ชาติชาย ชุณหะวัณ (พลเอก)
ผู้เรียบเรียง ขัตติยา ทองทา
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
ผู้นำพรรคการเมือง ผู้มีเอกลักษณ์ “ซิการ์” มวนโตเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว มีบุคลิกที่ถูกกล่าวถึงในวงสังคมว่าเป็นบุรุษ “เพลย์บอย” มักใส่เสื้อสีสดใส มีลวดลาย ขี่ช็อปเปอร์คาบซิการ์ จนได้รับฉายาว่า “น้าชาติมาดนักซิ่ง” มีคำพูดที่ติดปากในการจัดการปัญหาต่างๆ ว่า “โน พร็อบเบล็ม หรือ ไม่มีปัญหา” มีวิสัยทัศน์ แปรสนามรบเป็นตลาดการค้า จนถูกยกย่องว่าเป็น “มิสเตอร์อินโดจีน” สร้างยุคทองทางเศรษฐกิจ จนถูกขนานนามว่า “ราชาฟองสบู่” เป็นรัฐบาลที่ได้รับฉายาว่า “บุฟเฟ่ต์คาบิเนต” สร้างตำนาน “เสียบเพื่อชาติ” มีฉายาทางการเมืองว่า “ปลาไหลใส่สเก็ต” รวมทั้ง “ช.สามช่า” “น้าชาติไลอ้อนฮาร์ต หรือ น้าชาติหัวใจสิงห์” “น้าชาติเนเวอร์ดายส์” เหล่านี้ล้วนเป็นสมญานามที่เรียกขานในวงการเมืองและสื่อมวลชนของเอกบุรุษชาติอาชาไนย นามว่า “พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ”
ประวัติพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ
พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เดิมชื่อ สมบุญ เป็นบุตรของจอมพล ผินและคุณหญิงวิบุลลักสม์ ชุณหะวัณ เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2465 ที่ตำบลพลับพลาไชย จังหวัดพระนคร คุณตาชื่อ ลิ้มเจียง เป็นชาวจีนมาจากซัวเถา แล้วมารับราชการเป็นนายอากร อำเภอสัมพันธวงศ์ คุณยายชื่อ เนย คุณปู่ชื่อ ไข่ และคุณย่าชื่อ พลับ มีพี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกัน 5 คน คือ
1. คุณหญิงอุดมลักษณ์ ศรียานนท์ สมรสกับ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์
2. ท่านผู้หญิงเจริญ อดิเรกสาร สมรสกับ พลตำรวจเอก ประมาณ อดิเรกสาร
3. คุณพร้อม ทัพพะรังสี สมรสกับ คุณอรุณ ทัพพะรังสี
4. พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ สมรสกับ ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ (สกุลเดิม โสพจน์) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2487[1]
5. คุณพรสม เชี่ยวสกุล สมรสกับ คุณเฉลิม เชี่ยวสกุล
และยังมีพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันอีก 1 คน คือ คุณปรากรมศักดิ์ ชุณหะวัณ สมรสกับ คุณณัฏฐินี ชุณหะวัณ (สกุลเดิม สาลีรัฐวิภาค)
มีบุตรธิดา 2 คน คือ
1. คุณวาณี ชุณหะวัณ เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2488 สมรสกับ ร.ท. ระวี หงสประภาส
2. คุณไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เกิดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2490 สมรสกับ คุณอโณทัย ชุณหะวัณ (สกุลเดิม จิตราวัฒน์)
การศึกษา เริ่มเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ วัดสัตตนารถ จังหวัดราชบุรี ต่อมาบิดาย้ายครอบครัวเข้ากรุงเทพฯ จึงเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่โรงเรียนหงส์สุรนันท์ เมื่อบิดาย้ายไปอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนเสนาบำรุง พออายุ 8 ขวบ มารดาได้ส่งไปอยู่โรงเรียนประจำที่สุรวงศ์ จนอายุ 14 ปี จึงได้มาอยู่กับจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ จึงสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า สำเร็จการศึกษาในปี 2483[2] โรงเรียนนายทหารม้า สำเร็จการศึกษาปี 2489 และโรงเรียนยานเกราะกองทัพบก (อาร์เมอร์สกูล) มลรัฐเคนตั๊กกี้ สหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาปี 2491[3]
การรับราชการทหาร รับราชการครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2483 เป็นว่าที่ร้อยตรี ผู้บังคับหมวดกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ราชการสนามในสงครามอินโดจีนฝรั่งเศส ปี 2484 เป็นร้อยโท ราชการสนามในสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 2486 เป็นร้อยเอก ปี 2489 ผู้บังคับกองร้อย กองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ปี 2490 เป็นพันตรี ปี 2491 ประจำกรมเสนาธิการทหารบก เจรจาขออาวุธจากสหรัฐอเมริกา ปี 2492 ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ปี 2493 ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 1 กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ปี 2494 เป็นพันโท ปี 2495 ร่วมเจรจากับสหรัฐอเมริกา ขอรับความช่วยเหลืออาวุธ ตั้งโรงเรียนยานเกราะ เป็นผู้จัดเหล่าทัพทหารม้ายานเกราะให้ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น ปี 2496 หัวหน้าคณะกรรมการผสมฝ่ายไทยในการอพยพทหารจีนออกจากประเทศเมียนม่าร์ ปี 2497 เป็นพันเอก รองผู้บังคับการโรงเรียนยานเกราะ กองพลน้อยทหารม้า และผู้บังคับกรมทหารม้าที่ 2 ปี 2498 ผู้บังคับการโรงเรียนยานเกราะ ปี 2499 เป็นพลจัตวา ปี 2516 เป็นพลตรี ปี 2531 เป็นพลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก
การรับราชการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2501 บรรจุเป็นข้าราชการประจำต่างประเทศพิเศษ เป็นที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูเอโนสไอเรส อุปทูตฯ สถานอัครราชทูต ประจำประเทศอาร์เจนตินา ปี 2503 อัครราชทูต ประจำสาธารณรัฐอาร์เจนตินา เอกอัครราชทูตวิสามัญ ประจำสาธารณรัฐอาร์เจนตินา ปี 2506 เอกอัครราชทูต ประจำสาธารณรัฐออสเตรีย เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ประจำสาธารณรัฐออสเตรีย ปี 2508 เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ประจำสาธารณรัฐตุรกี ปี 2510 เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ประจำสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย ปี 2513 เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ประจำรัฐวาติกัน ปี 2514 บรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นพิเศษ อธิบดีกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ ปี 2515 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปี 2516 เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปี 2517 ลาออกจากราชการ
การรับราชการการเมือง 20 มกราคม 2518 ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 17 มีนาคม 2518 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 21 เมษายน 2519 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 6 ตุลาคม 2519 พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้เข้ายึดอำนาจการปกครอง 12 มีนาคม 2523 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 18 เมษายน 2526 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา 27 กรกฎาคม 2529 เป็นหัวหน้าพรรคชาติไทย 11 สิงหาคม 2529 เป็นรองนายกรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา 4 สิงหาคม 2531 เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 17 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา 29 มีนาคม 2533 ลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 21 มิถุนายน 2533 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 7 ธันวาคม 2533 ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 9 ธันวาคม 2533 เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 23 กุมภาพันธ์ 2534 พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีการปฏิวัติ 12 กรกฎาคม 2535 เป็นหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา 13 กันยายน 2535 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา 2 กรกฎาคม 2538 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา 17 พฤศจิกายน 2539 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา 4 ธันวาคม 2539 เป็นประธานที่ปรึกษาพิเศษของนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย และเกียรติยศที่ได้รับ ปี 2516 เหรียญกล้าหาญ ปี 2517 มหาวชิรมงกุฎ ปี 2518 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก และเหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้น 1 ปี 2533 ปฐมจุลจอมเกล้า ปี 2534 เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเกียรติยศที่ได้รับจากต่างประเทศ ปี 2500 ยุนฮุยชั้นที่ 4 ของสาธารณรัฐจีนคณะชาติ ปี 2501 มหาสารสินธุ ของประเทศพม่า ปี 1995 เหรียญปฏิบัติงานสหประชาชาติ ปี 1998 ซุยโอชั้นที่ 3 ของจักรพรรดิญี่ปุ่น
ราชการพิเศษ ปี 2484 ราชการสงครามกรณีพิพาทอินโดจีน ปี 2485-2489 ราชการสงครามมหาเอเชียบูรพา ปี 2493-2494 ราชการสงครามเกาหลี ผลัดที่ 1
ชีวิตและบทบาททางการเมืองของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ สิ้นสุดลงด้วยปัญหาสุขภาพต้องเดินทางไปประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2541 เพื่อเข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกที่ลำไส้ใหญ่และลุกลามไปที่ตับ หลังเข้ารับการรักษาตัวนานร่วม 1 เดือน ก็ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2541 ณ โรงพยาบาลครอมเวลล์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เวลา 09.59 น.[4] หรือเวลา 15.59 น. ของประเทศไทย รวมอายุได้ 78 ปี[5]
การก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้คลุกคลีและเรียนรู้การเมืองมาตั้งแต่เด็ก เมื่ออายุได้ราว 14 ปี บิดาได้ส่งให้เข้าไปพำนักกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อนร่วมรุ่นของบิดาที่กรุงเทพฯ เพื่อมาเรียนหนังสือ ทำให้ได้รับรู้เหตุการณ์ และมีโอกาสรู้จักรัฐมนตรีทุกคนทุกชุดในรัฐบาลจอมพล ป. และเป็นบุคคลเดียวที่ จอมพล ป. อนุญาตให้เป็นผู้เสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มโต๊ะประชุมคณะรัฐมนตรีในยามที่มีเหตุการณ์และเรื่องสำคัญต้องตัดสิน[6]
เหตุการณ์ทางการเมืองผันแปรชีวิตจากวงการทหารไปสู่วงการทูต เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปฏิวัติจนพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ผู้เป็นบิดา และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ผู้เป็นพี่เขยของพลจัตวา ชาติชาย ชุณหะวัณ ต้องหมดอำนาจทางการเมืองและการทหารลง ส่วนพลจัตวา ชาติชาย ชุณหะวัณ ในทางส่วนตัวจะสนิทกับจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่เนื่องจากเป็นผู้คุมกองกำลังยานเกราะ และอยู่สายราชครูเช่นเดียวกับกลุ่มของพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ จึงต้องพ้นจากกองทัพบก ในปี 2501 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ส่งพลจัตวา ชาติชาย ชุณหะวัณ ไปเป็นทูตอยู่ต่างประเทศ เพื่อให้หลีกพ้นและเกี่ยวข้องทางการเมือง รวมเวลานานถึง 15 ปี[7]
จุดเริ่มต้นของการเป็นนักการเมือง พลจัตวา ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เดินทางกลับจากการเป็นทูตที่ต่างประเทศเพื่อมารับตำแหน่งทางการเมืองเป็นครั้งแรกในรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร โดยแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในปี 2515 และดำรงตำแหน่งเดียวกันนี้ เมื่อเข้าร่วมรัฐบาลของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ในปี 2516[8] และได้รับพระราชทานเลื่อนยศจากพลจัตวา เป็น พลตรี ในปี 2516 เช่นกัน ต่อมาได้ลาออกจากราชการในปี 2517
ตั้งพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2517 พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ร่วมกับ “พี่เขย” พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร และ “เพื่อนของพี่เขย” พลตรี ศิริ สิริโยธิน ก่อตั้งพรรคชาติไทยขึ้น โดยพลตรี ประมาณ อดิเรกสาร เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก พลตรี ศิริ สิริโยธิน เป็นรองหัวหน้าพรรค และพลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นเลขาธิการพรรค และนำพรรคชาติไทยลงเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2518 ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศทั้งสิ้น 28 คน พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เข้าร่วมรัฐบาลของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในปี 2518 และเข้าร่วมรัฐบาลของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในปี 2519 และดำรงตำแหน่งเดียวกันนี้ในรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2523 จากนั้น ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทย ในปี 2529 และได้กลับเข้าร่วมรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2531 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และมีการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 15 ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531[9] พรรคชาติไทยนำโดยพลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรค ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด 87 คน พลตรี ชาติชาย ได้รวมเสียงพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่พลเอกเปรม ได้แจ้งต่อพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลว่า จะวางมือทางการเมือง จะไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก และบอกว่า “ผมพอแล้ว” จากคำพูดนี้ ทำให้ พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา หัวหน้าพรรคชาติไทย ได้รับการสนับสนุนให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2531 และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย[10] จากนั้น ได้รับพระราชทานยศให้เป็นพลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2531[11]
การบริหารประเทศของรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ สิ้นสุดลง เนื่องจากการเข้ายึดและควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยการนำของพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ด้วยเหตุผลสำคัญ ได้แก่ พฤติการณ์การฉ้อราษฎร์บังหลวงของนักการเมือง ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำ รัฐบาลเป็นเผด็จการรัฐสภา มีการพยายามทำลายสถาบันทหาร และการบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์[12]
ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ สมัยแรก คณะรัฐมนตรี ชุดที่ 45 ระหว่างวันที่ 4 สิงหาคม 2531 – วันที่ 9 ธันวาคม 2533 สมัยที่ 2 คณะรัฐมนตรี ชุดที่ 46 ระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2533 – วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 รวมเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัย เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน 19 วัน[13]
ผลงานรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ
ผลงานที่สำคัญของรัฐบาลในช่วงที่พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เข้าบริหารประเทศ ได้แก่
• การดำเนินนโยบายต่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอินโดจีน ด้วยวิธีการ “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า” ซึ่งเป็นนโยบายที่มีการปฏิบัติสืบมา[14] และนำไปสู่การสร้างตลาดใหม่ของสินค้าไทย สร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล
• เปลี่ยนนโยบายการเผชิญหน้าไปสู่นโยบายเศรษฐกิจนำความมั่นคง โดยดำเนินการประสานงานให้มีการเจรจาร่วมระหว่างเขมร 4 ฝ่าย เพื่อยุติการสู้รบ และจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของเจ้านโรดมสีหนุขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นในการนำสันติภาพที่ถาวรมาสู่กัมพูชา
• ดำเนินการเจรจากับรัฐบาลออสเตรเลีย ในการสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว หรือ สะพานจิงโจ้ จากท่านาแล้ง จังหวัดหนองคาย เชื่อมกับ ท่าเดื่อ นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียให้การสนับสนุนในรูปของการช่วยเหลือแบบให้เปล่า จำนวน 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
• พัฒนาด้านการคมนาคมขนส่ง จัดทำโครงการสร้างและขยายถนนทั่วประเทศ โครงการรถไฟฟ้ามวลชน หรือ โครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน ปัจจุบันเป็น องค์การรถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.)โครงการสนามบินนานาชาติ
• พัฒนาด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร จัดทำโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย โครงการสัมปทานดาวเทียมเพื่อการสื่อสาร
• พัฒนาด้านอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้มีนิคมอุตสาหกรรมในส่วนภูมิภาค โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก และโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้
• พัฒนาด้านการเกษตร จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร[15]
• พัฒนาด้านเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงสุดถึง 12.4 เปอร์เซ็นต์ มีการส่งออกสูงที่สุดจากเดิม 3 แสนล้านบาท เป็นประมาณ 8 แสนล้านบาท ราคาที่ดินสูงขึ้น มีโครงการก่อสร้างเกิดขึ้นมากมาย เป็นยุคทองทางเศรษฐกิจ แต่มีนักวิชาการคัดค้านว่าเป็นช่วง “เศรษฐกิจฟองสบู่” พร้อมที่จะแตกได้ทุกเวลา
• ยกเลิก ปร.42 ซึ่งเป็นคำสั่งของคณะปฏิวัติในการควบคุมสื่อสารมวลชน[16]
เหตุการณ์สำคัญในชีวิตของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ
“ชีวิตผมโดนมาเยอะ ที่ผ่านมาผมโดนจี้ 3 ครั้ง นี่ก็ยังรออยู่ว่าครั้งที่ 4 ใครจะมาจี้” คำให้สัมภาษณ์ของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ[17]
• ครั้งแรก หลัง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สำเร็จ พลจัตวา ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ถูกส่งไปเป็นทูตประจำอยู่ต่างประเทศ นานถึง 15 ปี เพื่อให้หลีกพ้นและเกี่ยวข้องทางการเมือง[18]
• ครั้งที่ 2 ในเดือน กันยายน 2515 ได้เกิดเหตุการณ์ “กันยายนทมิฬ” โดยกองโจรอาหรับได้บุกเข้ายึดสถานทูตอิสราเอลในไทย จับกุมนักการทูตอิสราเอลเป็นตัวประกัน 6 คน พลจัตวาชาติชาย ชุณหะวัณ ได้อาสาเสี่ยงตายเข้าไปเจรจากับกองโจรอาหรับในสถานทูตอิสราเอลด้วยตนเอง แล้วกองโจรอาหรับก็จี้เอาตัวไปพร้อมเครื่องบิน ด้วยความกล้าหาญและวาทศิลป์อัน เป็นเลิศ ทำให้สามารถช่วยเหลือตัวประกันทั้ง 6 คน ได้อย่างปลอดภัย เป็นที่ชื่นชมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว[19]
• ครั้งที่ 3 ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ภายใต้การนำของพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ได้ก่อการรัฐประหาร เมื่อเวลา 11.30 น. พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ถูกจี้ตัวบนเครื่องบินซี 130 ระหว่างเดินทางไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ เพื่อนำพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ไปถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และถูกควบคุมตัวอยู่ 15 วัน จึงได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้วเดินทางไปพำนักอยู่ที่ประเทศอังกฤษระยะหนึ่ง[20]
ช่วงชีวิตอันยาวนานจวบจนวัย 78 ปี ของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผันผวนทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากนักการทหารไปเป็นนักการทูตและเข้าสู่เส้นทางนักการเมือง มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป แต่ยังคงตั้งมั่นอยู่บนปณิธานเดียวกัน คือ การรับใช้ประเทศชาติและประชาชน บนพื้นฐานแห่งความอดทนและความซื่อสัตย์ ซึ่งถูกอบรมโดยตรงและทางอ้อมอยู่เสมอ จากจอมพล ผิน ชุณหะวัณ ผู้เป็นบิดา และความสำเร็จของชีวิตในแต่ละตำแหน่งได้แสดงบทบาทและเรื่องราวไว้เป็นประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป
อ้างอิง
- ↑ ธนากิต, ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย (กรุงเทพฯ : ปิรามิด, 2545), หน้า 331.
- ↑ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ (ม.ป.ท. : ม.ป.พ., 2541), หน้า 349-350.
- ↑ ธนากิต, หน้า 332.
- ↑ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ, หน้า 352-354, 394-395.
- ↑ ธนากิต, หน้า 347.
- ↑ ชาน สีทอง, อำลาอาลัย “น้าชาติ” ถึงตัวจากไป ใจเรายังนึกถึง (กรุงเทพฯ : มูลนิธิพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ, 2541), หน้า 108.
- ↑ ธนากิต, หน้า 333-334.
- ↑ พศิน เนื่องชมพู, “บทบาททางการเมืองของผู้นำฝ่ายทหารกับฝ่ายพลเรือนในระบบรัฐสภา : ศึกษากรณีนายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร กับ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ”, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2544, หน้า 52-53.
- ↑ ธนากิต, หน้า 334-336.
- ↑ พีระพงษ์ สิทธิอมร และคณะ, ประวัติศาสตร์การเมืองไทย : ปฏิรูป ปฏิวัติ รัฐประหารของบทบาทผู้นำทางการเมือง พลเรือน ตำรวจ ทหาร (กรุงเทพฯ : ซี แอนด์ เอ็น, 2549), หน้า 254-255.
- ↑ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ, หน้า 377.
- ↑ ธนากิต, หน้า 344-345.
- ↑ พีระพงษ์ สิทธิอมร, หน้า 257, 260.
- ↑ ธนากิต, หน้า 345.
- ↑ กิตติเดช สูตรสุคนธ์ และชัยพร ชยานุรักษ์, วันวาน วันนี้ และวันหน้าของผู้ชายชื่อ ชาติชาย ชุณหะวัณ (กรุงเทพฯ : ก.พลพิมพ์, 2538), หน้า 24-29.
- ↑ ธนากิต, หน้า 346.
- ↑ ชมรมสร้างสรรค์และพัฒนาการเมือง, หนาวสวนป่า ร้อนลมปุ๋ย (ม.ป.ท. : ม.ป.พ., 2536), หน้า 38.
- ↑ ชาน สีทอง, หน้า 62-63.
- ↑ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ, หน้า 371.
- ↑ ชาน สีทอง, หน้า 63.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
จักรพันธุ์ วงษ์บูรณาวาทย์. หกเดือนรัฐบาลชาติชาย. เชียงใหม่ : ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2532.
พรภิรมณ์ เชียงกูล. การศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (2531-2534). กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2542.
ไพโรจน์ อยู่มณเฑียร. คารมคมคาย พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีคนที่ 17 แห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สร้อยทอง, ม.ป.ป.
ลิขิต ธีรเวคิน. วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย. พิมพ์ครั้งที่ 5 แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2539.
วิมลรัตน์ สุขเจริญ และรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์. การเปลี่ยนแปลงกฎหมายและมาตรการการคลัง ยุครัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (สิงหาคม 2531 - กุมภาพันธ์ 2534). กรุงเทพฯ : สถาบันนโยบายการศึกษา, 2536.
สุณัย ผาสุข. นโยบายต่างประเทศของไทย : ศึกษากระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณต่อปัญหากัมพูชา (4 สิงหาคม ค.ศ. 1988 ถึง 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1991). กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา, 2540.
หนังสือพิมพ์ผู้แทน. สุดยอดผู้แทนไทย. กรุงเทพฯ : ศิลปสนองการพิมพ์, 2530.
บรรณานุกรม
กิตติเดช สูตรสุคนธ์ และชัยพร ชยานุรักษ์. วันวาน วันนี้ และวันหน้าของผู้ชายชื่อ ชาติชาย ชุณหะวัณ. กรุงเทพฯ : ก.พลพิมพ์, 2538.
ชมรมสร้างสรรค์และพัฒนาการเมือง. หนาวสวนป่า ร้อนลมปุ๋ย. ม.ป.ท. : ม.ป.พ., 2536.
ชาน สีทอง. อำลาอาลัย “น้าชาติ” ถึงตัวจากไป ใจเรายังนึกถึง. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ, 2541.
ธนพล จาดใจดี. เรื่องราวง่ายๆ ของ 23 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ไทยเจริญการพิมพ์, 2544.
ธนากิต. ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ปิรามิด, 2545.
ธีระชัย ธนาเศรษฐ. ทำเนียบนายกรัฐมนตรี. กรุงเทพฯ : ธีรกิจ, 2539.
นฤมิต พระนาศรี. ชีวิตหลากสีนายกรัฐมนตรี คนที่ 17 พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ. กรุงเทพฯ : น้ำฝน, ม.ป.ป.
พศิน เนื่องชมภู. บทบาททางการเมืองของผู้นำฝ่ายทหารกับฝ่ายพลเรือนในระบบรัฐสภา : ศึกษากรณีนายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร กับ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2544.
พีระพงษ์ สิทธิอมร และคณะ. ประวัติศาสตร์การเมืองไทย : ปฏิรูป ปฏิวัติ รัฐประหารของบทบาทผู้นำทางการเมือง พลเรือน ตำรวจ ทหาร. กรุงเทพฯ : ซี แอนด์ เอ็น, 2549.
ศูนย์พัฒนาบุคลิกภาพ. บุคคลแห่งปี Man of the year 1990. ม.ป.ท. : ม.ป.พ., 2533.
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ. ม.ป.ท. : ม.ป.พ., 2541.