คณะอภิรัฐมนตรีสภา
ผู้เรียบเรียง ชงคชาญ สุวรรณมณี
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
ประวัติศาสตร์การเมืองก่อนถึงการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2475 นั้น มีปัจจัยทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเงื่อนไขตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5 ที่มีการปฏิรูปการปกครองมาโดยลำดับ เมื่อสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัฐกาลที่ 7 ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในหลักรัฐศาสตร์การปกครองของสมเด็จพระบรมชนกนาถ คือ สมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 เป็นอย่างยิ่ง และได้โปรดนำวิธีตั้งที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในยุคสยามใหม่นั้นมาใช้ โดยทรงใช้คำว่า คณะอภิรัฐมนตรี หรือ “Supreme Council of the State” นับว่าเป็นวิวัฒนาการที่ได้นำมาสู่คำว่า “คณะองคมนตรี” หรือ “Privy Council” ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน คณะองคมนตรีในทุกรัชสมัย ได้ดำรงภาระหน้าที่สำคัญถวายองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาด้วยความจงรักภักดี สมดั่งพระดำรัสของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่ว่า “คณะองคมนตรี” คือ คณะที่ปรึกษาชั้นสูงสุดของพระมหากษัตริย์ ด้วยทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งตามพระราชอัธยาศัย
ความเป็นมาของการตั้งอภิรัฐมนตรีสภา[1]
สภาพการเมืองการปกครองเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชสมบัติ ในปี พ.ศ. 2468 พระองค์ได้ทรงตระหนักมาก่อนแล้วว่าพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์กำลังถูกปัญญาชนมองไปในทางที่ไม่ดีมาตั้งแต่รัชกาลก่อนและความรู้สึกระหว่างพระมหากษัตริย์กับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ตกอยู่ในภาวะที่แตกแยกกัน ดังนั้นพระองค์จึงทรงตั้ง “อภิรัฐมนตรีสภา” ขึ้นมาเพื่อรวบรวมพระบรมวงศานุวงศ์ที่อาวุโสสูง แต่ยังทรงทันสมัยด้วยมีประสบการณ์มากมาทรงทำงานร่วมกันเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันในหมู่พระบรมวงศ์และทรงช่วยแบ่งเบาพระราชกิจของพระองค์ด้วย[2]
เมื่อวันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ภายหลังจากที่เสด็จขึ้นครองราชย์ได้ 2 วัน พระบาทสมพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้น โดยมีกระแสพระราชดำรัส ดังนี้
“ขอขอบพระทัยและขอบใจท่านทั้งหลายผู้เปนองคมนตรีที่ได้กระทำสัตยสัญญารับจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรงจงรักภักดีต่อตัวเรา
ตั้งแต่เราได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์แห่งสมเด็จพระบุรพมหาราชเจ้า ซึ่งได้ทรงปกครองป้องกันและทำนุบำรุงสยามประเทศอันเปนที่รักของเราทั้งหลายให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบมาช้านาน เราก็รู้สึกความรับผิดชอบในส่วนเรา ซึ่งจะต้องพยายามปกครองสยามประเทศกับทั้งประชาชนทั้งหลายให้ร่มเย็นเปนสันติสุข และให้บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองโดยเต็มความสามารถของเราที่จะพึงกระทำได้ทุกอย่างทุกประการต่อไปจนสุดกำลัง อาศัยความปรารภที่กล่าวมา เราคิดเห็นว่าตามราชประเพณีซึ่งมีอยู่ในบัดนี้ พระเจ้าแผ่นดินมีมนตรีสำหรับเปนที่ทรงปรึกษาหารือสองคณะด้วยกัน คือ องคมนตรี ซึ่งทรงตั้งไว้เปนจำนวนมาก สำหรับทรงปรึกษากิจการพิเศษ อันเกิดขึ้นฉะเพาะสิ่งฉะเพาะอย่างคณะ 1 กับเสนาบดีสภาผู้บังคับบัญชาราชการกระทรวงต่าง ๆ มีจำนวน หย่อนญี่สิบ สำหรับทรงปรึกษาหารือราชการ อันกำหนดไว้เปนหน้าที่ในกระทรวงนั้น ๆ คณะ 1 แต่ยังมีราชการอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเปนการสำคัญอย่างยิ่ง กล่าวคือ ที่จะคิดให้กิจการตลอดจนรัฎฐาภิปาลโนบายของรัฐบาลเปนอุปการอันหนึ่งอันเดียวกันทุกกระทรวงทบวงการ แต่ก่อนมาตกอยู่แต่ตาม พระบรมราชวินิจฉัยแม้มีพระราชประสงค์จะทรงปรึกษาหารือผู้อื่นก็ได้อาศัยแต่เสนาบดีสภา เราเห็นว่ายังไม่เหมาะ เพราะเหตุที่เสนาบดีสภาสมาชิกตั้งตามตำแหน่งกระทรวงมีจำนวนมากนั้นอย่าง 1 และล้วนเปนเจ้าหน้าที่ฉะเพาะกิจการกระทรวงใด กระทรวงหนึ่งนั้นอีกอย่าง 1 เราจึงคิดจะตั้งมนตรีขึ้นใหม่อีกคณะหนึ่ง เรียกว่า “อภิรัฐมนตรีสภา” ให้มีจำนวนสมาชิกแต่น้อย สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงปรึกษาราชการทั้งปวงเปนนิจ เพื่อจะได้เปนกำลังแก่การที่ทรงพระราชวินิจฉัยราชการทั้งปวง ในการตั้งสภาอภิรัฐมนตรีนี้ ผู้ซึ่งสมควรจะเปนสมาชิกจำต้องเปนผู้ซึ่งมีความคุ้นเคยและชำนิชำนาญราชการมากมาแต่ก่อน และประกอบด้วยเกียรติคุณทั้งความปรีชาสามารถ สมควรเปนที่ทรงไว้พระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดิน ตลอดจนมหาชนทั้งหลาย เราจึงได้เลือกสรร
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระองค์ 1
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต พระองค์ 1
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ พระองค์ 1
กรมพระดำรงราชานุภาพ พระองค์ 1
กรมพระจันทบุรีนฤนาถ พระองค์ 1
ด้วยทั้ง 5 พระองค์นี้ได้ทรงรับราชการในตำแหน่งสำคัญมาแต่รัฐกาลที่ 5 เคยเปนที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย ทั้งได้คุ้นเคยทราบกระแสพระราชดำริห์ และพระบรมราโชบายของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมาแต่ก่อน ล้วนทรงปรีชาสามารถและมีเกียรติคุณจะหาผู้อื่นเสมอเหมือนได้โดยยาก เราตั้งให้เจ้านายผู้ใหญ่ทั้ง 5 พระองค์เปนอภิรัฐมนตรีแต่นี้ไป ด้วยไว้วางใจในความซื่อตรงจงรักภักดี ซึ่งทรงมีต่อบ้านเมืองและตัวเราด้วยกันทุกพระองค์ การที่เราคิดจัดดังกล่าวมานี้หวังว่าจะเปนคุณเปนประโยชน์สืบต่อไป...”
ในการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งอภิรัฐมนตรีสภา ทำให้พระองค์ประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศในระยะแรก ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีไปถึงพระยากัลยาณไมตรี มีความตอนหนึ่งว่า..
“...ทันทีที่ข้าพเจ้าเสวยราชย์ก็คิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างที่สุดที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อเรียกความเชื่อถือจากประชาชนกลับคืนมาอีก ดังนั้น จึงได้มีการตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้น ซึ่งได้ผลทันทีและข้าพเจ้าได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนในวันเดียว เหตุที่การกระทำเช่นนี้ได้ผลทันทีทันใดก็เพราะ มันเป็นความหวังสำหรับสิ่งซึ่งพึงปรารถนาหลายประการ ประการแรกพระราชวงศ์เริ่มรวมกันและทำงานกันอย่างกลมเกลียว ประการที่สอง พระเจ้าอยู่หัวมีความเต็มใจที่จะขอคำปรึกษาจากพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมีประสบการณ์มาแล้วในราชการ และเป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชน ไม่มีขุนนางคนใดเลยที่เป็นที่เกลียดชังของประชาชนรวมอยู่ในสภานี้ ประการที่สาม พระราชอำนาจของกษัตริย์ที่จะทำอะไรตามใจพระองค์เองก็จะลดน้อยลงไป เมื่อมีสภานี้ (พึงระลึกว่าในสภาพความเห็นในประเทศขณะนั้น คิดกันว่าพระมหากษัตริย์มีทางที่จะทำอะไรที่เป็นภัยมากกว่าที่จะทำดี)..” [3]
เราจะเห็นได้ว่าการตั้งอภิรัฐมนตรีสภาแม้จะช่วยลดความกดดันในหมู่ข้าราชการและประชาชนที่เคยมีต่อสภาพการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ได้ในระยะแรกก็จริง แต่เมื่อนานวันไปข้าราชการและประชาชนต่างเกิดความรู้สึกว่าอภิรัฐมนตีสภาเริ่มมีอำนาจมากเกินไปเหมือนกับว่าพระมหากษัตริย์ทรงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคณะอภิรัฐมนตรีสภา ซึ่งสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วพระองค์มิได้ทรงถือว่าคณะอภิรัฐมนตรีมีอิทธิพลเหนือกว่าพระองค์แต่อย่างใด เพียงเป็นผู้ที่คอยให้คำปรึกษาราชการแผ่นดินเท่านั้น
บทบาทหน้าที่ของอภิรัฐมนตรีสภา
อภิรัฐมนตรีสภา เป็นสถาบันใหม่เทียบเท่าได้กับสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้ตั้งขึ้นภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ 2 วัน (วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468) มีหน้าที่เป็นสภาที่ปรึกษาชั้นสูงแก่พระมหากษัตริย์ ซึ่งให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกิจการการเมืองการปกครองและนโยบายของประเทศ อภิรัฐมนตรีสภา มีการกำหนดการประชุมทุก ๆ วันศุกร์ สัปดาห์ละครั้ง โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานในการประชุม เริ่มการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 ณ พระที่นั่งบรมพิมาน อภิรัฐมนตรีสภา ได้ให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดินหลายเรื่องที่สำคัญ กล่าวคือ
1. ให้คำปรึกษาหารือข้อราชการเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติสภากรรมการองคมนตรี ซึ่งพระราชทานลงมาให้ศึกษาและนำคำปรึกษาขึ้นถวายบังคมทูล
2. วางรูปแบบการปกครองท้องถิ่นในรูปของเทศบาล โดยการปรับปรุงแก้ไขสุขาภิบาลที่มีอยู่ให้เป็นเทศบาล ซึ่งได้จัดตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานและความเห็นเกี่ยวกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติเทศบาล
3. พิจารณาโครงร่างรัฐธรรมนูญที่พระยากัลยาณไมตรี (Francis B.Sayre) ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย มีลักษณะเป็นระบบนายกรัฐมนตรีให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรงแทนองค์พระมหากษัตริย์ โดยนายกรัฐมนตรีมีสิทธิเลือกคณะรัฐมนตรีเอง ส่วนพระมหากษัตริย์ยังคงไว้ซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ตามแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้อภิรัฐมนตรีสภามีหน้าที่เพียงถวายคำปรึกษาเท่านั้นไม่มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน โครงร่างรัฐธรรมนูญของพระยากัลยาณไมตรีฉบับนี้จึงไม่ได้รับความเห็นชอบจากอภิรัฐมนตรีสภา โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นสมาชิกพระองค์หนึ่งของอภิรัฐมนตรีสภาทรงคัดค้านว่า การมีนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องและวิธีการปกครองในระบอบรัฐสภา ไม่ใช่การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งไม่มีรัฐสภา เมื่อเป็นเช่นนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงระงับพระราชดำริเรื่องการพระราชทานรัฐธรรมนูญไว้ก่อน แล้วทรงเริ่มงานวางพื้นฐานการปกครองแบบรัฐสภาขึ้นในปี พ.ศ. 2470 โดยการให้นายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ ที่ปรึกษาราชการกระทรวงการต่างประเทศและพระยาศรีวิสารวาจา ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้พิจารณาร่างหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ และทรงมีพระราชดำรัสถึงความประสงค์ที่จะให้รัฐธรรมนูญแก่ราษฎรโดยเร็วที่สุด และต้องให้ทันวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันครบรอบมหาจักรี นายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ และพระยาศรีวิสารวาจา จึงยกร่างรัฐธรรมนูญ และได้นำทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2474 นอกจากนั้น นายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์และพระยาศรีวิสารวาจายังได้แนบบันทึกความเห็นประกอบเค้าโครงการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีก 2 ฉบับว่าไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญในขณะนั้น เพราะประชาชนยังไม่พร้อม และเทศบาลก็ยังไม่ได้มีการจัดตั้งขึ้นมา โครงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภาและพระบรมวงศานุวงศ์ได้พากันคัดค้านไม่เห็นด้วย โดยอ้างเหตุผลว่ายังไม่ถึงเวลาอันสมควร เนื่องจากราษฎรยังมีการศึกษาไม่ดีพอ เกรงว่าเมื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายภายหลัง คำคัดค้านดังกล่าวทำให้พระองค์ทรงลังเลพระทัยว่าควรจะพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อใดจึงจะเหมาะสม ความไม่แน่นอนและเงื่อนไขต่าง ๆ ทำให้ระบบการเมืองไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับเหตุการณ์ การปฏิวัติในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จึงเกิดขึ้น
คณะอภิรัฐมนตรีสภา[4]
คณะอภิรัฐมนตรีสภา ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งขึ้นนั้นโดยพระองค์ทรงคัดเลือกจากพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่เคยปฎิบัติหน้าที่ในราชการสำคัญ ๆ มาแล้วทั้งสิ้น ได้แก่
1. สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เคยดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก ทหารเรือ จเรทัพบก และเป็นผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่ 6 หลายครั้ง ทำหน้าที่เป็นประธานอภิรัฐมนตรีสภา
2. สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต สำเร็จวิชาการทหารบกมาจากประเทศเยอรมันนี เคยรับราชการในกองทัพบก เคยเป็นเสนาธิการทหารบกในสมัยรัชกาลที่ 6 เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ และเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เป็นต้น
3. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงชำนาญราชการในพระราชสำนักเกี่ยวกับพระราชประเพณีทั่วไป และเคยดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงวัง
4. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยปฏิบัติราชการสำคัญ ๆ ในสมัยราชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 เช่นทรงจัดตั้งกระทรวงธรรมการ และทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยพระองค์แรก ทรงมีความชำนาญด้านการปกครองและทรงเป็นนักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีจนได้รับขนานพระนามว่า พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย
5. สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ทรงเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจ และการคลัง เคยดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงพาณิชย์ และทรงเป็นเอกอัครบัณฑิตทางด้านภาษาศาสตร์
คณะอภิรัฐมนตรีสภา เป็นที่ทรงนับถือขององค์พระมหากษัตริย์ ได้ทำหน้าที่ถวายข้อปรึกษาราชการในพระองค์และแผ่นดินจนถึง พ.ศ. 2475 หลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีประกาศยกเลิกอภิรัฐมนตรีสภา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2475
อ้างอิง
- ↑ พระราชดำรัสทรงตั้งอภิรัฐมนตรีสภา, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 42, วันที่ 28 พฤศจิกายน 2468, หน้า 2618.
- ↑ สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 http://www.chanpradit.ac.th/~somsak/rutisan450450/index.htm
- ↑ ชัยอนันต์ สมุทวณิช การเมือง-การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย พ.ศ. 2411-2475. หน้า 84.
- ↑ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมืองการปกครอง พ.ศ. 1762-2500, พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2549. หน้า 386-387.
บรรณานุกรม
จักษ์ พันธ์ชูเพชร. การเมืองการปกครองไทย “จากยุคสุโขทัยสู่สมัยทักษิณ” . กรุงเทพฯ : บริษัท มายด์ พับลิชชิ่ง จำกัด. 2549.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย 2475-2500. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เรือนแก้ว. 2549.
ชัยอนันต์ สมุทวณิช. 100 ปี แห่งการปฏิรูประบบราชการวิวัฒนาการของอำนาจรัฐและอำนาจการเมือง. กรุงเทพฯ : บริษัท สุขุมและบุตร จำกัด. 2538.
ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูต. เอกสารการเมืองการปกครองไทย (พ.ศ. 2417-2477). กรุงเทพฯ : สถาบันสยามศึกษา สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย. 2532.
พีระพงษ์ สิทธิอมร และคณะ. ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ปฏิรูป ปฏิวัติ รัฐประหาร ของผู้นำ ทางการเมือง พลเรือน ตำรวจ ทหาร. กรุงเทพฯ : หจก.ซี แอนด์ เอ็น. 2549.
ภารดี มหาขันธ์. ประวัติศาสตร์การปกครองไทย. กรุงเทพฯ : อมรการพิมพ์. 2527.
สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. การเมืองการปกครองไทย : พ.ศ. 1762-2500. กรุงเทพฯ : เสมาธรรม. 2549.
ดูเพิ่มเติม
ประกาศเลิกอภิรัฐมนตรีสภา, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49, วันที่ 17 กรกฎาคม 2475,หน้า 202.
การเมืองการปกครองในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. http://www.senate.go.th/km/data/prapok_political.doc
ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 100 ปี แห่งการปฏิรูประบบราชการวิวัฒนาการของอำนาจรัฐและอำนาจ การเมือง, กรุงเทพฯ : บริษัท สุขุมและบุตร จำกัด , 2538.
ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูต, เอกสารการเมืองการปกครอง ( พ.ศ. 2417-2477). พิมพ์ครั้งที่ 2 โดยสถาบันสยามศึกษา สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2532.
ภิศักดิ์ กัลยาณมิตร, แนวทางการสร้างรัฐธรรมนูญก่อน 24 มิถุนายน 2475 (3), http://www.siamrath.co.th/uifont/Articledetail.aspx?nid=3701&acid=3701
ภารดี มหาขันธ์, ประวัติศาสตร์การปกครองไทย, กรุงเทพฯ : อมรการพิมพ์ , 2527.
โสภณ น้อยจันทร์, ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัชกาลที่ 7 – ปัจจุบัน, http://learners.in.th/blog/rattanagosin/225937.