คดีรุกป่าทำฟาร์มไก่
ผู้เรียบเรียง : ฐิติกร สังข์แก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
บทนำ
“คดีรุกป่าทำฟาร์มไก่” เป็นคดีที่ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ถูกดำเนินคดีทั้งทางการเมืองและทางแพ่ง-อาญา ในกรณีบุกรุกพื้นที่ของรัฐ จังหวัดราชบุรี รวม 711-2-93 ไร่ เพื่อทำฟาร์มเลี้ยงไก่ โดยใช้ชื่อ “เขาสนฟาร์ม” ในทางการเมืองนั้น “คดีรุกป่าทำฟาร์มไก่” จึงหมายถึง คดีหมายเลขดำที่ คมจ. 1/2564 ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ_(ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขอให้วินิจฉัยว่าเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม มีพฤติการณ์เสื่อมเสีย ซึ่งเข้าข่ายฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระฯ พ.ศ. 2561 โดย นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ อ้างว่า นายทวี ไกรคุปต์ ผู้เป็นบิดา ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งแต่ปี 2484 ก่อนที่ตนเองจะได้รับตกทอดมาในปี 2555 จึงไม่ทราบว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวนและไม่มีเจตนาบุกรุก อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาให้ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ มีความผิด ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ส่งผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี ตลอดจนเพิกถอนสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต ขณะที่คดีทางแพ่ง-อาญานั้น กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) ได้แจ้งข้อกล่าวหา 4 ข้อหา ประกอบด้วย
1) ความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
2) ความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484
3) ความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน และ
4) ความผิดตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520
ที่มาของ “คดีรุกป่าทำฟาร์มไก่”
“คดีรุกป่าทำฟาร์มไก่” มีจุดเริ่มต้นจาก วันที่ 29 ตุลาคม 2562 นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าตนเองได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ขอให้ช่วยเรียกคืนที่ดิน 500 ไร่ ส่วนที่เป็น นส.2 กับ ภบท.5 อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี จากทั้งหมดกว่า 3,000 ไร่ จากนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ขณะนั้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ในเขตป่าสงวน ประชาชนจึงต้องการใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าชุมชนเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน[1] หลังจากนั้นไม่นาน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า หากที่ดิน ภบท.5 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี มีปัญหาเรื่องการครอบครอง หนึ่งในผู้ที่ต้องถูกตรวจสอบด้วยก็คือ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ซึ่งมีที่ดินรวมประมาณ 1,700 ไร่ ตั้งอยู่ในบริเวณนั้นด้วย ครั้นถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ จึงยื่นเรื่องขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบที่ดินของ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ที่ใช้ทำฟาร์มเลี้ยงไก่ โดยใช้ชื่อ “เขาสนฟาร์ม”[2] ต่อมาเมื่อกรมป่าไม้ เข้าตรวจสอบพื้นที่ พบว่ามีที่ดิน 46 ไร่เศษ บุกรุกอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี และอยู่ในเขตป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และที่ดินส่วนที่เหลือก็บุกรุกที่ดิน ส.ป.ก. กรมป่าไม้จึงได้แจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.)[3] ในระหว่างนั้น นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ได้ยอมคืนที่ดิน 682 ไร่ ซึ่งใช้ทำฟาร์มไก่ โดยให้เหตุผลว่าตนเองไม่ได้บุกรุก เพียงแต่ครอบครองที่ดินก่อนการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมเท่านั้น[4] อย่างไรก็ตามเมื่อกรมป่าไม้เข้าตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่าที่ดิน 665 ไร่ ซึ่งเคยแจ้งครอบครองเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. นั้น บุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี เมื่อรวมกับการตรวจสอบรอบแรกจึงเป็นที่ดินบุกรุกรวมกว่า 700 ไร่[5]
ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดและยื่นเรื่องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัย “คดีรุกป่าทำฟาร์มไก่” ของนางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1. นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ตามมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงฯ ข้อ 11 ประกอบข้อ 3 และข้อ 27 วรรคสอง หรือไม่ และ 2. การกระทำของ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ เป็นการเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ ส.ส. ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนมาตราจริยธรรมร้ายแรงฯ ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 3 ข้อ 27 วรรคสองหรือไม่ พร้อมขอให้ศาลสั่ง นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.[6] กระทั่งวันที่ 25 มีนาคม 2564 ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับคำร้องของ ป.ป.ช. และมีคำส่งให้ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. โดยมีผลทันที[7]
ทั้งนี้ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ชี้แจงว่า ตนเองไม่ทราบว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าสงวนและไม่มีเจตนาบุกรุก แผ่วถางป่า เนื่องจากเดิมที นายทวี ไกรคุปต์ ผู้เป็นบิดา ได้ซื้อที่ดินแปลงที่เป็นปัญหาจากเกษตรกรผู้มีสิทธิ ตั้งแต่ปี 2484 ต่อมาจึงยกที่ดินให้อยู่ในความดูแลของตนเอง ในปี 2555 ซึ่งการครอบครองนั้น เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการประกาศเป็นพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และพระราชบัญญัติป่าสงวน พ.ศ. 2507 ดังนั้นเมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายภายหลัง ประชาชนที่เคยครอบครองที่ดินอยู่ก่อนแล้วจึงไม่ทราบว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวน แต่ต่อมาเมื่อทราบว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวนก็ได้ดำเนินการคืนที่ดินทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข อย่างไรก็ตามการที่กรมป่าไม้ดำเนินคดีกับตนเองย่อมถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย[8]
คำพิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง “คดีรุกป่าทำฟาร์มไก่”
เมื่อถึงวันที่ 7 เมษายน 2565 ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำวินิจฉัยคดีหมายเลขดำที่ คมจ. 1/2564 หรือที่รู้จักกันในชื่อ “คดีรุกป่าทำฟาร์มไก่” 2 ประเด็น[9] ได้แก่
ประเด็นแรก นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ตามมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงฯ ข้อ 11 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง หรือไม่ โดยศาลวินิจฉัยว่า นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ เป็น ส.ส. ซึ่งทำหน้าที่นิติบัญญัติ มิได้มีหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลและรับผิดชอบกรมป่าไม้และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ดังนั้น จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการขัดกันของประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์รวม
ประเด็นที่สอง การกระทำของ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ เป็นการเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ ส.ส. ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนมาตราจริยธรรมร้ายแรงฯ ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 3 ข้อ 27 วรรคสองหรือไม่ โดยศาลวินิจฉัยว่า นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ครอบครองที่ดิน 665 ไร่ 1 งาน 53 ตารางวา โดยไม่มีเอกสารสิทธิใด ๆ ทั้ง ๆ ที่ที่ดินโดยรอบมีเอกสารสิทธิ สปก. 4-01 หลายแปลง ดังนั้น นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ย่อมต้องทราบว่ามีการปฏิรูปที่ดิน และการครอบครองที่ดินแปลงนี้มายาวนาน แต่ไม่เข้าโครงการปฏิรูปที่ดินในปี 2562 ซึ่งจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรไม่เกินคนละ 50 ไร่ ย่อมมีเจตนาที่จะหลบเลี่ยงมาโดยตลอด เนื่องจากตนเองมีที่ดินมากกว่าคนอื่น หากเข้าโครงการฯ ก็จะสูญเสียที่ดินได้ กระนั้นก็ตาม การส่งคืนที่ดินที่เกิดขึ้นภายหลังจากมีการตรวจสอบแล้ว จึงมิได้เป็นไปด้วยความสมัครใจ การครอบครองที่ดินเกษตรกรรมดังกล่าวย่อมปิดโอกาสเกษตรกรรายอื่นในการใช้ประโยชน์ นอกจากนั้นแล้ว ยังไม่อาจอ้างการใช้ที่ดินมาเป็นเหตุในการเลี้ยงดูบิดาได้ เพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นหน้าที่ส่วนตนที่ก่อภาระแก่สังคมโดยรวม การจงใจครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปโดยทราบว่าตนเองขาดคุณสมบัติตั้งแต่ต้นและไม่มีเอกสารสิทธิ ทั้ง ๆ ที่ตนเองเป็น ส.ส. มาแล้ว 4 สมัย ไม่ใช่ผู้ยากไร้ที่ทำกิน ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ ส.ส. พึงกระทำ ดังนั้นจึงถือเป็นการกระทำที่เสื่อมเสียเกียรติและมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระฯ พ.ศ. 2561 ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 3 ข้อ 27 วรรคสอง มีผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. นับจากวันที่ศาลฎีกาสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ (25 มีนาคม 2564) เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี ตลอดจนเพิกถอนสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต
กล่าวได้ว่า นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ใน “คดีรุกป่าทำฟาร์มไก่” เป็นนักการเมืองไทยคนแรก ที่ได้รับการพิพากษาว่ามีความผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระฯ พ.ศ. 2561 จนถูกเพิกถอนสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ผู้บริหารท้องถิ่น และดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ นอกจากนั้นแล้ว นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ยังถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดในกรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ และถูกดำเนินคดีทางแพ่ง-อาญาอีก 4 ข้อหา ประกอบด้วย
1) ความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
2) ความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484
3) ความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน และ
4) ความผิดตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520[10]
กระแสสังคมกรณี “คดีรุกป่าทำฟาร์มไก่”
ภายหลังคำพิพากษาของศาล นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า ตนเองตั้งใจทำงานรับใช้ประชาชนในฐานะผู้แทนอย่างเต็มที่ ตลอดเวลากว่า 20 ปี บนเส้นทางการเมือง ซึ่งชนะเลือกตั้งมาโดยตลอด แต่วันนี้ “ปารีณาถูกพิพากษาเปรียบเสมือนทำผิดร้ายแรงถูกประหารชีวิต (ทางการเมือง) จากที่ดินพ่อให้มาและนี่คือคดีที่จะเป็นบรรทัดฐานต่อนักการเมืองและข้าราชการต่อไป”[11] ควรกล่าวด้วยว่า การลงโทษนักการเมืองที่ผิดจริยธรรมขั้นร้ายแรงถึงขั้นเพิกถอนสิทธิการดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิตได้กลายเป็นที่ถกเถียงในสังคมวงกว้าง ในด้านหนึ่ง คือ กลุ่มที่ยึดถือตัวบทกฎหมายเป็นที่ตั้ง และมองว่าการพิจารณาคดีของศาลย่อมเป็นไปตามกระบวนการตามกฎหมายแล้ว อาทิ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า คำพิพากษาของศาลเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมภายใต้กฎหมายและจะกลายเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายในเรื่องจริยธรรมร้ายแรงของนักการเมืองต่อไป[12]
ในอีกด้านหนึ่ง คือ กลุ่มที่มีความเห็นว่าโทษเพิกถอนสิทธิการดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต หรือโทษ “ประหารชีวิตทางการเมือง” เป็นฐานความผิดที่ร้ายแรงเกินไป และถือเป็นจุดด่างพร้อยของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 อาทิ นายไพศาล พืชมงคล เห็นว่าการตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตไม่ต่างจากพิษอย่างหนึ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะแม้แต่การประหารชีวิตในคดีอาญายังสามารถขออภัยโทษ “แต่คดีจริยธรรมที่ประหารชีวิตทางการเมือง ไม่มีโอกาสที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษเลย”[13] ขณะที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล สมาชิกคณะก้าวหน้า โพสเพซบุ๊กว่า “ผมจึงไม่เห็นด้วยกับกรณีศาลฎีกาตัดสินคุณปารีณา และเสนอว่าเราไม่ควรดีใจกับเรื่องแบบนี้ ตรงกันข้ามเราควรรณรงค์ชี้ปัญหาพิษภัยรัฐธรรมนูญ 60 และต่อสู้กับ 'นิติสงคราม'" เนื่องจากเกณฑ์ทางจริยธรรมควรเป็นเรื่องที่กำหนดบังคับใช้กันเองภายในองค์กร และเกณฑ์ทางจริยธรรมก็ไม่ใช่เรื่องทางกฎหมายที่จะสามารถตัดสินถูกหรือผิดได้ ทว่าเป็นเรื่องของความเหมาะสม จึงไม่ควรให้ศาลเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดและโดยเฉพาะอย่างยิ่งถึงขั้นประหารชีวิตทางการเมือง[14]
บรรณานุกรม
“กรมป่าไม้ แจ้งจับ “ปารีณา” รุกป่าสงวนเพิ่ม 665 ไร่,” ThaiPBS (14 กุมภาพันธ์ 2564). เข้าถึงจาก <https://www.thaipbs.or.th/news/content/288968>. เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566.
“กรมป่าไม้เตรียมแจ้งความ บก.ปทส. “ปารีณา” รุกป่า 2 ธ.ค.นี้” ThaiPBS (29 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thaipbs.or.th/news/content/286559>. เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566.
“ฉบับเต็ม! ศาลฎีกาพิพากษา 'ปารีณา' หลุด ส.ส. ห้ามดำรงตำแหน่งการเมืองตลอดชีวิต,” สำนักข่าวอิศรา (7 เมษายน 2565). เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/107930-inves09-80.html>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.
“ชาวบ้านราชบุรี ขอคืนที่ดินทับป่าสงวนจากแม่ “ธนาธร” เพื่อให้เป็นป่าชุมชน,” ไทยรัฐออนไลน์ (29 ตุลาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/local/central/1692583>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.
“ด่วน! “ปารีณา” ถอยยอมคืนที่ดิน ส.ป.ก. 682 ไร่,” ThaiPBS (7 ธ.ค. 62). เข้าถึงจาก <https://www.thaipbs.or.th/news/content/286817>. เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566.
“นายกฯ ชี้ คดีที่ดิน “ปารีณา” เกิดบรรทัดฐานใหม่ ลั่น ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย,” ไทยรัฐออนไลน์ (8 เม.ย. 2565), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/2363151>. เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566.
“ปารีณา ไกรคุปต์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ หลังศาลฎีการับคำร้อง ป.ป.ช. คดีฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ปมรุกป่าสงวนราชบุรี,” BBC (25 มีนาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-56519389>. เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566.
“ปารีณา ไกรคุปต์: ศาลฎีกาสั่งให้พ้นตำแหน่ง ส.ส.-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ฐานผิดจริยธรรมร้ายแรงกรณีครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.,” BBC (7 เมษายน 2565). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-61019172>. เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566.
“‘ปารีณา’รายแรก! มติเอกฉันท์ ป.ป.ช.ชี้มูลผิดจริยธรรม-ลุ้นศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่?,” สำนักข่าวอิศรา (9 กุมภาพันธ์ 2564). เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/95834-isranews-166.html>. เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566.
““ปิยบุตร” ไม่เห็นด้วยศาลฟัน “ปารีณา” ลั่นไม่ควรมีโทษประหารชีวิตการเมือง,” กรุงเทพธุรกิจ (7 เมษายน 2565). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/politics/998060>. เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566.
“เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา เชือด “เอ๋ ปารีณา” ดับฝันอนาคตชีวิตการเมือง,” PPTV (8 เมษายน 2565). เข้าถึงจาก <https://www.pptvhd36.com/news/การเมือง/169759>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.
““ไพศาล” หนุน “ปิยบุตร” ต้องแก้รธน. 60 วอนอย่าตำหนิศาล ต้องโทษคณะไสยศาสตร์ทางกฎหมายมัดตราสังข์บ้านเมือง,” สยามรัฐออนไลน์ (8 เมษายน 2565). เข้าถึงจาก <https://siamrath.co.th/n/338245>. เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566.
“‘เรืองไกร' หอบแผนที่แจงยิบสอบที่ดิน 'ปารีณา' ยัน ภบท.5 ซื้อขายไม่ได้,” ไทยโพสต์ออนไลน์ (13 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/50179>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.
อ้างอิง
[1] “ชาวบ้านราชบุรี ขอคืนที่ดินทับป่าสงวนจากแม่ “ธนาธร” เพื่อให้เป็นป่าชุมชน,” ไทยรัฐออนไลน์ (29 ตุลาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/local/central/1692583>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.
[2] “'เรืองไกร' หอบแผนที่แจงยิบสอบที่ดิน 'ปารีณา' ยัน ภบท.5 ซื้อขายไม่ได้,” ไทยโพสต์ออนไลน์ (13 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/50179>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.
[3] “กรมป่าไม้เตรียมแจ้งความ บก.ปทส. “ปารีณา” รุกป่า 2 ธ.ค.นี้” ThaiPBS (29 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thaipbs.or.th/news/content/286559>. เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566.
[4] “ด่วน! “ปารีณา” ถอยยอมคืนที่ดิน ส.ป.ก. 682 ไร่,” ThaiPBS (7 ธ.ค. 62). เข้าถึงจาก <https://www.thaipbs.or.th/news/content/286817>. เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566.
[5] “กรมป่าไม้ แจ้งจับ “ปารีณา” รุกป่าสงวนเพิ่ม 665 ไร่,” ThaiPBS (14 กุมภาพันธ์ 2564). เข้าถึงจาก <https://www.thaipbs.or.th/news/content/288968>. เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566.
[6] “‘ปารีณา’รายแรก! มติเอกฉันท์ ป.ป.ช.ชี้มูลผิดจริยธรรม-ลุ้นศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่?,” สำนักข่าวอิศรา (9 กุมภาพันธ์ 2564). เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/95834-isranews-166.html>.เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566.
[7] “ปารีณา ไกรคุปต์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ หลังศาลฎีการับคำร้อง ป.ป.ช. คดีฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ปมรุกป่าสงวนราชบุรี,” BBC (25 มีนาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-56519389>. เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566.
[8] “เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา เชือด “เอ๋ ปารีณา” ดับฝันอนาคตชีวิตการเมือง,” PPTV (8 เมษายน 2565). เข้าถึงจาก <https://www.pptvhd36.com/news/การเมือง/169759>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.
[9] “ฉบับเต็ม! ศาลฎีกาพิพากษา 'ปารีณา' หลุด ส.ส. ห้ามดำรงตำแหน่งการเมืองตลอดชีวิต,” สำนักข่าวอิศรา (7 เมษายน 2565). เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/107930-inves09-80.html>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.
[10] “ปารีณา ไกรคุปต์: ศาลฎีกาสั่งให้พ้นตำแหน่ง ส.ส.-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ฐานผิดจริยธรรมร้ายแรงกรณีครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.,” BBC (7 เมษายน 2565). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-61019172>. เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566.
[11] “ปารีณา ไกรคุปต์: ศาลฎีกาสั่งให้พ้นตำแหน่ง ส.ส.-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ฐานผิดจริยธรรมร้ายแรงกรณีครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.,” BBC (7 เมษายน 2565). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-61019172>. เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566.
[12] “นายกฯ ชี้ คดีที่ดิน “ปารีณา” เกิดบรรทัดฐานใหม่ ลั่น ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย,” ไทยรัฐออนไลน์ (8 เม.ย. 2565), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/2363151>. เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566.; “ปารีณา ไกรคุปต์: ศาลฎีกาสั่งให้พ้นตำแหน่ง ส.ส.-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ฐานผิดจริยธรรมร้ายแรงกรณีครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.,” BBC (7 เมษายน 2565). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-61019172>. เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566.
[13] ““ไพศาล” หนุน “ปิยบุตร” ต้องแก้รธน. 60 วอนอย่าตำหนิศาล ต้องโทษคณะไสยศาสตร์ทางกฎหมายมัดตราสังข์บ้านเมือง,” สยามรัฐออนไลน์ (8 เมษายน 2565). เข้าถึงจาก <https://siamrath.co.th/n/338245>. เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566.
[14] ““ปิยบุตร” ไม่เห็นด้วยศาลฟัน “ปารีณา” ลั่นไม่ควรมีโทษประหารชีวิตการเมือง,” กรุงเทพธุรกิจ (7 เมษายน 2565). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/politics/998060>. เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566.