คดีจำนำข้าว
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ
ความนำ
คดีจำนำข้าว เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างปี พ.ศ. 2554-2557 มีจุดเริ่มต้นจากการที่พรรคเพื่อไทยในขณะนั้นใช้เป็นนโยบายหาเสียงการแข่งขันกับนโยบายประกันรายได้เกษตรกรของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปปี 2554 ภายหลังพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จึงเริ่มดำเนินการโครงการจำนำข้าวทุกเมล็ดแบบไม่มีโคต้า โดยให้ราคาสูงถึงเกรียนละ 15,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาด
อย่างไรก็ตาม โครงการจำนำข้าวกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่เริ่มต้นจากทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าข้าว นักวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ นักการเมืองฝ่านค้าน รวมถึงสื่อมวลชนว่าจะส่งผลกระทบต่องบประมาณในการบริหารประเทศ และอาจนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวาง รวมถึงส่งผลกระทบต่อการเป็นผู้นำการค้าข้าวอันดับหนึ่งของไทยในตลาดโลก ยิ่งไปกว่านั้นระหว่างปี พ.ศ. 2556 - 2557 โครงการจำนำข้าวกลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโจมตีโดยกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่เคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อมาเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โครงการจำนำข้าวจึงถูกตรวจสอบอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้นถึงกรณีการทุจริตและความสูญเสียที่เกิดขึ้นแก่รัฐ จนนำไปสู่การฟ้องร้องคดีอาญา คดีแพ่งและคดีทางปกครอง ซึ่งมีนักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจเกี่ยวข้องจำนวนมากเข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งนี้รวมถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ที่ถูกศาลพิพากษาให้จำคุก 48 ปี
โครงการจำนำข้าว ก่อนจะเป็นคดีจำนำข้าว
นโยบายประกันราคาพืชผลการเกษตรถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐไทยมาทุกยุคทุกสมัยเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีการส่งออกพืชผลการเกษตรเป็นสินค้าหลักของประเทศ สำหรับนโยบายประกันราคาข้าว หรือ จำนำข้าวนั้น ถือเป็นกลไกลสำคัญของรัฐไทยมาเกือบ 40 ปี นับตั้งแต่ปีการผลิต 2525/2526 ซึ่งขณะนั้นดำเนินการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อช่วยเหลือชาวนาที่กำลังประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำในฤดูเก็บเกี่ยว ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2529 เมื่อรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดึงโครงการจำนำข้าวมาเป็นนโยบายของรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น จากปีการผลิต 2525/2526 ที่ชาวนาเคยได้รับเงินจำนำข้าวเพียงร้อยละ 80 รัฐบาลแต่ละยุคได้ดำเนินการเพื่อเพิ่มวงเงินจำนำข้าวที่ชาวนาจะได้เป็นร้อยละ 90 ในปีการผลิต 2534/2535 และร้อยละ 95 ในปีการผลิต 2541/2542[1]
เมื่อถึงปี พ.ศ. 2544 ที่พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งจนได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลทักษิณ
ชินวัตร ได้สร้างปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงอีกครั้งโดยเพิ่มปริมาณการรับจำนำข้าวจากที่เคยรับอยู่เพียง 2.5 ล้านตัน เป็น 9 ล้านตัน ในปีการผลิต 2545/2546 ด้วยราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ส่งผลให้รัฐต้องเก็บข้าวไว้จำนวนมาก เนื่องจากชาวนานำข้าวมาจำนำไว้มากกว่าที่จะมาไถ่ถอนออกไป ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เปิดโอกาสให้โรงสีเอกชนเข้ามามีบทบาทในการเก็บสต๊อกข้าวแทนที่จะใช้ยุ้งฉางของชาวนา หรือ สถาบันเกษตรกรดังที่เคยปฏิบัติมาก่อนหน้านั้น[2] อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2552-2554 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เลือกนโยบายประกันราคาข้าวมาใช้แทนการจำนำข้าว โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่การกำหนดราคารับประกันข้าวเพื่อชดเชยส่วนต่างราคาให้แก่เกษตรกรในกรณีที่ปรากฏว่าราคาตลาดต่ำกว่าราคารับประกัน[3]
นโยบายข้าวกลายเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ไม่ใช่เพียงเพราะว่าประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกเท่านั้น หากยังมีสาเหตุมาจากเหตุผลทางการเมืองอีกด้วย กล่าวคือ แม้ว่าข้าวจะสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้เศรษฐกิจไทยแต่ชาวนาผู้ปลูกข้าวจำนวนมากยังคงถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าของโรงสีและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ ส่งผลให้ชาวนาซึ่งคิดเป็นประชากร 13 ล้านคนของประเทศจากข้อมูลในปี พ.ศ. 2553[4] ไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากสถานะผู้นำการส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของไทยในตลาดโลก ในการเมืองแบบการเลือกตั้ง พรรคการเมืองจึงมักนำเสนอนโยบายประกันราคาข้าวหรือจำนำข้าวเป็นเครื่องมือในการขยายฐานเสียงสนับสนุนจากประชากรที่เป็นชาวนา รวมถึงเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ
การอาศัยนโยบายข้าวเป็นยุทธศาสตร์ในการหาเสียงก็ปรากฏในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในปี พ.ศ. 2554 นั้น พรรคเพื่อไทยใช้นโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายสำคัญในการหาเสียงเพื่อแข่งขันกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ใช้นโยบายประกันราคาข้าว นโยบายจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทยเป็นการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดแบบไม่มีโคต้า เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรซึ่งกำหนดเกณฑ์สำหรับเข้าเปลือกที่มีความชื้น 15% ไว้ตันละ 15,000 บาท และข้าวหอมมะลิตันละ 20,000 บาท ทั้งนี้ เว็บไซต์ของพรรคเพื่อไทยได้เผยแพร่เหตุผลและความจำเป็นของนโยบายจำนำข้าวเพื่อช่วยเหลือชาวนาไว้ว่า
โครงการรับจำนำข้าวช่วยชาวนาเป็นโครงการที่ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือชาวนาให้ได้รับผลประโยชน์สูงสุดในการผลิตและการตลาดของสินค้าข้าวซึ่งเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 84 (8) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ...รัฐบาลยิ่งลักษณ์เห็นว่านโยบายรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาชาวนาแต่ต้องปรับราคาจำนำข้าวให้สูงกว่าราคาตลาดและจะต้องรับจำนำข้าวในปริมาณมาก ทั้งนี้เพื่อให้มีพลังผลักดันให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดสูงตามราคาจำนำด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งกับชาวนาที่เข้าร่วมและชาวนาที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศและทางด้านสังคมด้วยจึงได้เสนอนโยบายรับจำนำข้าว เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลและได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา[5]
ทั้งนี้ โครงการจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทยเริ่มต้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ซึ่งขณะนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (9 สิงหาคม 2554 - 18 มกราคม 2555) เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินโครงการ (ภายหลังนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2555 - 30 มิถุนายน 2556) โดยมีคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ทำหน้าที่เสนอกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวต่อคณะรัฐมนตรี ตลอดจนการอนุมัติแผนงาน โครงการ และมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับการผลิตและการตลาดข้าว โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และกรรมการอื่นๆ อาทิ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงข้าราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนักวิชาการสถาบันต่างๆ เป็นต้น[6]
อย่างไรก็ตาม ตลอดการดำเนินโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างปีพ.ศ. 2554-2557 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ได้เคยมีข้อเสนอแนะเป็นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีถึง 2 ฉบับ[7] เพื่อแสดงถึงความกังวลที่มีต่อนโยบายจำนำข้าวอันจะส่งผลต่อความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายการรักษาวินัยทางการคลังและความยุ่งยากไม่โปร่งใสอื่นๆ ในทางปฏิบัติ นอกจากการมีหนังสือแนะนำและข้อท้วงติงของ ปปช. 2 ฉบับดังกล่าวแล้ว ยังปรากฏการร้องเรียน การหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นอภิปราย วิพากษ์วิจารณ์จากการนักการเมืองฝ่ายค้านและภาคประชาสังคมอีกจำนวนมากตลอดการดำเนินการโครงการจำนำข้าว โดยเฉพาะประเด็นการระบายข้าวค้างเก่าของปีการผลิต 2554/2555 และการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) อาทิ การยื่นร้องเรียน ปปช. 3 ครั้งในปี พ.ศ. 2555 ให้ตรวจสอบโครงการจำนำข้าวโดยพรรคการเมืองใหม่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม[8] การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยฝ่ายค้านในสภา ประเด็นทุจริตโครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G)[9] ในปี พ.ศ. 2556 นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ยื่น ปปช. อีกครั้งให้ตรวจสอบการระบายข้าวที่รับจำนำไว้ในปีการผลิต 2554/2555[10]
เมื่อถึงต้นปี พ.ศ. 2557 คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ได้ออกมาเคลื่อนไหวชุมชนต่อต้านรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อกดดันให้พ้นจากการเป็นรัฐบาล การทุจริตโครงการจำนำข้าวถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นปราศรัยโจมตี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่รัฐบาลไม่สามารถหาเงินมาจ่ายเงินชาวนาได้ตามเวลา ทั้งนี้ กปปส. จึงเคลื่อนขบวนไปปิดล้อมธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ เพื่อคัดค้านการนำเงินฝากไปช่วยเหลือโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล ดังที่นายสุเทพ กล่าวว่า
....จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปสำนักงานใหญ่ธนาคารออมสิน พนักงานธนาคารออมสิน ผู้บริหารดีใจมาก ที่พวกเราไปปิดธนาคารเขา และเขาก็ได้ทำความตกลงออกแถลงการณ์ร่วมกับตัวแทนของเราว่า หนึ่ง จะไม่ให้เงินกู้แก่รัฐบาลเป็นอันขาด ไม่ต้องห่วง ถ้ามีการเบิกจ่ายเมื่อไหร่ให้มาปิดได้ทันที สอง เขาจะยินยอมให้พนักงานของธนาคารออมสินออกมาชุมนุมร่วมกับมวลมหาประชาชนได้ นี่เป็นสาระสำคัญ ผมจึงถือโอกาสนี้กราบเรียนไปถึงบรรดาเจ้าของบัญชีเงินฝากที่ฝากเงินไว้กับธนาคารออมสินว่า ท่านสบายใจได้ เงินของท่านปลอดภัยแล้ว ไม่ต้องรีบไปถอนเงิน ทิ้งไว้ในธนาคารออมสิน บรรดาผู้บริหารและพนักงานสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจออมสินเขาจะดูแลเงินฝากให้เป็นอย่างดี ไม่ยอมให้รัฐบาลเอาไปปู้ยี่ปู้ยำเด็ดขาด[11]
การเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. นำมาซึ่งความสนใจของประชาชนอย่างกว้างขวางต่อโครงการจำนำข้าว เพราะไม่เพียงเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบความต่อชาวนาผู้รับ/เสียประโยชน์จากโครงการนี้เท่านั้น หากยังเกี่ยวข้องการทุจริตในวงราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ที่สำคัญ ก็คือ ประเทศไทยซึ่งเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกถูกแทนที่โดยคู่แข่งสำคัญอย่างอินเดียและเวียดนาม เนื่องจากโครงการนี้ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งในตลาดโลกอย่างมากจนกระทั่งครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2555 ไทยส่งข้าวออกไปได้เพียง 3.45 ล้านตัน ขณะเดียวกัน นโยบายนี้ก็กระตุ้นให้ชาวนาปลูกข้าวเพิ่มมากขึ้นกว่าความต้องการบริโภคและความสามารถการส่งออก ส่งผลให้เกิดอุปสงค์เทียมขึ้นในประเทศ อย่างไรก็ตาม โครงการจำนำข้าวจำเป็นต้องยุติลงไปพร้อมกับรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ายึดอำนาจการปกครองในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก่อนที่ "โครงการจำนำข้าว" จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนกลายเป็น "คดีจำนำข้าว" ในท้ายที่สุด
คดีจำนำข้าวในกระบวนการยุติธรรม
โครงการจำนำข้าวเป็นนโยบายของรัฐที่ได้รับการจับตามองจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคมการเมืองไทยตั้งแต่เริ่มต้น วันเดียวกับที่เริ่มดำเนินโครงการจำนำข้าวนั้น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ได้มีหนังสือด่วนมากที่ ปช 0003/0118 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ถึงนายกรัฐมนตรีและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี โดยชี้แจงผลการศึกษาทั้งข้อเสียและผลกระทบของโครงการจำนำข้าวในอดีต ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้กับการดำเนินนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงตลาดพืชผลทางการเกษตรซึ่งก่อให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด รัฐต้องแบกรับทั้งการเก็บข้าวที่รับจำนำไว้จำนวนมากในและแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา คุณภาพข่าวที่เสื่อมลงเพราะระบายออกไม่ทัน ที่สำคัญ ก็คือ อาจก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตในทุกขั้นตอนดำเนินการโดยมีเพียงบุคคลบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จนตกไม่ถึงมือของชาวนา ดังนั้น ปปช. จึงเสนอแนะให้รัฐบาลกลับไปใช้นโยบายประกันราคาข้าวแทน เพราะสามารถลดโอกาสที่จะเกิดการทุจริตได้มากกว่า ป้องกันโอกาสที่เจ้าหน้าที่รัฐจะเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ ตลอดจนผลประโยชน์ตกแก่ชาวนาอย่างทั่วถึงและไม่เป็นการบิดเบือนกลไกตลาดอีกด้วย[12]
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลยืนยันว่าโครงการจำนำข้าว เป็นนโยบายที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ทั้งเป็นนโยบายสำคัญที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนในช่วงเลือกตั้ง และแถลงไว้ต่อรัฐสภา ต่อมา ป.ป.ช. ได้มีหนังสือเตือนรัฐบาลอีกครั้ง ลงเลขที่ ปช 0003/1198 วันที่ 30 เมษายน 2555 โดยระบุว่า ภายหลัง ปปช. ได้ส่งหนังสือถึงรัฐบาลครั้งแรก และได้เฝ้าติดตามโครงการนี้อย่างใกล้ชิดทำให้พบเห็นปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการทุจริตในเชิงนโยบายและในส่วนของขั้นตอนและกระบวนการในการดำเนินโครงการ จึงเสนอให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณานโยบายยกระดับราคาข้าว ทั้งเรื่องการกำหนดราคารับจำนำอย่างเหมาะสม การพัฒนาคุณภาพข้าว และลดต้นทุนการผลิต ควบคู่กับการพิจารณาการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก อาทิ การขึ้นทะเบียนและรับรองเกษตรกร และการระบายข้าวสารจากคลังสินค้าของรัฐบาล[13] ขณะที่รัฐบาลสนองตอบต่อการข้อแนะนำของ ปปช. ในหลายประการ โดยมอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบกำกับการดำเนินงานของโครงการเพื่อป้องกันการทุจริตในระดับปฏิบัติ ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ให้ความร่วมมือและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดหากตรวจสอบพบกรณีทุจริตใดๆ[14]
ทั้งนี้ ความกังวลที่หลายภาคส่วนมีต่อโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า การรับจำนำข้าวทุกเมล็ดแบบไม่มีโควตา ส่งผลกระตุ้นให้มีการปลูกข้าวเพิ่มขึ้นอย่างมากจนมีข้าวส่งเข้าโครงการเกือบ 40 ล้านตัน ซึ่งถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการริเริ่มมาตรการจำนำข้าวในปี พ.ศ. 2525 รัฐบาลจึงจำเป็นต้องหาช่องทางในการระบายข้าวออกสู่ตลาด โดยตัดสินใจใช้ข้อตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐ (G to G—จีทูจี) อันเป็นวิธีที่จะสร้างเครดิตให้กับรัฐบาลไทยและรัฐบาลคู่สัญญา แต่ก็เป็นวิธีการซื้อขายที่ตรวจสอบได้ยากกว่าวิธีการอื่นๆ ทั้งนี้ ไทยได้ทำข้อตกลงซื้อขายข้าวกับรัฐวิสาหกิจจีน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท Guangdong stationery & sporting goods imp. & exp. Corp. ปริมาณ 6.3 ล้านตัน เป็นเงินประมาณ 6.69 หมื่นล้านบาท และบริษัท Hainan grain and oil industrial trading company ปริมาณ 6.5 พันตัน เป็นเงินประมาณ 847 ล้านบาท[15]
ต่อมา นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ จะนำข้อมูลมาเปิดเผยในการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2557 วาระ 1 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 และยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการระบายที่รัฐบาลยืนยันว่ามีการส่งมอบแล้วแต่กลับปรากฏตัวเลขในเอกสารรายงานของทางราชการไม่ตรงกัน[16] เมื่อหลักฐานต่างๆ เริ่มถูกทยอยส่งไปถึงอนุกรรมการสอบสวน ป.ป.ช. อาทิ หลักฐานการโอนเงินในบัญชีธนาคารที่มีปลายทางอยู่ในประเทศไทย การตั้งบริษัทเอกชนเพื่อหาผลประโยชน์จากโครงการนี้ หรือแม้แต่การบริษัทรับซื้อข้าวที่เป็นบริษัทขายอุปกรณ์เครื่องเขียนและกีฬาในจีน แทนที่จะเป็นผู้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลจีนอย่าง บริษัท COFCO Corporation (คอฟโก) เป็นต้น[17] ดังนั้น คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้รวบรวมข้อมูลหลักฐานส่งเรื่องให้อัยการพิจารณาส่งฟ้องศาล ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของคดีจำนำข้าวในกระบวนการยุติธรรม โดยเกี่ยวข้องกับ 2 กรณี ได้แก่ กรณีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) และกรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว
1. คดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) หรือ คดีหมายเลขดำที่ อม. 25/2558, อม.1/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 178/2560, อม. 179/2560 กรมการค้าต่างประเทศ องค์การคลังสินค้า องค์การตลาดเพื่อการเกษตร กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง เป็นผู้ร้อง และมีอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายภูมิ สาระผล นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และพวกอีก 19 ราย ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในข้อหากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต[18] นอกจากนั้น การยื่นฟ้องของอัยการสูงสุดได้ขอให้ศาลสั่งปรับจำเลยทั้งหมดเป็นเงินกว่า 35,000 ล้านบาท[19] ก่อนที่ ป.ป.ช. จะยื่นคำร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติถอดถอนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และ สนช. มีมติถอดถอนบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตการระบายข้าวทั้ง 3 ราย และตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีไปเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558[20]
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิจารณาหลักฐานและไต่สวนพยานแล้ว เห็นว่า นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง และดำรงตำแหน่งประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวแทนนายภูมิ สาระผล, นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ "เสี่ยเปี๋ยง" เครือข่ายบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และพวก ได้แอบอ้างนำบริษัท Guangdong stationery & sporting goods imp. & exp. Corp. และบริษัท Hainan grain and oil industrial trading company มาขอซื้อข้าวกับรัฐบาลไทยโดยอ้างว่าบริษัททั้งสองได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนให้มาทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้ นายภูมิ สาระผล และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ นั้นมีส่วนรับผิดชอบต่อข้อตกลงซื้อขายข้าวจำนวน 4 ฉบับ โดยมีการชำระเงินด้วยแคชเชียร์เช็คภายในประเทศและไม่มีการส่งออกข้าวไปนอกประเทศจริง แต่รับมอบข้าวไปขายต่อภายในประเทศ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ รวมกันแล้วกว่า 16,867 ล้านบาท[21]
ในกรณีของนายภูมิ สาระผล นั้น ได้อาศัยเกณฑ์ราคาซื้อขายข้าวที่ผิดไปจากแนวปฏิบัติกรณีการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ และได้เห็นชอบสัญญาซื้อขายข้าวในสต็อกกับบริษัท Guangdong stationery & sporting goods imp. & exp. Corp. จำนวน 2 สัญญา ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศเป็นเงิน 11,011 ล้านบาท ขณะที่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ได้เห็นชอบสัญญากับ Guangdong stationery & sporting goods imp.
& exp. Corp. จำนวน 1 ฉบับ ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นเงิน 5,694 ล้านบาท และยังเห็นชอบกับบริษัท Hainan grain and oil industrial trading company ทำให้เกิดความเสีย 162 ล้านบาท[22] กระบวนการนี้ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ศาลจึงพิพากษาให้จำคุกนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ 42 ปี จำคุกนายภูมิ สาระผล 36 ปี จำคุกนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ "เสี่ยเปี๋ยง" 48 ปี[23] ขณะที่จำเลยรายอื่นๆ ให้จำคุกลดหลั่นตามพฤติการณ์แห่งความผิด และให้อภิชาติ จันทร์สกุลพร "เสี่ยเปี๋ยง" บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และพวกร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่กระทรวงการคลัง 16,912 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 นับแต่วันที่รับมอบข้าวตามสัญญาแต่ละฉบับ[24]
ต่อมาอัยการสูงสุด ได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยและลงโทษกลุ่มบริษัทโรงสีข้าว ขณะที่จำเลยก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเช่นกัน เมื่อถึงวันที่ 6 กันยายน 2562 องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา วินิจฉัยว่าจากเดิมที่ในคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาว่า นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ได้กระทำความผิด 3 สัญญา (สัญญาฉบับที่ 2-4) จึงให้จำคุก 42 ปีนั้น ต่อมาคำฟ้องของฝ่ายอัยการสูงสุดได้ชี้ให้เห็นว่านายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขสัญญาฉบับแรกด้วย (สัญญาฉบับที่ 1) จึงพิพากษาแก้เพิ่มโทษนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อีก 6 ปี รวมโทษจำคุก 48 ปี นอกจากนั้นยังลงโทษจำคุกกลุ่มโรงสี 7 ราย จำคุก 4-8 ปี ปรับ 25,000-50,000 บาท แต่ให้รอการลงโทษ 3 ปี อันถือว่าได้คดีเป็นที่สิ้นสุด[25] กล่าวได้ว่า คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐส่งผลสะเทือนต่อแวดวงการเมืองและธุรกิจการค้าข้าวในประเทศอย่างกว้างขวาง เพราะมีนักการเมืองระดับรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง และนักธุรกิจจากภาคเอกชนที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมากแล้ว ยังเกี่ยวพันกับอีกคดีหนึ่งของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั่นเอง
2. คดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว หรือ คดีหมายเลขดำที่
อม. 22/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 211/2560 ระหว่างอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ระหว่างอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีจุดเริ่มต้นจากการที่ ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีโครงการรับจำนำข้าว จนกระทั่งวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 จึงมีมติเอกฉันท์ (7 ต่อ 0) ชี้มูลความผิดฐานปล่อยให้เกิดการทุจริตในโครงการจำนำข้าว และเตรียมส่งเรื่องให้วุฒิสภาดำเนินการถอดถอนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[26] ทว่าเมื่อเกิดการรัฐประหารโดย คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 การดำเนินการถอดถอนดังกล่าวก็หยุดชะงักลงชั่วคราว ก่อนที่ ป.ป.ช. จะมีมติเอกฉันท์ (7 ต่อ 0) อีกครั้งในการชี้มูลความผิดผิดในส่วนคดีอาญา[27]
ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2558 ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด มีความเห็นร่วมกันให้สั่งฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 123/1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) จนทำให้รัฐเกิดความเสียหายนับแสนล้านบาท ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[28] ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีปล่อยปละละเลยและไม่ยับยั้งความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ด้วยคะแนน 190 ต่อ 18 เสียง (งดออกเสียง 8 เสียง และบัตรเสีย 3 ใบ) และยังมีผลให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี[29]
ภายหลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และทีมกฎหมาย เริ่มเคลื่อนไหวต่อสู้คดีด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ การยื่นฟ้องอัยการสูงสุดกับพวกต่อศาลอาญา ด้วยข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในกรณีที่สั่งฟ้องตนเอง การยื่นฟ้องนายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธานคณะกรรมการตรวจสอบความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าว การยื่นฟ้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวก เพื่อเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 100 ล้านบาท กรณีตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าว การยื่นขอให้ศาลฎีกาฯ ออกเดินเผชิญสืบที่โรงสีข้าว จ.อ่างทอง แต่ศาลยกคำร้อง การยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาฯ ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายวิธีพิจารณาคดีในศาลฎีกาฯ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่[30] เป็นต้น ตลอดกระบวนการของศาลที่เริ่มไต่สวนพยานโจทก์และจำเลย ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2559 จนเสร็จสิ้นรวม 45 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 26 นัด ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ทว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับไม่มาปรากฏตัวที่ศาลตามนัด อันนำไปสู่การออกหมายจับเพื่อให้มาฟังคำพิพากษาใหม่ในวันที่ 27 กันยายน 2560[31]
เมื่อถึงวันอ่านคำพิพากษา ศาลจึงพิพากษาให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) มาตรา 123/1 โดยให้จำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา และถือว่าคดีสิ้นสุดลงโดยไม่มีการอุทธรณ์จากฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย และโทษทางคดีนั้นไม่นับอายุความ[32] นอกจากนั้น ยังมีคำสั่งทางปกครองจากกระทรวงการคลังให้ชดใช้ค่าเสียหายเกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวเป็นเงิน 35,717,273,028 ล้านบาท อีกด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมบังคับคดี ในอันที่จะต้องยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อไป[33]
ผลสะเทือนต่อการเมืองไทย
โครงการจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับความสนใจจากหลายฝ่ายในสังคมไทยนับตั้งแต่ เริ่มต้นโครงการในปี 2554 ก่อนที่จะตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายค้านสื่อมวลชนและผู้สันทัดกรณีจากหลายภาคส่วน จนถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในท้ายที่สุด ตลอดการพิจารณาคดีจนสิ้นสุดคำพิพากษาของศาล ทั้งกรณีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และกรณีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ คดีจำนำข้าวก็ถูกจับตามองมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีความกังวลจากหลายฝ่ายว่าผู้ตกเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมภายใต้รัฐบาล คสช. ที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้โพสต์ Facebook ส่วนตัว เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 แสดงความในใจถึงการไม่ได้รับความเป็นธรรม ที่ตนเองถูกยึดทรัพย์จากการใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2560 ความตอนหนึ่งว่า “ดิฉันสูญเสียบ้านที่ถูกยึดและขณะนี้ทรัพย์สินของดิฉันก็กำลังถูกกรมบังคับคดีประมูลชิ้นต่อชิ้น ดิฉันใช้ข้อต่อสู้ทางกฎหมายทุกรูปแบบแล้วแต่ก็ไม่สามารถจะหยุดยั้งได้ เพราะนายกรัฐมนตรีชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ยึดอำนาจ และจนถึงปัจจุบันมาตรา 44 ก็ยังคุ้มครองเจ้าหน้าที่อยู่ ทุกคนจึงเร่งดำเนินการกับคดีดิฉันโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย”[34]
ทั้งนี้ มีการประเมินว่าถึงเดือนมีนาคม 2560 โครงการจำนำข้าวเปลือกตั้งแต่ฤดูการผลิต 2554/55 จนถึงฤดูการผลิต 2556/57 รัฐใช้จ่ายเงินไปประมาณ 9.68 แสนล้านบาท เมื่อหักด้วยรายได้จากการขายข้าว 2.98 แสนล้านบาทในช่วง 5 ปี และรายได้จากการระบายข้าวในส่วนอีก 8 ล้านตันที่เหลืออยู่ จึงเท่ากับว่ามีผลขาดทุนทางบัญชีโครงการรับจำนำข้าวอยู่ที่ประมาณ 6.21 แสนล้านบาท[35] คดีจำนำข้าวจึงเป็นบทเรียนให้แก่บรรดานักการเมือง ข้าราชการ และบรรดาบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการของรัฐ ได้เป็นอย่างดีในประเด็นการเข้าไปมีส่วนพัวพันกับการทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะ ทั้งยังกลายเป็นบรรทัดฐานและแนวปฏิบัติราชการ ที่แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสตรวจสอบได้และความพร้อมรับผิดของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน
บรรณานุกรม
“35 ปี จำนำข้าวจาก “ป๋าเปรม” ถึง “ยิ่งลักษณ์”." สปริงนิวส์ออนไลน์. (21 สิงหาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://www.springnews.co.th/programs/scoop-th/84839>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
“ข้อเสนอแนะป.ป.ช.โครงการ “ประกันราคา - จำนำข้าว”." สำนักข่าวอิศรา. (15 พฤษภาคม 2557). เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/isranews-article/29433-nacc_29433.html>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
“คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต." ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 137 ตอนที่ 10 ก, 3 กุมภาพันธ์ 2563.
“คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ เรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต." ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนที่ 124ก, 14 ธันวาคม 2560.
“จ่ายหนี้ข้าวยุค ‘ปู’ 15 ปี 7.5แสนล้านบาท!." ฐานเศรษฐกิจออนไลน์. (26 มีนาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://www.thansettakij.com/content/politics/136939>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
“จีทูจี “เก๊” กลโกงจำนำข้าวยกแก๊ง." คมชัดลึกออนไลน์. (22 สิงหาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://www.komchadluek.net/news/scoop/292844>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
“ชาวนาไทย..ไม่เหมือนเดิม." มูลนิธิวิถีไทย. (6 พฤษภาคม 2559).
เข้าถึงจาก <https://www.landactionthai.org/land/index.php?option=com_content&view=article&id=1490:”ชาวนาไทย-ไม่เหมือนเดิม&catid=108&Itemid=632>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
“ด่วน! ศาลออกหมายจับ ‘ยิ่งลักษณ์’ ริบเงินประกันตัว ชี้พฤติการณ์เชื่อว่าหลบหนี เลื่อนคำพิพากษาเป็น 27 ก.ย.." มติชนออนไลน์. (25 สิงหาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_641287>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
“ที่มาของโครงการจำนำข้าวช่วยชาวนา." พรรคเพื่อไทย. เข้าถึงจาก <https://www.ptp.or.th/news/366>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
“ป.ป.ช.ลงดาบ ยิ่งลักษณ์ปล่อยโกงจํานําข้าว." ไทยรัฐออนไลน์. (9 พฤษภาคม 2557). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/content/421627>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
“เปิดตัวเลขยึดทรัพย์ 'ยิ่งลักษณ์' 199 ล้าน." กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. (17 ธันวาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/858659>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
“เปิดรายชื่อ 'คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ'.” กรุงเทพธุรกิจ. (29 กันยายน 2559). เข้าถึงจาก < https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/720437 >. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
“ผิดครบทั้ง 4 กรรม! เบื้องหลังเพิ่มโทษคุก‘บุญทรง’48 ปี เหตุไปแก้ไขสัญญาแรกด้วย." สำนักข่าวอิศรา.
(7 กันยายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/isranews-news/80203-isranesws-80203.html>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
“เพิ่มโทษอีก 6 ปี "บุญทรง" ขายข้าวจีทูจี ศาลอ่าน 7 ชั่วโมง จำคุก 48 ปี." ไทยรัฐออนไลน์. (6 กันยายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/crime/1654935>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
“มติสนช.ถอดถอน"ยิ่งลักษณ์"ตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปี." โพสต์ทูเดย์ออนไลน์. (23 มกราคม 2558). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/342987>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
“มาร์คอภิปรายนายกฯรับจำนำข้าว." โพสต์ทูเดย์. (25 พฤศจิกายน 2555). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/190148>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
“ย้อนไทม์ไลน์คดีข้าวจีทูจี." ฐานเศรษฐกิจออนไลน์. (6 กันยายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thansettakij.com/content/409009>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
“ย้อนรอย 'วรงค์' ถล่มเละจำนำข้าวกลางสภา แฉจอมบงการ รุกฆาต รบ.ปู." ไทยรัฐออนไลน์. (30 พฤษภาคม 2557). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/content/425753>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
“ย้อนรอยวิบากกรรม"ชาวนา"". ไทยรัฐออนไลน์ (10 กุมภาพันธ์ 2557). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/content/402466>. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563.
“ย้อนเส้นทางคดีจำนำข้าว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สู่วันพิพากษา ชี้ชะตาการเมืองไทย!." The Standard. (23 สิงหาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/yingluck-rice-route/>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
“ยิ่งลักษณ์" โพสต์ชี้ "ประยุทธ์" ใช้ ม.44 เร่งดำเนินคดี-ยึดทรัพย์." Thai PBS. (16 ธันวาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/287087>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
“สนช.มีมติถอดถอน บุญทรง กับพวก รวม 3 คน กรณีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ." Thai PBS. (8 พฤษภาคม 2558). เขาถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/1326>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
“สำนวนป.ป.ช.สมบูรณ์เพียงพอ!อสส.เห็นควรสั่งฟ้องอาญา"ยิ่งลักษณ์"คดีข้าว." สำนักข่าวอิศรา. (23 มกราคม 2558). เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/isranews-news/36020-rice03.html>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
“สุเทพระบุถ้า กปปส.ยึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จจะจ่ายค่าข้าวให้ชาวนา." ประชาไท. (21 มกราคม 2557). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2014/01/51296>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
“หมอวรงค์ยื่นปปช.สอบทุุจริตจำนำข้าวเพิ่ม." กรุงเทพธุรกิจ. (5 มิถุนายน 2556). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/509478>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
อ้างอิง
[1] "35 ปี จำนำข้าวจาก “ป๋าเปรม” ถึง “ยิ่งลักษณ์”," สปริงนิวส์ออนไลน์, (21 สิงหาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.springnews.co.th/programs/scoop-th/84839>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
[2] "35 ปี จำนำข้าวจาก “ป๋าเปรม” ถึง “ยิ่งลักษณ์”," สปริงนิวส์ออนไลน์, (21 สิงหาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.springnews.co.th/programs/scoop-th/84839>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
[3] "ข้อเสนอแนะป.ป.ช.โครงการ “ประกันราคา - จำนำข้าว”," สำนักข่าวอิศรา, (15 พฤษภาคม 2557), เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/isranews-article/29433-nacc_29433.html>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
[4] "ชาวนาไทย..ไม่เหมือนเดิม," มูลนิธิวิถีไทย, (6 พฤษภาคม 2559),
เข้าถึงจาก <https://www.landactionthai.org/land/index.php?option=com_content&view=article&id=1490:ชาวนาไทย-ไม่เหมือนเดิม&catid=108&Itemid=632>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
[5] "ที่มาของโครงการจำนำข้าวช่วยชาวนา," พรรคเพื่อไทย, เข้าถึงจาก <https://www.ptp.or.th/news/366>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
[6] “เปิดรายชื่อ 'คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ',” กรุงเทพธุรกิจ, (29 กันยายน 2559), เข้าถึงจาก
<https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/720437 >. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
[7] "ข้อเสนอแนะป.ป.ช.โครงการ “ประกันราคา - จำนำข้าว” (ฉบับเต็ม)," สำนักข่าวอิศรา, (15 พฤษภาคม 2557), เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/isranews-article/29433-nacc_29433.html>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
[8] "ย้อนเส้นทางคดีจำนำข้าว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สู่วันพิพากษา ชี้ชะตาการเมืองไทย!," The Standard, (23 สิงหาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/yingluck-rice-route/>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
[9] "มาร์คอภิปรายนายกฯรับจำนำข้าว," โพสต์ทูเดย์, (25 พฤศจิกายน 2555),
เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/190148>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
[10] "หมอวรงค์ยื่นปปช.สอบทุุจริตจำนำข้าวเพิ่ม," กรุงเทพธุรกิจ, (5 มิถุนายน 2556),
เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/509478>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
[11] "สุเทพระบุถ้า กปปส.ยึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จจะจ่ายค่าข้าวให้ชาวนา," ประชาไท, (21 มกราคม 2557), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2014/01/51296>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
[12] "ข้อเสนอแนะป.ป.ช.โครงการ “ประกันราคา - จำนำข้าว” (ฉบับเต็ม)," สำนักข่าวอิศรา, (15 พฤษภาคม 2557), เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/isranews-article/29433-nacc_29433.html>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
[13] "ข้อเสนอแนะป.ป.ช.โครงการ “ประกันราคา - จำนำข้าว” (ฉบับเต็ม)," สำนักข่าวอิศรา, (15 พฤษภาคม 2557), เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/isranews-article/29433-nacc_29433.html>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
[14] "ย้อนรอยวิบากกรรม"ชาวนา"", ไทยรัฐออนไลน์ (10 กุมภาพันธ์ 2557),
เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/content/402466>. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563.
[15] "จีทูจี “เก๊” กลโกงจำนำข้าวยกแก๊ง," คมชัดลึกออนไลน์, (22 สิงหาคม 2560).
เข้าถึงจาก <https://www.komchadluek.net/news/scoop/292844>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
[16] "ย้อนรอย 'วรงค์' ถล่มเละจำนำข้าวกลางสภา แฉจอมบงการ รุกฆาต รบ.ปู," ไทยรัฐออนไลน์, (30 พฤษภาคม 2557). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/content/425753>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
[17] "ย้อนรอย 'วรงค์' ถล่มเละจำนำข้าวกลางสภา แฉจอมบงการ รุกฆาต รบ.ปู," ไทยรัฐออนไลน์, (30 พฤษภาคม 2557). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/content/425753>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563.
[18] "คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ," ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 137 ตอนที่ 10 ก, 3 กุมภาพันธ์ 2563, หน้า 7-65.
[19] "ย้อนไทม์ไลน์คดีข้าวจีทูจี," ฐานเศรษฐกิจออนไลน์, (6 กันยายน 2562),
เข้าถึงจาก <https://www.thansettakij.com/content/409009>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
[20] "สนช.มีมติถอดถอน บุญทรง กับพวก รวม 3 คน กรณีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ," Thai PBS, (8 พฤษภาคม 2558). เขาถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/1326>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
[21] "ย้อนไทม์ไลน์คดีข้าวจีทูจี," ฐานเศรษฐกิจออนไลน์, (6 กันยายน 2562),
เข้าถึงจาก <https://www.thansettakij.com/content/409009>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
[22] "ย้อนไทม์ไลน์คดีข้าวจีทูจี," ฐานเศรษฐกิจออนไลน์, (6 กันยายน 2562),
เข้าถึงจาก <https://www.thansettakij.com/content/409009>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
[23] "คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต," ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 137 ตอนที่ 10 ก, 3 กุมภาพันธ์ 2563, หน้า 22-23.
[24] "คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต," ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 137 ตอนที่ 10 ก, 3 กุมภาพันธ์ 2563, หน้า 64.
[25] "ผิดครบทั้ง 4 กรรม! เบื้องหลังเพิ่มโทษคุก‘บุญทรง’48 ปี เหตุไปแก้ไขสัญญาแรกด้วย," สำนักข่าวอิศรา, (7 กันยายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/isranews-news/80203-isranesws-80203.html>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563. และ "เพิ่มโทษอีก 6 ปี "บุญทรง" ขายข้าวจีทูจี ศาลอ่าน 7 ชั่วโมง จำคุก 48 ปี," ไทยรัฐออนไลน์, (6 กันยายน 2562),
เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/crime/1654935>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
[26] "ป.ป.ช.ลงดาบ ยิ่งลักษณ์ปล่อยโกงจํานําข้าว," ไทยรัฐออนไลน์, (9 พฤษภาคม 2557), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/content/421627>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
[27] "ย้อนเส้นทางคดีจำนำข้าว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สู่วันพิพากษา ชี้ชะตาการเมืองไทย!," The Standard, (23 สิงหาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/yingluck-rice-route/>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
[28] "สำนวนป.ป.ช.สมบูรณ์เพียงพอ!อสส.เห็นควรสั่งฟ้องอาญา"ยิ่งลักษณ์"คดีข้าว," สำนักข่าวอิศรา, (23 มกราคม 2558), เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/isranews-news/36020-rice03.html>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
[29] "มติสนช.ถอดถอน"ยิ่งลักษณ์"ตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปี," โพสต์ทูเดย์ออนไลน์, (23 มกราคม 2558), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/342987>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
[30] "ย้อนเส้นทางคดีจำนำข้าว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สู่วันพิพากษา ชี้ชะตาการเมืองไทย!," The Standard, (23 สิงหาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/yingluck-rice-route/>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
[31] "ด่วน! ศาลออกหมายจับ ‘ยิ่งลักษณ์’ ริบเงินประกันตัว ชี้พฤติการณ์เชื่อว่าหลบหนี เลื่อนคำพิพากษาเป็น 27 ก.ย.," มติชนออนไลน์, (25 สิงหาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_641287>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
[32] "คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ เรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต," ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 134 ตอนที่ 124ก, 14 ธันวาคม 2560, หน้า 4 - 71.
[33] "เปิดตัวเลขยึดทรัพย์ 'ยิ่งลักษณ์' 199 ล้าน," กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, (17 ธันวาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/858659>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
[34] ""ยิ่งลักษณ์" โพสต์ชี้ "ประยุทธ์" ใช้ ม.44 เร่งดำเนินคดี-ยึดทรัพย์," Thai PBS, (16 ธันวาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/287087>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.
[35] "จ่ายหนี้ข้าวยุค ‘ปู’ 15 ปี 7.5แสนล้านบาท!," ฐานเศรษฐกิจออนไลน์, (26 มีนาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.thansettakij.com/content/politics/136939>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563.