คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกอบด้วยบุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เหตุผลสำคัญของการกำหนดให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้งขึ้น ก็เพื่อทำหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งในทุกระดับให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์และยุติธรรม โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ในควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง หรือสนับสนุนการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

คณะกรรมการการเลือกตั้งยังมีอำนาจหน้าที่ในการออกประกาศหรือวางระเบียบกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็น หรือดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 5 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีคุณสมบัติตามที่กฏหมายกำหนด กรรมการการเลือกตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 7 ปี นับแต่วันที่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และกรรมการการเลือกตั้งสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

ในการจัดการเลือกตั้งแต่ละครั้งนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยตรง เพื่อทำหน้าที่ช่วยสอดส่องดูแลและสนับสนุนให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมได้ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด บุคคล คณะบุคคล หรือผู้แทนองค์การเอกชน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย

ก่อนจะมีการจัดการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีหน้าที่ในการดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งที่ใช้วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง และจัดให้มีบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การกำหนดมาตรการและการควบคุมการบริจาคเงินให้แก่พรรคการเมือง การสนับสนุนทางการเงินของรัฐ การใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง รวมทั้งการตรวจสอบบัญชีทางการเงินของพรรคการเมือง

จากนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้งจะทำหน้าที่ในการควบคุมและดำเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้ง และการออกเสียงประชามติตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการการเลือกตั้งก็มีหน้าที่ในการการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ หรือกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นด้วย

ในการจัดการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติแต่ละครั้งนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถออกคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ ตลอดจนออกข้อกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ

เมื่อการจัดการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติผ่านพ้นไปแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งจะเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการประกาศผลการเลือกตั้ง หรือการออกเสียงประชามติ นอกจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งยังมีอำนาจหน้าที่ในการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือออกเสียงประชามติใหม่ ในหน่วยเลือกตั้งใดหน่วยเลือกตั้งหนึ่ง หรือทุกหน่วยเลือกตั้ง หรือสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติในหน่วยเลือกตั้งนั้น ๆ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามหลักเกณฑ์และวิธีพิจารณาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติโดยตรงแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งยังมีหน้าที่ในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ตลอดจนการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนากระบวนการจัดการเลือกตั้งอีกด้วย โดยการดำเนินการหรือประสานงานกับหน่วยราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือสนับสนุนองค์การเอกชนในการให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงการจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีและข้อสังเกตเสนอต่อรัฐสภา

ที่มา

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550