืองของกลุ่มราชครูที่มีองค์กรการเมืองของตนอย่างพรรคชาติไทยเป็นกลไกสำคัญ และพรรคชาติไทยที่เพิ่งเริ่มเปิดตัวลงเลือกตั้งครั้งแรกก็แสดงความสามารถได้ดี ชนะเลือกตั้งได้ที่นั่งในสภาถึง 28 ที่นั่ง นับเป็นพรรคลำดับที่ 3 แต่ที่สำคัญพลตรี ชาติชาย ซึ่งเป็นคนหน้าใหม่ทางการเมืองและการเลือกตั้ง ชนะเลือกตั้งครั้งแรกที่จังหวัดนครราชสีมา และในรัฐบาลชุดที่ 2 ที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคก็ได้ร่วมรัฐบาล พลตรี ชาติชาย ได้ตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

        แต่อายุรัฐบาลก็สั้น เพราะนายกรัฐมนตรีได้ยุบสภาในต้นปีถัดนั้นเอง หลังการเลือกตั้งในเดือนเมษายน ปี 2519 พรรคชนะได้เสียงมากขึ้นจึงได้ร่วมรัฐบาลที่มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกฯ คราวนี้พลตรี ชาติชายได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม ปี 2519 เกิดการปราบปรามการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในตอนเช้ามืดและการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองฯในตอนเย็นวันเดียวกันนั่นเอง ทำให้พรรคชาติไทยถูกยกเลิกไปด้วย จนกระทั่งมีการเลือกตั้งกันใหม่ในปี 2522 พรรคชาติไทยจึงลงเลือกตั้งในนาม “กลุ่มชาติไทย” เพราะยังตั้งพรรคการเมืองกันไม่ได้ แต่ครั้งนี้พลตรี ชาติชาย ไม่ได้ลงแข่งขันในการเลือกตั้งด้วย อย่างไรก็ตามต่อมาเมื่อพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีถูกแรงบีบคั้นทางการเมือง ถึงขั้นประกาศลาออกกลางสภาและมีรัฐบาลใหม่ที่มีพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ พรรคชาติไทยได้รับเชิญเข้าร่วมรัฐบาล พลตรี ชาติชาย ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และได้อยู่ร่วมรัฐบาลจนกระทั่งนายกฯได้ยุบสภาในปี 2526 และจัดการเลือกตั้งใหม่ พลตรี ชาติชาย จึงกลับไปลงเลือกตั้งใหม่ที่นครราชสีมา และชนะเข้าสภาอีกครั้ง

        ในการเลือกตั้งปี 2526 นั้นพรรคชาติไทยชนะเลือกตั้ง ได้ที่นั่งมากเป็นอันดับหนึ่ง ทำให้พลตรี ประมาณ หัวหน้าพรรคคิดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคชาติไทยเป็นแกนนำ แต่ทำการไม่สำเร็จ พรรคอื่นๆหันไปสนับสนุน พลเอกเปรม เป็นนายกฯ และพรรคชาติไทยถูกกันออกจากการร่วมรัฐบาล จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในพรรคชาติไทยที่ทำให้พลตรี ชาติชาย ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทนพลตรีประมาณ ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2529 พรรคชาติไทยที่นำโดยพลตรี ชาติชายจึงได้เข้าร่วมรัฐบาลของนายกฯพลเอกเปรม อีกครั้ง แต่ก็อยู่ได้เพียงวันที่ 29 เมษายน ปี 2531 เพราะมีการยุบสภา

        การเลือกตั้งที่ตามมาในปี 2531 กลายเป็นการเลือกตั้งที่สำคัญมากทั้งของกลุ่มราชครูและพรรคชาติไทย เพราะพรรคชาติไทยที่มีพลตรี ชาติชายเป็นหัวหน้าพรรค ชนะการเลือกตั้งได้ที่นั่งในสภาฯ เป็นอันดับหนึ่ง ได้ที่นั่งในสภาฯ 87 ที่นั่ง และประกอบกับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ วางมือทางการเมือง ให้นักการเมืองพิจารณากันเองที่จะให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นพรรคชาติไทยจึงได้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล มีพรรคการเมืองถึง 6 พรรคคือพรรคชาติไทยเอง พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคราษฎร พรรคปวงชนชาวไทย และพรรคมวลชน จึงมีผลให้ทายาทราชครู คือพลตรี ชาติชาย ได้เป็นนายกรัฐมนตรี. และได้เลื่อนยศเป็นพลเอกในเวลาต่อมา

        พลเอก ชาติชายเป็นนายกฯโดยมีฐานการเมืองอยู่ที่พรรคการเมืองและสภาฯ ประคองตัวและรัฐบาลมาได้ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 ก็ถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาตินำกำลังเข้ายึดอำนาจ โดยเข้าจับตัวนายกฯพลเอก ชาติชายบนเครื่องบินซี 130 ขณะที่เครื่องบินกำลังจะบินขึ้น เพื่อนำพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งเพิ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปริญาณตนที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ที่มากกว่าการถูกยึดอำนาจก็คือหลังการยึดอำนาจไม่ถึง 7 วัน อดีตนายกรัฐมนตรี พลเอก ชาติชายก็ถูกอายัดทรัพย์ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติและยึดทรัพย์ในเวลาต่อมา เส้นทางการเมืองของท่านจึงตกอยู่ในภาวะที่ลำบากยิ่ง ท่านมาหลุดจากเรื่องนี้ได้ก็เมื่อศาลฎีกาได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2536 เพิกถอนคำวินิจฉัยการตรวจสอบทรัพย์สินของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยฯตั้งขึ้น และระหว่างที่โดนเรื่องยึดทรัพย์นั้นเมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยฯ ได้ถอยออกไป หลังเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" และจะมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกันยายน ปี 2535 พลเอก ชาติชายยังได้ตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาชื่อพรรคชาติพัฒนา และท่านเองก็กลับไปลงเลือกตั้งที่นครราชสีมา และยังชนะเลือกตั้งด้วย แต่บทบาททางการเมืองของท่านก็ลดลง

        พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายทหารที่เริ่มเข้าสู่การเมืองมายาวนาน มีบทบาททางการเมืองมากบ้างน้อยบ้าง จนถึงแก่อสัญกรรมจากภรรยา คือ ท่านผู้หญิง บุญเรือน และครอบครัวไปในวันที่ 5 เมษายน ปี 2541